xs
xsm
sm
md
lg

สองนคราประชาธิปไตย ความแตกแยกที่รอวันแตกหัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

การเมืองไทยวันนี้นั้นชัดเจนแล้วว่าเราอยู่กัน 2 ขั้วความคิด สองนคราประชาธิปไตย ที่ต่อเนื่องกันมาจากสงครามเสื้อสีมาเกือบสองทศวรรษ จากเอาไม่เอาทักษิณ พัฒนามาเป็นเอาไม่เอาประยุทธ์ แต่ทั้งทักษิณและประยุทธ์ก็เป็นเพียงจิ๊กซอว์เล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างของความขัดแย้งในสังคมไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองในเชิงโครงสร้างของคนอีกฟากหนึ่ง

มีคนบางกลุ่มบางฝ่ายมีฝันที่ไกลไปกว่านั้น

พูดกันให้ถึงที่สุดเนื้อหาของความขัดแย้งทุกวันนี้นั้นเป็นเรื่องของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขกับระบอบประชาธิปไตยที่เป็นความฝันของคนอย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรณิการ์ วานิช ที่พยายามจะเขย่าโครงสร้างของสังคมไทยโดยมีเป้าหมายคือลดทอนบทบาทสถานะของสถาบันเป็นสำคัญ

อย่างที่ปิยบุตรพูดว่า ระบอบเรียกว่า constitutional monarchy ลงหลักปักฐานตั้งมั่นได้ก็เพราะ monarchy หรือสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นยอมถอยลงไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

และที่เขาพูดโดยอิงแอบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศว่า “สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใด ๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ”

ตอนนี้สำหรับประชาชนนั้นต่างมีจุดยืนของตัวเองแล้วว่าเลือกข้างฝั่งไหนและมีจุดยืนอย่างไร สองกลุ่มก้อนการเมืองก็ชัดเจนว่า ใครยืนอยู่ตรงไหนฝ่ายไหน มีการปะทะกันทางความคิดให้เห็นได้อย่างชัดเจนในโซเชียลมีเดีย ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงก็แสดงตัวชัดเจนและกล้าหาญที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างโจ่งแจ้งมากขึ้นเรื่อยๆ

รอแต่เพียงว่า จะลุกฮือขึ้นมาปะทะกันบนท้องถนนเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

จากประชาชนมาถึงพรรคการเมือง พูดง่ายๆ ว่า ถ้าแบ่งกันตอนนี้ก็เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ถ้าดูตามตัวเลขของมือในสภา ดูจากกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ถือแต้มต่อก็อาจจะมองว่า ฝั่งอำนาจรัฐตอนนี้ได้เปรียบ แต่ถ้ามองเรื่องของห้วงเวลากลุ่มก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลนั้นได้เปรียบในช่วงของวัยและกลุ่มก้อนที่ได้รับการหนุนเนื่องจากคนรุ่นใหม่จำนวนมาก

มองฝั่งรัฐบาลตอนนี้ พรรคที่แกนหลักก็คือ พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคที่ทหารตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจและยึดโยงกับรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นให้ ส.ว.ที่ตัวเองแต่งตั้งมีอำนาจสามารถยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ถามว่า รัฐธรรมนูญนี้จะยืนหยัดได้นานแค่ไหน ผมคิดว่า โดยธรรมชาติแล้วสิ่งที่ผิดธรรมชาตินั้นไม่มีทางจะจีรังได้ แม้รัฐธรรมนูญชุดนี้จะเขียนบทเฉพาะกาลไว้เพียง 5 ปีให้ ส.ว.ยกมือเลือกนายกฯได้ในสมัยหน้าอีก 1 สมัยถ้ารัฐบาลประยุทธ์อยู่ครบเทอมแล้วเลือกตั้งใหม่ แต่เชื่อว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้วจะต้องมีขบวนการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรม เป้าหมายสำคัญก็คือ การลดทอนอำนาจของ ส.ว.นั่นเอง

โดยทิศทางและพลวัตรของสังคมแล้วผมเชื่อว่า อาจจะไม่สามารถทัดทานของเรียกร้องของสังคมได้ ถ้า ส.ว.ไม่สามารถยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีได้ก็ต้องตัดสินกันด้วยมือของ ส.ส. ถ้าดูจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคที่มีที่นั่งอันดับ1และจะมีโอกาสฟอร์มรัฐบาลก่อนก็คือ พรรคเพื่อไทย

แล้วพรรคพลังประชารัฐเองก็ดูเหมือนจะแตกแยกกันภายใน นักการเมืองมาจากหลากหลายพรรคร้อยพ่อพันแม่ บางคนอ้างว่าต้องเปลี่ยนฝั่งมาอยู่ข้างนี้เพราะถูกกดดันบังคับจากอำนาจรัฐ การรวมตัวกันของพรรคการเมืองที่ไม่ได้มาจากอุดมการณ์นั้นไม่มีวันจะยั่งยืน หลายคนในพรรคเมื่อลมการเมืองเปลี่ยนทิศก็พร้อมจะเปลี่ยนฝั่งกลับไปทันที สภาพในพรรควันนี้จึงเหมือนคนไม่สมประกอบ แค่วันนี้เป็นรัฐบาลได้ไม่นานความแตกแยกแย่งชิงอำนาจในพรรคกันอุตลุดแล้ว ถ้าไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจรัฐและรัฐธรรมนูญที่เขียนมาเพื่อพวกเราเมื่อไหร่ก็มีแต่วันจบสลาย

ถึงตอนนี้ผมยังเชื่อว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถอยู่จนครบสมัย 4 ปี รวมกับที่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารมาแล้ว 5 ปี ก็จะเป็น 9 ปี เมื่อย้อนกลับไปสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีแม้ไม่มีเค้ารางของความขัดแย้งทางการเมืองและประชาชนแบ่งเป็น 2 ฝ่ายอย่างทุกวันนี้ คนยังบอกว่าพอได้แล้วเบื่อแล้ว แล้วคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะก้าวข้ามกฎเกณฑ์นี้ไปได้ไหม จะกล้าไปต่ออีก 4 ปีไหม

และถ้าไม่มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวชูโรงแล้ว พรรคพลังประชารัฐจะชูใคร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณนั่นเหรอ ผมว่าไม่น่าจะคิดสั้นขนาดนั้นนะ

ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ นั้นไม่ต้องพูดถึงเลย ผมเชื่อว่า เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคน่าจะยิ่งตกต่ำลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ก็อาจจะสูญเสียที่นั่งให้พรรคคู่แข่งมากขึ้น เพราะวันนี้มองไม่เห็นพัฒนาและศักยภาพในการกลับมาของพรรคเก่าแก่พรรคนี้ได้เลย อาจต้องใช้เวลาอีกหลายศตวรรษหลายรุ่นถึงจะฟื้นคืนมาได้ แต่ก็อย่างคิดว่าจะทำสำเร็จแม้ในอดีตจะฟุบแล้วฟื้นมาตลอด แต่ในวันนี้ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ความผูกพันของคนรุ่นเก่ากับพรรคประชาธิปัตย์แทบจะสูญหายไปหมดแล้วแม้แต่ในพื้นที่ที่เคยส่งเสาไฟฟ้าลงแข่งก็ยังได้ก็ตาม

พรรคที่น่าจะยืนอยู่ได้ก็คือ พรรคภูมิใจไทย ที่มีสภาพของความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนตัวให้สอดคล้องกับกระแสสังคมมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ มีผลงานที่ชัดแจ้งกว่าเล่นการกระแสสังคมและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงกว่าพรรคอื่นๆ แต่ผมไม่เชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยจะมีความชัดเจนในการเลือกข้างทางการเมืองนะ พรรคการเมืองพรรคนี้น่าจะเป็นพรรคที่สวิงไปได้ทุกข้างแบบไม่ตะขิดตะขวงใจและแบบเนียนๆ เสียด้วย

ขณะที่อีกฟากตอนนี้มี 2 พรรคหลักที่สำคัญก็คือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ที่สืบทอดมาจากพรรคอนาคตใหม่ ดูเหมือนว่า บทบาทตอนนี้จะตกอยู่กับพรรคก้าวไกลที่เดินเกมคู่ขนานไปกับกลุ่มก้าวหน้าที่เปิดประเด็นท้าทายสังคมไทยตลอดเวลา ในสายตามวลชนอีกฝั่งการเมืองตอนนี้จึงน่าจะโดนใจบทบาทของฝั่งพรรคก้าวไกลมากกว่าพรรคเพื่อไทยที่วันนี้แทบจะไม่มีประเด็นอะไรออกมาในนามของพรรคเลย

คนฟากนี้ส่วนใหญ่มองว่า พรรคเพื่อไทยสู้ไม่จริง พูดกันว่าสู้ไปหมอบไป และสู้ไม่ถึงเป้าหมายที่กลุ่มก้าวหน้าซึ่งผูกโยงกับพรรคก้าวไกลต้องการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ส่วนกลุ่มก้าวหน้านั้นรู้ว่า มวลชนฝั่งตรงข้ามของรัฐบาลที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยนั้นยังมีความเคียดแค้นจากการที่พี่น้องของเขาถูกกระทำในการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 พวกเขาเลยพยายามจุดไฟกองนี้ให้ลุกโชนขึ้น ดังนั้นส่วนตัวผมเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคก้าวไกลอาจจะมีที่นั่งมากกว่าพรรคเพื่อไทย

สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้นอาจแตกออกไปหลายพรรค เพราะความขัดแย้งในพรรคก็มีอยู่สูง เพียงแต่ยังยึดโยงเป็นพรรคอยู่ได้เพราะนายใหญ่จากดูไบคนเดียว ผมคิดว่าวันนี้นายใหญ่ก็น่าจะรู้แล้วว่า ไพ่ในพรรคที่มีอยู่นั้นไม่สามารถสู้กับความสดและใหม่ของกลุ่มก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลได้ ถึงเวลานายใหญ่ก็อาจจะทิ้งไพ่มานั่งลุ้นคนรุ่นใหม่ต่อสู้กับศัตรูของตัวเองแบบไม่ต้องลงมือเอง

เดิมพันของสังคมไทยในวันข้างหน้าจึงเป็นเดิมพันที่สูงของสองนคราประชาธิปไตย โดยอีกฝั่งจะปลุกประเด็นชนชั้นขึ้นมาปลุกปั่นคนในสังคมให้เกิดความแตกแยก จากความเชื่อเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่คนกลุ่มหนึ่งเขาเชื่อว่าจะนำพาสังคมไทยไปสู่หนทางที่ดีกว่าและพวกเขาต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและมีแต่ความเคียดแค้นชิงชังค่านิยมสังคมแบบเก่า

ในขณะที่คนอีกฟากหนึ่งยังเชื่อในพลังและความเป็นอยู่ของสังคมไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน พวกเขาก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมาปกป้องศรัทธาของตัวเองและขัดขวางความพยายามเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือของคนอีกฝ่าย ถึงวันนั้นความแตกแยกรุนแรงก็อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย

เวลาจะเป็นตัวตัดสินอนาคตของสังคมไทย คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นผู้กำหนดแนวทางของตัวเอง ถ้าถามว่าสุดท้ายจะจบลงอย่างไร ก็ได้แต่บอกว่าใครอยู่บนความชอบธรรมมากกว่าย่อยเป็นผู้ชนะ


ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan

กำลังโหลดความคิดเห็น