xs
xsm
sm
md
lg

ลบ ‘3 ทัศนคติ’ เพิ่ม ‘6 ตัวช่วย’ ให้นร.หญิงปลอดภัยในโรงเรียน !/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นที่จังหวัดมุกดาหาร...

มีแก๊งผู้ชายที่มีอาชีพครูกับศิษย์เก่ารวม 7 คน บังคับข่มขืนเด็กนักเรียนหญิงเป็นเวลาต่อเนื่องและถ่ายคลิปเอาไว้เพื่อข่มขู่ว่าถ้าไม่ยอมจะให้ซ้ำชั้นและเปิดเผยคลิป ทั้งนี้ ยังมีนักเรียนหญิงชั้นม. 4 อีกคนหนึ่งที่ถูกคนกลุ่มนี้พาไปรุมข่มขืนที่บ้านพักครูในโรงเรียน และมีรายงานว่ามีนักเรียนหญิงชั้นม. 6 เข้ามาเเจ้งความเพิ่มเติม ล่าสุดกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้นำเด็กหญิงผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองและนำไปดูแลที่บ้านพักเด็กและครอบครัวมุกดาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมดำเนินการในส่วนของกระบวนการเยียวยา และฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็ก

นับเป็นข่าวที่สร้างความสะเทือนใจซ้ำซากอีกครั้ง เมื่อคนที่มีอาชีพครูกระทำชำเราลูกศิษย์ เป็นเรื่องที่ยากจะทำใจยอมรับ

แต่บ้านเราก็มีข่าวทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง

ยังไม่นับรวมกรณีข่าวคราวที่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ชิด กระทำล่วงละเมิดทางเพศลูกหลานของตัวเองก็มีอยู่มิใช่น้อยเช่นกัน

แม้จะเผชิญกับข่าวทำนองนี้บ่อยครั้ง มีแต่ผู้คนสาปแช่ง ด่าทอต่าง ๆ นานา และสุดท้ายคนที่กระทำผิดก็ถูกลงโทษ แต่ดูเหมือนก็ไม่ทำให้ผู้ที่อยู่ในสถานศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารโรงเรียนหรือครูผู้ชายหยุดกระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กนักเรียนหญิง

ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานในสังคมไทย ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏในสื่อ โรงเรียนคือสังคมจำลองที่สะท้อนปัญหาสังคมโดยรวม เช่น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ผู้ใหญ่กับผู้น้อยในโรงเรียน ความสัมพันธ์ชายหญิงในโรงเรียน เช่น เด็กถูกกระทำจากผู้บริหารหรือครูที่เป็นผู้ชาย เป็นต้น

คำถามก็คือ โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนหญิงแล้วหรือ !

การล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่มีมานานแล้ว มีเป็นช่วงๆ ตามที่สื่อเสนอข่าวจากนั้นก็เงียบไป แล้วเมื่อมีกรณีใหม่และสื่อนำเสนอก็จะเป็นประเด็นต่อสังคมอีก วนเวียนต่อสภาพปัญหาอีกครั้ง ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการก็เพิ่งมีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษากรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ แม้จะมีความพยายามที่จะแก้ปัญหา แต่ปัญหาเรื่องนี้ในโรงเรียนจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

และต้องมีแนวทางการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจังตามกฎหมาย

สาเหตุการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คือการที่ ครูใช้อำนาจความเป็นครู ซึ่งเป็นผู้ใหญ่กับลูกศิษย์ที่เป็นผู้น้อยที่บางกรณีให้ความยินยอมหรือจำนน หรือต้องปกปิดเรื่องราว โดยผู้กระทำผิดอาศัยความไว้วางใจและความไร้เดียงสาของเด็กเพื่อหาโอกาสในการเข้าถึง ผลที่ตามมาคือทำให้ผู้ถูกละเมิดหรือเหยื่ออับอาย และกลัวไม่กล้าบอกผู้ปกครอง

อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุขึ้น พอมีการตั้งกรรมการสอบสวนที่เป็นข้าราชการตรวจสอบกันเอง ก็ทำให้สังคมไม่ไว้วางใจในการสอบสวนและตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด ขณะที่ผู้เสียหายก็ไม่กล้าเปิดเผย เรื่องจึงถูกเก็บเงียบ และไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จึงกลายเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาตลอด

องค์การสหประชาชาติเคยเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับ ผู้หญิงไทยที่แสวงหาความยุติธรรมเมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งพบว่าหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่สุด คือ ทัศนคติและอคติของตำรวจและเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้หญิงเหล่านี้

ทั้งที่สิ่งที่จำเป็น คือการรับฟังและช่วยเหลือสนับสนุนผู้หญิงที่ประสบกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่กลับไปตั้งคำถามและสงสัยพฤติกรรมของเหยื่อ

ประเด็นสำคัญที่สุดคือต้องเร่งเปลี่ยนทัศนคติที่เป็นตัวการทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ประการแรก – ทัศนคติในการโทษเหยื่อ
ต้องไม่มีข้ออ้างสำหรับการคุกคามทางเพศ และต้องหยุดโทษเหยื่อ เลิกมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ หรือมองว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องทั่วไป

ผู้หญิงจะแต่งตัวยังไง เดินที่ไหน เป็นสิทธิของเขา เขาไม่ผิด คนที่ล่วงละเมิดเขาต่างหากที่ผิด เราจึงควรหลีกเลี่ยงการพูดจา หรือความคิดที่ไปโทษเหยื่อเด็กผู้หญิงว่าพวกเขาถูกกระทำเพราะการแต่งกายหรือไม่ระมัดระวังตัวเอง

ทัศนคติและเจตคติของผู้คนในสังคมมีแนวโน้มประณามผู้หญิงและเด็กว่าเป็นผู้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ จนผู้เสียหายไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเพราะรู้สึกอับอาย ต้องทนรับสภาพปัญหาเพียงลำพัง และถูกกระทำซ้ำๆ แบบหาทางออกไม่ได้ จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมก็มีให้เห็น

ประการที่สอง – ทัศนคติที่ยอมจำนน
ทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมที่ฝังรากลึกว่าภรรยาเป็นสมบัติของสามี ลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ สามารถกระทำอะไรก็ได้ เพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว เพราะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กให้เชื่อฟังพ่อแม่ เชื่อฟังคุณครู เชื่อฟังผู้นำ เชื่อฟังเจ้านาย ฉะนั้น เมื่อผู้คนเหล่านี้ไม่ดีหรือกระทำความผิดที่ไม่เหมาะสมหรือล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก เด็กเหล่านี้ก็มักจะไม่ตอบโต้ หรือมีแนวโน้มยอมจำนนต่อสถานการณ์ จนกว่าจะมีผู้พบว่าถูกกระทำ เราจึงมักพบเห็นข่าวคราวในท่วงทำนองลูกศิษย์ถูกกระทำจากคุณครู หรือลูกน้องถูกละเมิดทางเพศจากเจ้านาย

ประการที่สาม – ทัศนคติการวางเฉย
ทัศนคติการวางเฉย ไม่อยากยุ่งเรื่องของผู้อื่น หรือเกรงว่าตัวเองจะเดือดร้อน ทั้งที่การสร้างสังคมที่ดีทุกคนต้องมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้คนยังขาดความตระหนักถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสังคม มองไม่เห็นว่าเป็นปัญหา และการเพิกเฉยนั่นแหละสุดท้ายก็กลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาไปในที่สุด
และเมื่อทัศนคติเหล่านี้ยังคงมีอยู่ นั่นหมายความว่า เด็กที่ต้องเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสถานการณ์อย่างนี้ เห็นพฤติกรรมของครูบาอาจารย์ หรือผู้ใหญ่ในสังคมเท่ากับเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางตรงอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นมา ก็ต้องมี “6 ตัวช่วย” เป็นมาตรการช่วยเหลือตามมาด้วย

หนึ่ง – ต้องใช้ตำรวจหญิง
งานวิจัยมากมายที่ชี้ว่า ผู้หญิงที่โดนทำร้าย จะกล้าเปิดใจคุยกับตำรวจหญิงมากกว่าตำรวจชาย บ้านเราควรมีการเปิดโอกาสให้มีตำรวจหญิงมากขึ้น และมีการอบรมเชิงจิตวิทยาเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนทั้งเด็กและผู้หญิงโดยเฉพาะ

สอง – สื่อต้องเป็นตัวช่วย
เด็กจำนวนมากเติบโตมากับละครที่พ่อแม่เปิดทิ้งไว้ เราไม่ควรให้เด็กเห็นในละครและคิดว่าฉากตบจูบ หรือฉากละเมิดทางกาย วาจา ใจ รวมถึงทางเพศ เป็นวิธีแสดงความรักอย่างหนึ่งที่ไม่สมควรโดนลงโทษ ยิ่งปัจจุบันมีสื่อออนไลน์ที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย ยิ่งต้องระมัดระวัง และไม่ปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อที่ไม่เหมาะสม ทางที่ดีสื่อเองที่ต้องเป็นตัวช่วยในการให้ความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินชีวิต หรือพฤติกรรมที่เหมาะสมสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาด้วย

สาม – เพศศึกษายังจำเป็น
หลักสูตรเพศศึกษาในบ้านเราต้องให้ความสำคัญเรื่องทัศนคติทางเพศและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น อย่างแรกคือ จัดทำหลักสูตรเพศศึกษา และสอนให้มีความฉลาดรู้เรื่องเพศให้กับเด็ก ตามมาด้วยการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียน มีช่องทางรับฟังความคิดเห็น และครูจะต้องเป็นที่พึ่งให้เด็กได้ และต้องดึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน เป็นเครือข่ายเข้ามาดูแลและป้องกันเรื่องเหล่านี้ด้วย
โรงเรียนจะต้องเป็นแหล่งสร้างการเรียนรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศให้กับเด็ก ไม่ใช่เป็นแหล่งที่ทำร้ายเด็กเสียเอง

สี่ – ให้ความรู้กรณีเกิดเหตุ
เรื่ององค์ความรู้ยังไม่กระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง กรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่เด็กหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศต้องทำอย่างไร ผู้ใหญ่ต้องทำอย่างไร การไปหาหมอเพื่อตรวจร่างกายและเก็บหลักฐานไว้ก่อนมีความจำเป็น ไม่ว่าจะแจ้งความหรือไม่ ซึ่งการตรวจร่างกายควรทำอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันการติดโรคหรือการตั้งครรภ์ และการไปหาหมอหลังเวลาผ่านไปก็ยังมีประโยชน์อยู่ หรือสิทธิต่างๆ ของเหยื่อที่สามารถเรียกร้องได้มีอะไรบ้าง

ห้า – เยียวยาจิตใจ
การดูแลช่วยเหลือของครอบครัว คนใกล้ชิดหลังจากที่เหยื่อถูกข่มขืน ต้องมีคนที่พร้อมเผชิญและให้ความช่วยเหลือที่ถูกวิธี แม้จะห่วงเด็กว่าจะต้องอับอาย ถูกตำรวจสอบสวน ต้องไปขึ้นศาล ตรงนี้เป็นเรื่องจริงที่คนในสังคมส่วนหนึ่งมักจะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องปกปิด จนพบว่าหลายๆครั้ง คนที่กระทำข่มขืนลอยนวลและไม่ถูกดำเนินคดีเพราะความคิดเช่นนี้

เหยื่อส่วนใหญ่มักจะรู้สึกผิด โทษตัวเอง รู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเองไปจากเหตุการณ์ที่เกิด ทั้งที่จริงๆ แล้วคนที่ผิดก็คือผู้กระทำต่างหาก

สิ่งที่สำคัญคือ กำลังใจและการยอมรับจากคนรอบข้าง การช่วยให้เหยื่อยอมรับและรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองว่าไม่ได้หายไปไหน จะทำให้เหยื่อค่อยๆ ก้าวผ่านประสบการณ์เลวร้ายไปได้

หก – ปรับปรุงกระบวนการคุ้มครองเด็ก
การปรับปรุงคุณภาพของบริการด้านคุ้มครองเด็ก รวมทั้งการติดตามและประเมินผลก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยการระบุตัวเด็ก การส่งต่อ การดูแลและให้คำปรึกษาจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ ที่ถูกกระทำได้รับการฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจและกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ โดยไม่มีเด็กคนใดต้องตกหล่นระหว่างกระบวนการคุ้มครองเด็กนี้

ประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนในทุกขั้นตอนของกระบวนการคุ้มครองเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและจัดให้มีกลไกคุ้มครองเด็กในระดับท้องถิ่น หรือการจ้างและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านนี้มากขึ้น แนวทางดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมสุขภาวะให้แก่เด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการรับรองว่าเด็กและคนหนุ่มสาวในประเทศไทยมีสิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างแท้จริง

หากลบ “3 ทัศนคติ” เพิ่ม “6 ตัวช่วย” ตามนี้ได้ - โรงเรียนก็จะเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนหญิง


กำลังโหลดความคิดเห็น