ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เก็บตกหลายรอบหลายกลุ่มเพราะไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลังจริงๆ ประชาชนคนเดือดร้อนจากพิษโควิด-19 ต้องได้รับการดูแลถ้วนหน้า ล่าสุดกระทรวงคลัง จึงไฟเขียวเยียวยาล็อตสุดท้าย 9 ล้านคน ทั้งกลุ่มถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เปราะบาง และตกหล่น รวมถึงกลุ่มประกันสังคมจ่ายเข้าระบบไม่ถึง 6 เดือน ที่ไม่เข้าเกณฑ์แต่แรก
หตุที่ต้องวนรอบกลับมาดูแล้วดูอีก ส่วนหนึ่งก็คงเป็นตัวเลขการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงแบบน่าห่วงมาก พูดให้เข้าใจง่ายๆ ภาษาชาวบ้านก็คือ การงานไม่มีทำ หรือถูกลดค่าจ้าง ไม่มีเงินจ่ายหนี้ แถมมีกู้เพิ่มเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงปากท้องอีก ไม่นับว่ามีรายการกู้หนี้ใหม่โปะหนี้เก่าเป็นหนี้หมุนอีกต่างหาก
การเยียวยาล็อตสุดท้ายตามที่ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ บอกกล่าวภายหลังการประชุมกันเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาการเยียวยากลุ่มประชาชนที่ยังตกหล่นจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐเป็นล็อตสุดท้าย รวม 9 ล้านราย
หลักๆ จะแบ่งเป็น กลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1.2 ล้านคน, กลุ่มที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาท ไม่สำเร็จจำนวน 1.7 ล้านคน ซึ่งคัดกรองจากความซ้ำซ้อนตามมาตรการต่างๆ แล้วเหลือ 3 แสนคน ซึ่งกลุ่มนี้ยังต้องลุ้นกันว่าจะได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาทหรือไม่,
กลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ และเด็กจำนวน 6.9 ล้านคน โดยคัดกรองความซ้ำซ้อนในการรับมาตรการรัฐจาก 13 ล้านคนเศษ จะได้รับ 1 พันบาท ระยะ 3 เดือน และสุดท้าย กลุ่มที่ไม่ได้รับการดูแลจากประกันสังคม เนื่องจาก จ่ายประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือนจำนวน 6.6 หมื่นคน กลุ่มนี้ จะได้รับเยียวยา 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน
สำหรับวงเงินเยียวยาลอตสุดท้าย 9 ล้านคนนี้ หลังจากคลังเคาะจำนวนคนและตัวเลขคร่าวๆ แล้ว ต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ก่อนว่าจะให้การช่วยเหลืออย่างไร จะเคาะวงเงินเยียวยาจบที่เท่าไหร่เสียก่อน หลังจากนั้น จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งเร็วที่สุดอาจจะเข้าสู่วาระการพิจารณาในวันอังคารที่ 9 มิถุนายนนี้
คนที่มาอธิบายความเพิ่มเติมในการเยียวยารอบสุดท้ายนี้คือ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ซึ่งอธิบายว่า ในกลุ่มที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาท ไม่สำเร็จ มีจำนวน 1.7 ล้านคนว่า ในจำนวนดังกล่าวได้คัดกรองความซ้ำซ้อนในการรับมาตรการรัฐต่างๆ แล้วพบว่า มีผู้ผ่านเกณฑ์ไปแล้ว 2 แสนคน เป็นเกษตรกร 5.3 แสนคน เป็นผู้ประกันตน 1.5 แสนคน ไม่เข้าหลักเกณฑ์ 1.6 แสนคน เนื่องจากเป็นกลุ่มข้าราชการบำนาญ เป็นผู้สูงอายุ 2.2 แสนคน เป็นผู้พิการ 4.7 หมื่นคน ถือบัตรสวัสดิการ 1.4 แสนคน ฉะนั้น จึงเหลือแค่ 3 แสนคนที่ถือว่า เป็นกลุ่มตกหล่นจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกกลุ่มเกษตรกร ที่เปิดให้ยื่นอุทธรณ์รอบแรกถึงวันที่ 5 มิถุนายน และเกษตรกรชุดสุดท้ายที่ไม่ได้รับการเยียวยาสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ถึง 15 สิงหาคม 2563 ซึ่งหากคัดกรองจากกลุ่มเกษตรกรเพิ่มเติมจากการยื่นอุทธรณ์ คาดว่าตัวเลขเยียวยาลอตสุดท้ายอาจเพิ่มจำนวนมากขึ้นเกินกว่า 9 ล้านคน ตามที่คัดกรองกันไปแล้ว
ทั้งนี้ จากการติดตามผ่านหน่วยงานในพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าตั้งแต่วันที่ 19 - 31 พฤษภาคม 2563 มีการรับเรื่องอุทธรณ์แล้ว 48,621 ราย จำนวน 49,054 โดยขณะนี้หน่วยงานในระดับพื้นที่ได้แก้ไขปัญหาแล้ว 6,823 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานต้นสังกัด 40,598 เรื่อง และเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ฯ 1,633 เรื่อง
ความพยายามตามมาดูแลเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างทั่วถึง ตามนโยบายเราไม่ทิ้งกันและจะฟันฝ่าหาทางรอดไปด้วยกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะตัวเลขหนี้ครัวเรือนซึ่งสะท้อนถึงภาวะความยากลำบากเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ จากการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสแรกของปีนี้ ของ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตอนหนึ่งกล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย พบว่า ข้อมูลล่าสุดในไตรมาส 4 ปี 2562 หนี้ครัวเรือนไทย อยู่ที่ประมาณ 13 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5 โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 79.8% สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เป็นต้นมา และสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 78.9% โดยสาเหตุการก่อหนี้ ส่วนใหญ่ 33.7% เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 32.1% อุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 17.9% เพื่อประกอบธุรกิจ และ12.8% ซื้อ/เช่าซื้อรถยนต์
นี่ยังไม่ใช่ตัวเลขล่าสุดคือไตรมาสแรกหรือ 5 เดือนแรกของปี 2563 ที่เผชิญหน้ากับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังหนักหน่วงขนาดนี้แล้ว ต้องรอดูตัวเลขล่าสุดที่ออกมาของไตรมาสแรกปีนี้จะสะท้อนภาพนรกบนดินมีจริง
ขณะเดียวกัน คุณภาพสินเชื่อยังด้อยลง ก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีมูลค่า 156,227 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.23% ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.90% ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อทุกประเภทด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ
ส่วนตัวเลขการว่างงาน สภาพัฒน์ ประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อการจ้างงานว่าจะมีแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างกว่า 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย แรงงานในภาคการท่องเที่ยวประมาณ 2.5 ล้านคน แรงงานในภาคอุตสาหกรรม 1.5 ล้านคน และแรงงานในภาคบริการอื่นๆ 4.4 ล้านคน แต่สภาพัฒน์ ก็ฝันหวานว่า เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน ในส่วนงบประมาณ 4 แสนล้านบาท จะทำให้การว่างงานในปีนี้ จะไม่เกิน 2 ล้านคน
ขณะเดียวกัน ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ออกรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ซึ่งแสดงความห่วงกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวส่งผลให้เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น ครัวเรือนและธุรกิจเสี่ยงไม่สามารถชำระหนี้ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมาตรการช่วยเหลือเยียวสาสภาพคล่องของรัฐบาลสิ้นสุดลง
คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และด้านความมั่นคงทางการเงินของครัวเรือนและธุรกิจอย่างใกล้ชิดเพราะหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้กู้ ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร กองทุนรวม สหกรณ์ออมทรัพย์ และย้อนกลับมากระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
นอกจากนั้น ยังต้องติดตามสถานการณ์การจ้างงานอย่างใกล้ชิด โดยมีความกังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานที่จะลดลงมาก และอาจใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ทั้งในกลุ่มลูกจ้าง และผู้จ้างงานตนเอง หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระโดยแรงงานบางส่วนอาจว่างงานชั่วคราวในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาด แต่แรงงานบางส่วนอาจว่างงานถาวรเนื่องจากธุรกิจประสบปัญหาด้านฐานะทางการเงินจนปิดกิจการ ลดการจ้างงานตามอุปสงค์ที่ลดลง หรือปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานมากขึ้น
ขณะที่กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ จะหางานยากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและศักยภาพการเติบโตในระยะยาวลดต่ำลง จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิด
สถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยภาพรวมยังน่าห่วง การเยียวยาเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตรอดกันต่อไปเฉพาะหน้าจึงจำเป็นและไม่อาจทิ้งใครไว้ข้างหลัง