ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คดีล่วงละเมิดทางเพศสั่นสะเทือนแวดวงการศึกษาเป็นข่าวครึกโครมตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณี 7 ชายโฉดรุมข่มขืน 2 นักเรียนหญิง และที่ถูกจับจ้องวิพาษ์วิจารณ์อย่างหนักคือ “ผู้ต้องหา 5 ใน 7” คือ “ครู” ซึ่งเป็น “แม่พิมพ์ของชาติ แต่ไร้สำนึกไร้ซึ่งจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู
ยิ่งไปกว่านั้น ยังเกิดกรณี “ครูรุ่นพี่” ตรรกะป่วยโพสต์ข้อความในโซเชียลฯ แสดงความเห็นอกเห็นใจ “แก๊งครู-ศิษย์เก่าขยี้กามเด็ก” สุดท้าย “ทัวร์ลง” จนต้องออกมาแก้ต่างเป็นพัลวัน มิหนำซ้ำ หลังคดีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ลือกันให้แซดว่ามีการใช้อำนาจแทรกแซง มีการใช้เส้นสายประกันตัว ล็อบบี้เจรจาขอยอมความ ผู้ใหญ่ในพื้นที่ออกมาปกป้องครูที่ทำผิด แถมโทษเป็นความผิดนักเรียนแทน
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ต้องหา รวม 7 คน แบ่งเป็น ครู 5 คน และศิษย์เก่า 2 คน ได้แก่ 1. นายวิพจน์ แสนสุข อายุ 35 ปี 2.นายยุทธนา ภูถนนนอก อายุ 36 ปี 3.นายอานุภาพ บรรจง อายุ 33 ปี 4.นายสิทธินันท์ ณ หนองคาย อายุ 25 ปี 5.นายเอกลักษณ์ เกื้อหนองขุ่น อายุ 35 ปี 6.นายชนะศักดิ์ สาธุชาติ อายุ 21 ปี และ 7.นายพีรพงษ์ พรมมา อายุ 21 ปี
ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์โทรมเด็กล่อลวงนักเรียนหญิง ม.2 และ ม. 4 จำนวน 2 คน ไปข่มขืนที่ห้องพักครู และกระทำชำเรา โดยมีการถ่ายคลิปไว้เพื่อแบล็กเมล์ข่มขู่ เหตุเกิดที่บ้านพักครูภายในโรงเรียนเเห่งหนึ่ง จ.มุกดาหาร ระหว่างเดือน มี.ค. 2562 – มี.ค. 2563 กระทั่ง หนึ่งในเด็กหญิงผู้เสียหายพร้อมผู้ปกครองเข้าแจ้งความดำเนินคดีจนเป็นข่าวครึกโครม
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฯ ได้แจ้งข้อหาผู้ต้องหาทั้ง 7 คน “กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็ก และเป็นการกระทำแก่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง เพื่อการอนาจาร”
โดยครูทั้ง 5 คนมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง พิสูจน์ข้อเท็จจริงก้มหน้ารับกรรมกันต่อไป ต่อมา ทั้ง 7 คน ได้เข้ามอบตัวพร้อมยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัววงเงินคนละ 350,000 บาท
ประเด็นที่น่าสนใจ เกิดกระแสข่าวมุ่งให้ร้ายเด็กหญิงทำนองว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการซื้อบริการทางเพศ มีการจ่ายเงิน หรือเป็นการสมยอม แต่ต้องไม่ลืมว่าเด็กนักเรียนหญิงผู้เสียหายเป็นเยาวชน อายุต่ำกว่า 15 ปี กฎหมายระบุให้ความคุ้มครองชัดเจน
ทั้งนี้ กฎหมายระบุความผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศในโรงเรียนไว้ 4 ข้อ ได้แก่ 1. การข่มขืน กระทำชำเรา 2. ความผิดกระทำชำเรา 3. การกระทำอนาจาร และ 4. การพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร โดยแต่ละข้อหามีบทลงโทษแตกต่างกันไป
และกรณีที่กระทำกับเด็กอายุไม่เกิน 13 -15 ปี โทษจะหนักกว่ากระทำกับเด็กที่อายุเกิน 18 ปี โดยกฎหมายให้ความคุ้มครองผู้เยาว์ที่ยังไม่สามารถตัดสินใจเรื่องทางเพศของตนเองได้ และกฎหมายได้บัญญัติเอาผิดกับผู้กระทำความผิด ที่กระทำต่อผู้สืบสันดาน ศิษย์ที่อยู่ในความดูแล ผู้ที่อยู่ในความปกครอง ความพิทักษ์หรืออนุบาล โดยระวางโทษหนักกว่าฐานความผิดที่กำหนดไว้ และเป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความได้
สำหรับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน เป็นประเด็นที่ถูกหยิบไปพูดใน เวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 10 หัวข้อ “ปัญหาหรือตัณหา : ธรรมาภิบาลกับเรื่องเพศในโรงเรียนไทย” โดยหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ขยายภาพปัญหาการล่วงละเมิดในโรงเรียนความว่า วัฒนธรรมในโรงเรียนเอื้อให้เกิดปัญหาการคุกคามทางเพศ ตั้งแต่การหยอกล้อไปจนถึงการถูกเนื้อต้องตัว มีพื้นที่นัดพบระหว่างเด็กกับเด็ก ครูกับนักเรียน ไปจนถึงพื้นที่ในออนไลน์หรือพื้นที่ส่วนตัว และที่น่าเป็นห่วงคือ ระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น
จากสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และมีการฟ้องร้อง 53 รายที่เป็นข่าว แต่ตัวเลขที่ไม่เปิดเผยมีมากกว่านี้หลายเท่า ซึ่งไม่เพียงแต่เด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย และกลุ่ม LGBT (Lesbian Gay Bisexual and Transgender: กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) ก็ตกเป็นเหยื่อของการกระทำทางเพศด้วยเช่นกัน ตลอดจนเมื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวน เหยื่อกลับถูกกระทำซ้ำจากผู้มีอำนาจที่เหนือกว่า และจากการนำเสนอของสื่อ ทำให้เด็กที่ตกเป็นเหยื่อเลือกที่จะเงียบ และเกิดเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ผู้ถูกกระทำไปกระทำกับคนอื่นต่อ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องแก้
ผศ.อรรถพล เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาต้องไม่ใช่การแก้กระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น ต้องมีการสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมในโรงเรียน ที่ทุกคนจะต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมทางเพศ และเมื่อเกิดเหตุการณ์จะต้องใช้หลักธรรมาภิบาลในการสอบสวน
และคงไม่เกินจริงเท่าใดนักหากจะบอกว่าการละเมิดสิทธิเด็กในสถานศึกษาเกิดขึ้นตลอดเวลา เพียงแต่ว่าจะเป็นข่าวเป็นคดีความหรือไม่ก็เท่านั้น สิ่งสำคัญโรงเรียนต้องไม่เพียงปฏิรูปแค่การเรียนการสอน แต่ต้องปฏิรูปจิตวิญญาณของคนเป็นครูด้วย
“การให้โอกาส ให้ความรัก ความเมตตาลูกศิษย์ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ มิใช่การใช้อำนาจที่เหนือกว่าทั้งกายภาพและหน้าที่การงาน มาเป็นโอกาสในการข่มขืน คุกคามทางเพศเช่นนี้ ซึ่งครูที่บอกว่า เด็กเสียไปแล้ว เด็กขายบริการ ในฐานะครูไม่ใช่พ่อเล้า ไม่ใช่คนใช้บริการ เราต้องดึงเด็กออกมา มีกองทุน แหล่ง ทุนจำนวนมากที่จะช่วยเด็กลำบากยากจน ถ้าครูเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ ไม่ใช่ใช้เงินซื้อบริการทางเพศเด็ก อย่างนั้นคือ คุณแค่เป็นคนสอนหนังสือ ไม่ใช่เป็นครู” นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงกรณีล่วงละเมิดในโรงเรียนที่ตกเป็นข่าวครึกโครมอย่างต่อเนื่อง
ในประเด็นนี้ “นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า “ผมขอประกาศต่อสู้กับเรื่องนี้สุดความสามารถ เพื่อนำความปลอดภัยกลับมาสู่โรงเรียนอีกครั้ง เพราะโรงเรียนนอกจากจะเป็นสถานศึกษาที่ให้ความรู้และพัฒนาคนแล้ว ยังเปรียบเสมือนบ้านที่ให้ทั้งความรู้ ความอบอุ่น และความปลอดภัย การล่วงละเมิดทางเพศขัดต่อหลักการนี้อย่างรุนแรง และเป็นสิ่งที่รับไม่ได้”
พร้อมทั้งล้อมคอกออกนมาตรการป้องกันตั้ง “ศูนย์คุ้มครองช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ประสบปัญหาโดนล่วงละเมิดทางเพศ” ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลรับเรื่องร้องเรียน บูรณการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภายในกระทรวงฯ เพื่อแก้ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่ “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยข้อกังวลของประชาชนกรณี “มวยล้มต้มคนดู” ย้ำแนวทางปิดจุดอ่อน ใช้แนวทางของกฎหมาย ป.วิ อาญา มาตรา 237 ทวิ สืบพยานต่อหน้าศาล ลดเวลาไม่ให้จำเลยแอบล็อบบี้ขอยอมความ ซึ่ง เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ถูกกระทำ
อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยเรียกร้องให้มีการเพิ่มโทษคดีข่มขืน โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแก้ไขเพิ่มโทษกฎหมายเกี่ยวกับข้อหาข่มขืนและกระทำอนาจาร โดยบริบทกฎหมายในฉบับนี้ มีการปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย เพิ่มโทษให้ครอบคลุมปัญหาในปัจจุบันมากขึ้น เป็นต้นว่าหากกระทำชำเราเด็ก ต้องระวางโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต หรือหากเหยื่อถึงแก่ความตาย จากเดิมมีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แก้ไขเป็นโทษประหารชีวิตเท่านั้น
สำหรับเนื้อหาบางส่วนของกฎหมายระบุไว้ อาทิ ข่มขืนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีโทษจำคุก 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 1 - 4 แสนบาท และหากข่มขืนเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี โทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสน 4 หมื่นบาท ถึง 4 แสนบาท, หากข่มขืนแล้วถ่ายคลิปไว้ด้วย มีโทษหนักขึ้น 1 ใน 3 ของโทษในมาตรานั้น ๆ หากมีการเผยแพร่คลิปข่มขืน โทษหนักขึ้น 1 ใน 2 หรือครึ่งหนึ่งของมาตรานั้นๆ เป็นต้น
ท้ายที่สุด พิสูจน์ให้เห็นว่าแม้กฎหมายใช้ยาแรงเพียงใด ก็ไม่อาจหยุดยั้งความเลวทรามในจิตใจมนุษย์บางจำพวก และนับเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของกระทรวงศึกษาฯ ทำอย่างไรถึงจะทำลายวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดปัญหาการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน