ศบค.เผย 6 กลุ่มกิจการ/กิจกรรม ผ่อนคลายให้เปิดได้ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. คือ ตลาด ร้านขายอาหาร (นอกห้าง) กิจการค้าปลีกส่ง กีฬา/สันทนาการ ร้านตัดผมเสริมสวย และอื่นๆ ย้ำ จะออกคู่มือมาตรฐานกลางให้ดำเนินการเหมือนกัน และมาตรการเสริมสำหรับแต่ละกิจการ เตรียมประเมิน 14 วัน หากทำได้ดี จ่อขยายเพิ่ม หากตัวเลขป่วยเพิ่มขึ้นจะกลับมาตึงเหมือนเดิม
วันนี้ (30 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า วันที่ 30 เม.ย.เป็นวันสิ้นสุดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงแรก และมีการประกาศต่อออกไปถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563 ซึ่งตอนแรกเราตรึงและตึงไว้ก่อน ถึงความเข้มมาตรการต่างๆ ซึ่งยาวมาแล้ว 1 เดือน แต่การตรึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องยาวถึงวันที่ 31 พ.ค.แน่นอน แต่ความตึงอันเดิมที่มีมาตรการกิจการทั้งหลายต้องหย่อนลงมาบ้าง ให้สอดคล้องสถานการณ์ติดเชื้อ เพราะตอนนี้ผู้ป่วยรายใหม่เหลือเลขหลักหน่วย แต่การผ่อนคลายทั้งหลายล้วนมีผลตัวเลขติดเชื้อทั้งสิ้น เพราะการผ่อนคลายเกี่ยวข้องกับคนที่เป็นพาหะของโรค หากผ่อนมากเกินไป การติดเชื้อจะกลับมาเหมือนเดิม เหมือนประเทศอื่นที่ต้องกลับมาตึงเหมือนเดิม
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การตรึงสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้แก่ 1. มาตรการเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น. 2. การเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร ทางบก น้ำ อากาศ 3. การให้มีสถานที่กักตัวของรัฐ ซึ่งมีคนเข้าไปหลายพันคน เราตรวจพบคนที่มีการติดเชื้อประมาณ 80 กว่าคน ถ้าเราไม่ให้เขาอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จะกระจายไปในสังคมอาจมีการติดเชื้อร่วมหมื่นคน นโยบายที่ตัดสินใจให้มีสถานที่กักกันของรัฐ จึงต้องคงต่อเพื่อควบคุมตรงนี้ 4. เรื่องของการจำกัดการบิน สายการบินเข้าออกระหว่างประเทศ อนุญาตให้บินเข้าเฉพาะสายการบินบางประเภทเท่านั้น คือ กรณีส่งสินค้า กรณีรับคนที่เราตกลงกันไว้ 5. งดหรือชะลอการเดินทางเข้ามจังหวัด 6. คงแนวทางการทำงานที่บ้านให้ได้มากกว่า 50% และ 7. เข้มงวดไมให้ประชาชนเข้าไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ทำกิจกรรมร่วมกันเสี่ยงต่อการแพรระบาดของโรคเป็นการชั่วคราว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มาตรการผ่อนปรน ศบค.จะกำหนดให้มีมาตรฐานกลางของแต่ละกิจการ/กิจกรรม โดยกิจการคือเป็นเรื่องของผู้ประกอบการ ส่วนกิจกรรมเป็นเรื่องของรายบุคคล เช่น จะไปออกกำลังที่สวนสาธารณะ เป็นต้น ให้ทุกพื้นที่ให้ยึดปฏิบัติ และให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัด กำหนดรายละเอียดต่อไป โดยรายละเอียดของแต่ละพื้นที่มีความเข้มข้นมากกว่าได้ แต่เข้มข้นน้อยกว่ามาตรฐานกลางไม่ได้ ทั้งนี การกำหนดมาตรฐานนั้น คำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก นำปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณา โดยยึดถือแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อการจัดการภาวะระบาดของโรคโควิด-19 ในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 11 เช่น ทำความสะอาดพื้นผิวสถานที่เกี่ยวข้องก่อนและหลังทำกิจกรรม การกำจัดมูลฝอย ใส่หน้ากากผ้าอยู่เสมอ ผู้ใช้ผู้ให้บริการ การล้างมือ ระยะนั่งหรือยืน 1 เมตร ก็ต้องปรับใช้หากเปิดกิจการ เช่น นั่งกินในร้านต้องมีตรงนี้ อย่างน้อยมาตรฐานตรงนี้ข้อกำหนดต้องมีอยู่ ไม่ให้แออัด อาจต้องมีแอปพลิเคชันตามตัว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่จะผ่อนคลายให้ดำเนินการได้ มี 6 กลุ่มกิจกรรมกิจการ ได้แก่ 1. ตลาด คือ ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย 2. ร้านจำหน่ายอาหาร คือ ร้านอาหารทั่วไปๆ ไม่เกิน 2 คูหา ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม (นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น หาบเร่ 3. กิจการค้าปลีกส่ง คือ ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ บริเวณพื้นที่นั่งยืน รับประทาน รถเร่ หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อม ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
4. กีฬาและสันทนาการ คือ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน รำไทเท๊ก เป็นต้น สนามกีฬากลางแจ้ง ที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและมีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟและสนามซ้อม 5. กลุ่มร้านตัดผมเสริมสวย คือ เฉพาะตัด สระ ไดร์ผม 6. อื่นๆ เช่น ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับฝากเลี้ยงสัตว์
“รายละเอียดปลีกย่อยจะมีประเด็นต่างๆ จะมีการนำเสนอต่อประชาชนว่าในรายละเอียดแต่ละเรื่องแต่ละกลุ่มกิจการ จะมีมาตรการควบคุมหลัก คือ ถอดมาจากข้อ 11 ของฉบับที่ 1 ที่ออกมา ส่วนมาตรการเสริมจะเชื่อมโยง ปรับไปตามสถานการณ์แต่ละที่ เช่น ตลาดสดจะคัดกรองคนเข้ามาอย่างไร เรื่องที่นั่งร้านอาหารจะมีมาตรการเสริมอย่างไร คงต้องใช้เวลาพอสมควรในการลงรายละเอียด ซึ่งจะมีชุดข้อมูลส่งไปถึงทุกจังหวัดว่าแต่ละหน่วยกิจการกิจกรรมต้องทำอย่างไร การที่ต้องมีมาตรฐานเพื่อปกป้องคุ้มครองทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ไม่ให้มีการติดเชื้อ หากเห็นด้วยเรื่องเหล่านี้ในการผ่อนคลาย ก็ขอให้ความร่วมมือ เอามาศึกษาละปรับปฏิบัติกันไป” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การเริ่มดำเนินการนั้น หากมีความพร้อมก็อาจเริ่มวันที่ 3 พ.ค.นี้ได้ หากปรับตัวได้เร็ว และใช้ช่วงเวลา 14 วันจากนี้ไป ติดตามประเมินผลตลอดเวลา ถ้ามีตัวเลขการคงที่ติดเชื้อไปเรื่อยๆ แสดงว่า ให้ความร่วมมืออย่างดี รู้วิธีจัดการตัวเอง กิจการ กิจกรรมได้ดี ก็จะเลื่อนลำดับกิจการกิจกรรมที่ผ่อนคลายมากขึ้นได้มากกว่านี้ ถ้า 14 วันตัวเลขสถานการณ์มันเพิ่มขึ้น 2 หลัก 3 หลักต้องยอมรับว่าต้องถอยหลังกลับมาในการตรึงและตึงของชุดกิจการ/กิจกรรมต้องถูกทบทวนใหม่ทั้งหมด เราพยายามเดินไปด้วยกัน ตามที่นายกฯ แจ้งเอาไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ภาครัฐ เอกชน แต่ทุกคนมีส่วนร่วมกันทั้งหมด ตามหลักการต้องร่วมมือให้มากกว่า 90% ถึงคุมโรคได้ขนาดนี้
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า เรื่องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ห้วงที่ผ่านมาเนื่องจากมองว่าเหล้าเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรค การชุมนุมคนต่างๆ ได้มีการมาตรการที่ผู้ว่าฯ ต่างๆ ออกกำหนดให้ถึง 30 เม.ย. ไม่ให้มีการจำหน่าย แต่ ศบค.ได้ออกข้อสั่งการว่า การสั่งการใดที่ทำถึง 30 เม.ย. ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะมีข้อเปลี่ยนแปลง ก็จะดำเนินการตรงนี้ต่อ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การยืดของมาตรการข้อกำหนดต่างๆ ให้ยืดออกไป ดังนั้น ยังไม่ต้องขาย ทำอย่างไรมาทำอย่างนั้นต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง การขายสุราจึงยังไม่เกิดขึ้น