หลังมีข่าวครูโฉด ล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียน ใน จ.มุกดาหาร จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ในโลกโซเชียล และสร้างความบอบช้ำทางด้านจิตใจให้กับเด็กนักเรียน ทาง “กรมอนามัย” จึงได้ออกมาเผย 6 ขั้นตอนช่วยเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ
จากกรณีเกิดเหตุครูโรงเรียนดงมอนวิทยาคม อ.เมือง จ.มุกดาหาร 5 คน และศิษย์เก่ารุ่นพี่ 2 คน กระทำชำเราเด็กนักเรียนหญิงอายุ 14 ปี และเด็กนักเรียนอายุ 16 ปี ของโรงเรียนติดต่อกันนานนับปี กระทั่งความแตก ยายพาหลานเข้าแจ้งความกับ ตำรวจ สภ.ผึ่งแดด เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ต่อมาศึกษาธิการจังหวัดมุกดาหาร มีคำสั่งให้ข้าราชการครู 5 ราย ออกจากราชการไว้ก่อน และตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์กลุ่มหนึ่งแสดงความคิดเห็นให้กำลังใจครูโฉดทั้ง 5 ราย นี้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 พ.ค. เพจ “Anti-Fake News Center Thailand” ได้นำข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับขั้นตอนรับมือช่วยเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ จาก “กรมอนามัย” นำมาเผยแพร่เพื่อเป็นความรู้และใช้แก่ปัญหาหากประสบปัญหาดังกล่าว โดนได้ระบุข้อความว่า
“การล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย และจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีผู้ใหญ่อยู่รอบๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องพูดคุยกับเด็กบ่อยๆ หากพบว่าบุตรหลานของตัวเองถูกล่วงละเมิดทางเพศ สามารถรับมือได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ตั้งสติ การตั้งสติโดยไม่แสดงอาการตกใจ โกรธ เสียใจ จะทำให้เด็กอยากเล่าเหตุการณ์ และเกิดความมั่นใจว่าเราสามารถช่วยเหลือเขาได้ และต้องดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่เด็กด้วย ในทางกลับกันหากแสดงท่าทีตกใจ โกรธ อาจจะทำให้เด็กกลัวที่จะได้รับความเดือดร้อน และไม่มั่นใจว่าเราสามารถช่วยเหลือเขาได้
2. รับฟัง ไม่ขัดหรือโต้แย้งเด็ก เมื่อเด็กแสดงท่าทีอยากเล่าเรื่องราวที่รู้สึกหรือเป็นปัญหา ให้รับฟัง และไม่ควรผัดผ่อน จะทำให้เด็กเกิดความเชื่อใจว่าเราสามารถช่วยเหลือได้
3. ถามหาผู้กระทำ ถ้าเด็กไม่พร้อมที่จะบอกว่าผู้กระทำเป็นใคร ให้ใช้วิธีการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนหน้าที่เด็กจะถูกกระทำ สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้กระทำ หรือความสัมพันธ์ของผู้กระทำกับเด็กเท่าที่จะจำได้ โดยหลีกเลี่ยงการคาดคั้นข้อมูลจากเด็ก
4. เก็บหลักฐาน รวบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ขณะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก้นบุหรี่ ถุงยางอนามัย ภาพถ่ายร่องการถูกกระทำ หรืออื่นๆ ที่ผู้กระทำผิดทิ้งไว้เป็นหลักฐาน และห้ามชำระร่างกายเด็กก่อนตรวจรักษาเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ไม่พบร่องรอยที่จะเป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้กระทำ
5. ขอความช่วยเหลือ แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ เช่น สายด่วน 191 หรือ สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 โดยบอกรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำ เวลาที่เกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุ หรือข้อมูล อื่นๆ เท่าที่ทราบ
6. ตรวจรักษา หากเด็กถูกกระทำมาเป็นเวลาหลายวัน ควรนำเด็กไปตรวจรักษาเพื่อป้องกันโรคติดต่อและตรวจสอบการตั้งครรภ์”