“อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ แข็งแกร่งแต่ไม่แข็งกระด้าง” เปิดใจนักการเมืองสาวรุ่นใหม่ มากความสามารถ ผู้ที่มีความมุ่งมั่นจะเข้ามาช่วยสร้างให้สังคมไทยให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น นำความรู้ด้านอาชญาวิทยา-ประสบการณ์รอบด้าน-ลงพื้นที่จริง พร้อม เปิดโรงทานเยียวยาจิตใจ ให้ผ่านพ้นพิษวิกฤต “โควิด-19” หวังลดอัตราการฆ่าตัวตาย-ปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้น
อยู่รอดท่ามกลางวิกฤต คนไทยต้องช่วยกัน
“เราเห็นว่ามันเป็นความเดือดร้อนของทุกคน ตอนนี้มันไม่ใช่หน้าที่ของนักการเมืองแล้ว แต่เป็นหน้าที่คนไทยด้วยกันที่เราจะร่วมด้วยช่วยกัน ที่จะทำให้เราผ่านวิกฤตตรงนี้ไปได้”
ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ หรือ ส้ม สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ วัย 33 ปี นักการเมืองหน้าใหม่ที่น่าจับตามอง ณ ตอนนี้ ได้ตอบคำถามแคลงใจ หลังออกมาเปิดโรงทาน ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ต้องเผชิญกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเปิดมิติตัวตนการทำงานเพื่อสังคม และคำครหาต่างๆ ถึงนักการเมืองไทย
ภายในเขตปทุมวัน บางรัก สาทร 3 เขตที่อยู่ภายใต้การดูแลของเธอ อัดแน่นไปด้วยประชากรกว่าหลายหมื่นคน ผู้หญิงที่มีรอยยิ้มสดใสคนนี้ได้นำเงินส่วนตัวร่วมกับน้ำใจของหลายๆ คน ออกมาเปิดโรงทาน เพราะเล็งเห็นว่า จากสถานการณ์ตรงนี้อาจจะสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตของผู้คนทุกชนชั้น
“ส่วนหนึ่งเราเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รับเลือกตั้งจากในเขตพื้นที่นี้ด้วย แล้วเราก็จะรู้บริบทของพื้นที่นี้ดีกว่าในแต่ละชุมชนเป็นลักษณะยังไง มีคนที่เดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็เรียกว่าพอบรรเทาไปได้ดีกว่าค่ะ ถามว่าจะไปอยู่ได้นานแค่ไหน ตรงนี้มันก็อาจจะไม่ได้นานมาก แต่ถือว่าพอจะช่วยบรรเทาให้เขาเยียวยาไปได้
ส้มทำมาประมาณ 2 อาทิตย์แล้วค่ะ ก็ประมาณช่วงสงกรานต์ แต่ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่มีปัญหาเรื่องโควิด-19 ส้มก็มีได้ออกหน่วยฆ่าเชื้อในพื้นที่จุดเสี่ยง แล้วก็ให้ความรู้แก่ประชาชน ให้แก่ชุมชนอย่างถูกต้องในการที่จะป้องกันโรคโควิด-19 ตรงนี้ และมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสอนทำหน้ากาก สนับสนุนเครื่องมือต่างๆ หน้ากากผ้า เพื่อให้ชุมชนสามารถที่จะช่วยกันดูแลตัวเองได้ด้วย
ไม่ใช่เป็นเงินสนับสนุน แต่ละคนที่ทำ คือเงินของตัวเอง เราอยากช่วยตรงนี้ เราอยากทำตรงนี้ เราเห็นว่าปัญหามีอะไรบ้าง อย่างเช่นในเขตของส้มเองปทุมวัน บางรัก สาทร ก็จะมีชุมชนแออัดเยอะมาก
หลังสยามพารากอน ก็จะมีชุนชน มีแฟลต มีหลายๆ คนที่เขาเดือดร้อน แล้วพอประสบปัญหาตรงนี้ หลายคนตกงาน หลายคนเดือดร้อนจริงๆ เราเห็นเลยว่าเขาต้องการอย่างแรก คือ ปัจจัย 4 เรื่องของอาหารบริโภคต่างๆ ตอนนี้ที่เราทำได้ คือ เราก็พยายามช่วยกัน แบ่งปันน้ำใจให้กันตรงนี้
อย่างที่พรรคเอง มีการทำอาหารจ่าย เราก็พยายามช่วยๆ กัน หรือตรงไหนที่เราดูแล้ว จะสนับสนุนได้ อย่างเช่น เราเห็นโครงการส่วนของบ้านผู้พิการทางสายตา ที่เขารับบริจาค เขาเดือดร้อนในเรื่องหน้ากาก เรื่องเจลแอลกอฮอล์ เราเห็นตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ที่เขาต้องคอยสัมผัสตลอด เราก็พยายามช่วยเหลือ ช่วยสนับสนุนในส่วนที่เราทำได้”
ในส่วนของที่ได้นำลงไปแจกผู้ที่ประสบความเดือดร้อน นอกจากเป็นของสดแล้วนั้น นักการเมืองสาววัย 33 ปี ยังนำของแห้งไปแจกตามบ้าน เพื่อต่อชีวิตคนในครอบครัวในชุมชนนั้นเท่าที่จะทำได้
“คือ เราก็เห็นว่าจากพิษวิกฤตเศรษฐกิจ คนตกงานเยอะมาก อย่างกรุงเทพฯ ชั้นใน คนที่อยู่ในชุมชนแออัดส่วนใหญ่ บางทีก็มีบ้านเช่า มีอะไร หลายคนไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ถูกให้ออกจากบ้านเช่าอะไรก็มี ต้องมาเร่ร่อน
บางทีอาหารแต่ละมื้อ เหมือนรอผ่านไปวันๆ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งเราก็มาช่วยตรงนี้ เท่าที่สามารถที่จะทำได้ และเราก็มีทำอาหารแห้ง ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คอยแจกตามบ้าน ตามชุมชนเท่าที่เราสามารถทำได้
เราจะพยายามเน้นในชุมชนที่เดือดร้อนก่อน อย่างเราเข้าไปในชุมชน ประธานชุมชนเองเขาจะให้ความร่วมมือ ส่วนใหญ่ประธานชุมชนเขาจะรู้ข้อมูลว่าบ้านไหนที่ค่อนข้างจะเดือดร้อนจริงๆ
คือชุมชนก็ถือว่า เป็นชุมชนที่ค่อนข้างจะดูแลกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตรงไหนเดือดร้อน เขาก็จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ดังนั้น พอเราไปช่วยเสริมเขา เขาก็จะรู้ว่าลองดูตรงนี้นะ คนนี้ บ้านนี้ก่อน เพราะเราต้องบอกว่าของทุกอย่างเรามีจำกัด เพราะว่าประชากรในพื้นที่เราเยอะมาก”
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงช่องโหว่ที่ประชาชนยังไม่เข้าใจทั้งระบบ มาตรการต่างๆ จากการที่ได้ลงพื้นที่ และเธอเป็นผู้แทนราษฎร ปัญหาที่พบคือหลายคนยังไม่ตระหนักเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เท่าไหร่
“ในช่วงแรกที่ตอนโรคระบาดใหม่ๆ หลายคนก็ยังไม่ค่อยรู้สึกตระหนักเท่าไหร่ว่าโรคนี้มันอยู่ใกล้ตัว แล้วมันก็ติดต่อกันง่าย
อย่างเช่นในเรื่องของการใส่หน้ากาก แต่ว่าจริงๆ ในช่วงระยะหลังที่ผ่านมานี้ ถือว่าในชุมชนค่อนข้างตื่นตัวกันแล้ว และรู้วิธีป้องกัน เพราะว่าในการประชาสัมพันธ์ทุกภาคส่วนตอนนี้ถือว่าค่อนข้างที่จะมีประสิทธิภาพ และก็เข้าถึงกับประชาชน
จริงๆ สิ่งที่อยากจะฝากถึงประชาชน คือเรื่องของการที่พยายามหลีกเลี่ยงจุดที่คนเยอะ หรือว่าอย่างในชุมชนแออัดต่างๆ บางทีมีการออกมาพบปะสังสรรค์อะไรกัน แต่ว่าในระยะเวลานี้ตั้งแต่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรียกว่าค่อนข้างที่จะเป็นระเบียบเรียบร้อยดีค่ะ”
โควิด-19 ทำพิษ พบอัตรา “ฆ่าตัวตาย-ปัญหาครอบครัวสูง”
ทว่า จากการลงพื้นที่ ใครจะรู้ล่ะว่าเธอคนนี้ได้เห็นสภาพความเดือดร้อน และได้ยินจากปากชาวบ้านในชุมชนมีความเครียด ถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย
“อย่างเคสหนักสุดที่เราเคยเจอ คือ มีออกข่าวนะคะว่าคิดสั้น เหมือนแบบจะฆ่าตัวตาย ด้วยความที่มีชุมชนเขาเป็นชุมชนที่ติดกับทางรถไฟ แล้วเขาก็ขายของไม่ได้ เพราะรถไฟหยุดเดิน
ค่าเช่าบ้านไม่มีจ่าย ก็จะโดนไล่ที่ อาหารก็แทบจะไม่มีประทังแล้ว เราเห็นตรงนี้ก็มีเข้าไปพูดคุยไปอะไรเขา บวกกับเงินเยียวยา 5,000 บาท ก็ยังไม่ได้รับ ก็เลยลองไปพูดคุยกับเขาดูว่าตรงนี้มันเป็นปัญหายังไงบ้าง สิ่งที่เราพอจะช่วยอะไรเขาได้ไหม
พอคุยกัน เขาก็รู้สึกดีขึ้น คือ อย่างแรกทำความเข้าใจในเรื่องของการลงทะเบียนเงินเยียวยาก่อน เพราะว่าบางทีคนที่อยู่ในชุมชน อาจจะเข้าไม่ถึงการใช้ในระบบออนไลน์ต่างๆ
เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งเราก็ต้องแนะนำเขา มันต้องลงยังไงมันต้องอะไรในรายละเอียด อย่างที่ 2 คือว่า ค่าเช่าบ้าน เราก็คุยปรึกษากับทางประธานชุมชนว่าเราพอจะเจรจากับทางผู้ให้เช่าได้ไหม ว่า เราจะขอเลื่อนช้าไปได้ไหม และพอจะลดหย่อนลดค่าเช่าอะไรได้บ้างในวิกฤตแบบนี้
แล้วพอทางประธานชุมชนเขาไปเจรจาพูดคุยกันให้ เขาก็ยินยอมค่ะ ก็เข้าใจในภาวะวิกฤตตรงนี้ ก็ยืนยันที่จะให้เลื่อนได้ แล้วก็มีปรับค่าใช้ลดลง ในส่วนของอาหารในตอนนี้ก็มีหลายคน ที่เรียกว่าน้ำใจคนไทย พอเห็นว่าตรงไหนเดือดร้อนก็เข้ามาช่วยเหลือกัน ก็ค่อนข้างที่จะเรียกว่าอิ่มท้องค่ะ”
อีกหนึ่งในเรื่องละเอียดอ่อนที่เธอยอมรับเลยนั้น คือ การรับเงินเยียวยา 5,000 บาท จากรัฐ โดยใช้ระบบ AI ตรวจสอบ ที่คนเข้าไม่ถึงเรื่องการลงทะเบียน และพบปัญหาผิดพลาดต่างๆ จากการเยียวยาครั้งนี้
“เราไปเห็นเอง ตอนแรกจริงๆ เราก็ไม่เข้าใจนะว่าทำไมเขาถึงมีปัญหาตรงนี้ แต่พอเราได้ไปพูดคุย เรานึกถึงเลยว่าอย่างชุมชนที่เราได้เข้าไปสัมผัสชุมชนแออัด คนที่เขาอยู่ในกลุ่มแรงงาน หรือว่าในการใช้ทางระบบออนไลน์ต่างๆ เขายังไม่ค่อยเข้าใจ หรือว่าบางทีก็มีคนที่มีอายุเยอะแล้ว มันเป็นระบบที่อาจจะต้องมีให้คนที่คอยให้คำแนะนำ
เขาก็เลยพยายามที่จะสร้างระบบขึ้นมา เพื่อจะได้ support แล้วก็ลดความเสี่ยงในจุดนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็มีได้ และมีเสียค่ะว่ามันก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง เราจะทำยังไง เราจะเปิดไหมว่าจะมีอีกวิธีหนึ่งที่ให้คน walk in เข้าไป แต่ตรงนี้เราก็ต้องดูด้วยว่า มาตรการในการที่เราจะเปิดเข้าไปมันมีผลกระทบอะไร ก็ต้องคิดให้รอบด้าน
ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เธอเองได้ทำงานในคณะกรรมาธิการเด็กสตรีเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้มีหลากหลายทางเพศ เข้าใจสถานการณ์นี้ดี ซึ่งเธอเองยังเข้าไปช่วยเยียวยาจิตใจ พูดคุยทำความเข้าใจให้เขามีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น
“คือแค่มีคนได้เข้าไปพูดคุย ไปรับฟังปัญหาแล้วก็แนะนำเขา จริงๆ สิ่งเหล่านี้มันก็แทบจะสามารถผ่อนคลายให้เขาได้เยอะแล้ว
แต่บางทีเหมือนด้วยความที่ทุกอย่างมันประดังเข้ามา เขาก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร ไม่รู้จะพึ่งใคร เจ้าหนี้ก็มาทวง เงินก็ไม่ได้ นั่นก็ต้องทำ พ่อแม่ก็ต้องดูแล มันทำให้เขากดดัน แล้วมันทำให้จิตใจมันฟุ้งซ่านมันคิดเยอะ จริงๆ แค่การพูดคุย ส่วนหนึ่งการพูดคุยก็ช่วยให้ได้เยอะ
แต่ในช่วงเศรษฐกิจโควิด-19 ณ ตอนนี้ด้วย จริงๆ มันก็มีสถิติของเกี่ยวกับเรื่องความกดดัน เรื่องทางสุขภาพจิตเยอะ รวมไปถึงเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว
อย่างส้มเองอยู่ในคณะกรรมาธิการเด็กสตรีเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้มีหลากหลายทางเพศ จริงๆ ก็มองเห็นถึงในประเด็นนี้ว่า แล้วตรงนี้เราควรจะหาทางช่วยกันรณรงค์ตรงไหนบ้าง ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้มองว่าเรื่องของครอบครัว ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ความรุนแรงในครอบครัวของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องห่างไกลตัวออกไปแล้ว คือเราต้องช่วยกันสนใจเรื่องคนรอบข้างของเราด้วย
และช่องทางในการที่เราจะแจ้งเมื่อเจอเหตุการณ์เหล่านี้ รวมถึงช่องทางสำหรับให้คำปรึกษาของกรมสุขภาพจิตก็ดีเอง สิ่งเหล่านี้จริงๆ อยากจะให้ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีทางออก เพราะว่าในช่วงนี้ คือ เข้าใจว่าทุกคนก็เครียด และมีภาวะกดดันเยอะมาก”
แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 นี้ ไม่ใช่เพียงความกดดันทางเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลให้มีอัตราเกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย
“คือ มีตัวเลขของการทำร้ายร่างกายในครอบครัวเพิ่มขึ้น สิ่งนี้น่าจะต้องมาช่วยเยียวยา คิดว่าอาจจะต้องนำไปหารือในกรรมาธิการอีกทีหนึ่ง ว่าเราจะมีช่องทางตรงไหนบ้างที่จะมาช่วยในจุดๆ นี้ได้บ้าง
มันเป็นผลกระทบเป็นวงจรทั้งหมดเลย แต่ก็เชื่อว่า ถ้าเราช่วยกันทุกภาคส่วน เราก็น่าจะผ่านวิกฤตตรงนี้ไปได้ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลา แล้วก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ และต้องสู้กับมันให้ได้ เวลานี้คือเวลาที่ทุกคนต้องช่วยกัน”
ตลอดเวลาในบทสนทนาที่ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เธอได้ย้ำชัดว่าถึงแม้ประเทศไทยจะสร้างความมั่นใจ และมีอัตราผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ลดลง จนมีการผ่อนปรน เพื่อผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่นั่นอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนไทยชะล่าใจ
ทั้งนี้ ดร.ส้ม กได้แนะว่า นอกจากการเปลี่ยนความคิดแล้วนั้น เราทุกคนต้องค่อยๆ ปรับตัว ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต ต้องตระหนักในภาวะสถานการณ์บ้านเมืองกำลังต่อสู้กับโรคระบาดในครั้งนี้
“จากเท่าที่พูดคุยกับวงการแพทย์ หรือผู้ใหญ่หลายท่าน ก็ถือว่าต้องเฝ้าระวังมาก เราก็ยังชะล่าใจไม่ได้ว่าถึงแม้ว่าตัวเลขจะลดลง แต่เราก็ยังจะต้องรักษาตัวเลขตรงนี้เอาไว้ และจริงๆ พฤติกรรมต่างๆ ที่เราทำที่ผ่านมาในช่วงที่เกิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือว่าถ้าเราทำได้ เราก็พยายามทำไว้ก่อนดีกว่า เพราะว่าเราก็ไม่แน่ใจว่าถ้าหลายอย่างผ่อนปรนแล้ว มันมีโอกาสที่จะใกล้ชิดกันมากขึ้นอีก ในหลายๆ ที่ อย่างต่างประเทศหลายที่ก็มีตัวเลขที่ดีดกลับขึ้นมา ก็เป็นเรื่องที่ต้องน่าช่วยกันระวังตรงนี้
เรื่องของการสวมหน้ากาก มันก็ยังเป็นข้อบังคับอยู่ ก็เลยคิดว่ายังจะมีการบังคับใช้กฎหมาย ณ ตอนนี้มันก็น่าจะเรียกว่าครอบคลุมแล้ว แต่ส่วนหนึ่งคือจิตสำนึกของคนเรามากกว่าว่า เวลาเราออกไป มาทำให้ติดนิสัยดีกว่า เพื่อที่ว่าเราไม่ใช่ตัวคนอื่น
แต่เรากลับไปอยู่ที่บ้าน มีคุณพ่อคุณแม่บางท่านเป็นผู้สูงอายุแล้ว เราเองเราอาจจะไม่ได้เป็นอะไร แต่ว่าเราอาจจะเป็นผู้ที่จะแพร่เชื้อให้แก่คนที่บ้าน ก็อยากจะให้ระวังตัวกันไว้ค่ะ
ถ้ามองจากสถิติเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว สำหรับประเทศไทยเองในต่างประเทศก็ชื่นชม ที่ว่าตัวสถิติของเราสามารถที่จะควบคุมตัวเลขได้ แล้วก็ค่อยๆ กดลงต่ำได้
เราถือว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคนด้วย ที่พอรัฐบาลประกาศขอความร่วมมือต่างๆ เราก็ให้ความร่วมมือกัน ก็เป็นเรื่องที่ดีที่คนไทยมีวินัย แล้วก็มีจิตสำนึกที่จะพยายามให้ความร่วมมือ แล้วก็ช่วยกันตระหนักถึงความเสี่ยงตรงนี้”
ไม่เพียงเท่านี้ หากเราจัดการ และป้องกันตัวเอง ในฐานะที่เธอเป็นคนอยู่ในจุดเสี่ยง เธอยังแนะการป้องกันตัวเองด้วยว่าต้องมีการเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากทุกครั้งเมื่อออกพื้นที่
“ต้องระวังมากนะคะ อย่างที่บอกเราอยู่กับครอบครัว เวลาลงพื้นที่ก็ต้องระวังทุกอย่าง ต้องมีการเว้นระยะห่าง มีการล้างมือตลอด ใส่หน้ากากตลอด ใส่ Face Shield ก็พยายามป้องกันให้ดีที่สุด ถึงแม้ว่าเราชำระร่างกาย อาบน้ำให้สะอาดเรียบร้อย
จริงๆ ช่วงนี้ถ้าออกไปก็พยายามแยกอยู่ห่างกับครอบครัวนิดนึง ทานข้าวอาจจะไม่ได้มานั่งร่วมโต๊ะกันแล้ว ก็แยก แล้วเราก็อาจจะเป็นจุดเสี่ยงของที่บ้านของครอบครัวเราด้วย”
ค้นหาปัญหาสังคม ต้องแก้ไขที่ระบบ?
“ส้มจบบัญชี แล้วเห็นสาขาอาชญาวิทยาเปิด ก็มองว่าเป็นสาขาใหม่ ที่ดูแล้วองค์ความรู้ดูน่าสนใจ คือ เราได้ศึกษาถึงปัญหาพฤติกรรม แล้วก็ทุกอย่างเลยเกี่ยวกับคน อย่างทุกวันนี้สังคมที่มีปัญหาหรือว่าทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้น พฤติกรรมของคนที่เกิดขึ้น มันก็เกิดจากในตัววิชาศาสตร์นี้ มันสามารถที่จะมาศึกษาสิ่งเหล่านี้ได้
เหมือนกับเราจะได้หาต้นตอของปัญหาต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในสังคม แล้วเอามาแก้ไขปัญหาได้ เราก็กำลังมองดูอยู่ว่าจะเรียนโทที่ไหน ก็เลยลองต่อปริญญาโทสาขานี้เลย”
ดร.ส้ม ได้ย้อนการก้าวมาทำงานเพื่อสังคม เริ่มต้นจากการเรียนจบปริญญาตรี คณะบัญชี ซึ่งด้วยความที่เป็นคนชอบติดตามข่าวสาร มีความสนใจเกี่ยวกับสังคม โดยเฉพาะข่าวอาชญากรรม
อย่างไรก็ดี ตอนนั้นมีการเปิดรับสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาโทสาขาวิชาอาชญาวิทยา ที่ “Sam Houston State University” สหรัฐอเมริกา ด้วยความสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม จึงทำให้เธอได้ไปสมัครเรียนทันที
“ตอนเรียนบัญชีก็ไม่ได้คิดค่ะว่าเป็นนักการเมือง คือ สิ่งหนึ่งส้มมองว่า ถามว่าในอนาคตจะเป็นยังไง เราก็ยังไม่รู้ แต่สิ่งหนึ่งที่ส้มจะคิดเสมอว่าส้มจะน้อมรับโอกาสที่เข้ามา เมื่อไหร่มีโอกาสที่ส้มจะสามารถทำอะไรได้ ส้มก็จะทำ
อย่างที่ผ่านมาอีกสิ่งหนึ่ง คือส้มเป็นคนชอบเรียน ชอบเรียนรู้ ชอบเรียนหลักสูตรนู้น หลักสูตรนี้ นอกจากเราจะได้ความรู้จากในคลาสต่างๆ ที่เขาสอนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ส้มว่าเป็นประสบการณ์ที่มันหาไม่ได้ คือการที่เราได้ประสบการณ์จากเพื่อน ประสบการณ์จากผู้ใหญ่หลายๆ คนที่ให้แก่เรา
มันเหมือนเป็นการเรียนรู้ชีวิตของคน โดยที่บางทีเราไม่ไปผ่านสิ่งเรานั้นเอง เป็นการเรียนรู้ทางอ้อม ส้มก็พยายามเปิดรับตรงนี้ แล้วเมื่อเราได้มีโอกาสที่เราได้เรียนหลายๆ อย่าง เราได้เจอผู้ใหญ่หลายๆ คนมันก็เป็นโอกาสที่ เราไปไหนเราก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ความตั้งใจที่ว่าเราเป็นคนทำอะไรทำจริง
เวลาเราเรียนหลักสูตร เราก็ช่วยงานของหลักสูตรตลอด ผู้ใหญ่ก็เห็นความตั้งใจของเรา ก็ชักชวนเราไปทำนู่นทำนี่ จนเข้ามาสู่การเมืองค่ะ
พอเรียนโททางด้านเกี่ยวกับสาขาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม ที่ Sam Houston แล้วเราก็รู้สึกว่าใช่เลย มันเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นตัวเรา เพราะว่าเรารู้สึกว่าเราชอบที่จะได้ศึกษา คือ ได้ศึกษาตั้งแต่กาย จิต และสังคม ทุกอย่างมันเหมือนบูรณาการร่วมกัน ทำให้เราอยากจะรู้เชิงลึกเข้าไปว่าแล้วตัวมันจะมีจุดที่ลึกขึ้นยังไงบ้าง จะเอาไปใช้งานยังไงต่อได้บ้าง จึงได้ศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหิดลเกี่ยวกับอาชญาวิทยาเช่นกัน
มันเรียนตั้งแต่เรื่องของกาย โครงสร้างร่างกายของคน ที่อย่างเช่นว่าบุคคลในลักษณะอย่างนี้ โครงสร้างแบบนี้มีแนวโน้มไหมที่จะก่ออาชญากรรม หรือมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่จะกระทำสิ่งที่ไม่ดี หรือว่าแล้วเกิดจากอะไร เกิดจากสังคมไหม สภาพแวดล้อมที่เป็นสิ่งหล่อหลอมให้เขามีบุคลิกแบบนี้
หรือทางด้านจิตใจของเขาเองที่มันเกิดขึ้น ทำให้เขาเกิดพฤติกรรมเหล่านี้ มันมีหลายๆ อย่างควบคู่กันไปเหมือนกันค่ะ สังคมเรามีปัญหาที่เกิดขึ้น มันก็มาจากปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมด”
หลังจากที่เธอเรียนจบปริญญาเอก จนเป็น ดร.ส้ม ที่เราได้รู้จักกันในวันนี้ ทำให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งเธอเอ่ยขึ้นมาว่าไม่เคยคิดจะเป็นนักการเมือง เพียงอยากทำงานเพื่อสังคมเท่านั้น
“คือในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส้มก็ได้เสนอญัตติในการที่จะตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาถึงเกี่ยวกับปัญหาของการถูกข่มขืนกระทำชำเรา และการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อที่จะตั้งมาศึกษา ทั้งตัวกฎหมายและหลายๆ เรื่อง ซึ่งตอนนี้ทางสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการนี้แล้ว
ส้มก็ได้อยู่ในกรรมาธิการ เป็นเลขาคณะ ก็สนใจ เพราะว่าเราจะเห็นว่าปัญหาข่มขืน หลายๆ คนออกมาพูดว่าข่มขืนต้องเท่ากับประหาร แต่ถามว่าก็มีอีกหลายคน ถามว่าแล้วการที่ใช้โทษสูงสุดมันจะช่วยลดอาชญากรรมได้จริงหรือเปล่า
สิ่งเหล่านี้จริงๆ เราอาจจะต้องมาทบทวนว่ากฎหมายบ้านเราตอนนี้มันแรงอยู่แล้ว สูงสุดของโทษข่มขืน ก็คือ การประหารชีวิต ณ เวลานี้ แต่สิ่งสำคัญคือ การบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมที่มันสอดคล้องต่อตัวกฎหมายไหมในเชิงปฏิบัติจริงๆ
ส้มมองไปถึงตัวเหยื่อด้วย ทั้งเหยื่ออาชญากรรม เหยื่อที่โดนว่าเรามีกระบวนการยังไง ที่จะช่วย support เขาเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้กับเขาแล้ว เขาสามารถที่จะเข้าไปดำเนินคดีต่อผู้ที่กระทำความผิดได้”
ส่วนหลักในการทำงานของสาวเก่งคนนี้ เธอเล่าว่า ด้วยนิสัยที่เป็นคนชอบรับฟังปัญหาของผู้อื่น จึงอยากที่จะนำความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ นำมาขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า และในฐานะคนรุ่นใหม่ไฟแรง จึงพร้อมลุยงานอย่างเต็มความสามารถของเธอเอง ซึ่งหนึ่งในปัญหาสังคมที่เธอให้ความสนใจและนำมาใช้ คือ “การก่ออาชญากรรม”
“ทุกวันนี้มีหลายเคสที่เกิดขึ้นมาแล้ว คนที่โดน คนที่ถูกกระทำเมื่อเข้าไปแจ้งความ หรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มันเจอคำถามหลายๆ อย่างที่บางทีผู้ปฏิบัติอาจจะไม่นึกถึงจิตใจของคนที่โดนมา มันเหมือนการถูกข่มขืนซ้ำหลายๆ รอบ
สิ่งเหล่านี้อาจจะมองว่า ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการสอบสวน 1. นักจิตวิทยา 2. พนักงานสอบสวนหญิงที่อาจจะได้รับการเทรนในเรื่องของการดูแลเคสนี้เป็นพิเศษไหม เราควรจะต้องมีการพัฒนายังไงบ้าง
รวมไปถึงเกี่ยวกับเรื่องของผู้กระทำความผิดซ้ำนะคะ ว่า ทำไมเกิดเหตุที่กระทำความผิดแล้วถูกปล่อยตัวออกมา ยังกระทำความผิดซ้ำ นั่นหมายความว่า ระบบการบำบัดฟื้นฟูของเรามันมีประสิทธิภาพที่เพียงพอไหม หรือกระบวนการติดตามของเรา มันมีประสิทธิภาพเพียงพอไหม
อย่างในต่างประเทศ เขาก็จะมีระบบติดตามตัวของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวในคดีประเภทนี้ กลุ่มนี้นะคะว่า ควรจะได้รับการปล่อยตัวแล้วอยู่ในบริเวณไหนของพื้นที่บ้าง เพื่อให้คน หรืออาจจะเป็นเจ้าหน้าที่สามารถมอนิเตอร์ได้ว่า ตรงนี้อาจจะเป็นจุดภัยเสี่ยง มีคนกลุ่มนี้อยู่นะหรืออะไร
แต่ส่วนหนึ่งสำหรับประเทศไทยเอง เราก็ต้องมาดูบริบทด้วย เพราะมันก็เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน แต่เราก็ต้องดูว่าระหว่างสิทธิของผู้ที่กระทำความผิดที่กลับมาใช้ชีวิตในสังคม กับสิทธิของคนทั่วๆ ไป ที่เขาควรที่จะได้รับความปลอดภัยในสังคม มันต้องมีการ balance กับตรงนี้ด้วย”
“เซ็กซ์ทอย” ทางออก “ลดอาชญากรรม” ของไทย!!?
เมื่อให้เธอที่ถือว่าเป็นนักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มองถึงการก่อเหตุอาชญากรรมของไทย รวมทั้งคำครหาที่ว่าประเทศไทยที่ว่าไม่มีโทษประหาร มีเพียงแต่จำคุกแล้วลดโทษลงเรื่อยๆ จนปล่อยตัวออกมาก่อเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก ซึ่งเธอให้คำตอบไว้ว่าพร้อมแววตามุ่งมั่นว่า เป็นกระบวนการยุติธรรม จะต้องมองทั้งระบบ
“จริงๆ มันเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เราก็มองถึงประเด็นนี้เหมือนกันว่า อย่างเคสของสมคิด ในการที่พิจารณาโทษ โทษของกลุ่มนี้มันจะสามารถที่จะลดหย่อนได้มากแค่ไหนด้วย เราก็มีการทบทวนในการบริหาร เราก็พยายามดูให้สอดคล้องทั้งระบบ
พอเห็นในกรณีสมคิด เราก็มาดูแล้วว่าทำไมเขาถึงได้รับการลดหย่อนโทษจนปล่อยออกมา ทั้งที่กระบวนการจิตใจของเขามันยังไม่ปกติ มันยังไม่พร้อมที่จะออกมาเจอกับสังคมภายนอก ถึงบอกว่า จริงๆ สิ่งเหล่านี้มันต้องมาศึกษาให้รอบด้านมากขึ้น
เรามองตั้งแต่กระบวนการของเหยื่อ ผู้ถูกกระทำ จนถึงผู้ที่กระทำความผิด และผู้ที่กระทำความผิดซ้ำ เราพยายามมองให้เห็นตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำว่า มันมีจุดไหนที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข หรือข้อเสนอแนะถึงจุดไหนบ้าง อีกส่วนหนึ่งที่ในภาครัฐเรามองว่า ที่จะสามารถทำได้ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยด้วย
เราจะทำยังไง อย่างเช่นลดจุดเสี่ยงต่างๆ สถานที่ไฟฟ้าส่องสว่าง กล้อง CCTV ติดชัดมองเห็นทั่วถึงไหมในแต่ละจุด สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมประเทศนี้ได้”
อีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนสงสัย และมองว่าที่ประเทศไทยยังมีปัญหาด้านอาชญากรรม เพราะในประเทศไทยยังไม่เปิดเสรีในเซ็กซ์ทอยอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ดร.ส้ม กลับมองว่า ไม่มีสถิติบอกอย่างชัดเจน ว่า ถ้ามีแล้วจะทำให้ปัญหาเหล่านี้ลดลงจริงๆ หรือเพิ่มขึ้น
“ในกรรมาธิการก็มีการถกกันเรื่องนี้นะคะ แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งมันก็ไม่มีสถิติบอกว่า การที่คุณเปิดเรื่องของเซ็กซ์ทอยแล้ว มันจะช่วยทำให้คนกลุ่มนั้นมันจะลดความต้องการได้ คือคนที่ประกอบอาชญากรรม อาจจะไม่ได้คำนึงว่ามันคือคนที่ใช้สิ่งเหล่านี้ เผลอๆ อาจจะเป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นตัวกระตุ้นด้วยซ้ำไปที่อาจจะทำให้เกิดอาชญากรรม
เพราะฉะนั้นมันยังไมได้ระบุ ไม่ได้มีปัจจัยบอกชัดเจนว่าการใช้สิ่งเหล่านี้ มันจะช่วยทำให้อาชญากรรมมันลดลง
มันก็อาจจะเป็นเป็นตัวกระตุ้น แต่ถามว่าถ้าคนทั่วไปที่ไม่ได้มีพฤติกรรมที่จะทำเหล่านี้อยู่แล้ว ถึงใช้หรือไม่ใช้เขาก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ของเขาได้
แต่กลุ่มคนที่มีปัญหา โดยมากคือกลุ่มที่จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ถึงได้ก่ออาชญากรรมต่างๆ ดังนั้น การใช้สิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่ได้จะช่วยทำให้เขาลดลงได้ ก็อาจจะต้องมาศึกษาให้รอบด้านมากขึ้น ก็ไม่ได้ฟันธง ไม่ได้การันตีว่ามันจะช่วยลด หรือเพิ่มได้”
“Miss Intelligence” ใบเบิกทาง กระบอกเสียงทางสังคม!!
“ตอนที่ประกวด คือเดิมทีส้มเป็นคนที่ขี้อาย แล้วก็เป็นคนที่อาจจะพูดไม่ค่อยเก่ง ด้วยความที่เราเป็นคนที่ชอบท้าทายตัวเอง อะไรที่เรารู้สึกว่าเราไม่ถนัด เราจะต้องเผชิญแล้วก็ต้องฝ่าฟันมันไปให้ได้ ส้มมองว่าเวทีนางสาวไทย เป็นเหมือนอีกเวทีหนึ่งที่เรียกว่า เป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงไทย สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงไทยมีความสามารถยังไงบ้าง ก็เลยลองเข้าไปประกวดดู
ช่วงที่ประกวดเรียกว่า คือ ต้องต่อหน้าสาธารณชนเยอะมาก เรามีรอบสัมภาษณ์ เรามีรอบตอบคำถาม เราก็พยายามที่จะก้าวข้ามสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราไม่มั่นใจ เพื่อที่จะเผชิญกับมันแล้วก็ผ่านมันไปให้ได้”
ย้อนกลับไปในเส้นทางนักการเมืองนี้ เธอเป็นผู้มีความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาช่วยสร้างสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น
ด้วยการนำความรู้มาช่วยขับเคลื่อนสังคม เริ่มต้นจากการเข้าสู่เส้นทางเวทีนางสาวไทย เมื่อปี 52 มาก่อน จนคว้าตำแหน่ง “Miss Intelligence” หวังเพื่อใช้เวทีนี้เป็นกระบอกเสียงในการพัฒนาสังคม
“คือ จริงๆ เราติดตามทุกเวที ชอบดู เวลามีประกวดตั้งแต่เด็กๆ มันรู้สึกว่าดูเขาฉลาดดี เวลาตอบคำถามอยู่บนเวที รู้สึกว่าผู้หญิงเราไม่ได้ดูแค่ภายนอก แต่เราต้องมีความเฉลียวฉลาด เราต้องมีไหวพริบ
การที่เราเข้าไปอยู่ตรงนั้น มันเหมือนเป็นการที่ต้องฝึกทักษะในหลายๆ เรื่อง เป็นการที่ต้องพัฒนาตัวเอง ทั้งบุคลิกภาพ ทั้งหลายๆ เรื่องที่จะแสดงให้คนเห็นว่า เราไม่ได้มีดีแค่ภายนอก แต่เรามีทั้งความสามารถในหลายๆ เรื่อง ส้มได้เป็น Miss Intelligence คือเข้ารอบไป (นางสาวไทย) แล้วก็เป็น Miss Intelligence แน่นอนว่า ส่วนที่ยากที่สุด คือ การเอาชนะจิตใจตัวเองให้ได้ ที่สำคัญที่สุด คือ การต้องเผชิญฝ่าฟันไปให้ได้ โดยเฉพาะในสนามเวทีที่เธอไม่คุ้นชิน
หากถามเธอว่าอะไรคือเสน่ห์ของการประกวด และเสน่ห์ของผู้หญิงฉลาดต้องเป็นอย่างไร ในฐานะที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้หญิงที่ฉลาดในเวทีนี้ เธอได้ให้คำตอบปนเขินๆ ว่าเธอเป็นคนเข้ากับคนง่าย และคนยิ้มง่าย
“คือการมีไหวพริบ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีค่ะ และการที่ตอบคำถามต่างๆ ด้วยไหวพริบ คำว่าสวย ส้มมองว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือการสวยจากภายใน การทำจิตใจให้ดีก่อน มันก็จะสะท้อนออกมาที่ภายนอกเอง”
เพียงเพราะคิดว่าถ้าเป็นที่รู้จัก น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี รวมทั้งมองเห็นถึงศักยภาพของเวทีประกวดนางงามแห่งนี้ ซึ่งจากการประกวดครั้งนั้น ทำให้เธอเข้ามาทำงานเป็นที่ปรึกษาหลายๆ แห่งเกี่ยวกับด้านสังคม
ไม่ว่าจะเป็นอดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการศึกษาวุฒิสภา ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงนักวิชาการ และอาจารย์พิเศษหลายแห่ง เกี่ยวกับอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ซึ่งทำให้การทำงานเพื่อสังคมเหล่านี้เป็นใบเบิกทางเข้าสู่เส้นทางการเมืองในที่สุด
“สิ่งหนึ่งในฐานะที่เราทำได้ คือ ส้มเข้ามาทำงานการเมือง ส้มมีอุดมการณ์ 3 ข้อ คือ 1. เข้ามาทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส 2. ประโยชน์ของประชาชนต้องมาก่อนส่วนตัว และ 3. การที่จะสร้างให้ประชาชนสามารถที่จะพัฒนาตัวเองไปได้อย่างยั่งยืน คือการที่เราให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้
เพราะฉะนั้นในมุมมองความรู้สึกของคนหลายคน อาจจะมองนักการเมืองที่เข้ามาโกงกิน ส่วนหนึ่งส้มมองว่า ส้มเริ่มจากตัวเองการที่ส้มเข้ามาทำงานการเมือง ส้มมีเจตนา มีเป้าหมาย มีอุดมการณ์ที่จะมาสร้าง และมาพัฒนาให้แก่ประเทศของเราจริงๆ ส้มเชื่อว่า ถ้าทุกคน หลายคนค่อยๆ จะเปลี่ยนแนวคิดเหล่านี้ไป มันก็จะทำให้คนมองนักการเมืองไปอีกมุมมองที่ดีขึ้นค่ะ”
ถือศีล 5 ทำสมาธิให้สงบ ฝ่าฟันคำครหาลบๆ
จากความชอบที่มีอยู่ในตอนนั้นนำมาสู่ความรักทำให้เธอได้ทำงานด้านสังคมตรงนี้ แม้มีอุปสรรคในแรกเริ่มของการเป็นนักการเมือง แต่สุดท้ายความพยายามและความใจสู้ที่มีอยู่ในตัวของเธอก็พาเธอมาถึงตรงนี้ได้ แน่นอนว่า นักการเมืองไทยจะตามมาด้วยข้อครหา มาพร้อมกับคำว่าโกงกิน ซึ่งจากจุดยืนที่ชัดเจนของเธอนั้นยังคงยืนยันว่ามีจุดยืน และอุดมการณ์ที่จะพัฒนาประเทศ
“คือถามว่า การที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากก่อนหน้านี้ที่ไม่เป็น ณ วันนี้ทำให้เสียงเรามีพลังมากขึ้น เราสามารถที่จะเป็นกระบอกเสียงได้ในหลายๆ เรื่อง แต่ว่าส่วนหนึ่งที่เราสามารถ คือ ต้องเรียกว่า ส.ส.เป็นเหมือนกับที่พึ่งของประชาชน
บางทีเมื่อประชาชนเจอปัญหา คิดอะไรไม่ได้ คือนึกอะไรไม่ออก ก็จะมองเราเป็นที่พึ่ง สิ่งที่เราทำได้คือบางทีในขอบเขต อำนาจหน้าที่ที่เราทำ อาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรา แต่เราก็รับหน้าที่เป็นคนที่คอยประสาน เป็นคนที่คอยให้คำแนะนำต่างๆ ในการที่เราจะช่วยเขา
ดังนั้น ในหน้าที่หลักเรื่องของนิติบัญญัติที่ ส.ส.ต้องทำ ก็พยายามที่จะทำทั้งในงานสภา และงานพื้นที่คือเราต้องดูแลประชาชน เพราะว่าในการทำงาน ส้มยึดหลักของการทำงานตามแนวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ คือการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา
การที่เราจะทำอะไร การที่เราจะไป อย่างเช่น นิติบัญญัติเราจะทำกฎหมายอะไรก็ตาม เราต้องรู้ก่อนว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นได้ยังไง เราต้องเข้าใจ เราต้องเข้าถึง แล้วเราจะเข้าถึงได้ยังไง นั่นคือ การที่เราได้เข้าไปลงพื้นที่จริงๆ ได้เข้าไปพูดคุย เข้าไปถึงประชาชนว่ามันเกิดปัญหาอะไร ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เราถึงที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดแก้ไขในสิ่งนี้ได้ เราก็ทำในหน้าที่ของเราต่อไปได้ ส้มก็พยายามที่จะทำงานในรอบด้าน ในทุกด้านค่ะ”
ไม่ว่าสถานการณ์จะวิกฤตแค่ไหน เธอคนนี้ก็มักจะผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งใครจะคิดล่ะว่านักการเมืองสาวรายนี้ เคยถูกตีตราว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคม เพราะติดโควิด-19
“ข้อครหาลบจริงๆ การเมืองมีคนหลากหลาย คือบางคนก็อาจจะรู้จักเราจริง หรือบางคนก็อาจจะไม่รู้จักเรา อาจจะมองเราแค่ผิวเผิน
ก่อนหน้านี้ก็เจอข่าวโจมตี กระแสโจมตีต่างๆ อย่างล่าสุด เราก็เจอกระแสของโควิด-19 พอดีช่วงนั้นเป็นช่วงของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วทางฝ่ายค้านมีการพูดถึงเรื่องของว่าเราไปต่างประเทศ แล้วไม่ได้กักตัว ซึ่งก็เลยมีกระแสโจมตีมากว่าเราเป็นโควิด-19 รึเปล่า
แต่ตอนนั้นคือเราเกิน 14 วันแล้วก็มีการไปพบแพทย์ ไปตรวจเฝ้าระวังตลอด ก็คือ ข้อมูลที่พูดมาในสภาตอนนั้นอาจจะมีการบิดเบือนไป
สิ่งหนึ่งที่เราเจอตอนนั้นเราก็ทำใจให้หนักแน่น แล้วก็พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงในสิ่งที่เราเป็น เราหนักแน่นเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำอย่างแรก คือการที่เราทำอะไร เราต้องรู้ตัวเองตลอดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราทำถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าเราทำถูกต้อง เราแน่วแน่ อะไรที่คนเข้าใจผิด เราก็ชี้แจง แต่บางเรื่องเราก็พยายามทำในให้หนักแน่น บางทีก็ต้องปล่อยไปบ้าง”
ต้องยอมรับเลยว่า ในฐานะที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่อยู่ในสนามตรงนี้แล้วนั้น เธอมีความสามารถที่ได้พิสูจน์ด้วยผลงาน และรอเวลาที่ทำให้ทุกคนเห็น ซึ่งสิ่งที่ทำให้เธอยังคงแข็งแกร่ง เพราะทัศนคติบวกๆ ที่มักจะทิ้งเอาไว้เสมอ
“ถ้า ณ เวลานี้ ด้วยหน้าที่รับผิดชอบที่เรารับอยู่ มันทำให้ค่อนข้างที่จะทุ่มเทให้แก่งานเกือบจะ 100% คือ 7 วัน จริงๆ เราก็ไม่มีวันหยุดเลย แต่เราพยายามที่จะใช้เวลากับครอบครัวทานข้าว
แต่ด้วยปกติเราก็จะพยายามกลับบ้านไปบ้าน ก็พยายามจะพูดคุยกันอยู่แล้ว พยายามมีปฏิสัมพันธ์กับที่บ้านอยู่ตลอด กับครอบครัว
ณ เวลานี้มองว่าเราเป็นวัยที่กำลังมีแรง มีพลังที่จะทำอะไร เราก็จะพยายามทำให้เต็มที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ เราทำเต็มที่แล้ว เราก็จะพยายามในสิ่งที่เราทำ บางอย่างมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราหวังทุกเรื่อง
แต่เราก็ต้องรู้จักปล่อยวาง แต่ก่อนที่เราจะปล่อยวาง เราต้องทำทุกอย่างให้มันเต็มที่
ส้มไม่ได้มีคติประจำใจอะไรมาก ก็พยายามถือศีล ให้อยู่ในกรอบ ในของศีล 5 ทำให้ถูกต้อง การใช้ชีวิตยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเลยค่ะ เรามีเท่าไหร่ เราพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ และเราก็ใช้ในสิ่งที่มีอยู่
สิ่งเหล่านี้เป็นหลักพื้นฐานง่ายๆ ที่ส้มคิดว่าถ้าทุกคนสามารถที่จะปล่อยใจ วางใจไว้กับสิ่งเหล่านี้ มีธรรมะในใจ มันจะทำให้สังคมเรามันน่าอยู่ขึ้น แล้วคนก็จะแบ่งปันกัน เป็นมิตรกัน แล้วก็การขัดแย้งต่างๆ มันน่าจะลดลง
อย่างที่ส้มเรียน ส้มอาจจะดูเรียนในหลายๆ อย่าง แต่ส่วนหนึ่งคือมีไปเรียนสมาธิด้วย คือ เรียนของหลักสูตรของหลวงพ่อวิริยังค์ ในการทำฝึกสมาธิ คือท่านจะสอนแบบว่าไม่ต้องไปทำนาน หรือฝึกทำวันละนิด 5-10 นาทีไปเรื่อยๆ
เหมือนกับว่า ด้วยความที่เราทำงานตรงนี้ จิตใจเราจะแบบคิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ตลอด เรื่องพื้นที่ งานสภาเป็นยังไง มันทำให้เราไม่สงบแล้วบางทีมันเครียด มันจะเกิดความเครียดตลอดเวลา เราก็นั่งสมาธิบ้าง ทำผ่อนคลายอะไรบ้าง มันก็จะดีขึ้น”
สิ่งหนึ่งที่เธอเชื่อเสมอเลยว่าการที่เธอเป็นเธอในทุกวันนี้ เป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจากครอบครัว ซึ่งทำให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำอยู่เสมอ อีกทั้งจัดสมดุลชีวิตได้ดี
ครอบครัวสอนไว้ “อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ แข็งแกร่งแต่ไม่แข็งกระด้าง” ครอบครัวก็จะสอนให้ดูแลตัวเองตลอด คือ อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ แข็งแรงแต่ไม่แข็งกระด้าง ก็มีอะไรเราก็จะพยายามทำด้วยตนเอง สิ่งที่ได้จากคุณแม่ คุณพ่อ คือส่วนหนึ่งส้มคิดว่าเรื่องของความรับผิดชอบต่างๆ คือคุณพ่อจะเป็นคนค่อนข้างที่สอนว่า คือทุกอย่างต้องทำทันที อะไรก็ตามที่มีงานอะไรที่เข้ามา เราจะต้องไม่ขี้เกียจ ไม่อะไร เราต้องมีความรับผิดชอบในทุกๆ เรื่อง สอนวินัยตั้งแต่เด็ก ว่า ตื่นมาต้องตื่นเช้าทำอะไรบ้าง งานบ้านต้องฝึกทำให้เป็น มีวินัยทำอาหารให้ตรงเวลา ทานกันเป็นครอบครัว ทุกอย่างก็จะเป็นมีระเบียบวินัยต่างๆ |
View this post on Instagram
A post shared by LIVE Style (@livestyle.official) on
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์, อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณสถานที่ : บ้านพระอาทิตย์