เปิดใจประธานกรรมการ-ซีอีโอใหม่กสิกรฯ เผยโจทย์ท้าทายนำกสิกรไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและสู้ศึกดิสรัปชัน พร้อมเตรียมทบทวนเป้าหมายธุรกิจใหม่หลังปรับเป้าจีดีพีปีนี้ติดลบ 5% รับแนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่ม
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ในฐานะที่ตนเพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยบทบาทและหน้าที่ของประธานกรรมการ ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล ซึ่งได้ประเมินฝ่ายบริหารและศักยภาพพื้นฐานของธนาคารแล้ว มั่นใจว่ายังดำรงความแข็งแกร่งเป็นที่น่าพอใจ และเชื่อมั่นว่าฝ่ายจัดการจะสามารถบริหารธนาคารให้ก้าวผ่านโจทย์ธุรกิจในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่กับการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจเพื่อรับมือดิสรัปชันและความท้าทายอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเรียบร้อย
สำหรับทิศทางของธนาคารกสิกรไทยที่ดำเนินต่อจากนี้ คือ เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าธนาคารในหลายๆ ทาง พร้อมมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และในอนาคตข้างหน้า นอกจากการฝ่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้แล้ว ธนาคารกสิกรไทยจะยังคงบทบาทการเป็นสถาบันการเงินชั้นนำที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และพร้อมเสมอที่จะรับมือต่อความท้าทายรูปแบบใหม่อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงในขณะนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ปัญหาคุณภาพสินเชื่อจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับธุรกิจธนาคาร ทำให้ต้องติดตามสถานการณ์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งที่พึ่งพิงตลาดและกำลังซื้อในประเทศ และที่พึ่งพิงตลาดส่งออก ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่คาดว่ามาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีส่วนสำคัญในการลดทอนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะช่วยลดภาระการกันสำรองของสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ส่งผลให้การทบทวนประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2563 คาดว่าจะหดตัว -5.0% ท่ามกลางสมมติฐานที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยและต่างประเทศ สามารถควบคุมจำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อได้ภายในไตรมาสที่ 2 โดยเศรษฐกิจโลก และไทยคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2563 ขณะที่นโยบายการเงินและการคลังที่ทยอยออกมาแล้ว และที่กำลังจะตามมา จะช่วยประคองกลไกทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเงินให้สามารถดำเนินต่อไปได้
**เตรียมทบทวนเป้า-เอ็นพีแอลเพิ่ม**
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ภายใต้ปัจจัยต่างๆ ที่มีความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมากในปัจจุบัน ไม่ว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาภัยแล้ง และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ธนาคารก็มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลักๆ ก็จะเป็นการลดภาระการผ่อนชำระหนี้ การเสริมสภาพคล่องให้แก่ลูกหนี้ และมาตรการที่จะทำให้ธุรกิจหรือการดำรงชีวิตของลูกค้าเดินต่อไปด้วยอย่างคล่องตัว โดยจะยังเปิดบริการสาขา เอทีเอ็ม และช่องทางดิจิทัลซึ่งปัจจุบันสามารถให้บริการเปิดบัญชี E-Saving ได้โดยที่ลูกค้าไม่ต้องมาที่สาขา
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของธนาคารนั้น จะมีการทบทวนแผนธุรกิจและเป้าหมายปี 2563 อย่างชัดเจน หลังจากเห็นผลประกอบการของไตรมาสแรก เพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในลำดับถัดไป แต่ในสภาวะอย่างนี้สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากคือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่จะเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นในระดับที่ยังสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากมีทีมงานที่ดี และยังมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงโดยมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 16%
"ในสถานการณ์นี้ถือว่าเป็นความท้าทายมากที่จะทำอย่างไรให้ลูกค้าและธนาคารผ่านไปได้ด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่เราทำอยู่ก็คือรีบปรับโครงสร้างหนี้ นำสภาพคล่องให้เข้าไปถึงกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ เข้าไปดูแลเรื่องการลดต้นทุนการทำงาน ช่วยผลักดันมาตรการรัฐให้เข้าถึงผู้เดือดร้อนให้เร็ว แต่วิกฤตครั้งนี้ เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 แล้ว ครั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนเราลอยตัวแล้ว หนี้ต่างประเทศไม่สูง การเก็งกำไรค่าเงินไม่มี มาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐมาเร็วกว่า แต่เศรษฐกิจไทยก็โตช้ามานาน มีหนี้ครัวเรือนสูง และขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นโจทย์ของทั่วโลกด้วย"
ทั้งนี้ นับตั้งแต่การระบาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ธนาคารกสิกรไทยได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้านสินเชื่อไปแล้ว 115,000 ราย ยอดสินเชื่อ 124,000 ล้านบาท และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและลูกค้าบุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เป้าหมายสำคัญในการฝ่าวิกฤตนี้ คือ พนักงานปลอดภัย สามารถส่งมอบบริการได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าให้ได้มากที่สุด และเตรียมความพร้อมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศต่อไป
ด้านยุทธศาสตร์ของธนาคารในระยะต่อไปนั้น ยังคงมุ่งที่จะเป็นหนึ่งในธนาคารหลักของประเทศ และธนาคารหลักของภูมิภาค โดยการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยต่อจากนี้ การจัดการที่จะเร่งทำให้มากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ได้แก่ การส่งมอบบริการทางการเงินไปถึงลูกค้ารายเล็กให้ได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยยังคงหลักระมัดระวังและการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งเป็นโจทย์ที่ควรเร่งทำเป็นอันดับต้นเพราะจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นโจทย์ของธนาคารทั้งในฐานะคนทำธุรกิจและพลเมืองของประเทศ
การจัดการด้านต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (Productivity management) ให้ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการถึงลูกค้าได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ไม่ใช่แค่การทำตามระเบียบของทางการ ซึ่งหากมองในระดับประเทศแล้วต้นทุนทางการเงินของธนาคารยังนับว่าเป็นเพียงส่วนน้อยของต้นทุนในระบบประเทศ ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ที่สามารถเพิ่ม Productivity ได้อีกมาก เพื่อให้แรงงานการผลิตมีค่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญให้ธุรกิจอยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจนี้ และการจัดการด้านทรัพยากรบุคคล ที่ต้องมีการยกระดับทักษะความสามารถพนักงานให้พร้อมรับมือต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีใหม่ๆ