xs
xsm
sm
md
lg

ความทรงจำแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลว : ทางเลือกที่พลเอกประยุทธ์ต้องตัดสินใจหลังวิกฤตโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลเผชิญกับมรสุมการชุมนุมต่อต้านของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลประยุทธ์สั่นคลอนรุนแรง และความนิยมของประชาชนที่มีต่อพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีเองก็ตกต่ำลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ครั้นเมื่อการแพร่ระบาดของโควิดเข้ามาคุกคามสุขภาพของประชาชน รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างดี ทำให้สามารถเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมาบางส่วน ทว่า เมื่อสถานการณ์กำลังกลับคืนสู่ภาวะปกติ มรสุมหลายลูกที่ถูกกดทับด้วยวิกฤติโควิดก็เริ่มพัดกระหน่ำรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ท่าที่ติดตามการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ ตั้งแต่เป็น คสช.จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลประยุทธ์ทำงานได้ค่อนข้างดีจนได้รับความนิยมสูงในบริบทที่มีวิกฤติความขัดแย้งทางสังคมการเมืองในบางลักษณะ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้ใช้อำนาจเด็ดขาดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างมีประสิทธิผล ดังเห็นได้จากการเข้ามาเป็นผู้รักษาความสงบทางการเมืองในช่วงปี ๒๕๕๗ ซึ่งทำให้พลเอกประยุทธ์ ได้รับความนิยมจากประชาชนสูงมาก

ทว่า เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งเริ่มคลี่คลายและเข้าสู่วิถีแห่งการพัฒนาและสร้างสรรค์ การนำแบบการใช้อำนาจเด็ดขาดก็ไม่ได้ผลอีกต่อไป กลับกลายเป็นอุปสรรคและสร้างปัญหาที่ซับซ้อนแก่การพัฒนาประเทศเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลประยุทธ์ไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงบริบทที่เกิดขึ้น และยังดำเนินการบริหารประเทศด้วยวิถีการรวมศูนย์อำนาจแบบเด็ดขาด ความนิยมของประชาชนที่มีต่อพลเอกประยุทธ์จึงลดลงอย่างต่อเนื่อง


หลังเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ พลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ภายใต้ระบบรัฐสภาซึ่งบริบทของสังคมการเมืองแตกต่างจากปี ๒๕๕๗ มีการประเมินจากหลายฝ่ายว่ารัฐบาลประยุทธ์คงอยู่ไม่เกินหนึ่งปี เพราะด้วยลักษณะการนำแบบปกปักรักษาสถานภาพเดิมทำให้ไม่สามารถการบริหารจัดการการเมืองทั้งภายในและภายนอกได้อย่างราบรื่น รัฐบาลเผชิญกับปัญหารุมเร้ากระหน่ำจนนาวาเหล็กทำท่าจะล่ม และแนวโน้มที่เกิดขึ้นก็เป็นไปในทิศทางนั้นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นปี ๒๕๖๓

แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายและกลายมาเป็นปัจจัยที่ช่วยต่ออายุรัฐบาลประยุทธ์เอาไว้คือการแพร่ระบาดของโควิด ที่เป็นวิกฤติระดับโลกและประเทศ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะวิกฤติ การนำแบบการใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นก็ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งโดยการประกาศภาวะฉุกเฉินในปลายเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ เปิดโอกาสให้พลเอกประยุทธ์กระชับและรวมศูนย์อำนาจในการบริหารประเทศอีกครั้งเพื่อจัดการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด ประกอบกับสังคมไทยมีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งพรั่งพร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาและอาสาสมัครสาธารณสุขภาคประชาชนที่ชำนาญด้านสาธารณสุขมูลฐานที่เน้นการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ และวัฒนธรรมของคนไทยที่พร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันยามประสบภัยพิบัติ จึงทำให้ประเทศไทยสามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิดอย่างมีประสิทธิผลสูง

ความสำเร็จของการแก้ปัญหาภัยพิบัติโควิดทำให้รัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ ได้รับคะแนนนิยมกลับคืนมาไม่น้อย ปรากฎการณ์แบบนี้อาจทำให้เกิดมายาคติขึ้นมาได้ว่ารัฐบาลและพลเอกประยุทธ์กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และบางคนอาจหลงคิดจินตนาการไปว่าหลังสถานการณ์โควิดรัฐบาลประยุทธ์จะสามารถบริหารประเทศได้อย่างต่อเนื่องราบรื่นจนครบวาระตามกฎหมาย

พลเอกประยุทธ์มีความชำนาญในการใช้การนำแบบรวมศูนย์อำนาจเด็ดขาดที่ใช้เพื่อปกป้อง พิทักษ์รักษาความปลอดภัยให้แก่สังคม ประสิทธิผลของการนำแบบนี้ขึ้นอยู่กับความกลัวต่อภยันตรายของประชาชน การใช้มาตรการทางกฎหมายและนโยบายที่มุ่งการห้ามแสดงพฤติกรรมและยับยั้งการกระทำของผู้คน และการใช้กองกำลังทหารและตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจัดการกับการฝ่าฝืนคำสั่ง


ทว่า การนำแบบนี้อาจได้ผลกับสถานการณ์วิกฤติในเรื่องความขัดแย้งที่รุนแรงเฉพาะหน้า และภัยพิบัติบางเรื่องและใช้ได้เฉพาะกาลเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์หวนคืนไปสู่ภาวะปกติ หรือมีวิกฤติเศรษฐกิจ หรือมีปัญหาความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังทางการเมืองดำรงอยู่ การนำแบบนี้ยากที่ประสบความสำเร็จ ดังหลักฐานของความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทางการเมืองในช่วง ๓ - ๔ ที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้ง ๒๕๖๒

อุปนิสัยและความเคยชินเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก แม้ว่าเจ้าตัวต้องการเปลี่ยนแปลงก็ตาม เพราะสิ่งนี้ถูกบ่มเพาะอย่างยาวนานและฝังแน่นในจิตใต้สำนึก ในบางช่วงเวลายามมีสติและสำนึกขึ้นมา เราอาจคิดเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน แต่ในที่สุดแล้วก็มักจะหวนคืนไปใช้อุปนิสัยเดิมโดยไม่รู้ตัว และการนำแบบรวมศูนย์อำนาจก็เป็นอุปนิสัยหนึ่งที่ยากแก่การเปลี่ยนแปลง ยิ่งมีอายุมากก็ยิ่งเปลี่ยนยากยิ่งขึ้น

เงื่อนไขความสำเร็จของการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่ซับซ้อนขึ้นอยู่กับการสร้างความหวังมิใช่การสร้างความกลัว ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ร่วมหรือความปรารถนาในการสร้างอนาคตที่ดีร่วมกัน มิใช่การย้อนยุคกลับคืนสู่อดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว ขึ้นอยู่กับการต่อรองแลกเปลี่ยนของหลายฝ่ายมิใช่การสั่งการจากผู้นำ ขึ้นอยู่กับความยินยอมพร้อมใจร่วมมือด้วยความเต็มใจในการกระทำมิใช่การบังคับด้วยกองกำลังและการลงโทษ ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์และความกล้าในการทดลองสิ่งใหม่ มิใช่การกระทำที่เป็นมาตรฐานหรือแบบแผนเดียวกันแบบเดิม ๆ ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน มิใช่ความต้องการของผู้มีอำนาจ นักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่มแต่อย่างใด

เงื่อนไขแห่งความสำเร็จของการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศข้างต้นจึงมิอาจใช้การนำแบบรวมศูนย์อำนาจเด็ดขาดได้ หากแต่ต้องใช้การนำแบบมีส่วนร่วมและการนำเชิงยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นปัญหาและไม่พึ่งปรารถนาของสังคมและประชาชนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำสูงทางเศรษฐกิจ การทุจริตคอรัปชั่น ความไม่อยุติธรรมทางการเมืองและกฎหมาย ให้กลายเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาในอนาคต อันได้แก่ การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองในทุกระดับอย่างทั่วถึง การลดลงของความเหลื่อมล้ำ การปลอดจากการทุจริต และการมีความยุติธรรมและสันติธรรมอย่างทั่วหน้า

การนำแบบมีส่วนร่วมและการนำเชิงยุทธศาสตร์มิได้เป็นลักษณะธรรมชาติของพลเอกประยุทธ์แต่อย่างใด ดังนั้นหากยังคิดและอนุมานว่าการประสบความสำเร็จในการยุติการแพร่ระบาดของโควิด หมายถึงแนวโน้มความสำเร็จในการบริหารประเทศภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ในช่วงถัดไปหลังวิกฤติโควิด นั่นเป็นการคิดแบบหลอกตัวเองและไม่เรียนรู้สรุปบทเรียนจากประสบการณ์ความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐบาลประยุทธ์ในระยะหลายปีที่ผ่านมา

**มีความเป็นไปได้สูงยิ่งว่า หากพลเอกประยุทธ์ยังบริหารประเทศต่อไปหลังยุติการแพร่ระบาดของโควิด ความนิยมที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากความสำเร็จในการยุติการแพร่ระบาดของโควิดจะเปลี่ยนทิศกลับทางและดิ่งลดลงอย่างรวดเร็วแบบคาดไม่ถึง และท้ายที่สุดก็อาจถูกขับไล่ในอนาคตที่ไม่ไกลนัก**

นอกจากการมีภาวะการนำไม่เหมาะสมกับสถานการณ์แล้ว ก็ยังมีมรสุมที่กำลังก่อตัวและพัฒนาเป็นพายุกระหน่ำรัฐบาลพลเอกประยุทธ์อยู่หลายลูกด้วยกัน มรสุมภายในคือการแย่งชิงอำนาจและตำแหน่งของกลุ่มฝักฝ่ายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งพัฒนาเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นข่าวออกมาสู่สาธารณะเป็นระยะ ทั้งในเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค การลาออกของกรรมการบริหารพรรค การเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีของพรรค และข่าวการตั้งพรรคใหม่ของแกนนำพรรคที่กำลังจะถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งหัวหน้าและเลขาธิการพรรค ขณะเดียวกันความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลก็ทวีความเข้มข้นไม่แพ้กัน มีการปล่อยข่าวทำลายความน่าเชื่อถือซึ่งกันและกันไม่เว้นในแต่ละวันของบรรดาพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล

**สำหรับมรสุมนอกรัฐบาล ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนและเข้มข้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปก็มีหลายลูกด้วยกัน ลูกแรกมาจากฝ่ายค้านที่เตรียมข้อมูลอย่างเข้มข้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในเรื่องพระราชกำหนดเงินกู้ การบริหารการเงินในช่วงวิกฤติโควิด และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบจากโควิด ลูกที่สองมาจากกองทัพคนว่างงานและผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด ซึ่งคงจะมาในหลากหลายรูปแบบทั้งการชุมนุม การเรียกร้อง และการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ลูกที่สามมาจากนิสิตนักศึกษา ซึ่งยุติการชุมนุมลงไปชั่วคราวในช่วงโควิด และกำลังก่อตัวขึ้นใหม่ในไม่ช้า และลูกที่สี่มาจากคณะก้าวหน้า ซึ่งมีจุดยืนและสถานภาพทางเมืองที่ไม่อาจประนีประนอมกับรัฐบาลประยุทธ์ได้แล้ว คณะก้าวหน้าคงมีการเคลื่อนไหวในทุกรูปแบบเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน รวมทั้งผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา**

ทั้งเงื่อนไขด้านภาวะการนำแบบรวมศูนย์อำนาจของพลเอกประยุทธ์ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล และแรงกดดันจากภายนอกรัฐบาล จะส่งผลให้รัฐบาลมีเสถียรภาพสั่นคลอนอย่างหนักหน่วงและคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ก็จะตกต่ำลงอย่างรุนแรง

ทางเลือกของพลเอกประยุทธ์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่า จะวางมือจากการเมืองภายใต้ความทรงจำแบบใด ระหว่างการเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการยุติการแพร่ระบาดโควิด กับการเป็นผู้นำที่ความล้มเหลวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ หากประสงค์จะให้ผู้คนจดจำในแบบแรก หลังวิกฤติโควิดผ่านพ้นไป พลเอกประยุทธ์ก็ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่หากจะให้ผู้คนจดจำในแบบหลัง ก็อยู่ในตำแหน่งต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถูกขับไล่ออกไปในที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น