xs
xsm
sm
md
lg

‘ปชป.-อนาคตใหม่’ โดดร่วม ‘หมอวรงค์’ เป้าหมายชน ‘ธนาธร-ปิยบุตร-ก้าวไกล’!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เบื้องหลัง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ยื่นลาออกจากพรรค รปช. ไปตั้งกลุ่มการเมือง เป้าหมายชน ‘ธนาธร-ปิยบุตร และพรรคก้าวไกล’ แจงถ้ายังอยู่จะทำให้ ‘บิ๊กตู่’ ถูกถล่ม เผยเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคต่างๆ ใช้เงิน-นโยบายสู้ แต่ ‘อนาคตใหม่-ธนาธร’ ปลุกระดมทางความคิดผิดๆ ดึงมวลชน ระบุเลือกตั้งครั้งหน้าจะงัดความจริงอนุรักษนิยมก้าวหน้าสู้เสรีนิยมแบบธนาธร สะท้อนภาพมหาอำนาจเกี่ยวพันเพื่อนำไปสู่ฮ่องกงโมเดล แจงกลุ่มหมอวรงค์จะมีสมาชิก ‘ปชป.-อนาคตใหม่’ เข้าร่วม คาดมีผู้ช่วย รมต.รอเปิดตัว ด้าน อจ.นิด้า เชื่อหมอวรงค์ ชูแนวทางอนุรักษนิยม ปกป้องสถาบัน จะสามารถหาเสียงสนับสนุนได้ไม่ยาก!

การลาออกจากสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ด้วยเหตุผลว่าปัญหาทางการเมืองในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งตัวหมอวรงค์ สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ แต่การสังกัดพรรคการเมืองอาจจะมีข้อจำกัดในการหาแนวร่วมและไม่คล่องตัว จึงจำเป็นต้องลาออก

โดยหมอวรงค์ ได้บอกถึงเป้าหมายและศัตรูสำคัญที่เป็นสาเหตุให้เขาออกมาตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว และให้ความรู้แก่ประชาชนที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไปเพราะสถานการณ์การเมืองของประเทศมีความเสี่ยง มีความเปราะบาง เนื่องจากมีกลุ่มคนคอยปลุกระดม บิดเบือนสร้างความเกลียดชัง สร้างกระแสเพื่อทำลายล้าง ถึงขั้นจาบจ้วงไปถึงเบื้องบน

แม้วันนี้การสร้างความเกลียดชังจะยังลงไปไม่ถึงกลุ่มรากหญ้าก็ตาม แต่กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงกลุ่มนิสิต นักศึกษา และชนชั้นกลาง จนทำให้สังคมถูกบิดเบือน มีการสร้างวาทกรรมต่างๆ ทั้งคำว่าเผด็จการ ประชาธิปไตย ซึ่งกลุ่มหมอวรงค์ ได้ติดตามข้อมูลมาตลอด จึงเชื่อว่าการทำงานการเมืองปัจจุบันจะเป็นการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ ความเชื่อ ต้องเข้าใจบริบททางสังคมของประเทศไม่ใช่การเมืองแบบเดิมคือการเอาของไปแจกอีกต่อไป

“เราต้องตีโจทย์ให้แตกว่าอนาคตประเทศไทยจะไปอย่างไร”

 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
ปัจจุบัน สังคมไทยจะได้เห็นภาพของความทะเยอทะยานของนักการเมืองในประเทศที่อยากมีอำนาจต่อรอง ใฝ่ฝันจะเป็นผู้นำระดับต้นๆ และพยายามชักศึกเข้าบ้าน ขณะที่มหาอำนาจตะวันตก ก็อยากครอบงำประเทศไทย ก็เลยหนุนด้วยการนำคำว่า ประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค ความเท่าเทียมมาขายให้แก่คนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่า ‘ใช่และถูกต้อง’ สิ่งเหล่านี้คือความน่ากลัวและอันตรายกับประเทศไทย

ดังนั้น กลุ่มการเมืองที่หมอวรงค์ ตั้งขึ้นมาจะเดินหน้าด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน รู้ถึงข้อมูล ข้อเท็จจริง ด้วยการใช้โซเชียลมีเดีย และการออกไปเวทีต่างๆ และจะมีเครื่องมืออื่นๆ ที่จะตามมา แต่จะไม่ใช่วิธีการจัดม็อบที่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้าของกลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่าง

“การเคลื่อนไหวแบบนี้ ในนามกลุ่มการเมือง จะไม่ทำให้รัฐบาลถูกโจมตี เพราะหากยังอยู่ในพรรค รปช. ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็จะทำให้รัฐบาลถูกโจมตีได้”

หมอวรงค์ บอกว่า ตัวเขาเวลานี้ยังไม่ใช่หัวหน้ากลุ่ม แต่จะเป็นหนึ่งในแกนนำ ซึ่งได้มีการพูดคุยกันไว้ว่าจะมีคนดังหลายคนเข้ามาร่วมโดยเฉพาะสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกพรรคอนาคตใหม่ และบางคนที่ยังไม่สามารถเปิดตัวได้ว่าอยู่พรรคไหน แต่มีตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีในรัฐบาลบิ๊กตู่ รวมไปถึงจะมีกลุ่มคนจากหลายอาชีพเข้ามาร่วมด้วย

“กลุ่มแบบนี้เคลื่อนไหวง่าย คนที่จะมาร่วมก็ไม่อยากวุ่นวายกับนักการเมืองและพรรค ซึ่งกลุ่มแบบนี้จะไม่มีข้อจำกัดเรื่องของการสังกัดพรรค หรือผิดกฎหมาย กกต. แต่การทำงานของกลุ่มจะถูกพัฒนาเป็นพรรคการเมืองหรือไม่ หรือจะกลับไปพรรค รปช.ก็ยังเป็นเรื่องของอนาคต”

หมอวรงค์ บอกว่า การออกมาตั้งกลุ่มและเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่ปฏิเสธนะว่าตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับคณะก้าวหน้าที่สานต่อภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล รวมทั้งพรรคก้าวไกล ที่มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเกิดขึ้นจากการมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ - นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - นายปิยบุตร แสงกนกกุล
“ผมไม่ปฏิเสธนะที่ออกมาตั้งกลุ่มเพื่อสู้กับกลุ่มนายธนาธร เพราะเห็นถึงความทะเยอทะยานส่วนตัว เหมือนเป็นการชักศึกเข้าบ้าน มันมีการเคลื่อนไหวจากต่างประเทศด้วย ผมกล้าพูดเต็มปากเลยว่า พวกนี้ไม่ใช่ทำเพื่อประชาชน เพราะมีสิ่งอื่นอีกเยอะแยะที่ทำเพื่อประชาชนได้ โดยเฉพาะการทำให้ประชาชนมีการศึกษาที่ดี อยู่ดีกินดี แต่พวกเขาทำแต่ละอย่าง ปลุกระดม เพื่อการชุมนุม ซึ่งตรงนี้ หลายอย่างที่เรากำลังให้ข้อมูล ชี้ให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มีการทำงานประสานกันระหว่างในสภาและนอกสภา คนนอกสภา คือเจ้าของพรรคตัวจริง ซึ่งคนที่มีความใฝ่ฝัน ทะเยอทะยาน คนนอกสภาจะมีมากกว่าคนในสภา แต่คนในสภาจะไม่ค่อยแรงแต่ทุกอย่างจะสอดรับเป็นกระบวนการ”

หมอวรงค์ บอกอีกว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมานักการเมืองส่วนใหญ่ใช้เงิน ใช้นโยบายสู้กัน แต่พรรคอนาคตใหม่ พยายามปลุกระดมทางความคิดไปสู้ในสนามเลือกตั้ง แต่ไม่มีคนไปค้านจึงเหมือนกับการต่อสู้ของความคิดแบบเสรีนิยม กับอนุรักษนิยมแบบก้าวหน้าที่มีสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นหลัก

“แต่รอบหน้าจะต้องให้ประชาชนเลือกแบบมีความรู้ ความเข้าใจที่ชัดเจนในประชาธิปไตยแบบของนายธนาธร และประชาธิปไตยที่เป็นจริงเพื่อความกินดี อยู่ดีของประชาชนตามแนวทางอนุรักษนิยมแบบก้าวหน้าเป็นอย่างไร”

อีกทั้งจะต้องสะท้อนให้สังคมได้เห็นว่าการออกมาเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้มีผู้อยู่เบื้องหลัง มีกลุ่มเอ็นจีโอต่างประเทศร่วม และเป็นการเคลื่อนไหวคล้ายฮ่องกงโมเดลที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเป็นการรุกทางยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศมหาอำนาจตะวันตก จากเดิมเป็นการล่าอาณานิคม แต่เมื่อโลกมีการพัฒนาจึงมีเครื่องมือทางการเมืองตัวใหม่ถูกนำมาใช้ ตัวอย่างเช่นสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา หรือคำว่าประชาธิปไตย เป็นต้น

ประท้วงเฟลชม๊อบ

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ด้าน รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า สาเหตุที่ช่วงนี้นักการเมืองมีการเตรียมที่จะตั้งพรรคกันอย่างคึกคักก็เพราะส่วนใหญ่ประเมินว่าด้วยปัจจัยรุมเร้าต่างๆ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงจะอยู่อีกไม่นาน และน่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปีหน้า จึงมีการเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งหากพิจารณาจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 พรรคขนาดใหญ่ที่ได้รับความนิยมสูง จะเสียเปรียบในเรื่องคะแนนเสียงของผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพราะเมื่อได้คะแนนเสียงถึงระดับหนึ่งแล้ว คะแนนของผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจะถูกตัดทิ้งไป ทำให้พรรคไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้น พรรคที่เข้าลักษณะนี้จึงมีการขยับขยายเกิดขึ้น

ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้นมีปัจจัยอยู่ 2 ประการที่ทำให้สมาชิกพรรคออกไปตั้งกลุ่มใหม่ และเชื่อว่าจะมีการพัฒนาเป็นพรรคในอนาคต ประการแรกคือ จากกลไกของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้บุคคลที่มีชื่อเสียงและผู้ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในพรรคซึ่งถูกเสนอชื่อให้ลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แทบไม่มีโอกาสที่จะได้เป็น ส.ส. ดังนั้น การออกไปตั้งพรรคใหม่จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ประการที่สอง คือ พรรคเพื่อไทยมีความแตกแยกสูง มีการช่วงชิงอำนาจของหลายกลุ่ม ผู้ใหญ่ในพรรคแทบไม่มีบทบาทเพราะไม่มีใครฟังใคร จึงมีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีคนจัดสรรค่าใช้จ่ายภายในพรรค สมาชิกพรรคจึงขาดความจงรักภักดี

“เชื่อว่าการออกมาตั้งกลุ่มใหม่ของระดับแกนนำพรรคเพื่อไทยอย่าง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายภูมิธรรม เวชยชัย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ไม่ใช่ลักษณะของการแยกกันตี เพราะฐานเสียงของแกนนำที่แยกออกมา กับสมาชิกหรือ ส.ส.ที่ยังสังกัดพรรค คือฐานเสียงในต่างจังหวัดซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่แยกออกมาเพราะการสังกัดพรรคใหม่ขณะที่ตนเองมีฐานเสียงจะมีโอกาสได้เป็น ส.ส.มากกว่าการเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย อีกทั้งหากพรรคใหม่ลงสมัครในเขตเมืองโดยชูแนวทางประชาธิปไตยก็ยังมีโอกาสที่จะดึงคะแนนเสียงคืนมาจากพรรคอนาคตใหม่ แต่การที่ฐานเสียงเหล่านี้จะลงคะแนนให้ก็ต้องมั่นใจว่าพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ยังมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับ ทักษิณ ชินวัตร นักการเมืองที่เขาชื่นชอบอยู่” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

ส่วนการลาออกจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เพื่อตั้งกลุ่มการเมืองของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม นั้น รศ.ดร.พิชาย วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะการอยู่ในพรรค รปช. นพ.วรงค์ ไม่สามารถแสดงบทบาทอะไรได้ เพราะ นพ.วรงค์ เข้ามาทีหลัง ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งพรรค จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค หรือเป็นรัฐมนตรี พรรคก็มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อยู่ ดังนั้น การออกมาตั้งพรรคใหม่ โดยชูแนวทางอนุรักษนิยม ปกป้องสถาบัน ก็น่าจะสามารถหาเสียงสนับสนุนได้ไม่ยาก!



กำลังโหลดความคิดเห็น