xs
xsm
sm
md
lg

“พรรคประหาร” เส้นทางการรักษาอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


การทำ “พรรคประหาร” และการสร้างพิธีกรรมเชื้อเชิญ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณมาเป็นหัวหน้าพรรคของแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นรูปแบบการเล่นการเกมอำนาจที่น่าสนใจอย่างหนึ่งทั้งในแง่การอ้างความชอบธรรม วิธีการแย่งชิงอำนาจ และเป้าประสงค์แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังของการกระทำนี้

เหตุผลที่ “คณะพรรคประหาร” ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปลดนายอุตตม สาวนายนหัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค คือการไม่เอาใจใส่ดูแล ส.ส.ของพรรคอย่างที่พึงกระทำตามบรรทัดฐานของพรรคการเมืองไทยของบุคคลทั้งสอง และการที่ไม่ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับบทบทหน้าที่ในฐานะเป็นผู้นำของพรรค เช่น ไม่ค่อยเข้าร่วมประชุมพรรค เป็นต้น

ภายใต้ข้อเท็จจริงที่พรรคการเมืองต้องอาศัยเงินทุนในดำเนินกิจกรรมหลายอย่างด้วยกัน ตั้งแต่การจัดตั้งพรรค การระดมนักการเมืองให้เข้ามาอยู่ในพรรค การเลือกตั้ง และการบริหาร ส.ส. ในพรรคให้มีความสร้างความจงรักภักดีและเชื่อฟัง แต่ละพรรคจึงต้องใช้เงินเป็นจำนวนมหาศาล ยิ่งพรรคมีขนาดใหญ่ มีจำนวน ส.ส. มากเท่าไร ก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ตามความเป็นจริง แหล่งเงินทุนของพรรคหาใช่เงินบริจาคหรือค่าบำรุงที่เรียกเก็บจากสมาชิกพรรคแต่อย่างใด หากแต่มาจากบุคคลเพียงไม่กี่คนที่เป็นนายทุนของพรรค นายทุนบางคนก็ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหรือเลขาธิการพรรคทั้งแต่เริ่มต้น แต่บางคนก็อาจยังไม่ดำรงตำแหน่งใด แต่ก็เป็นผู้ทรงอิทธิพลภายในพรรค

เมื่อพรรคมี ส.ส.ในสังกัด บรรทัดฐานอย่างหนึ่งที่มีการปฏิบัติกันในบางพรรคคือ การจ่ายเงินพิเศษรายเดือนแก่ ส.ส.ของพรรค ซึ่งอาจดำเนินการโดยหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือ แกนนำคนอื่น ๆ ของพรรคทั้งที่มีตำแหน่งเป็นทางการและไม่เป็นทางการของพรรค บางพรรคหากมี จำนวน ส.ส.มาก ก็อาจมีการแบ่งกันรับผิดชอบในการจ่ายเป็นกลุ่ม หรือ ศัพท์ทางการเมืองไทยเรียกว่า “มุ้ง” ซึ่งหัวหน้ามุ้งจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของบรรดา ส.ส.ในสังกัดของตนเอง ส.ส.สังกัดมุ้งใดก็จะจงรักภักดีต่อหัวหน้ามุ้งของตนเองมากเป็นพิเศษ ตราบเท่าที่หัวหน้ามุ้งยังจ่ายเงินอย่างสม่ำเสมอ

เงินพิเศษที่ ส.ส. ได้รับของแต่ละพรรคอาจไม่เท่ากัน มีตั้งแต่รายละแสนบาทจนถึงสามแสนบาทต่อเดือน ตามความมั่งคั่งของผู้นำหรือแกนนำพรรค คำอธิบายสำหรับบรรทัดฐานการปฏิบัติเช่นนี้ คือ ในแต่ละเดือน ส.ส.มีค่าใช้จ่ายทางสังคมเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปสร้างภาพความเป็นคนดี ตามค่านิยมของสังคมไทย นั่นคือต้องปรากฎตัวหรือแสดงตัวให้ผู้เลือกตั้งได้รับรู้อย่างสม่ำเสมอว่า ตนเองเป็นคนที่เปี่ยมด้วยน้ำใจไมตรี และพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้งในทุกเวลาและทุกโอกาส

ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่ประชาชนในเขตเลือกตั้งมีงานศพ งานบุญ งานแต่ง หรืองานอื่น ๆ ตามประเพณีของแต่ละพื้นที่ ส.ส.ก็ต้องไปร่วมงานเองหรืออาจส่งตัวแทนไปร่วม พร้อมกับมอบเงิน หรือสิ่งของอื่น ๆ แก่เจ้าภาพงาน แต่ละเดือนมีกิจกรรมเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ลำพังเงินเดือนของ ส.ส. ที่รัฐจัดให้ไม่เพียงพอ ดังนั้นพรรคจึงต้องสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ ส.ส ในการทำกิจกรรมทางสังคมเหล่านั้นเพื่อรักษาฐานคะแนนเสียงให้มีความมั่นคง

หากพรรคใด หัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานนี้ก็ไม่สามารถรักษาความจงรักภักดีของ ส.ส.เอาไว้ได้ สิ่งที่ตามาคือ บรรดา ส.ส.ก็จะขับเคลื่อนเพื่อขับไล่จากตำแหน่ง และเชิดชูผู้ที่มีศักยภาพในการจ่ายเงินมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งเราเรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่าเป็นการทำ “พรรคประหาร” นั่นเอง

สำหรับบางพรรคที่ไม่มีผู้ใดเป็นหลักในการจ่ายเงินพิเศษ ก็อาจทำให้ ส.ส.บางคนดิ้นรนหาหนทางย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ที่พรั่งพร้อมด้วยเงินตราแทน เหตุการณ์แบบนี้เรียกว่า “งูเห่าทิ้งรัง” หรือ ในกรณีที่พรรคขนาดเล็ก มี ส.ส.ไม่กี่คน และไม่มีนายทุนสนับสนุน ผู้ก่อตั้งพรรคทำท่าว่าจะไปไม่ไหว ก็จะยุบพรรคตนเอง และย้ายไปสังกัดพรรคอื่นแทน เหตุการณ์แบบนี้ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ เพราะเป็นพฤติกรรมใหม่ทางการเมืองไทยที่เป็นผลสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ จึงขอเรียกว่า “การยุบเพื่อย้าย” ไปพลางก่อน

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการ “พรรคประหาร” ที่เกิดขึ้นในพรรค พปชร. คือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตแกนนำคณะรัฐประหาร (คสช.) นั่นเอง นี่เรียกว่าแบบแผนความคิดและการกระทำไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยทำ “รัฐประหาร” เมื่อปี ๒๕๕๗ ก็มาทำ “พรรคประหาร” ในปี ๒๕๖๓ ซ้ำอีกที เพียงแต่เปลี่ยนบริบทเท่านั้นเอง แต่ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้าที่จะตอบรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ มีความพยายามสร้างภาพว่า ตนเองไม่อยากเป็นหัวหน้าพรรค แต่จำเป็นต้องรับอย่างเสียไม่ได้ ตามคำเรียกของ “คณะผู้ก่อการพรรคประหาร” ที่ออกหน้ามาช่วงชิงตำแหน่งภายในพรรคให้ตนเอง

เพื่อทำให้ข้ออ้างมีความสมจริง จึงต้องมีการประกอบพิธีกรรมเชื้อเชิญ พลเอกประวิตร เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการและประกาศเริ่มศักราชใหม่ของพรรค พปชร. ภายใต้การนำของพลเอกประวิตร ณ. ที่ทำการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๓

องค์ประกอบของพิธีกรรมเชื่อเชิญสู่อำนาจ เริ่มต้นจากกลุ่มแกนนำจำนวนหนึ่งออกหน้าปฏิบัติการช่วงชิงอำนาจ ส่วนผู้นำที่แท้จริงจะอยู่เบื้องหลัง และเสแสร้งทำทีเป็นไม่รู้เรื่องการกระทำพรรคประหาร ครั้นเมื่อกระทำสำเร็จ ก็มีการสร้างชุดของเหตุผลว่า ผู้นำที่อยู่เบื้องหลังเป็นผู้มีความสามารถ มีบารมีสูงส่ง เหมาะสมที่จะนำพาพรรคไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าผู้ใดทั้งมวล ขึ้นมาเพื่อเป็นฐานรองรับความชอบธรรมในการสถาปนาอำนาจ อันที่จริง ในสังคมไทยแบบแผนการปฏิบัติเช่นนี้เป็นเรื่องราวเก่าแก่ในแวดวงการช่วงชิงอำนาจการเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การที่บรรดาขุนนางเชื้อเชิญเจ้าพระยากลาโหมเป็นผู้ครองแผ่นดินอยุธยา ซึ่งต่อมาเรียกว่าประเจ้าปราสาททอง

สิ่งที่น่าสนใจต่อไปคือ จังหวะก้าวของพลเอกประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด อันที่จริง หากวิเคราะห์อำนาจของพลเอกประวิตรในสังคมไทยตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่าแม้พลเอกประวิตรจะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจที่เป็นจริงของพลเอกประวิตรมีมากกว่าพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชานายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป เพราะอำนาจที่ไม่เป็นทางการของพลเอกประวิตรมีพลังในการกำหนดทิศทางและการตัดสินใจของสถาบันทางการเมืองแทบทุกแห่ง ทั้งวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร องค์กรอิสระ และหน่วยราชการต่าง ๆ คำถามคืออะไรคือความปรารถนาที่แท้จริงของพลเอกประวิตรในการทำพรรคประหารในครั้งนี้

มีความเป็นไปได้ว่า พลเอกประวิตร ต้องการก้าวออกมาข้างหน้าเวทีเพื่อดำรงตำแหน่งที่เป็นทางการในรัฐบาล ซึ่งตำแหน่งที่ใหญ่โตเหมาะสมอำนาจบารมีของพลเอกประวิตรก็มีอยู่เพียง ๒ ตำแหน่งเท่านั้นคือ รัฐมนตรีมหาดไทย และนายกรัฐมนตรี จะว่าไปแล้วตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย ก็ยังดูไม่สมกับอำนาจบารมีของพลเอกประวิตรเท่าไรนัก แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง การดำรงตำแหน่งนี้ก็สามารถใช้กลไกรัฐที่เป็นทางการเพื่อกำหนดทิศทางและความเป็นไปในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งทำให้โอกาสที่เครือข่ายของ พรรค พปชร. ได้รับการเลือกตั้งท้องถิ่นมีชัยชนะสูง อันเป็นการปูทางขยายฐานมวลชนสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในอนาคตให้แก่พรรค พปชร.ด้วย และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พลเอกประยุทธ์ ตัดสินใจวางมือทางการเมือง และพรรค พปชร. ชนะการเลือกตั้ง พลเอกประวิตรในฐานะหัวหน้าพรรคก็จะได้ครอบครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนั่นเอง

การดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการของพลเอกประวิตร จึงเป็นหลักประกันสำหรับการต่อยอดบันไดอีกขั้นหนึ่งของการสืบทอดและรักษาอำนาจที่ได้มาตั้งแต่ ปี ๒๕๕๗ ให้ยาวนานออกไปอีกสมัย ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ความผันผวนทางการเมืองมีสูง นับวันรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่ทับโถมเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ หากวันใดวันหนึ่งข้างหน้าในช่วงปีนี้หรือต้นปีหน้า พลเอกประยุทธ์ทนแรงกดดันไม่ไหวและตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร พลเอกประวิตรก็ยังสามารถใช้พรรค พปชร. เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปได้โดยปราศจากช่องโหว่นั่นเอง

สิ่งที่บรรดาผู้มีอำนาจรัฐหวั่นเกรงมากที่สุดหลังจากครอบครองอำนาจอย่างยาวนานคือ การที่ฝ่ายคู่แข่งขึ้นมามีอำนาจแทนกลุ่มตนเอง เพราะสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม หรือการทุจริตที่ตนเองและพวกพ้องกระทำในยามมีอำนาจก็จะถูกรื้อฟื้นและขุดคุ้ยขึ้นมาและถูกดำเนินคดีก็ได้ ดังนั้นกลุ่มผู้มีอำนาจจึงใช้วิธีการทุกรูปแบบเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องครอบครองอำนาจรัฐให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ในท้ายที่สุดความพยายามรักษาอำนาจก็มักจะล้มเหลวในเวลาไม่นานนัก บางทีในอนาคต เราอาจเห็นชื่อพลเอกอีกคนที่ถูกรัฐยึดทรัพย์ต่อจากชื่อของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น