xs
xsm
sm
md
lg

เชียงใหม่ไม่เจอป่วยโควิด-19 เพิ่ม แถมหายกลับบ้านได้อีก 1 ราย-กิจการ 6 ประเภทเตรียมพร้อมผ่อนปรน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เชียงใหม่ไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เพิ่มต่อเนื่องเป็นวันที่ 22 แถมหายป่วยกลับบ้านได้อีก 1 ราย ขณะที่ ศบค.วางแนวทางและมาตรการผ่อนปรนกิจการ 6 ประเภท เจ้าของกิจการต้องเตรียมพร้อม เริ่ม 3 พ.ค. 63


วันนี้ (30 เม.ย. 63) ที่ศูนย์ข่าวสารข้อมูลเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ ธนชล วงศ์หิรัญเดชา นายแพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน ด้านระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่ 30 เม.ย. 63 ว่า จังหวัดเชียงใหม่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มติดต่อกันเป็นวันที่ 22 โดยยังมีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 40 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่มอีก 1 ราย คือผู้ป่วยหมายเลข PUI 592 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง รวมผู้ที่กลับบ้านได้แล้ว 32 ราย เหลือรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 7 รายเท่านั้น

ด้านผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคมีสะสม 1316 ราย ยังอยู่ในโรงพยาบาล 72 ราย กลับบ้านแล้ว 1,244 ราย ส่วนภาพรวมประเทศในวันนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มเพียง 7 ราย ซึ่งเป็นวันที่ 4 ที่มีตัวเลขต่ำกว่าสิบ และมีผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น 22 คน รวมผู้ป่วยหายกลับบ้านแล้วทั้งหมด 2,687 คน


สำหรับการเตรียมมาตรการผ่อนปรนการประกอบกิจการและกิจกรรม จากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้วางแนวทางและจัดกลุ่มประเภทตามมาตรการผ่อนปรนกิจการ 6 ประเภท ซึ่งประกอบไปด้วย 1. ตลาด เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดชุมชน 2. ร้านจำหน่ายอาหาร ได้แก่ ร้านจำหน่ายอาหารทั่วไปนอกห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารริมทาง 3. กิจการค้าปลีก-ส่ง เช่น ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีกชุมชน 4. กีฬาสันทนาการ หรือกิจกรรมในสวนสาธารณะ สนามกีฬากลางแจ้ง 5. ร้านตัดผม-เสริมสวย โดยให้บริการเฉพาะ ตัด สระ ไดร์ผม เท่านั้น และ 6. อื่นๆ ได้แก่ ร้านตัดขนสัตว์ รับเลี้ยงสัตว์ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เจ้าของกิจการจะต้องเตรียมมาตรการการควบคุมที่เหมาะสมตามสภาพแวดล้อม และบริบทของแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการบริการแอลกอฮอล์เจล อ่างล้างมือ การเว้นระยะห่าง การจัดคิว จัดจุดพักคอย ให้แก่ผู้มาใช้บริการเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด เป็นต้น ทั้งนี้ หากไม่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น คณะกรรมการโรคติดต่อจะได้พิจารณาผ่อนคลายมาตรการ ภายใต้กรอบแนวทางการปฏิบัติของ สบค.และรัฐบาลต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น