“ส.ว.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” อภิปราย 3 พ.ร.ก.แก้ผลกระทบจากโควิด-19 แนะฟื้นฟูประเทศ กลับมาให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม บูรณาการเป็นเกษตรวิถีใหม่ พร้อมมุ่งพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้กลายเป็นศูนย์กลางการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
วันนี้ (1 มิ.ย.) ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวอภิปรายระหว่างการประชุมวุฒิสภาในวาระการพิจารณา พ.ร.ก. 3 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการใช้เงินแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
1. สถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด
- รัฐบาลชุดปัจจุบันบริหารราชการแผ่นดินมาได้ 1 ปี แต่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากภายนอกประเทศ 2 อย่างไล่เรียงกัน ครั้งแรกคือ แรงสั่นสะเทือนจากสงครามการค้า (Trade War) เมื่อปลายปี 2561 ทำให้เศรษฐกิจในปี 2562 ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และแรงสั่นสะเทือนครั้งที่สอง คือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปี 2563
- ทั้ง 2 วิกฤตส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงผ่านช่องทางที่ต่างกัน สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจไทย คือ ในปี 2562 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 71 ของ GDP ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงเป็นลำดับ ส่วน COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 52 ของ GDP และการท่องเที่ยว ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 10 ของ GDP ซ้ำเติมการชะลอตัวอยู่แล้วให้รุนแรงมากขึ้น
- ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 หดตัวลงร้อยละ 1.8 ต่อปี เป็นการหดตัวลงครั้งแรก นับตั้งแต่มหาอุทกภัยใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 หรือเกือบ 10 ปีก่อน และจากการประมาณการของหน่วยงานเศรษฐกิจของทุกหน่วยงาน พบว่า ทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงร้อยละ 5-6 ต่อปี นั้นหมายความว่าการหดตัวในไตรมาสที่ 1 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของแนวโน้มการหดตัวรอบใหญ่เท่านั้นเอง
- ผลกระทบดังกล่าวจะเป็นลูกโซ่ต่อรายได้ครัวเรือน การจ้างงาน การผลิตสินค้าและบริการ เครื่องชี้เศรษฐกิจในระดับจังหวัดก็เริ่มสะท้อนผลกระทบดังกล่าวแล้ว และถ้าไม่รีบหยุดการทรุดตัวของเศรษฐกิจ จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิมมาก ดังนั้น การออกพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก
- จากสถานการณ์ข้างต้นทำให้รัฐบาลเผชิญความท้าทาย 2 ประการ ที่ต้องรีบดำเนินการ
ประการที่ 1 ต้องหยุดการทรุดตัวของเศรษฐกิจให้เร็วที่สุดด้วยนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายกึ่งการคลัง เช่น มาตรการเยียวยา 5,000 บาท เป็นต้น
ประการที่ 2 ต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เศรษฐกิจจากภายนอกที่พึ่งพาเศรษฐกิจโลก มาเป็นการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในมากขึ้น
- อันนำไปสู่การตราพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อต่อสู้และรับมือกับวิกฤตดังกล่าว ประกอบด้วย
ฉบับที่ 1 พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1,000,000 ล้านบาท
ฉบับที่ 2 พระราชกำหนดกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
ฉบับที่ 3 พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563
2. พ.ร.ก. ฉบับแรก เฉพาะในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีวงเงิน 400,000 ล้านบาท
- พ.ร.ก.ในส่วนนี้ ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในหรือเศรษฐกิจเชิงพื้นที่มากเป็นหลัก เพราะไม่อาจพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกได้มากอย่างแต่ก่อน เพราะแต่ละประเทศต่างช่วยตัวเอง ไม่อาจนำเข้าสินค้าจากการส่งออกของไทย และไม่อาจมาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้มากอย่างที่เคยเป็น
- การฟื้นฟูประเทศหลังจากนี้ จะต้องเดินในวิถีใหม่นี้ โดยหันกลับมาให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งจากวิกฤตที่ผ่านมา จะเห็นว่าแรงงานจากภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม หันกลับไปพึ่งพิงภาคเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก จึงต้อง
เหลียวหลัง ด้วย “เกษตรวิถีใหม่”
ทั้งนี้ เสนอให้ใช้สถาบันการศึกษาในพื้นที่มามีส่วนสำคัญในการบูรณาการเกษตรวิถีใหม่ ดำเนินมาตรการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยการเน้นการฟื้นฟูให้กลายเป็นเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป และเกษตรอัจฉริยะ ดังนี้
1) ให้มีการจ้างนักศึกษาจบใหม่ จากการคาดการณ์พบว่า จะมีนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 5-7 แสนคน ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน และต้องต่อสู้กับจำนวนแรงงานที่อาจจะถูกเลิกจ้าง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีสูงถึง 7 ล้านคน
2) ให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ มีบทบาทในการวิจัยและพัฒนา ค้นหาความต้องการที่แท้จริงในพื้นที่ และช่วยเสนอแนะโครงการแผนงานที่ตอบสนองความต้องการในพื้นที่นั้นๆ
3) ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ที่กำลังจะจบการศึกษา มาเพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตาม วิเคราะห์ และเสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต
- วิกฤตโควิด-19 ทำให้ยอมรับการใช้วิถีชีวิตแบบดิจิทัลเกิดมากขึ้น เช่น การทำงานที่บ้าน (Work-from-Home) หรือการเรียนรู้จากที่บ้าน (Learning-from-Home) จึงต้อง
แลหน้า ด้วย “วิถีดิจิทัล”
- นับเป็นโอกาสดีในการเร่งพัฒนาให้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริการภาครัฐ และการทำธุรกิจง่ายขึ้น (Ease of Doing Business) ด้วยการมุ่งพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้กลายเป็นศูนย์กลางการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างจริงจัง ดังนี้
a.โดยเริ่มจากการสร้างทางหลักเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานของรัฐ เพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน อาจเรียกว่า X-Road (Exchange Road) อันจะส่งผลให้บริการต่างๆที่ภาครัฐนำเสนอต่อประชาชนจะเป็นลักษณะการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือ วันสต๊อปเซอร์วิส ทำให้ประชาชนนิยมมาใช้บริการรัฐบาลดิจิทัลมากขึ้น
เช่น การยื่นจดทะเบียนตั้งโรงงานที่อาจต้องเชื่อมโยงข้อมูลกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานส่งเสริมการลงทุน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
b.ส่งเสริมการทำธุรกรรมด้วยดิจิทัลไอดี หรือบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งบัตรดิจิทัลไอดีหรือบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์เป็นมากกว่าแค่บัตรแสดงตัวตน แต่เป็นบัตรสำหรับใช้เข้ารับบริการต่างๆ บนรัฐบาลดิจิทัล รวมทั้งสามารถเป็น e-KYC ได้ เช่น การชำระภาษี การโอนโฉนดที่ดิน การยื่นแบบภาษีเงินได้ การรักษาพยาบาล รวมถึงการลงนามเพื่อทำธุรกรรมภาครัฐทุกหน่วยงาน
i.ดิจิทัลไอดี คือ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยทำให้อุปสรรคต่างๆ ของประเทศที่มีมายาวนาน บรรเทาเบาบางลง อาทิ ความล่าช้าในการดำเนินธุรกิจ, การปลอมแปลงเอกสาร หรือการสวมสิทธิ์ต่างๆ
ii.ดิจิทัลไอดี ที่นำมาใช้นอกจากเลขบัตรประชาชน 13 หลัก อาจจะเป็นการสแกนลายนิ้วมือ การสแกนม่านตา เป็นต้น
c.สร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการใช้บริการออนไลน์ของภาครัฐมากขึ้น
i.ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ดำเนินการเชิงรุก เพื่อให้ประชาชนมั่นใจความปลอดภัยของข้อมูลของตน
ii.เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันบนทางเชื่อมหลักข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในลักษณะการกระจายข้อมูลไว้ตามเซิร์ฟเวอร์ของแต่ละหน่วยงาน และสามารถเรียกข้อมูลเพื่อทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ตามต้องการของแต่ละบริการ เมื่อข้อมูลทั้งหมดไม่ได้ถูกรวมอยู่ที่เดียวกัน การจัดการเรื่องความปลอดภัยจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบการรวมศูนย์ข้อมูล
3. พระราชกำหนดกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
- พ.ร.ก.ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ภาคธุรกิจเกิดสภาวะการขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้และอาจส่งผลกับฐานะการเงินและการทำหน้าที่ด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน อันอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศซึ่งจะทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงและยากต่อการแก้ไขในภายหลัง
- พ.ร.ก.ฉบับนี้ กำหนดให้ ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้แก่สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงินทั้งหมด 500,000 ล้านบาท เพื่อให้แก่สถาบันการเงิน ไปปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้แก่กลุ่มผู้ประกบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- ความคืบหน้าล่าสุดที่ได้รับฟังการชี้แจงของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า สามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วประมาณ 58,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 12 ของวงเงินรวม ซึ่งอาจจะปล่อยได้ช้าไม่ทันกับสถานการณ์ที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว
- ขอเสนอให้รัฐบาลใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาช่วยทำหน้าที่ในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารออมสิน ซึ่งได้มีมาตรการสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่สถาบันการเงินจำนวน 55,000 ล้านบาท และได้ใช้วงเงินดังกล่าวหมดสิ้นแล้ว จึงเห็นควรเพิ่มวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสินเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับความช่วยเหลือกว้างขวางมากขึ้น