xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เยียวยา 5 พัน ทุกข์ทั้งคนให้ คนรับ? อดใจรอสักนิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เคลียร์กันไปเป็นกลุ่มๆ เป็นลอตๆ #เราไม่ทิ้งกัน ประกันสังคม เกษตรกร คนพิการ แรงงานต่างถิ่น ฯลฯ ทั้งแจกเงิน แจกข้าว ถุงยังชีพ กะเอาให้อยู่ และค่อยๆ คลายล็อก ให้ 6 ธุรกิจเริ่มขยับไปพร้อมกับความระมัดระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องไม่กลับมาระบาดซ้ำรอบสอง ตามท่วงทำนองคล้ายกับว่าเราจะรอดไปด้วยกัน ทั้งรอดชีวิตและเศรษฐกิจต้องรอดด้วย เป็นเป้าหมายสูงสุดที่ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องทำให้ได้! แต่ก็มีประชาชนอีกไม่น้อยรอเยียวยาอย่างใจจดจ่อ ด้วยว่าทุนรอนของแต่ละคนนั้นมันต่างกัน

ขณะที่รัฐบาลก็เร่งมือแบบสุดๆ เพื่อให้เงินถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุด กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าการจ่ายเงินหลวงมีระเบียบพิธีการทางราชการที่ต้องทำตามขั้นตอนต้องตรวจสอบอยู่ แม้จะเป็นช่วงวิกฤตก็ตาม ยังไงก็ขอให้ประชาชนคนไทยอดใจรอสักนิด ได้เงินประทังชีพกันแน่นอน ตกหล่นก็อุทธรณ์เข้ามาที่กระทรวงการคลังกันได้ ช่องทางหนึ่งในตอนนี้ก็มีการตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนที่หน้ากระทรวงคลังแล้ว ตามบัญชาของ **นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง** ที่เห็นใจและเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนทุกหมู่เหล่าเป็นอย่างดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังย้ำถึงเงินเยียวมาประชาชนที่ได้รับผลกระทบว่า ไม่เพียงแต่ 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มอาชีพอิสระที่เยียวยาผ่าน #เราไม่ทิ้งกัน กลุ่มเกษตรกร ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติมาตรการตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา และกลุ่มประกันสังคม ที่ทยอยจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ เท่านั้น หากมีกลุ่มอื่นๆ ที่สมควรได้รับการดูแลเพราะได้รับผลกระทบ รัฐบาลก็พร้อมจะดูแลเพิ่มเติม ขณะนี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังพิจารณาว่ามีไหนที่สมควรได้รับการเยียวยาอีกบ้าง


ฟังอีกครั้ง “การช่วยเหลือไม่ได้จบแค่นี้ แต่ขอให้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ รัฐจะดูแลทุกกลุ่ม” ขุนคลังย้ำหนักแน่น

และตอกย้ำเน้นๆ กับ นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ออกมาเน้นย้ำข้อสั่งการของนายอุตตม อีกครั้งว่า ในส่วนอาชีพอิสระกระทรวงการคลัง จะจ่ายเยียวยา 5 พันบาท ให้แก่ผู้ได้สิทธิ์ 16 ล้านคน ภายในไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคมนี้ และจะยังมีมาตรการเยียวยากลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติมต่อเนื่องด้วย

ขณะที่ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)” ที่มี “นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” เป็นรัฐมนตรีว่าการ ก็จัดเต็มกับ “โครงการ อว. สร้างงาน” อันเนื่องจากสถานการณ์ โควิด -19 โดยจะเป็นการจ้างงานประชาชน จำนวน 10,000 คน เป็นระยะเวลา 5 เดือน มีค่าตอบแทนให้เดือนละ 9,000 บาท ไม่ได้จำกัดวุฒิการศึกษา อายุ สาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน ซึ่งคาดว่า จะเริ่มรับสมัครได้ไม่เกินวันที่ 15 พฤษภาคนนี้ อย่างไรก็ดี กลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าร่วมโครงการนี้ จะไม่ซ้ำซ้อนกับผู้ที่ได้รับสิทธิในโครงการอื่น อาทิ กรณีผู้ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท หรือได้รับการเยียวยาจากการเป็นเกษตรกร เป็นต้น

ส่วน "กลุ่มเกษตรกร" ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มหลังสุด ทั้งๆ ที่ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” มีฐานข้อมูลเกษตรกรที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลมามากมายหลายโครงการ หลายปีติดต่อกันก็มีข่าวดีเช่นกัน โดยครม.มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอเรียบร้อยแล้ว ตามที่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี สรุปว่า ครม. เห็นชอบมาตรการเยียวยาเกษตรกร “ครัวเรือน” ละ 15,000 บาท รวม 10 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอจ่ายรวม 3 เดือนๆ ละ 5,000 บาท ขณะเดียวกัน ครม.เห็นชอบขยายการเยียวยากลุ่มอาชีพอิสระเพิ่มอีก 2 ล้านคน รวมเป็น 14 ล้านคน ส่งผลให้มีการใช้วงเงินเพิ่มขึ้นจาก 2.1 แสนล้าน เป็น 2.4 แสนล้านบาท**

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่ครม.จะผ่านการเยียวยากลุ่มเกษตรกร ต้องบอกว่า กระทรวงเกษตรฯ ภายใต้การบริหารของ **นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการจากพรรคประชาธิปัตย์** มีความสับสนเป็นที่สุด เริ่มตั้งแต่ว่าเกษตรกร ซึ่งได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ นั้นจะได้รับการเยียวยามั้ย ก็มีเสียงตอบกลับทำนองว่า เกษตรกรนั้นได้รับการช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ โน่นนี่นั่นมาเป็นระยะอยู่แล้ว ไม่น่าจะต้องมารับเงินเยียวยาจากโควิด-19

ทั้งที่จริงแล้ว โครงการช่วยเหลือที่ว่าๆ กันนั่นก็มีที่มาที่ไป เช่น ภัยแล้ง ราคาพืชผลตกต่ำ ฯลฯ ก็ว่ากันไปเป็นครั้งคราวไป ขณะที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นมันกวาดล้างทุกสิ่งอย่างล้มระเนระนาดไปหมด ผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่า Great Depression ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่รุนแรงที่สุดในโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างที่รู้ซึ้งกันดี ดังนั้นภาคการเกษตรซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก ย่อมได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าเช่นเดียวกัน

ส่วนความคืบหน้าสำหรับการคลายล็อก ได้มีเฮกันบ้างแล้วในบางธุรกิจ หลังจากที่ลุ้นกันสุดตัวจะเอายังไงกันแน่หลังจบยกแรก ซึ่งบรรยากาศในช่วงสองสามวันก่อนจะสิ้นเดือนเมษายน ก็มีสัญญาณส่งมาบางธุรกิจจะได้เปิดบริการ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจจะผ่อนปรนให้ขายกันได้แบบหิ้วกลับบ้าน หลายภาคส่วนต่างก็เตรียมตัวกันคึกคัก บ้างจัดร้าน ฆ่าเชื้อ เตรียมโต๊ะเก้าอี้เว้นระยะห่าง บ้างมีลุ้นได้ตุนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันให้สมอยาก

ออกตัวแรงจัดก็ทาง “ทีมผู้ว่าฯอัศวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา เตรียมให้ 8 กิจการ คือ ร้านอาหาร ตลาดนัด ร้านตัดผม สนามกอล์ฟ คลินิก ศูนย์กีฬา โรงพยาบาลสัตว์ รวมถึงสวนสาธารณะ เปิดบริการได้โดยต้องทำตามข้อกำหนด แต่ยังไม่ระบุวัน ให้รอประกาศจาก ศบค.ก่อน ขณะที่จังหวัดอื่นๆ เห็นมูฟจากเมืองหลวงก็เตรียมคลายล็อกตามๆ กันไป

วันนั้น “คุณหมอทวีศิลป์” นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ก็แย้มว่า ประกาศผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จะออกมาก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม ต้องทำอย่างระมัดระวัง ในทุกก้าวเดินที่จะประกาศออกไปแสดงถึงความสุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น ผอ.ศบค.ให้ดูผลกระทบทางสุขภาพมาก่อนมาตรการทางเศรษฐกิจและความเดือดร้อนจะตามมา

หยั่งกระแสกันไม่กี่ชั่วโมง การเตรียมแผนผ่อนคลายล็อกดาวน์ของแต่ละจังหวัดอาจจะไปกันคนละทางสองทาง และมีข่าวปล่อยกันเยอะแยะโดยเฉพาะในหมู่สิงห์นักดื่ม จึงมีรายการแตะเบรกหัวทิ่ม โดยในคืนวันที่ 29 เมษายน 2563 นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 4) สั่งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ให้ยังคงมาตรการล็อกดาวน์ตามเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

จากนั้นในวันรุ่งขึ้น 30 เมษายน “คุณหมอทวีศิลป์” ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงชัดว่า การตรึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยาวถึงวันที่ 31 พฤษภาคม แน่นอน แต่ก็มีหย่อนให้เปิดกิจการกันได้ตามสถานการณ์ติดเชื้อที่ดีขึ้นรายใหม่เป็นเลขหลักหน่วย ซึ่งการตรึงสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็เช่น เคอร์ฟิว 22.00-04.00 น.,ควบคุมการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรทั้งทางบก น้ำ อากาศ, ให้มีสถานกักกันตัวของรัฐ, จำกัดการบินเข้าออกระหว่างประเทศ อนุญาตบางกรณีเช่น ขนส่งสินค้า รับคนตามข้อตกลง

นอกจากนั้น ยังให้งดหรือชะลอเดินทางข้ามจังหวัด, คงแนวทางทำงานที่บ้านให้ได้มากกว่า 50%, จำกัดการเข้าไปในสถานที่คนมากและกิจกรรมเสี่ยงแพร่ระบาด โดยให้ทุกพื้นที่ยึดปฏิบัติและให้ผู้ว่าฯ กำหนดรายละเอียดต่อไป โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก นำปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณา

สำหรับกลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่จะผ่อนคลายให้ดำเนินการได้มี 6 กลุ่มกิจกรรม/กิจการ ได้แก่ 1. ตลาด คือ ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย 2. ร้านจำหน่ายอาหาร คือ ร้านอาหารทั่วไป ไม่เกิน 2 คูหา ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม (นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น หาบเร่ 3. กิจการค้าปลีกส่ง คือ ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ บริเวณพื้นที่นั่งยืน รับประทาน รถเร่ หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อม ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
4. กีฬาและสันทนาการ คือ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน รำไทเท๊ก เป็นต้น สนามกีฬากลางแจ้ง ที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและมีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟและสนามซ้อม 5. กลุ่มร้านตัดผมเสริมสวย คือ เฉพาะตัด สระ ไดร์ผม 6. อื่นๆ เช่น ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับฝากเลี้ยงสัตว์

การคลายล็อกข้างต้น หากมีความพร้อมก็อาจเริ่มวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ และใช้เวลา 14 วันถัดไปประเมินผล ถ้าตัวเลขการติดเชื้อคงที่ไปเรื่อยๆ ก็จะผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมเพิ่มขึ้น แต่ถ้าตัวเลขคนติดเชื้อกลับมา 2 หลัก 3 หลัก ก็ต้องถอยหลังกลับมาทบทวนใหม่

สำหรับคอสุราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลายที่ลุ้นกันว่าจะซื้อจะขายกันได้ยัง “คุณหมอทวีศิลป์” บอกชัดว่า ยังไม่ได้ ทำอย่างไรมาให้ทำอย่างนั้นต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ย้ำอีกครั้ง ตอนนี้ยังไม่เปลี่ยน การขายสุราจึงยังทำไม่ได้ อดกันไป

ณ เวลานี้ จ่ายครบไหม ยังไม่ครบ จบไหม ยังไม่จบแน่ และคงต้องมีรอบสองรอบสามตามเก็บตกอีกหลายกลุ่มหลายครั้ง เพราะศึกไวรัสโควิด-19 ลากยาวอย่างน้อยๆ ก็สิ้นปีนี้หรืออาจยาวถึงกลางปีหน้า จะทิ้งใครเอาไว้ข้างหลังไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ใครที่เงินเยียวยายังไม่เข้า หรือไม่ได้ถูกจัดไว้ในกลุ่มไหนเลยนับแต่มีมาตรการเยียวยาออกมาก็คงต้องอดทนอดใจความหวังกันต่อไป ซึ่งวิกฤตรอบนี้ไม่เพียงแต่ต้องช่วยเหลือกันเฉพาะหน้าเท่านั้น รัฐบาลยังเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดระบาดสร่างซาลงเป็นสเตปต่อเนื่อง

ตามที่ “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ เปิดเผยว่า นอกจากรัฐบาลจะจัดสรรเงินเยียวยาให้กับกลุ่มต่างๆ ประมาณ 550,000 ล้านบาทแล้ว หลังจากปัญหาการแพร่ระบาดคลี่คลายลงในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ต้องหันมาสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากเพื่อฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยรัฐบาลเตรียมวงเงินในส่วนนี้ไว้ 400,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้

รองนายกฯ สมคิด ประกาศคิกออฟ เตรียมเปิดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานต่าง ทั้งกองทุนหมู่บ้าน มูลนิธิ เสนอโครงการพัฒนาท้องถิ่นเข้ามารับการสนับสนุน เช่น โครงการพัฒนาอาชีพเกษตรดั้งเดิม พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวชุมชน พัฒนาการผลิต ตลาดออนไลน์ขายสินค้าของชุนชน การพัฒนาบุคลากร ฝึกอบรมแรงงาน นักศึกษาจบใหม่ เพื่อสร้างงานสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ตามการวางไทม์ไลน์เอาไว้ เมื่อกำหนดหลักเกณฑ์จัดทำโครงการแล้ว สภาพัฒน์จะนำเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเปิดให้ทุกหน่วยงานเสนอโครงการขึ้นมา คาดว่าเม็ดเงินในโครงการจะกระจายลงสู่ท้องถิ่นประมาณต้นเดือนมิถุนายน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจากโครงการระยะสั้น หลังจากนั้นเดือนตุลาคม 2563 จะใช้งบประมาณปกติของรัฐฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป

ประชาชนคนไทยต้องมีความหวังถ้วนหน้า! เราจะรอดไปด้วยกัน #เราไม่ทิ้งกัน เพียงแต่อาจจะติดขัดบ้างจากระเบียบของทางราชการ ซึ่งก็สร้างความอึดอัดให้กับ “คนให้” ไม่แพ้ “คนรับ” เช่นกัน และขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเร่งหาทางแก้กันมือเป็นระวิงทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น