xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” แนะ 3 ข้อยกระดับความมั่นใจใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน ขจัดแร้งรุมทึ้ง เชื้อชั่วไม่ยอมตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.คำนูณ” เสนอ 3 ข้อนายกฯ ยกระดับความมั่นใจการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน รับประเดิมใช้ ม.7 คกก.กลั่นกรองการใช้เงินกู้ เพื่อเพิ่มบาทภาคประชาสังคม-ปชช. ยกระดับความมั่นใจ ขจัดแร้งรุมทึ้ง เชื้อชั่วไม่ยอมตาย

วันนี้ (24 พ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ 3 ข้อยกระดับความมั่นใจการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท สร้างหลักประกันขจัด ‘แร้งลง-รุมทึ้ง-เชื้อชั่วไม่ยอมตาย’ โดยมีเนื้อหาระบุว่า พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีมิติใหม่ขึ้นมาประการหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีควรจะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 7 ให้มี ‘คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ปกติในพระราชกำหนดกู้เงินลักษณะนี้ฉบับก่อนๆ จะไม่มีบัญญัติไว้ โดยจะไปอยู่ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ตราขึ้นตามพระราชกำหนดนั้นๆ

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0001.PDF

“มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณากลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามมาตรา 5 และมาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ประกอบด้วย เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ ปลัดสานักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสานักงบประมาณ ผู้อำนวยการสานักงานบริหารหน้ีสาธารณะ ผู้อำนวยการสานักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคน เป็นกรรมการ ให้รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคนหน่ึงซึ่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย เป็นเลขานุการ และผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนสานักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการร่วม โดยให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับผิดชอบงานวิชาการและธุรการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้...”

(มาตรา 7 วรรคแรก / พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกจิและสังคม ที่ได้รับกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563)

จะเห็นได้ว่ายังได้กำหนดให้มีสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิถึง 5 คนในคณะกรรมการกลั่นกรองฯ

ประเด็นนี้เป็น ‘มิติใหม่’ จริงๆ!

แม้ว่าโครงสร้างของคณะกรรมการกลั่นกรองฯทั้งหมด 11 คนจะมาจากภาคราชการเสีย 6 คน เป็นเสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะหากนายกรัฐมนตรีตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกระบบราชการโดยให้มาจากผู้มีประสบการณ์ในภาคประชาสังคมก็จะทำให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯเป็นที่รวมภูมิปัญญามากขึ้น สามารถกลั่นกรองโครงการในส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนทั่วประเทศ 4 แสนล้านบาทได้อย่างตอบโจทย์มากขึ้น

ทราบว่าขณะนี้นายกรัฐมนตรีตั้งไปเพียง 1 คน

เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาจากภาคราชการอีกนั่นแหละ

หากนายกรัฐมนตรีใช้โควตาที่เหลือในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒินี้ แต่งตั้งบุคคลจากภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมทำงานในคณะกรรมการชุดที่มีความสำคัญยิ่งนี้ เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน และตอบคำถามฝ่ายการเมืองในทั้ง 2 สภาได้อย่างองอาจ

นี่เป็นข้อแรกที่ทำได้ และควรต้องทำทันที

เพราะขณะนี้การคิดโครงการจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ในสัดส่วน 4 แสนล้านบาทมีความเข้มข้นมาก ขณะที่ภาคประชาสังคมก็มีข้อเสนอจำนวนไม่น้อย หากรวมๆ แล้วเกินวงเงินแน่ จะมีหลักการในการคัดเลือกอย่างไร โดยเฉพาะหลักการที่จะทำให้โครงการเหล่านี้สามารถผลิดอกออกผล ไม่เป็นเบี้ยหัวแตก หรือแบ่งปันกันไปตามโควต้ากระทรวง เหมือนโควต้ารัฐมนตรีตามพรรคตามมุ้งที่เป็นความปกติเดิมๆ ของสังคมไทย

ข้อต่อมาที่สามารถทำได้เช่นกัน คือการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดําเนินการตามแผนงานหรือโครงกการภายใต้พระราชกำหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 ที่ออกตามความในมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชกำหนดฉบับนี้ ให้มีความเข้มข้นขึ้น ในระดับเทียบเท่าหรืออย่างน้อยก็น้อง ๆ การใช้งบประมาณรายจ่ายในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยเฉพาะการนำเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมาตรา 144 มาประยุกต์บรรจุไว้เท่าที่สามารถจะทำได้

ปัจจุบันมีระเบียบฯนี้ออกมาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/093/T_0001.PDF

แต่เนื้อหาสาระยังคงใกล้เคียงกับระเบียบฯฉบับเดิมๆ ที่ออกตามพระราชกำหนดกู้เงินลักษณะนี้ในอดีต

จะเป็นไปได้ไหมว่าเมื่อมีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาสังคมเข้ามาอีก 4 คนเข้ามาเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองฯแล้ว ก็ให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณาเสนอแนะนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังฉบับนี้ต่อไป โดยนำสารัตถะที่ได้จากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามาประกอบการพิจารณาด้วย

และข้อสุดท้าย คือ ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบการใช้เงินตามข้อเสนอของท่านส.ว.ประมนต์ สุธีวงศ์ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทรงคุณค่ายิ่งจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากภาคธุรกิจเอกชนและมีบทบาทสำคัญต่อเนื่องในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบมาโดยตลอด ทำให้รัฐบาลมี ‘ตัวช่วย’ ที่มีประสิทธิภาพและทรงพลัง

ทั้ง 3 ข้อนี้ นายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้ทันทีตามลำดับ 1 - 2 - 3 ที่เสนอมา

ทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นการเพิ่มบทบาทให้กับภาคประชาสังคมและภาคประชาชนที่ควรจะต้องเป็นความปกติใหม่ในการบริหารราชการแผ่นดินยุคหลังมหาวิกฤตโควิด-19 และเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

ทั้ง 3 ข้อนี้ จะเป็นการยกระดับความมั่นใจและความศรัทธาของประชาชนในเป้าหมายขจัดสภาวะ ‘แร้งลง-รุมทึ้ง-เชื้อชั่วไม่ยอมตาย’ ไม่ให้มาแผ้วพานกับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท”


กำลังโหลดความคิดเห็น