xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดเยียวยาโควิด-19 เห็นชอบจ่ายเงินกลุ่มเปราะบาง-ตกหล่นแล้ว 9 ล้านราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปลัดคลัง" เผยที่ประชุมบอร์ดเยียวยาโควิด-19 เห็นชอบการจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติมให้แก่กลุ่มผู้ที่มีความเปราะบางทางสังคมและกลุ่มที่ตกหล่นการเยียวยาที่ได้ผ่านการคัดกองความซ้ำซ้อนแล้วรวม 9 ล้านราย โดยมีกลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทไม่สำเร็จ จำนวน 3 แสนราย กลุ่มเปราะบางทางสังคม 6.9 ล้านราย กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 1.2 ล้านราย และกลุ่มแรงงานประกันสังคมที่ยังส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ยังไม่ครบ 6 เดือน จำนวนทั้งสิ้น 6.62 หมื่นราย ระบุ อาทิตย์หน้าเสนอบอร์ดกลั่นกรองการใช้เงินกู้ที่มีเลขาฯ สศช. เป็นประธานพิจารณา ก่อนเสนอเข้า ครม. เห็นชอบ เพื่อจ่ายเยียวยาประชาชนเป็นรอบสุดท้าย

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในฐานะประธานการประชุมของคณะกรรมการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในวันที่ประชาชนสมควรต้องได้รับการเยียวยา 4 มิ.ย.63 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติมให้กลุ่มผู้ที่มีความเปราะบางทางสังคมและกลุ่มที่ตกหล่นการเยียวยาที่ได้ผ่านการคัดกองความซ้ำซ้อนแล้วจำนวนทั้งสิ้น 9 ล้านราย

โดยแบ่งเป็น 1.กลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทไม่สำเร็จจำนวนทั้งสิ้น 3 แสนราย จากเดิมที่เคยมี 1.7 ล้านราย 2.กลุ่มเปราะบางทางสังคมทั้ง 3 กลุ่มคือ กลุ่มเด็กแรกเกิด กลุ่มคนชรา และกลุ่มผู้พิการ ที่จะอยู่ในความช่วยเหลือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รวม 6.9-7 ล้านราย จากเดิมที่คาดว่าจะมี 13 ล้านราย โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับเงินเดือนละ 1,000 บาทต่อราย เป็นระยะเวลา 3 เดือน

3.กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1.2 ล้านราย จากที่เคยคาดว่าจะมี 2.4 ล้านราย และ 4.กลุ่มแรงงานประกันสังคมที่ต้องตกงานจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่ยังส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน จำนวนทั้งสิ้น 6.62 หมื่นราย โดยคนกลุ่มนี้กระทรวงการคลังจะรับผิดชอบจ่ายเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทต่อราย เป็นเวลา 3 เดือน

ปลัดกระทรวงการคลัง ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีและจำนวยเงินให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่กลุ่มที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทไม่สำเร็จ และกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะเป็นอย่างไรนั้น คณะกรรมการเยียวยาฯ จะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการใช้เงินกู้ ซึ่งมีเลขาธิการสภาพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน พิจารณาอีกครั้ง


ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าคณะกรรมการเยียวยาฯ จะนำผลการพิจารณาจ่ายเงินเพิ่มเติมให้แก่คนทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจาณากลั่นกรองฯ ได้พิจารณาพร้อมกันด้วย และจากนั้นจึงจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจาณาเห็นชอบการจ่ายในแต่ละกลุ่ม ซึ่งหากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เดือน มิ.ย. กระทรวงการคลังและกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะจ่ายเงินให้โดยทันที ซึ่งวิธีการจ่ายเงินเยียวยานี้จะจ่ายให้ 2 เดือนคือ เงินเยียวยาของเดือน มิ.ย. และเงินเยียวยาย้อนหลังของเดือน พ.ค. ด้วย แต่จะจ่ายให้อีกครั้งในเดือน ก.ค. เป็นครั้งสุดท้าย

นอกจากนี้ นายประสงค์ ยังกล่าวถึงการจ่ายเงินเยียวยาในกลุ่มผู้ที่เคยเข้าร้องทุกข์หน้ากระทรวงการคลัง และที่สาขาธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรว่า จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 8.6 แสนราย

โดยแบ่งเป็นผู้ที่กระทรวงการคลังได้นำมาคัดกรองแล้ว 1 แสนรายนั้น จะเป็นผู้ที่ยังไม่มาลงทะเบียนและผู้ที่ตกหล่นการเยียวยา ส่วนอีก 6.4 พันรายจะเป็นผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการเฉพาะกลุ่มไปแล้ว และยังมีอีก 1.2 หมื่นราย จะไม่เข้าเกณฑ์รับเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน เนื่องจากส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จะต้องอยู่ในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มตกหล่น 9 ล้านราย

นายประสงค์ ยังกล่าวว่า ในการเยียวยาคนทั้ง 9 ล้านรายนั้น จะถือเป็นรอบสุดท้ายแล้ว และคาดว่าการให้ความช่วยเหลือในรอบนี้จะครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รวบรวมข้อมูลผู้ร้องทุกข์จากการที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. มีจำนวนผู้ร้องทุกข์ที่เข้าระบบแล้ว 1 แสนราย แต่ในจำนวนนี้จะมีผู้ที่ได้รับสิทธิไปแล้ว 34,805 ราย เกษตรกร 12,496 ราย แรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งได้ส่งเงินสมทบฯ จนครบ 6 เดือนแล้ว 1,483 ราย และเหลือกลุ่มที่ยังไม่ได้มาลงทะเบียนหรือตกหล่นความช่วยเหลือ 6,472 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในรอบสุดท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น