“ปิยบุตร” ช่างกล้า เสนองานวิชาการสุดหมิ่นเหม่ ว่าด้วย “ชาติตกอยู่ในอันตราย!” ระงับตำแหน่งกษัตริย์ฝรั่งเศสชั่วคราว แม้เป็นประวัติศาสตร์สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แต่คำถาม คือ หยิบยกมาแลกเปลี่ยนในสังคมไทยเพื่อ...
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (8 พ.ค. 63) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์หัวข้อ “[ INTERREGNUM - EP07 สภาวะยกเว้น: “ชาติตกอยู่ในอันตราย!” ระงับตำแหน่งกษัตริย์ฝรั่งเศสชั่วคราว ในปี 1792 ]”
โดยระบุว่า “ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 1791 แล้ว การเมืองฝรั่งเศสเกิดการต่อสู้กันระหว่างสภาแห่งชาติกับสถาบันกษัตริย์
แม้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงลงพระปรมาภิไธยในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองในรัฐธรรมนูญ 1791 ยอมเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ไม่ทรงเต็มใจเลย หลายกรณีเกิดจากแรงกดดันทางการเมือง เกิดจากการถอยเพื่อรอเวลา
มีพฤติกรรมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 หลายกรณีที่เร่งสถานการณ์ให้สุกงอม เช่น การยับยั้งกฎหมายสำคัญหลายฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาแห่งชาติ การปราบประชาชน และการหลบหนีออกนอกประเทศแต่ถูกจับกุมได้ที่เมือง Varenne
ทั้งหมดนี้ นำพามาสู่สถานการณ์ที่ประชาชนไม่พอใจกษัตริย์มากขึ้น และกดดันให้สภาแห่งชาติต้องพิจารณาเรื่องสถาบันกษัตริย์อีกครั้ง
แม้รัฐธรรมนูญ 1791 จะไม่ได้กำหนดไว้ แต่สภาแห่งชาติก็ได้ประกาศให้ “ชาติตกอยู่ในอันตราย” เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่สภาแห่งชาติ เพื่อยกเว้นรัฐธรรมนูญ และเพื่อระงับตำแหน่งกษัตริย์ไว้เป็นการชั่วคราว
ตามรัฐธรรมนูญ 1791 หมวด 3 บทที่ 2 ส่วนที่ 1 มาตรา 7 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่กษัตริย์ออกนอกดินแดน และสภาแห่งชาติมีมติเรียกให้กลับ และไม่ยอมกลับตามเวลาที่กำหนดหรือภายใน 2 เดือน ให้กษัตริย์พ้นจากตำแหน่งกลายเป็นพลเมือง ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังไม่ได้ออกจากประเทศ ไม่เข้าเหตุตามมาตรา 7 นี้ แต่สภาแห่งชาติก็ยังคงยืนยันระงับตำแหน่งกษัตริย์เป็นการชั่วคราว
ในท้ายที่สุด ฝรั่งเศสก็ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ ประกาศเป็นสาธารณรัฐ และดำเนินคดีกับ นายหลุยส์ คาเปต์ ในข้อหาทรยศชาติ
ขอเรียนเชิญทุกท่านลองฟังรายการ Interregnum ทั้งหมดและมาแลกเปลี่ยนกันดูครับ”
ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก THE STANDARD เมื่อ 16 มิ.ย. 62 โพสต์หัวข้อ ปฏิวัติฝรั่งเศส : เปลี่ยน ‘สภาฐานันดร’ เป็น ‘สภาแห่งชาติ’ อย่างน่าสนใจ
เนื้อหาระบุว่า “หากพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส สังคมไทย มักคิดถึงเหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์ ซึ่งเป็นที่เก็บอาวุธ เป็นคุก และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของราชวงศ์ที่ตั้งอยู่กลางกรุงปารีส หรืออาจคิดถึงการประหารชีวิตด้วยเครื่อง ‘กีโยตีน’
แต่อีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสในแง่มุมของการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยจากราชวงศ์มาสู่ชนชาติฝรั่งเศสในรูปแบบของ ‘สภา’ ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก
วันที่ 24 มกราคม 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาฐานันดร ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ฐานันดร หรือ 3 สภา ได้แก่ ฐานันดรขุนนาง ฐานันดรพระ และฐานันดรที่สาม ซึ่งทั้งสามฐานันดรนี้ต้องแยกกันประชุมและลงมติแยกกัน
ในการประชุมสภาฐานันดรวันแรก สมาชิกสภาฐานันดรที่สามเสนอวาระให้พิจารณายกเลิกการแยกประชุมในแต่ละฐานันดร และยกเลิกการลงมติในแต่ละฐานันดรแยกกัน
โดยเสนอให้ทั้งสามฐานันดรประชุมร่วมกันและลงมตินับคะแนนเป็นรายบุคคล แต่ฐานันดรพระและขุนนางปฏิเสธ
สภาฐานันดรที่สาม จัดการเปลี่ยนชื่อเรียกตนเองเสียใหม่ว่า สภา Communes โดยหยิบยืมมาจาก House of Commons ของอังกฤษ และประกาศเชิญชวนสมาชิกสภาฐานันดรขุนนางและพระที่เห็นด้วยให้มาร่วมประชุมด้วยกัน
พร้อมยื่นคำขาดกำหนดเส้นตายในวันที่ 10 มิถุนายน หากพระและขุนนางยังไม่เข้าร่วม ฐานันดรที่สามก็จะประชุมต่อไปกันเอง
ในท้ายที่สุด มีสมาชิกสภาฐานันดรพระและสมาชิกสภาฐานันดรขุนนางบางส่วนมาร่วมในวันที่ 17 มิถุนายน 1789
โดยที่ประชุมเสนอให้สภาฐานันดรเปลี่ยนสถานะตนเองเป็นสภาแห่งชาติ (Assemble Nationale) และที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 491 เสียงต่อ 90 เสียง
การเปลี่ยนจากสภาฐานันดรเป็นสภาแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงชื่อเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดใหม่เรื่อง ‘อำนาจอธิปไตยแห่งชาติ’ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการกำเนิดกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ในฝรั่งเศส
โดยนับแต่นี้ อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของพระมหากษัตริย์อีกต่อไป แต่เป็นของ ‘ชาติ’ ซึ่งมี ‘สภาแห่งชาติ’ ที่ประกอบไปด้วยผู้แทนของชาติเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย
อ้างอิง : ปิยบุตร แสงกนกกุล, [ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส] ว่าด้วยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16, มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 พฤษภาคม 2560
#News #TheStandardCo
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 61 รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้โพสต์บทความเรื่อง “Manifesto กับการกลายเป็นพรรคปฏิวัติตามโมเดลการปฏิวัติฝรั่งเศสของพรรคอนาคตใหม่” ผ่านเฟซบุ๊ก “Suvinai Pornavalai”
โดยแสดงความคิดเห็นกรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เสนอแนวคิด 6 ข้อในการจัดการมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะการรื้อกฎหมายที่ประกาศใช้ในสมัย คสช. โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
“ข้อเสนอ 6 วิธีในการจัดการมรดกของ คสช. ของอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ถ้าเสนอก่อนที่อาจารย์ปิยบุตรจะกระโดดเข้าร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ผมก็จะมองแค่ว่าอาจารย์ปิยบุตรแค่ "ร้อนวิชา" ในฐานะที่สังกัดกลุ่มนิติราษฎร์เท่านั้น
แต่พลันที่อาจารย์ปิยบุตรเสนอแนวทาง 6 วิธีในการจัดการ “กวาดล้าง” มรดกของ คสช. ภายหลังจากที่อาจารย์ปิยบุตรและคุณธนาธรเพิ่งประกาศเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ได้แค่อาทิตย์เดียวเท่านั้น มันทำให้ผมมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากสรุปว่า ข้อเสนอของอาจารย์ปิยบุตรเหล่านี้ คือ Manifesto หรือ คำประกาศการปฏิวัติของพรรคปฏิวัติ ตามโมเดลการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ อาจารย์ปิยบุตร เป็นผู้รู้ระดับต้นๆ ของประเทศนั่นเอง
ผมไม่แน่ใจว่า ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ 25 คนที่เหลือ รวมทั้งคุณธนาธร ได้รับรู้และเห็นชอบกับข้อเสนอ 6 วิธีในการจัดการมรดกของ คสช.ของอาจารย์ปิยบุตรหรือไม่
แม้ต่อมา อาจารย์ปิยบุตร จะออกตัวว่า เป็น “แค่บททดลองเสนอทางวิชาการ” เท่านั้นและยินดีแลกเปลี่ยนประเด็นนี้ในทุกเวทีและทุกเมื่อ
คุณธนาธร โดนถล่มในโซเชียลจากคำพูดในอดีตของเขาทั้งสิ้น เพราะสังคมต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่า คนที่อาสาเป็นผู้นำประเทศจากคนรุ่นใหม่อย่างคุณธนาธรมีแนวคิดเช่นไร
ส่วนอาจารย์ปิยบุตรในฐานะแกนนำอันดับ 2 ของพรรคอนาคตใหม่ ผมขอทำนายว่า สื่งที่อาจารย์ปิยบุตรเขียนไปเมื่อวานเรื่อง 6 วิธีในการจัดการมรดกของ คสช.จะโดนโซเชียลถล่มไปอีกนาน ในฐานะที่เป็นคำประกาศปฏิวัติตามโมเดลการปฏิวัติฝรั่งเศสของพรรคอนาคตใหม่
พรรคอนาคตใหม่แสดงตัวชัดเจนอย่างไม่ปิดบังอำพรางแล้วว่า พรรคนี้คือพรรคปฏิวัติตามโมเดลการปฏิวัติฝรั่งเศส
หลังจากนี้ สังคมไทยจะให้คำตอบเองว่า จะต้อนรับแนวทางการปฏิวัติตามโมเดลการปฏิวัติฝรั่งเศสของพรรคอนาคตใหม่แค่ไหน
ปัจจุบัน ผมเชื่อในการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เริ่มจากตัวเราแต่ละคนมากกว่าการเปลี่ยนแปลงมโหฬารแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเหมือนในวัยฉกรรจ์นะ สิ่งที่อาจารย์ปิยบุตรเสนอมันเป็น “ไอเดียบริสุทธิ์” ที่หาความเป็นไปได้ในความเป็นจริงปัจจุบันตอนนี้มารองรับแทบไม่ได้เลย
แต่ถ้ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อและเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติ ตามโมเดลการปฏิวัติฝรั่งเศสภายใต้การนำของพรรคอนาคตใหม่
ผมเกรงว่า ประเทศนี้จะนองเลือดอีกครั้งอย่างแน่นอน”
ที่ต้องชี้ให้เห็นก็คือ ปัจจุบัน พรรคอนาคตใหม่ เป็นอดีตไปแล้ว ขณะเดียวกัน ทั้งนายปิยบุตร และนายธนาธร ในฐานะกรรมการบริหารพรรค ก็ถูกเว้นวรรคทางการเมืองไปแล้ว 10 ปี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดีตายน้ำตื้น หรือสะดุดขาตัวเองก็ว่าได้ แต่มิวายโทษว่า เผด็จการกลั่นแกล้งรังแก ไม่ต้องการให้พวกตนอยู่ในสภา จนต้องออกมาเล่นการเมืองนอกสภา
ส่วนโพสต์ของ “ปิยบุตร” ล่าสุดนี้ เกิดขึ้นหลังจากถูกโซเชียลรุมจวกยับ กรณีนำผลงานยุบพรรคและวินิจฉัยคดีสำคัญ รวมทั้งยุบพรรคอนาคตใหม่ ของ นายนุรักษ์ มาประณีต หลังได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นองคมนตรี โดยเห็นว่า มีเจตนาแอบแฝงมิบังควร
เช่นเดียวกับเรื่องนี้ ก็มีคำถามเช่นเดียวกัน ว่า นำเสนองานวิชาการ “ชาติตกอยู่ในอันตราย!” ระงับตำแหน่งกษัตริย์ฝรั่งเศสชั่วคราว” พร้อมชักชวนให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อ...? และ ต้องการให้เห็นแค่ประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสเท่านั้นหรือ???