“คลัง” ยังไม่มีข้อสรุปมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว รอถกใหม่อีกรอบในสัปดาห์หน้า “ผู้ว่าฯ ททท.” เผย คลังขอให้ ททท. กลับไปจัดทำรายละเอียดในแต่ละมาตรการจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้อย่างบ้าง รวมถึงวิธีการที่ใช้จะดำเนินการ จำนวนคนที่ได้รับสิทธิ โดยต้องเน้นเรื่องความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน หากจะแจกเงินจริงแล้วต้องแจกเพื่อไปใช้เที่ยว และต้องมีการลงทะเบียนก่อน มาตรการนี้คงไม่ใช่ทุกคนจะได้สิทธิ ย้ำกำหนดระยะเวลาใช้จะใช้มาตรการดันการท่องเที่ยว 4 เดือน โดยจะเริ่มตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.นี้ เน้นย้ำรูปแบบท่องเที่ยวแบบ New Normal กันโควิด-19 ระบาดซ้ำ หวังสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางกลับมาเที่ยวไทย เพื่อกอบกู้สถานการณ์ในช่วงไตรมาส 4/63 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวให้กลับสู่ภาวะปกติ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวภายหลังการหารือกับนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวว่า ในเบื้องต้นกระทรวงการคลังได้สั่งให้ ททท. กลับไปทำมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยกลับมาเสนอเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ โดยในหลักการมาตรการดังกล่าวจะต้องมีผล 4 เดือนคือ ในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และส่งผลในการการสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางกลับมาเที่ยว เพื่อทำให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาส 4/2563 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งนี้ หลังสัปดาห์หน้าได้ข้อสรุปมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และจะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ชุดที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นลำดับต่อไป
สำหรับแนวทางที่ ททท. เสนอคือ 1.สนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ราว 1.2 ล้านคน เดินทางไปเที่ยว เพื่อเป็นการให้รางวัลตอบแทนจากที่ทำงานในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และ 2.กลุ่มประชาชนทั่วไป หลังจากที่ต้องหยุดการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในช่วง 4 เดือนจนถึงปัจจุบันถือว่าใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จึงต้องมีมาตรการสนับสนุนให้ท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศที่ 4-5 แสนล้านบาท จากรายได้ท่องเที่ยวโดยรวมทั้งหมด 1.23 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว 2.5 ล้านคน
นายยุทธศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ททท. มีการเสนอมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวให้กระทรวงคลังพิจารณาในหลายแนวทางเพื่อเป็นตุ๊กตาให้เลือก แต่กระทรวงการคลังให้กลับไปทำข้อสรุปกลับมาว่าแต่ละมาตรการต่างๆ จะส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง เช่น แนวทางการแจกเงินให้เปล่า การให้ส่วนลดที่พักบางส่วน หรือมาตรการชิมช้อปใช้ที่เคยแจกเงิน 1,000 บาทนั้น ในทางปฏิบัติแล้วจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวได้อย่างไร รวมถึงเมื่อประชาชนได้เงินไปแล้วมีการเดินทางท่องเที่ยวกัน มีการเดินทางข้ามจังหวัดจริงหรือไม่ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าการใช้งบประมาณที่จะมาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทด้วย
ส่วนเรื่องแจกเงินนั้น ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า มีการหารือเรื่องดังกล่าวเช่นกัน และการดำเนินการจะไม่เรียกว่าแจก เนื่องจากจะจ่ายเงินให้เป็นบางส่วน ซึ่งไม่ใช่ว่ากระทรวงการคลังจะไม่เห็นด้วย คลังเพียงแต่ให้ไปพิจารณาถึงความคุ้มค่าการใช้เงินงบประมาณ รวมถึงวิธีการที่ใช้จะดำเนินการ และจำนวนคนที่ได้รับสิทธิ โดยหากจะแจกเงินจริงแล้วต้องแจกเพื่อไปใช้เที่ยว และต้องมีการลงทะเบียนก่อนเนื่องจากมาตรการดังกล่าวนี้คงไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้สิทธิ
นอกจากนี้ รูปแบบการท่องเที่ยวยังจะต้องเป็นการท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ (New Normal) โดยจะต้องขอความร่วมมือประชาชนที่จะออกไปเที่ยว ต้องมีการจองก่อนเที่ยวเพื่อลดความแออัด และไม่ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นต้นเหตุให้เกิดการระบาดของโถลควิด-19 รอบสองด้วย
ส่วนกรณีบางแสนช่วงวันหยุดที่ผ่านมา มีคนเดินทางไปมากนั้น เป็นไปตามที่คาดไว้ เพราะเป็นช่วงวันหยุด และเป็นสถานที่ไม่ไกล ดังนั้น ททท. อาจต้องหารือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคตะวันออกด้วยว่าจะวางแผนรับมือนักท่องเที่ยวจากนี้ได้อย่างไร ด้านสถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบันนั้นถือว่าดีขึ้น เมื่อพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวช่วงวันหยุดที่ผ่านมา แม้จะมีบางพื้นที่ที่โรงแรมจะยังไม่เปิดให้บริการ เนื่องจากยังต้องรอจนถึงช่วงเดือน ก.ค. ก็ตาม แต่ในบางพื้นที่มีการเปิดให้บริการแล้ว เช่น พัทยา หัวหิน ซึ่งมียอดจองโรงแรมแล้วกว่า 70%
นายยุทธศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า จะมีการนำมาตรการ “ชิมช้อปใช้” กลับมากระตุ้นการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น ททท. มีมาตรการที่จะดำเนินการในการเจาะกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว ทั้งในกลุ่มผู้หญิง ครอบครัว และคนไทยที่เที่ยวต่างประเทศ ทั้งนี้ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้ว ททท. ก็จะนำมาตรการดังกล่าวกลับมา ซึ่งจะเป็นจังหวะที่มีการปลดล็อก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระยะที่ 4 ประชาชนจะกลับมาเดินทาง และจะมีวันหยุดเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวมีรายได้เป็น 0 บาท ตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นมา