เทรนด์การอยู่อาศัยเปลี่ยนหรือไม่หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการเสียงแตก ทั้งเปลี่ยนและไม่เปลี่ยน แต่สิ่งสำคัญต้องรักษาความสะอาด
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์เมืองเพื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ไปไหนมาไหนไม่ได้เหมือนเดิม ทำให้ผู้คนก้าวเข้าสู่ยุคของโลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ภายในเวลาเพียง 2 เดือน การทำงาน การสั่งทานอาหาร การจับจ่ายผ่านโลกออนไลน์ แม้ผู้คนจะไม่เต็มใจนักกับการใช้ชีวิตแบบนี้ แต่เพื่อความปลอดภัยต้องยอมรับและปฏิบัติตาม เกิด New Normal ในหลายๆ ด้าน แต่หลังการแพร่ระบาดผ่านพ้นไป เกิดคำถามขึ้นว่า เทรนด์การใช้ชีวิต การอยู่อาศัยของคนจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เปลี่ยนไปอย่างไร ความคิดแตกออกเป็นหลายด้าน บ้างเชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ บ้างก็ว่าสุดท้ายแล้วคนจะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมแค่มีการปรับเปลี่ยนบางอย่างเท่านั้น
นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปจะเกิดขึ้น 2 ช่วง 1.ระยะสั้น ช่วงมีการระบาดของไวรัสและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การป้องกันโรคคือการเว้นระยะห่างทางสังคม Social Distancing ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home การสั่งอาหารมาท่าน หรือการซื้อของผ่านระบบออนไลน์
ระยะที่ 2 คือหลังเชื้อโรคหยุดแพร่ระบาดหรือมีวัคซีนป้องกันแล้ว เชื่อว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเริ่มเคยชินกับการใช้ชีวิตที่ต้องระแวดระวัง ป้องกันการติดเชื้อ Social Distancing จะยังคงมีอยู่ จะมีผู้บริโภคบางส่วนที่เคยชินกับการทำงานที่บ้าน การสั่งอาหารมาทานที่บ้าน หรือทำอาหารทางเองเพื่อความปลอดภัย สิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมเปลี่ยนไป เริ่มตั้งแต่การอยู่อาศัยภายในคอนโดมิเนียม ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะต้องปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้สอยใหม่จากเดิมให้ความสำคัญต่อห้องนอน ก็จะหันมาให้ความสำคัญต่อห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน หรือแม้แต่ห้องครัว
“คอนโดมิเนียมจะให้ความสำคัญต่อเรื่องของความสะอาด ระบบการกำจัดขยะ การฆ่าเชื้อ จะเป็นหนึ่งในจุดขายที่สำคัญ และแม้ว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่คนจะทำงานที่บ้านมากขึ้น สเปซในส่วนของลิฟวิ่งรูม พื้นที่ห้องทำงาน หรือ Working space จึงเป็นเรื่องสำคัญ” นางนลินรัตน์ กล่าว
การพัฒนาโครงการใหม่ แทนที่จะไปทุ่มงบลงทุนไปกับพื้นส่วนกลางเยอะๆ ผู้ประกอบการก็จะให้ความสำคัญต่อฟาซิริตีส่วนตัวมากขึ้น กล่าวคือในแต่ละห้องจะต้องใช้พื้นที่ใช้สอยอย่างคุ้มค่า ส่วนโคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือโคคิดเชนสเปซ คนอาจไม่ให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อหรือให้ความสำคัญน้อยลง แต่จะหันมาให้ความสนใจกับพื้นที่ภายในห้องมากกว่าการเพิ่มพื้นที่ความเป็นส่วนตัว แม้ว่าจะเป็นแฟนกัน เมื่อต้องอยู่บ้านด้วยกันเป็นเวลานานๆ ก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว
ในส่วนของอาคารสำนักงาน ความต้องการพื้นที่ทำงานน้อยลงเพราะคนทำงานที่บ้านมากขึ้น ห้องประชุมจะต้องใหญ่ขึ้น เพราะการเข้าประชุมต้องเว้นระยะห่าง จะต้องให้ความสำคัญต่อการทำความสะอาด ระบบระบายอากาศภายในอาคารสำนักงาน
สำหรับตลาดรีเทลได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะคนหันมาสั่งของออนไลน์ เริ่มคุ้นเคยกับการสั่งของออนไลน์ และเชื่อมั่นในการสั่งของออนไลน์ ทำให้ร้านค้าต้องการพื้นที่ร้านค้าเล็กลง ต้องการพื้นที่แค่เพียงโชว์สินค้า ส่วนร้านอาหารก็เช่นกันจะเน้นการเดินทางเข้าออกง่ายสำหรับพนักงานรับส่งของ หรือการทำ Delivery ไม่จำเป็นต้องอยู่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แต่ไปเช่าพื้นที่ด้านนอกที่ถูกกว่าแต่พนักงานส่งของเดินทางมารับของได้ง่าย
นางนลินรัตน์ กล่าวต่อว่า การขายที่อยู่อาศัยออนไลน์ในปัจจุบันถือว่าเริ่มดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงแรกที่มีการประกาศล็อกดาวน์ ผู้บริโภคเริ่มเชื่อมั่นและกล้าซื้อผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จ นอกจากนี้ การที่ผู้ประกอบการลดราคาลงมากกว่า 20-30% หรือในบางโครงการลดราคามากกว่านั้น อีกทั้งยังมีของแถมอีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี หากลูกค้ามีความพร้อมการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ถือว่าคุ้มค่ามาก
ทั้งนี้ แนวโน้มการขายที่เริ่มกระเตื้องขึ้นดังกล่าว เชื่อว่าแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะยังคงอยู่จนถึงสิ้นปีสต๊อกที่คงค้างในตลาดประมาณ 60,000 ยูนิตน่าจะระบายออกไปได้กว่า 50% หรือหากสถานการณ์ดีกว่านั้นก็น่าจะระบายออกไปได้ประมาณ 80%
“การที่จะเป็นผู้ประกอบการล้มหายตายจากไปจากสถานการณ์นี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกคนล้วนมีความสามารถและประสบการณ์ และมีทางออก ซึ่งทางออกก็มีหลายทางอาจไปจับคู่แต่งงานกับพันธมิตรรายอื่น การออกลูกออกหลาน หรือการแตกตัวหรือไปรวมคนอื่น” นางนลินรัตน์ กล่าว
เชื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแค่ชั่วคราว
นายจรัญ เกษร กรรมการผู้จัดการ Strategic Property Management บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะจบลงเมื่อไหร่ และจะจบลงอย่างไร แต่เชื่อว่าจะยาวนานไปจนถึงปีหน้า และหากมีวัคซีนมารักษาจนไวรัสโควิด-19 เปรียบเหมือนไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด การที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน จะทำให้หลังจากนี้การใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเหมือนที่ใครหลายคนคาดการณ์ไว้หรือไม่
“อย่างไรก็ตาม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีความต้องการสังคม การพบปะสังสรรค์ การที่การพบปะผู้คนถูกลดทอนลงเหลืออัตราเพียง 20-30% ถือเป็นเรื่องยากผู้คนส่วนใหญ่แทบทนไม่ได้ เพราะเพียงรัฐบาลคลายล็อกแค่บางส่วนคนก็แห่ออกนอกบ้าน เพื่อไปเจอเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง ดังนั้น จึงเชื่อว่าหลังการระบาดของไวรัสในครั้งนี้ผู้คนจะกลับไปใช้ชีวิตปกติ และจะค่อยปรับตัวไป การที่จะไปถึงขั้นเข้าสู่ยุคออนไลน์เต็มรูปแบบและจะใช้เวลานานอีกหลายปี เช่นเดียวกับช่วงการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อ 100 ปีก่อน” นายจรัญ กล่าว
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยหลังจากนี้จะให้ความสำคัญหรือทุ่มงบประมาณส่วนใหญ่ไปกับระบบป้องกันโรค ระบบสาธารณูปโภคต้องปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ การใส่ระบบไฮเทคต่างๆ เข้าไปภายในโครงการเพื่อป้องกันโรค จะเป็นสิ่งที่จำเป็นมากหรือไม่เพราะเป็นต้นทุนที่สูงมาก ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ คงไม่ใช่เรื่อง New Normal แต่เป็นการปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่ในสภาวะที่มีการแพร่ระบาดให้สามารถผ่านช่วงนี้ไปได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมเพราะ 1.มีการอยู่อาศัยที่หนาแน่นกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่น 2.มีพื้นที่ส่วนกลางที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยมาใช้ร่วมกันหลายจุด ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง ต่างจากบ้านพักอาศัยที่มีผู้อยู่อาศัยน้อย ซึ่งสิ่งที่สามารถทำได้อย่างดีคือการทำความสะอาด การฆ่าเชื้อเพิ่มความถี่การทำความสะอาด การทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้พักอาศัยรักษาสุขอานามัยส่วนบุคคล การสวมหน้ากาก การแจ้งบอกต่อข่าวสาร การเชื่อมโยงสื่อสารต่างๆ แก่ลูกบ้าน
การนำเทคโนโลยีเพื่อให้คนสัมผัสน้อยลงตั้งแต่ทางเข้าโครงการจนถึงลิฟต์ พื้นที่ส่วนกลาง จุดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การกดปุ่มลิฟต์ก็วางเจลแอลกอลฮอลฆ่าเชื้อ จุดรับของ รับพัสดุ ส่วนการสันทนาการ การประชุมที่ต้องทำให้ผู้พักอาศัยมาอยู่ร่วมกันก็ต้องยกเลิกทั้งหมด ซึ่งอนันดาได้สร้างแนวป้องกันโรคและเพิ่มระดับความเข้มงวดตามรัฐบาลซึ่งได้ผลดี
“การวางระบบหรือการดำเนินการต่างๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรค เชื่อว่าจะคงต้องทำไปอีกนานอาจจะลากยางไปจนถึงปีหน้า เพราะแม้ว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนขึ้นมาได้ตอนนี้กว่าจะสามารถผลิตและรักษาโรคได้จนเป็นแนวระนาบเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ก็เชื่อว่าจะใช้เวลานานยาวไปจนถึงปีหน้า” นายจัญกล่าว
การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดฯ หลังจากนี้สิ่งสำคัญคือการรักษาความสะอาด สุขอนามัยภายในโครงการ พื้นที่ส่วนกลางยังคงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญสำหรับการพัฒนาโครงการในอนาคต ซึ่งต้องไปออกแบบให้มีการใช้ที่เว้นระยะห่าง การเข้าออกโครงการ การใช้ลิฟต์ ที่ต้องออกแบบให้ลดการกระจุกตัว หรือการทำให้ผู้พักอาศัยลดการใช้งานหรือการเข้ามากระจุกตัวกัน การใช้พื้นที่ส่วนกลางสามารถออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีที่ลดการสัมผัส เช่น ก๊อกน้ำ เครื่องจ่ายสบู่ เจลล้างมืออัตโนมัติ
ส่วนการขึ้นลิฟต์ในบางโครงการจะยังต้องใช้ระบบกดแบบเดิม แต่จะวางเจลล้างมือไว้เพื่อให้ทำความสะอาด ส่วนการสแกนใบหน้าสำหรับโครงการระดับกลางล่างอาจจะยังไม่จำเป็นเพราะมีต้นทุนที่สูง ขณะที่ภายในห้องชุดที่ลูกค้าเป็นผู้ดูแลผู้ประกอบการสามารถใส่เทคโนโลยีเพื่อฆ่าเชื้อโรค การป้องกันโรค ระบบระบายอากาศที่ฆ่าเชื้อได้อย่างเต็มที่
“บทเรียนจากการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้ เราต้องนำบทเรียนมานั่งคิดว่าอะไรที่ควรทำ อะไรที่เหมาะสมที่จะต้องใส่เข้าในภายในโครงการ การใส่เทคโนโลยีล้ำสมัยจนเกินความจำเป็นก็จะเป็นการเพิ่มภาระแก่ลูกค้าผู้อยู่อาศัย เพราะค่าบำรุงรักษา ค่าดูแลสูง ส่วนการเปลี่ยนฟังก์ชันภายในห้องชุดเพิ่มพื้นที่ทำงานคงเป็นเรื่องยากสำหรับห้องชุดขนาดเล็กที่มีพื้นที่จำกัด แต่สามารถเพิ่มฟังก์ชันในการทำงานด้วยเฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้สำหรับนั่งทำงานได้เป็นเวลานานๆ ได้ หรือมีส่วนของพื้นที่นั่งเล่น เมื่อมีคนบางส่วนที่ต้องทำงานที่บ้านพื้นที่โคเวิร์กกิ้งสเปซเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นภายในพื้นที่ส่วนกลาง เพราะรูปแบบการใช้งานเป็นแบบต่างคนต่างนั่งอยู่แล้ว แต่ต้องออกแบบที่นั่งไม่ให้ใกล้ชิดกัน มีห้องประชุม หรือส่วนอื่นๆ และเมื่อมีพื้นที่ใช้งานร่วมกันจะต้องเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาด เพิ่มพนักงานทำความสะอาด ที่ผ่านมา อนันดาเพิ่มพนักงานทำความสะอาดในพื้นที่ส่วนกลางที่บริษัทบริหารจัดการอยู่ประมาณ 10%” นายจรัญ กล่าว
แสนสิริสาดเทคโนโลยีเต็มแม็ก
นายปิติ จารุกำจร รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและบริหารกลยุทธ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาเราจะต้องมานั่งคิดว่าเราจะทำอะไรเป็นลำดับ 1 2 3 แสนสิริได้ตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส และคิดวางแผนรับมือรวมถึงกลยุทธ์ที่ดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เรามานั่งคิดว่าเทรนด์การใช้ชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนไปหรือไม่มากน้อยเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้มีคนให้ความเห็นที่แตกต่างกัน
สำหรับแสนสิริเริ่มจากแผนในระยะสั้น สิ่งแรกที่ทำคือการทำอย่างไรให้ทุกโครงการพร้อมอยู่ทุกโครงการที่บริหารอยู่มีความปลอดภัยสูงสุด การเพิ่มในส่วนของเทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัส ลดการใช้กระดาษทั้งแต่ทางเข้าโครงการด้วยแอปพลิเคชัน หรือแขกที่เข้ามาสามารถใช้คิวอาร์โค้ดที่ได้จากเจ้าของห้องสแกนที่ทางเข้า ก่อนเข้าโครงการจะต้องผ่านจุดคัดกรองด้วยเครื่องวัดอินฟราเรด มีสมาร์ทล็อกเกอร์สำหรับพัสดุของลูกบ้าน เพียงแจ้งทางนิติบุคคลอาคารชุดรับพัสดุให้หลังจากนั้นนำไปฆ่าเชื้อในยูวีบล็อก ลูกค้าสามารถรับพัสดุได้ด้วยรหัสที่ทางนิติฯ ส่งให้ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือ
ภายในโครงการจะติดตั้งระบบ UVC ในเครื่องปรับอากาศของพื้นที่ส่วนกลางจาก Steril Aire ซึ่งนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีความเข้มรังสีสูงที่สามารถทำลายเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา อีกทั้งยังติดตั้งเครื่องพ่นแอลกอฮอล์ในทุกห้องของพื้นที่ส่วนกลางเพื่อฆ่าเชื้อ
นอกจากนี้ ยังยกระดับมาตรฐานของบริษัทฯ สู่ “The New Normal for Sansiri Living” กับ 5 มิติ ทั้งการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาโครงการอสังหาฯ และบริการหลังการขาย รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ 1.New Normal ด้านการดูแลโครงการและบริการยกระดับความเข้มงวดด้านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค รวมถึงตรวจวัดไข้ทั้งพนักงานและลูกบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้
2.New Normal ด้านเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย เติมเต็มประสบการณ์แบบลดการสัมผัส ความใส่ใจด้านความสะอาดและถูกสุขอนามัย 3.New Normal ด้าน Waste Management เพิ่มมาตรการจัดการขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยที่ปลอดภัย และวางระบบจัดการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จาก Food Delivery หรือ Online Shopping ที่สูงขึ้น 4.New Normal ด้านการออกแบบและพัฒนาโครงการ ยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต ลดการสัมผัส พร้อมผสานการ Work Anywhere, Anytime และ 5.New Normal ด้านความปลอดภัยในการอยู่อาศัย กับ LIV-24 บริการดูแลความปลอดภัยจากศูนย์ควบคุมแบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง
1.Home = Peace Of Mine คนจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น บ้านจะต้องตอบโจทย์มากกว่าแค่ที่อยู่อาศัย คนอยากมีสุขภาพที่ดี ปลอดจากเชื้อโรคต่างๆ สารพิษ
2.Productivity คนจะทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา การจัดส่วนกลางให้สามารถนั่งทำงานได้และต้องปรับให้มีการเว้นระยะห่าง มีการประชุม ส่วนภายในห้องชุดที่มีขนาดจำกัด ต้องออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป
3.Touchless& Cashless Lifestyle จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต นอกจากความสะดวกสบายแล้วจะเป็นเรื่องของความสะอาด ความปลอดลดการสัมผัส ระบบที่ใช้จะเป็นระบบออร์โตเมติก ระบบอินฟราเรด เรื่อง Cashless หรือการจ่ายเงินออนไลน์เราเคยพูดถึงเรื่องนี้มานานนับ 10 ปี แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคคนได้เข้าถึง Cashless Society ได้ภายใน 2 เดือน
4.Security&Safety คนอยู่บ้านนานขึ้น อยู่บ้านมากขึ้น ซึ่งแสนสิริได้พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง และใช้ระบบมอร์นิเตอร์ผ่าน CCTV ผ่าน LIV-24 บริการดูแลความปลอดภัยจากศูนย์ควบคุมแบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง การตั้งเซ็นเซอร์ในทุกจุดของส่วนกลางและแจ้งเตือนได้ทันที เช่น ปั๊มน้ำเสีย จะมีการสั่น มีความร้อน ใช้ไฟมากกว่าปกติก็จะแจ้งเตือน ติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์ที่ช่วยให้ลูกบ้านรู้ว่าใช้ไฟไปเท่าไหร่ และค่าไฟมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าใดบ้างมากน้อยเพียงใด
5.New Definition Of Sharing Economy การ Sharing ในบางอย่างยังมีความสำคัญ เช่น Co Working, Co Kitchen หรือพื้นที่ร่วมอื่น แต่จะต้องปรับให้การใช้ร่วมกันอย่างปลอดภัยมากขึ้น การเว้นระยะห่าง
สำหรับเทคโนโลยีบน Sansiri Home Service Application เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกบ้าน การควบคุมคุณภาพอากาศภายในห้อง และเช็กค่า AQI ของอากาศภายนอก การสั่งการด้วยเสียงผ่าน Google Home เพื่อสำรองการใช้งานพื้นที่ส่วนกลาง แจ้งซ่อม และจ่ายค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ-ไฟ และใช้บริการพิเศษด้าน Delivery, Cleaning Service, Health Service และด้าน Lifestyle อื่นๆ ครบทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในแอปเดียว นอกจากนี้ แสนสิริยังได้พัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง