เอเจนซีส์ - ผลชันสูตรที่ออกมาในวันอาทิตย์ (14 มิ.ย.) ยืนยัน “เรย์ชาร์ด บรูกส์” ชายผิวดำวัย 27 ปีที่ถูกตำรวจผิวขาวในเมืองแอตแลนตายิงเมื่อวันศุกร์ (12) ที่แล้ว เสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรม ยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟในหมู่ผู้ประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติทั่วอเมริกาและลุกลามในหลายประเทศ ทั้งนี้ ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสต้องออกโรงปรามเสียงเรียกร้องให้รื้อถอนอนุสาวรีย์ของบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ของยุคล่าอาณานิคม
ในวันอาทิตย์ (14) หรือหนึ่งวันหลังเกิดการเผาร้าน “เวนดี้ส์” ในเมืองแอตแลนตา ซึ่งเป็นจุดที่เกิดเหตุฆาตกรรม รวมทั้งมีการเดินขบวนประท้วงเพื่อประณามการสังหารบรูกส์ ตลอดจนการลาออกของ เอริกา ชิลด์ส ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจเมืองแอตแลนตา ทางสำนักงานเทศมณฑลฟูลตัน ได้ออกมาแถลงว่า ผลการชันสูตรศพบรูกส์พบว่า เสียชีวิตจากการฆาตกรรมโดยถูกยิงจากด้านหลัง
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อค่ำวันศุกร์ (12) นั้น ตำรวจได้รับแจ้งจากพนักงานร้านเวนดี้ส์ว่า บรูกส์หลับอยู่ในรถขณะจอดรอคิวไดรฟ์ทรูเข้าไปซื้ออาหาร และเป็นการกีดขวางลูกค้าคนอื่นๆ แต่เมื่อตำรวจกำลังจะใส่กุญแจมือหนุ่มอเมริกาเชื้อสายแอฟริกาผู้นี้ หลังตรวจวัดแอลกอฮอล์และพบว่า เขามีปริมาณเกินระดับที่กฎหมายอนุญาต บรูกส์กลับขัดขืน แย่งปืนช็อตไฟฟ้าไปจากตำรวจและวิ่งหนี ภาพจากกล้องวงจรปิดและกล้องประจำตัวตำรวจ ปรากฏภาพเหมือนกับบรูกส์หันมาเล็งปืนช็อตไฟฟ้าดังกล่าวใส่ตำรวจ และทำให้ตำรวจ 1 ใน 2 คนใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่
บรูกส์ถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตหลังการผ่าตัด
พอล โฮเวิร์ด นักกฎหมายของเทศมณฑลฟูลตันแถลงว่า ภายในกลางสัปดาห์นี้จะตัดสินใจว่า จะดำเนินคดีอาญาต่อการ์เรตต์ โรลฟ์ ตำรวจที่ยิงบรูกส์ที่ถูกปลดออกแล้วหรือไม่
การเสียชีวิตของบรูกส์ยิ่งทำให้ผู้คนออกมาแสดงความไม่พอใจ ซ้ำเดิมเหตุการณ์การก่อความไม่สงบที่ลุกลามทั่วอเมริกานับจากที่ตำรวจเมืองมินนิอาโปลิสฆาตกรรมจอร์จ ฟลอยด์ คนผิวดำที่ไม่มีอาวุธ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม รวมทั้งจุดชนวนการเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบยุติธรรมและสถาบันตำรวจ
การประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรงของตำรวจยังลุกลามไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะทางยุโรป รวมถึงอังกฤษ โดยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เทเลกราฟฉบับวันจันทร์ (15) ว่า เขาจะตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ในรัฐบาลขึ้นมาพิจารณาปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกแง่มุม ภายหลังเกิดการประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้คนดำในเมืองต่างๆ ทั่วอังกฤษ นับจากการตายของฟลอยด์ และยังมีการชุมนุมของกลุ่มขวาจัดเพื่อตอบโต้ผู้ประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในลอนดอนเมื่อวันเสาร์
นอกจากนั้น แกนนำการประท้วงเพรียกหาความยุติธรรม ยังเรียกร้องให้รื้อถอนอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์บางคน เป็นต้นว่า อนุสาวรีย์ของเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน พ่อค้าทาสในศตวรรษที่ 17 ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบริสตอล ซึ่งได้ถูกผู้ประท้วงลากดึงโค่นลงมา และนำไปทิ้งลงน้ำบริเวณท่าเรือบริสตอล ตลอดจนอนุสาวรีย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล
ทว่า จอห์นสันยืนยันเด็ดขาดว่า ไม่ย้ายหรือรื้อถอนอนุสาวรีย์ เชอร์ชิล ที่เป็นผู้นำประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งโจมตีว่า เป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ โดยอนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ด้านหน้ารัฐสภา
ขณะเดียวกัน เขายังเรียกกลุ่มขวาจัดที่รวมตัวกลางลอนดอนในวันเสาร์ (13) เพื่อปกป้องอนุสาวรีย์เชอร์ชิล ซึ่งเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนถูกผู้ประท้วงนำสีมาพ่นละเลงว่า เป็น “พวกอันธพาล”
อนึ่ง ตัวจอห์นสันเองก็เคยถูกตราหน้าว่า เป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ หลังเขียนบทความลงในเทเลกราฟเมื่อปี 2002 โดยเรียกคนดำว่า เด็กนิโกร
ส่วนที่ฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ให้สัญญาว่า ฝรั่งเศสจะไม่ลบล้างบางเสี้ยวบางตอนของประวัติศาสตร์ หรือรื้อถอนอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ ถึงแม้เกิดกระแสต่อต้านฝรั่งเศสในสมัยเป็นมหาอำนาจยุคล่าอาณานิคมทั่วโลกก็ตาม ขณะเดียวกันจะไม่ยอมอ่อนข้อในเรื่องการต่อสู้เพื่อคัดค้านการเหยียดเชื้อชาติ
ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงที่โกรธแค้นได้เข้ารื้อทำลาย หรือพ่นสีใส่เขียนข้อความใส่อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญในยุคล่าอาณานิคมทั้งในอังกฤษและอเมริกา รวมทั้งมีการตรวจสอบประวัติของผู้นำสำคัญในยุคสมัยดังกล่าวในยุโรปอย่างเข้มข้น
ขณะที่ในฝรั่งเศส ก็มีการประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรงของตำรวจในเมืองต่างๆ
ในอีกด้านหนึ่ง มีตำรวจหลายร้อยคนชุมนุมกันในกรุงปารีสเมื่อคืนวันเสาร์เป็นคืนที่ส 2 เพื่อประท้วงสิ่งที่พวกเขาระบุว่า รัฐบาลและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คริสตอฟ คัสเทเนอร์ รัฐมนตรีมหาดไทย ไม่ให้การสนับสนุนสถาบันตำรวจอย่างเพียงพอ