“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
ถ้าใครได้ติดตามข่าวที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล หรือที่มีคนเรียกเขาว่า ปิแยร์บูด เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเชิดชูฝรั่งเศสของเขา ในฐานะแกนนำกลุ่มก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ที่วันนี้สืบทอดใหม่เป็นพรรคก้าวไกลได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ถึงการระงับตำแหน่งกษัตริย์ของฝรั่งเศสในสมัยก่อนการปฏิวัติ16 ว่า
“[ INTERREGNUM - EP07 สภาวะยกเว้น: “ชาติตกอยู่ในอันตราย!” ระงับตำแหน่งกษัตริย์ฝรั่งเศสชั่วคราว ในปี 1792 ]
ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 1791 แล้ว การเมืองฝรั่งเศสเกิดการต่อสู้กันระหว่างสภาแห่งชาติกับสถาบันกษัตริย์
แม้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงลงพระปรมาภิไธยในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองในรัฐธรรมนูญ 1791 ยอมเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ไม่ทรงเต็มใจเลย หลายกรณีเกิดจากแรงกดดันทางการเมือง เกิดจากการถอยเพื่อรอเวลา
มีพฤติกรรมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 หลายกรณีที่เร่งสถานการณ์ให้สุกงอม เช่น การยับยั้งกฎหมายสำคัญหลายฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาแห่งชาติ การปราบประชาชน และการหลบหนีออกนอกประเทศแต่ถูกจับกุมได้ที่เมือง Varenne
ทั้งหมดนี้ นำพามาสู่สถานการณ์ที่ประชาชนไม่พอใจกษัตริย์มากขึ้น และกดดันให้สภาแห่งชาติต้องพิจารณาเรื่องสถาบันกษัตริย์อีกครั้ง
แม้รัฐธรรมนูญ 1791 จะไม่ได้กำหนดไว้ แต่สภาแห่งชาติก็ได้ประกาศให้ “ชาติตกอยู่ในอันตราย” เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่สภาแห่งชาติ เพื่อยกเว้นรัฐธรรมนูญ และเพื่อระงับตำแหน่งกษัตริย์ไว้เป็นการชั่วคราว
รัฐธรรมนูญ 1791 หมวด 3 บทที่ 2 ส่วนที่ 1 มาตรา 7 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่กษัตริย์ออกนอกดินแดน และสภาแห่งชาติมีมติเรียกให้กลับ และไม่ยอมกลับตามเวลาที่กำหนดหรือภายใน 2 เดือน ให้กษัตริย์พ้นจากตำแหน่งกลายเป็นพลเมือง ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังไม่ได้ออกจากประเทศ ไม่เข้าเหตุตามมาตรา 7 นี้ แต่สภาแห่งชาติก็ยังคงยืนยันระงับตำแหน่งกษัตริย์เป็นการชั่วคราว ในท้ายที่สุด ฝรั่งเศสก็ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ ประกาศเป็นสาธารณรัฐ และดำเนินคดีกับนายหลุยส์ คาเปต์ ในข้อหาทรยศชาติ”
ผมตามไปดูในยูทูบที่เขาพูดไว้ที่ https://youtu.be/4bwmZzS1aaE หัวข้อ “ชาติตกอยู่ในอันตราย ระงับตำแหน่งกษัตริย์ฝรั่งเศสปี 1792” มีข้อความช่วงหนึ่งที่น่าสนใจ และผมคิดว่า สามารถพบร่องรอยของพวกเขาว่า ทำไมพวกเขาจึงยึดมั่นในโมเดลของการปฏิวัติฝรั่งเศส และประกาศว่าจะทำภารกิจ 2475 ที่ยังไม่สำเร็จให้สำเร็จ เขาเชื่อมโยงสองเหตุการณ์นี้อย่างไร และภารกิจที่ยังไม่สำเร็จของพวกเขาคืออะไร
การบรรยายปิยบุตรเริ่มด้วยการระบุว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกบังคับให้ลงนามในฐานะว่าจะยอมรับว่าอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเมื่อลงพระนามแล้วพระองค์ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศ แต่เป็นเพียงข้าราชการหมายเลข 1 ของประเทศเท่านั้น จากนั้นเขาบรรยายต่อว่า
“ประเด็นปัญหาพื้นฐานการปกครองในภาษาอังกฤษเราเรียกว่า constitutional monarchyว่ากันว่าคำๆนี้แปลเป็นภาษาไทยยังมีปัญหาเลยครับบ้างว่า ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ บ้างว่า ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ บ้างว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขบ้างว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ คำๆนี้เป็นประเด็นปัญหามาตลอด เอาเข้าจริงแล้วระบอบที่ชื่อว่า constitutional monarchy นั้นในท้ายที่สุดที่เหลืออยู่ในปัจจุบันที่น้อยประเทศที่ยังปกครองอยู่แบบนี้นั้น
ระบอบเรียกว่า constitutional monarchy ลงหลักปักฐานตั้งมั่นได้ก็เพราะ monarchy หรือสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นยอมถอยลงไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อใดก็ตามที่การต่อสู้เข้มข้นขึ้นพลังของฝ่ายประชาชน กระแสประชาชนขึ้นสูงขึ้นปรากฏว่าทาง monarchy ไม่ถอยก็จะถูกบังคับให้เป็นรีพับลิกหรือสาธารณรัฐดังที่เกิดขึ้นในหลากหลายประเทศ แต่ในขณะเดียวกันถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์มีวิสัยทัศน์มองออกว่าเพื่อจะรักษาสถานบันพระมหากษัตริย์ให้รอดกับยุคสมัยแบบใหม่นั้นก็จะยอมถอยหรือยอมลดอำนาจลดบทบาทลงมาเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อนั้นเรียกว่า constitutional monarchy ก็เกิดขึ้น อย่างเช่นประเทศในสแกนดิเนเวีย ประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สเปน ญี่ปุ่นหรือกัมพูชา เป็นต้น
แต่ถ้าหากพลังของ monarchy ยังมีสูงอยู่ก็สามารถเอาชนะพลังของประชาชนของฝ่ายสภาได้ เมื่อนั้นเรียกว่า constitutional monarchy มันไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่เป็นระบอบที่พระมหากษัตริย์ยังมีอำนาจมีบทบาทอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้นเรียกว่า constitutional monarchyอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นได้ในโลกใบนี้ในท้ายที่สุดแล้วเกิดขึ้นได้ก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ยอมถอยยอมปรับตัวเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้และยอมให้สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อนั้นจึงเกิดระบอบเรียกว่า constitutional monarchyขึ้นมา
ดังนั้นปรัชญาเมธีชาวเยอรมันที่ชื่อว่าคาร์ล ชมิทท์ จึงวิเคราะห์เอาไว้ว่ารัฐธรรมนูญ 1791 ของประเทศฝรั่งเศสนั้น คือจุดเริ่มต้นของการประนีประนอม มันเป็นการก่อร่างสร้างตัวของระบอบใหม่โดยเริ่มต้นจากการประนีประนอมก่อน แต่การประนีประนอมเช่นว่านั้น เป็นการประนีประนอมชั่วคราวเพื่อรอเวลาว่าในท้ายที่สุดสถาบันพระมหากษัตริย์หรือฝ่ายประชาชนใครจะเป็นฝ่ายชนะเด็ดขาด แล้วก็เป็นไปอย่างที่สมิธว่าจริงๆครับ เมื่อกระแสประชาชนขึ้นสูงสถานการณ์สุกงอมก็มีการรุกหน้าเดินหน้าขึ้นเรื่อยจนสถาบันพระมหากษัตริย์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จำเป็นต้องถอยแล้วยอมประนีประนอมแล้วเมื่อวันหนึ่งไม่ถอยหรือไม่ประนีประนอมในท้ายที่สุดก็จะไปจบด้วยการเป็นสาธารณรัฐ”
จากนั้นเขาก็เชื่อมโยงต่อกันมาที่ 2475
“ตัวอย่างที่ผมพูดไปมันก็คล้ายๆ กับตอน 24 มิถุนายน 2475 หลังจากเราปฏิวัติสยามแล้วก็มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 หลังจากนั้นก็มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทางมีพระราชวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้นร่างกันมาอย่างเร่งรีบจึงเติมคำว่าชั่วคราวลงไป ทำให้ต้องมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็น 10 ธันวาคม 2475 ถึงกระนั้นก็ตาม รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว วิธีคิดของสถาบันพระมหากษัตริย์กับชั้นเจ้านายระดับสูงก็วิธีคิดของคณะราษฎรก็ไม่ตรงกันอ่านรัฐธรรมนูญ 10ธันวาคม 2475คนละแบบ
และในท้ายที่สุดก็เกิดความขัดแย้งกันระหว่างคณะราษฎรกับในหลวงรัชกาลที่7จนนำมาซึ่งการยื่นคำขาดของในหลวงรัชกาลที่7นะครับและคณะราษฎรไม่ยอมในท้ายที่สุดในหลวงรัชการที่7ก็ทรงสละราชสมบัติในปี 2477 และต่อมาและต่อมามีการรัฐประหารในปี 2490 วิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยมก็กลับมาใหม่แล้วเราก็ปูทางเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขขึ้นมา
จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ต่างที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้และประเทศไทยก็ดูเหมือนว่าจะคล้ายคลึงกันเพียงแต่ว่าในท้ายที่สุดจะเป็นแบบใดนั้นก็แตกต่างกันไป”
เมื่อเชื่อมโยงไปที่ 2475 ปิยบุตรก็กลับมาพูดถึงสภาวะยกเว้นในปี 1975ในการสู้กันระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16กับสภาแห่งชาติจนนำมาสู่การระงับตำแหน่งกษัตริย์ตามเนื้อหาที่เขาโพสต์แบบย่อๆ ผ่านเฟซบุ๊ก
นั่นแสดงว่า ความหมายของการปฏิวัติ 2475 ที่พวกเขาบอกว่ายังทำไม่สำเร็จและจะต้องทำให้สำเร็จ จะเห็นว่า เมื่อเขายกตัวอย่างประเทศต่างๆในความหมายที่มีระบอบ constitutional monarchy ของเขานั้นจะไม่มีประเทศไทยอยู่ในนั้น แต่จะระบุแค่ว่า ประเทศในสแกนดิเนเวีย ประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สเปน ญี่ปุ่นหรือกัมพูชา เป็นต้น
ดังนั้นสรุปได้ว่า ความเห็นของเขานั้นเห็นว่า 2475 ยังไม่สามารถทำให้ประเทศไทย เป็น constitutional monarchy อย่างที่เขาคาดหวังไว้นั่นเอง และพวกเขาจึงอาสามาทำภารกิจต่อจากคณะราษฎรดังที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขาเคยประกาศไว้ว่า
“การเลือกตั้งครั้งนี้ หากมีจริงในปี 2562 จำเป็นจะต้องนำภาระกิจของการปฏิวัติ 2475 ที่ทำไม่เสร็จมาทำให้เสร็จ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้พูดด้วยโอหัง หรือทนงตน แต่พูดด้วยความเข้าใจถึงสภาพการในปัจจุบันที่ไร้สิทธิ ไร้เสรี และไร้เสรีภาพ พูดด้วยความเข้าใจดีว่าสังคมไทยไม่มีความหวัง และต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”ธนาธรประกาศไว้เช่นนี้
แล้วเนื้อแท้ของ constitutional monarchy ที่ปิยบุตรต้องการคืออะไร
ต้องย้อนไปดูสิ่งที่ปิยบุตรพูดเคยพูดไว้ว่า “สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใด ๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ และต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ”
สิ่งที่ยกมาทั้งหมดนี้ต้องนับว่าเป็นความกล้าหาญของปิยบุตรที่กล้าแสดงความเห็นที่ซ่อนเร้นภายในออกมา แน่นอนในระบอบประชาธิปไตย ความเห็นต่างๆในอุดมการณ์การเมืองอาจเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ สำหรับผมแล้วคิดเสมอว่าจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะฝักใฝ่ฝ่ายไหนลัทธิไหนไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพียงแต่จะขัดต่อกฎหมายของแต่ละประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ผู้แสดงออกต้องรับผิดชอบกันเอง
ในสังคมไทยวันนี้มีคนไม่น้อยโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่เชื่อมั่นและศรัทธาปิยบุตรและธนาธร และมองว่าคนเหล่านี้เป็นตัวแทนของคนรุ่นเขา การยุบพรรคอนาคตใหม่นำความเคียดแค้นชิงชังให้กับคนหนุ่มสาวว่า เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม โดยไม่สนใจว่า การกระทำที่แกนนำพรรคอนาคตใหม่กระทำขึ้นนั้นเป็นความผิดที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่
แต่เราก็ไม่สามารถห้ามความเชื่อของใครได้ เพราะเราให้เสรีภาพที่จะเชื่อ แต่ขณะเดียวกันความเชื่อนั้นก็ต้องไม่บั่นทอนและทำลายศรัทธาความเชื่อของคนอีกฝ่าย เพราะมิเช่นนั้นถ้าความเชื่อและศรัทธาของคนสองฝ่ายหักล้างกันสุดท้ายแล้วก็จะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นโศกนาฏกรรมดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมไทย
จะเห็นว่า ทั้งปิยบุตร ธนาธร และพรรณิการ์ วานิช ยังไม่นิ่งเฉยที่จะขับเคลื่อนอุดมการณ์ของเขาด้วยความเชื่อมั่น โดยมีคนหนุ่มสาวห้อมล้อม ขณะเดียวกันก็มีคนอีกจำนวนมากที่จะออกมาต่อต้านเส้นทางเดินไปสู่เป้าหมายของพวกเขาแบบพร้อมจะแตกหักกันไป
มองไปข้างหน้าแล้วก็ได้แต่ภาวนาว่า อย่าให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมไทยเลย
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan