กลุ่มคนที่ถูกหลงลืม หรือ ตกหล่น จากมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ของรัฐ ... กลุ่มอาชีพที่ไม่สามารถมีชีวิตวิถีใหม่ที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19ได้ ... แรงงานนอกระบบ ผู้ซึ่งตกงานทันที แต่อาศัยในเมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพสูงลิ่ว ... ผู้หญิงและเด็กจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวในช่วงของการกักตัวอยู่ที่บ้าน รวมถึงกลุ่มเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง (PUI) เพราะมีประวัติใกล้ชิดผู้ติดเชื้อจนถูกรังเกียจจากชุมชน
คนเหล่านี้เป็นตัวอย่าง “กลุ่มเปราะบาง” ที่ถูกยกขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า การช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ อาจยังตกหล่น อาจยังมีคนบางกลุ่มมีความเดือดร้อนที่ยังไม่ถูกมองเห็น ไม่มีศักยภาพที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือ หรืออยู่ในรูปแบบปัญหาที่ซ่อนอยู่ในสังคม จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุมทางไกล ที่ใช้ชื่อตอนว่า “ฝ่าวิกฤตโควิด-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องภายใต้หัวข้อ Living with COVID-19 ผ่านเครือข่าย RoLD Virtual Forum ของ “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย” หรือ TIJ จากแนวคิดว่า โควิด-19 จะยังอยู่กับมนุษย์ทุกคนไปจนกว่าจะมีวัคซีนที่เข้าถึงทุกคนได้จริง ซึ่งก็ทำให้จำเป็นต้องมองไปในอนาคตว่าจะกลับไปใช้ชีวิตในภาวะนี้ได้อย่างไร โดยการประชุมเมื่อคืนวันที่ 2 พฤษภาคม 2563
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องพูดถึง “กลุ่มเปราะบาง” ในสังคม เพราะเมื่อสังคมจะก้าวสู่ยุค New Normal ก็ต้องมาดูด้วยว่า เราหลงลืมใครไว้ข้างหลังหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ คือ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย อ้างถึงข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ที่ระบุว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะมีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะนำไปสู่ความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยธนาคารโลกประเมินว่า จะมี “คนจนใหม่” เพิ่มขึ้นทันที 11 ล้านคน จะมี 25 ล้านคนต้องตกงาน และมีเด็กกว่า 1000 ล้านคนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้รับการศึกษา ส่วนในประเทศไทย มีแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของแรงงานในประเทศและทั้งหมดนี้ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จึงต้องมาหารือเพื่อเอ็กซเรย์กันว่า มาตรการต่างๆของรัฐ เข้าถึงทุกคนอย่างทั่วถึงหรือไม่ ยังหลงลืมใครไปหรือไม่
“ภาวะไม่ปกติใหม่ คนกลัวอดตายมากกว่ากลัวไวรัส อาจต้องเปิด-ปิดเมือง ไปเรื่อยๆ”
“โลกหยุด แต่ละอาชีพไม่ได้โดนหยุดแบบเดียวกัน” คือ ประเด็นแรกในการนำเสนอของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group (เจ้าของ การีนา ช้อปปี้ แอร์เพย์) ซึ่งมองเห็นว่า มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมนำเสนองานวิจัย ที่แยกกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ออกเป็น 4 กลุ่ม โดยมีตัวชี้วัด 2 ด้าน คือ “ลักษณะงานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด” และ “ความง่าย หรือ ยาก ในการทำงานที่บ้าน”
จากงานวิจัยชิ้นนี้ จะพบว่า อาชีพที่ได้รับผลกระทบน้อย คืออาชีพที่ทำงานที่บ้านได้ ไม่ต้องพบคนจำนวนมาก เช่น นักสังคมวิทยา นักเศรษฐศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาเว็บไซต์ ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย จึงไม่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือใด ๆ
ในทางกลับกัน อาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 และมาตรการปิดเมือง คือ อาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ และลักษณะงานต้องเสี่ยงออกมาพบคนจำนวนมากจึงจะมีรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานบริการและกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น คนขับแท็กซี่ พนักงานขับรถสาธารณะ งานทำความสะอาด งานร้านอาหาร มัคคุเทศก์ ครูในโรงเรียนระดับประถมวัย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมาตรการเยียวยา หากเป็นผู้มีรายได้น้อย หรือ ขาดรายได้ไปเลย จะต้องใช้ระบบสวัสดิการเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการ “ให้เงิน” เพื่อให้ “อยู่บ้านได้โดยไม่อดอยาก” ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยก็ทำแล้ว แต่ยังพบว่ามีช่องโหว่ โดยเฉพาะข้อมูลอาชีพในระบบสวัสดิการของรัฐยังไม่ชัดเจน ทำให้ยังมีคนตกหล่น ไม่ได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือ รวมทั้งเสนอว่า “รัฐอาจต้องเข้าไปช่วยจ้างงานชั่วคราวแทนนายจ้างเอกชนที่ได้รับผลกระทบ” พร้อมยกตัวอย่างว่า หากรัฐต้องการแรงงานในการเข้าไปช่วยในการรักษาการเว้นระยะห่างตามสถานที่ต่าง ๆ ตามจุดแจกของ หรือตลาด เพื่อจัดตำแหน่งคนที่มาใช้บริการ ก็สามารถว่าจ้างคนกลุ่มนี้ไปเป็นแรงงานเพิ่มได้
ส่วนอาชีพที่ได้รับผลกระทบปานกลางในช่วงนี้ แต่จะมีผลกระทบในระยะยาว คือ อาชีพที่ทำงานที่บ้านได้ยาก แต่ลักษณะงานไม่ต้องพบเจอคนมาก เช่น ผู้ควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน ช่างทำแบบหล่อโลหะ คนงานปลูกพืช งานก่อสร้าง คนงานด้านสายการผลิต ช่างพ่นสีขัดเงา ซึ่งแม้จะยังพอทำงานได้ในช่วงนี้ แต่ในระยะยาวซึ่งเป็น “โลกยุคหลังโควิด” มีแนวโน้มสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์ โดยเฉพาะเมื่อมีโรคระบาดเช่นนี้ ทำให้นายจ้างอาจหันไปสนใจที่จะใช้เครื่องจักรมาแทนแรงงานเร็วกว่าที่คาดไว้ จึงมีข้อเสนอว่า มาตรการการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพเหล่านี้ในระยะสั้น คือ การปลดล็อคให้กลับไปทำงานได้โดยเร็ว แต่ต้องคิดระยะยาวด้วย คือ การพัฒนาทักษะฝีมือ แนะแนวอาชีพ สร้างทักษะใหม่
กลุ่มอาชีพสุดท้าย คือ ลักษณะงานที่โดยปกติจะต้องเจอคนเยอะ แต่สามารถใช้อินเทอร์เน็ต ใช้โลกออนไลน์ในการทำงานได้ เช่น อาจารย์ระดับมัธยมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย งานค้าขาย ตัวแทนจัดหางาน แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า หากขาดทักษะการทำงานทางออนไลน์ ขาดอุปกรณ์ อยู่ในพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตหรืออินเทอร์เน็ตไม่เสถียร หรือ ค่าอินเทอร์เน็ตแพงเกินไป ก็จะทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับงานรูปแบบเดิม จึงเสนอมาตรการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ คือ ต้องทำให้อินเทอร์เน็ตทั่วถึงทุกพื้นที่ละมีค่าบริการถูกต้อง มีอุปกรณ์ให้ใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลน มีการฝึกอบรมทักษะการทำงานหรือค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์
จากงานวิจัยชิ้นนี้ ดร.สันติธาร จึงมองว่า เรากำลังอยู่ใน “ภาวะไม่ปกติใหม่” (New Abnormal) คือ อยู่ในช่วงที่ยังมีโควิด เจ็บแล้วแต่ยังไม่จบ และยังไม่ใช่โลกหลังยุคโควิด แต่เป็นช่วงเวลาที่ยังต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ไปจนกว่าจะมีวัคซีน ซึ่งเมื่อมีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง คนก็จะกลัวอดตายมากกว่ากลัวไวรัส นั่นหมายความว่าในระหว่างนี้ แม้จะตัดสินใจเปิดเมือง แต่ก็มีโอกาสที่จะกลับมาปิดอีกได้เสมอ
“ตกงาน ถูกไล่ออก ไร้ที่อยู่ ตกหล่นจากการเยียวยา คนที่น่าเป็นห่วงทั้งภัยโควิด ทั้งสภาพเศรษฐกิจ”
“เทใจดอทคอม” เป็นแพลตฟอร์มระดมทุน ที่ขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจากการระดมทุนเข้าไปช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก ทำให้ เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม ชุมชนการให้เพื่อสังคมไทย เห็นถึงกลุ่มเปราะบางที่ยังตกหล่นจากมาตรการเยียวยาต่างๆของรัฐ เธอกล่าวว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สามารถแยกกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบในระยะแรกออกเป็น 4 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ ลูกจ้าง รับจ้างรายวัน (Lower Middle Income) กลุ่มที่สอง คือ ครอบครัวที่มีผู้สูงวัย มีโรคประจำตัว หรือมีผู้พิการอยู่ในครอบครัว ซึ่งการขาดรายได้ ตกงาน และยังถูกจำกัดพื้นที่ ถูกจำกัดการเดินทาง ทำให้เข้าถึงยารักษาโรคทำได้อย่างยากลำบาก
กลุ่มที่สาม คือ คนจนเมือง ซึ่งหมายถึงเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพมหานคร กลุ่มนี้จึงถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบทันทีและเป็นผลกระทบที่หนักหน่วงจากการตกงานตามมตรการปิดเมือง เพราะการอาศัยในเมืองใหญ่มีค่าครองชีพสูง มีค่าอาหาร ค่าที่พัก ที่เป็นรายจ่ายประจำ แต่รายได้กลับหายไป กลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่เข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐได้ยากด้วย เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเมืองที่ทำงาน ส่วนระบบฐานข้อมูลของรัฐ เช่น ข้อมูลประชากรในชุมชนแออัดที่รัฐมีกับประชากรจริงมีความต่างกันมากพอสมควร รวมทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เพราะส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันหลายคนในสถานที่พักอาศัยซึ่งไม่กว้างขวาง หากต้องกักตัวเองจะทำไม่ได้
กลุ่มสุดท้าย คือ ครอบครัวยากจนที่อยู่ในพื้นที่ที่ Lockdown ซึ่งมีผลทั้งต่อความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้น ๆ และมีผลทำให้ความช่วยเหลือเข้าไปได้ยาก ดังนั้นกลุ่มคนที่น่ากังวลที่สุด คือ คนที่ถูกไล่ออก ตกงานทันที ไร้บ้าน ไม่มีที่อยู่ และตกหล่นจากมาตรการความช่วยเหลือของรัฐ ซึ่งเมื่อมีมาตรการปิดเมือง ยิ่งทำให้การหาตัวคนกลุ่มนี้เป็นไปได้ยาก และหากเปิดเมือง ก็จะเป็นกลุ่มที่พร้อมจะเคลื่อนที่ไปจุดต่าง ๆ ที่มีงานทำ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการได้รับหรือแพร่เชื้อ
ส่วนแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม แยกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ช่วยเหลือตามความต้องการพื้นฐานของชุมชน อาหาร ยารักษาโรค เครื่องใช้พื้นฐานในเรื่องสุขอนามัย ระยะกลาง ต้องปรับไปเป็นการช่วยสร้างรายได้และช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้คนกลุ่มเปราะบางรับมือได้หากผลกระทบจากโควิด-19 จะยังอยู่นานกว่าที่คิด ส่วนในระยะยาว จะเน้นไปที่การเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาสังคมอื่น ๆ ที่ตามมา ทั้งเรื่องการศึกษา คนไร้บ้าน สุขภาพจิต ปัญหา รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม
เอด้า กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ Taejai.com ทำหน้าที่หลักคือ รับบริจาคเงิน แต่ด้วยความต้องการของกลุ่มเปราะบางค่อนข้างจะเร่งด่วน มีหลายกรณีที่คนติดต่อเข้ามาแล้วอยากมีของเลย ซึ่งสอดคล้องกับคนที่อยากช่วยก็มีของแล้วเหมือนกัน จึงทำเว็บไซต์ Infoaid.org ขึ้นมา เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้น เช่น ข้อมูลโรงพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ ตำแหน่งพื้นที่ไหนขาดอะไรบ้าง นอกจากนี้ทางเทใจดอทคอมยังทำโครงการในลักษณะ Sandbox เพื่อจ้างงานชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น กรุงเทพฯ ยะลา ปัตตานี โดยคำนึงถึงเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย ซึ่งผลที่ออกมาก็ถือว่าได้การตอบรับจากชุมชนค่อนข้างดี โดยเฉพาะงานที่มีความต้องการอยู่ในชุมชนอยู่แล้วจริงๆ เช่น ที่จังหวัดยะลา มีการจ้างคนทำอาหารแจกเด็ก ๆ ซึ่งตอบโจทย์สิ่งที่ชุมชนต้องการพร้อมทั้งช่วยเรื่องการจ้างงานด้วย
“ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ภัยเงียบยุคโควิด บ้าน ไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน”
“มีเด็กผู้หญิงที่ถูกพ่อข่มขืนตั้งแต่อายุ 12 ปี จนปัจจุบันอายุ 18 ปี เธออยู่บ้านกับพ่อที่ทำร้ายเธอและย่าที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงซึ่งเป็นคนเดียวที่รู้เรื่องนี้ ด้วยความเป็นห่วงย่า ทำให้เธอไม่กล้าบอกเรื่องนี้กับใคร จนเธอตัดสินใจบอกความจริงกับอา แต่ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้ต่อสู้เพื่อให้มีบาดแผลเป็นหลักฐาน จนวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา เธอถูกข่มขืนอีก จนร้องไห้ เกิดอาการซึมเศร้าที่โรงเรียน จึงเล่าให้เพื่อนฟัง ... เพื่อนจึงไปเล่าให้ครูฟัง จนได้รับการช่วยเหลือ”
ตัวอย่างนี้ถูกเล่าโดย สันทนี ดิษยบุตร อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในบ้าน ภายในครอบครัว เป็นปัญหาที่ยากจะถูกบอกกล่าวออกมา และเมื่อมีมาตรการปิดเมือง อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จึงกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ช่วยให้ไฟของความรุนแรงในครอบครัวปะทุขึ้นอย่างเงียบ ๆ แม้ว่าจากการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จะพบว่า สถิติของเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวในปีนี้ คือ 103 กรณี ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คือ 155 กรณี แต่ก็เชื่อกันว่า ตัวเลขที่ลดลง อาจไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง เพราะเป็นไปได้มากว่า ผู้ที่ถูกกระทำ จะเข้าไม่ถึงช่องทางการแจ้งเหตุเพราะอยู่ในช่วงมาตรการปิดเมือง เช่น เด็กผู้หญิงคนนั้น ก็จะไม่สามารถส่งเรื่องราวของเธอไปถึงเพื่อนหรือครูได้เลยเมื่อไม่ได้ออกไปไหน
อัยการสันทนี อธิบายเพิ่มว่า ปัญหานี้ หากมองในมิติของผู้ถูกกระทำ จะเห็นว่าการกักตัว ตกงาน ขาดรายได้ มีผลต่อความเครียด เมื่อสามีเครียด ก็มีโอกาสที่จะทำร้ายภรรยามากขึ้น
ขณะเดียวกัน เมื่อมองในมิติของหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ก็จะพบปัญหาเช่นกัน เพราะเมื่อการได้ข้อมูลข่าวสารจากผู้ถูกกระทำยากขึ้น การลงพื้นที่ในช่วงที่มีไวรัสระบาดก็ยากขึ้น เจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อยลงจากการปิดเมือง หรือการทำงานเหลื่อมเวลา ซึ่งเมื่อเข้าถึงผู้ถูกกระทำได้ยาก การช่วยเหลือก็ล่าช้า การสืบข้อมูลจากผู้ถูกกระทำก็ยาก การใช้งานศูนย์พักพิงต่าง ๆ ก็มีข้อจำกัดเรื่องการกักตัว ซึ่งหมายถึงทำให้กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดล่าช้าไปด้วย
ยิ่งหากมองในมิติของชุมชน ก็จะเห็นปัญหาชัดขึ้น เพราะมาตรการอยู่แต่ในบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้การแจ้งข่าวจากผู้กระทำไปสู่คนในชุมชนยากขึ้นอย่างมาก
อัยการสันทนี เน้นย้ำว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ยากขึ้นในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด เป็นเพราะผู้ถูกกระทำเข้าไม่ถึงช่องทางการแจ้งเหตุ ดังนั้นจึงต้องหาช่องทางให้เข้าถึงความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เช่น มีสถานที่พักพิงเพิ่มขึ้น มีร้านค้าที่ยังเปิดขายได้อย่างร้านขายยา ถูกกำหนดให้เป็นจุดรับแจ้งเหตุ รวมทั้งยังยกตัวอย่างเทคโนโลยี ที่มีชื่อว่า My Sis ซึ่งเป็นเครื่องมือให้ผู้เสียหาย มีช่องทางในการแจ้งเหตุผ่านแชตบอท ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ถูกกระทำกล้าเปิดเผยข้อมูลง่ายขึ้น ยังเป็นประโยชน์ในกระบวนการสืบสวน เพราะจะทำให้หน่วยงานต่างๆเหมือนมี “กระดานชนวน” แผ่นเดียวกัน เป็นถังข้อมูลกลาง ไม่ต้องไปสอบถามผู้เสียหายซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบทางจิตใจมาก ดังนั้นนี่อาจเป็น New Normal ของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ใช้อย่างแพร่หลายนัก แต่เมื่อมีข้อจำกัดจากโควิด-19 ก็อาจทำให้ถูกนำมาใช้เป็นช่องทางหลัก และอาจจะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวดีขึ้นในระยะยาว
“หาสถานที่รองรับกลุ่มเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโควิด-19 กักตัวเองที่บ้านไม่ได้ ถูกรังเกียจจากสังคม”
“มันค่อนข้างอึดอัดนะฮะ เพราะว่าที่บ้าน แฟนเสียชีวิตด้วยโรค โควิด-19 และเขาก็กระจายข่าวกันที่บ้าน ผมก็อึดอัด ก็เลยโทรมาที่โรงพยาบาล ปรึกษาว่า มันอยู่ไม่ไหวอ่ะ เพราะว่าสภาพจิตใจผม มันก็เป็นผู้สูญเสียนะฮะ มันก็แย่พอควรแล้ว แล้วก็มาเจอชาวบ้านกดดัน ผมก็เลยแสดงความรับผิดชอบตัวเองดีกว่าว่าผมอยากไปอยู่ข้างนอก เพื่อจิตใจผมจะได้ดีขึ้นด้วย เพราะอยู่ที่บ้าน ผมไม่ไหว”
นี่คือส่วนหนึ่งจากการเปิดใจของผู้กักตัวเองที่ศูนย์กักแยกปทุมธานี ซึ่ง ดาวดี ชาญพานิชย์การ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์การพัฒนาความรู้ จำกัด และ ผู้จัดการสนามโครงการที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก ปทุมธานี ชี้ให้เห็นว่าการมีที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกของคนที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างที่มีรายได้จำกัดและอาศัยอยู่กับครอบครัวที่แออัด เมื่อเป็นผู้เข้าข่ายสอบสวนโรค (PUI) แต่ที่พักอาศัยไม่ตอบโจทย์ ไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ ทำให้ชุมชนไม่ตอบรับ จึงต้องมีศูนย์ที่พักเพื่อการกักแยกเพื่อแยกคนเหล่านี้ออกมาจากครอบครัวและชุมชน เมื่อมีสถานที่กักตัว พวกเขาก็กล้าแสดงตัว เพราะทำให้ชุมชนปลอดภัย และการลดความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ก็เป็นการช่วยลดภาระของโรงพยาบาลด้วย
นอกจากที่ปทุมธานีแล้ว ดาวดี ยังยกตัวอย่าง Local Quarantine ของ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ที่ทางโรงพยาบาลอำเภอยะรังและสาธารณสุขอำเภอ จัดตั้งขึ้น โดยใช้โรงเรียนเป็นที่ตั้งศูนย์ เพื่อรับเคส PUI จากโรงพยาบาล รับกลุ่มคนกลับจากมาเลเซียแต่มีความซ้ำซ้อนในการดูแล และไม่พร้อมกลับไปกักตัวที่บ้าน โดยระบุว่า ความท้าทายของศูนย์แห่งนี้คือนอกจาก COVID-19 แล้ว ยังเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไข้มาลาเรียด้วย ซึ่งจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ของที่นี่ทำงานหนักมากขึ้น การมีศูนย์เพื่อการกักแยกแบบนี้จึงมีส่วนช่วยลดภาระเป็นอย่างมาก เมื่อผ่านการกักตัว 14 วันที่ศูนย์แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ยังได้รับถุงยังชีพ ปัจจัยดำรงชีพ ใบยกเลิกการสั่งกักตัวจากอำเภอ และใบรับรองอนุญาตให้เดินทางในจังหวัดปัตตานีได้ ถือเป็นการตอกย้ำว่า “ศูนย์จะต้องเป็นหน่วยพื้นฐานในการลดโอกาสการแพร่เชื้ออย่างเป็นรูปธรรมและมีมนุษยธรรม โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบางในสังคม”
“ความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงทุกคน เพราะปัญหาการบริหารจัดการ ซึ่งออกแบบร่วมกันได้”
“ตัวอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างสะเทือนใจมาก คือ ข่าวที่เกษตรกรต้องทิ้งนมสดไปเนื่องจากโรงเรียนปิด รวมถึงการที่ต้องทิ้งไข่ไก่ไปเพราะว่าส่งออกไม่ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน เรายังมีเด็ก ๆ ในชุมชนมากมายที่ขาดอาหาร หรือ ขาดสารอาหารจากการปิดเมือง”
ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ผู้ที่สร้าง "โครงการแบ่งปัน" ที่ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกษตรกรต้องทิ้งนมสดและไข่ไก่ไปในขณะที่ยังมีความต้องการอาหารจำนวนมาก ว่าสะท้อนให้เห็นการเชื่อมต่อข้อมูลที่ไม่มีความชัดเจน เป็นปัญหาจากการบริหารจัดการ ซึ่งหากเราทำให้ทั้งสองฝ่ายมาพบกันได้ก็จะแก้ปัญหาได้ จึงนำเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการจัดตั้งกลุ่มแชตบอท ที่ชื่อว่า “กลุ่มแบ่งปัน” ขึ้นมาเป็นจุดเชื่อมของคนที่เดือดร้อนและคนที่ต้องการบริจาค ซึ่งพบว่า มีผู้ต้องการที่จะแบ่งปันจำนวนมาก แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะไปแบ่งปันได้ที่ไหน
การทำงานของแชตบอท “กลุ่มแบ่งปัน” แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ แบ่งปัน-รับปัน-บอกต่อ ซึ่งจะช่วยในการแบ่งปันอาหารได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สำหรับผู้บริจาคที่ไม่สะดวกจะลงไปในพื้นที่ เครือข่ายก็จะจัดหาร้านอาหารในชุมชนให้เป็นผู้ทำอาหารและนำไปบริจาคต่อให้
ทีมงานของ “กลุ่มแบ่งปัน” เป็นอาสาสมัครที่ส่วนใหญ่ไม่รู้จักกัน มีหลักการทำงาน ไม่จับเงิน ไม่จับของ ไม่มีรายรับใด ๆ จากการดำเนินการ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อ 18 เมษายน 2563 ได้ดำเนินการแบ่งปันอาหารไปแล้วถึง 10,000 ชุด ถูกบอกต่อมากกว่า 200 ครั้ง นั่นหมายถึงว่าในแต่ละจุดที่มีการแจกอาหารก็จะมีการแจกอาหารอยู่ที่ประมาณ 40 – 60 ชุด ซึ่งไม่ใช่จำนวนมากที่จะก่อให้เกิดความแออัดของคน ดังนั้น จึงมีข้อเสนอไปยังกลุ่มภาคเอกชนและมูลนิธิต่างๆ เพื่อให้ช่วยกันคิดกระบวนการช่วยเหลือต่อจากนี้ไป ว่าเราจะสามารถแจกอาหารอย่างไรให้ถูกต้อง ช่วยลดขั้นตอนการทำงานและส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และควรคิดร่วมกันว่าจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยอย่างไรทั้งจากคนที่ต้องการอาหาร คนที่อยากแบ่งปันและกรุงเทพมหานครเอง
ส่วนปัญหากลุ่มเปราะบาง ดร.สุทธาภา มองว่าจะมีกลุ่มเปราะบางเกิดขึ้นใหม่ใน 2 รูปแบบ ในสถานการณ์โควิด-19
รูปแบบแรก เกิดจากแนวทางในการตรวจหาเชื้อการตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ และถูกมองว่า อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะมีแนวคิดที่จะปล่อยให้คนที่มีภูมิคุ้มกันสามารถออกไปร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือสังคมได้มากกว่าคนที่ไม่มี ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีคำตอบว่าถูกหรือผิด แต่จะเกิดสังคมสองระดับขึ้น เช่นเด็กที่มีภูมิคุ้มกัน จะกลับไปที่โรงเรียนได้ แต่เด็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันไปโรงเรียนไม่ได้
รูปแบบที่สอง ดร.สุทธาภา นิยามว่าเป็น “กลุ่มเปราะบางทางดิจิทัล” ซึ่งถูกเร่งให้เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 เพราะการเปิดเมืองในแบบ New Normal จำเป็นที่จะต้องอาศัยเครื่องมือทางดิจิทัลมากขึ้นในการดำรงชีพ แต่นี่เป็น “อนาคตที่มาถึงเร็วเกินไป” สำหรับคนจำนวนมากซึ่งยังขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก และตัวอย่างในหลายประเทศ ก็พบว่า การปิดเมืองให้คนอยู่บ้าน ทำให้เกิดอาชญากรรมทางไซเบอร์สูงขึ้นมาก เพราะคนจำนวนมาก ไม่มีความเข้าใจโลกดิจิทัล