มติกรุงเทพมหานคร คลายล็อกดาวน์ 6 กิจการ ตามประกาศของรัฐบาล โดยผ่อนปรนให้ร้านอาหารเว้นระยะได้ 1 เมตร จากเดิม 2 เมตร ตรวจวัดอุณหภูมิ เพิ่มมาตรการคุมเข้ม จำกัดคนเข้าตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต และให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ส่วนตลาดจตุจักรยังไม่เปิดให้บริการ รอความพร้อมของผู้ค้าในตลาด
วันนี้ (2 พ.ค.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในเรื่องการผ่อนปรนมาตรการจากการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า หลักๆ จะมีมาตรการคล้ายเดิม และเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับทางรัฐบาลในการผ่อนปรนอนุญาตให้เปิดบางกิจการและกิจกรรมได้ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งในส่วนของ กทม. ขอชี้แจง ดังนี้
1. ร้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วไปพื้นที่เกิน 200 ตร.ม.ต้องคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานและผู้ใช้บริการ ก่อนเข้าไปภายในร้าน ส่วนร้านค้าพื้นที่ต่ำกว่านี้ให้คัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิตามขีดความสามารถของร้าน รวมทั้งต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หากเปิดให้นั่งรับประทานอาหาร เว้นระยะห่าง 1-1.5 เมตร ต้องมีฉากกั้นระหว่างที่นั่ง แต่หากจัดโต๊ะเว้นระยะห่าง 2 เมตรได้ ไม่จำเป็นต้องมีฉากกั้น, งดให้บริการอาหารบุฟเฟ่ต์แบบให้ลูกค้าเดินตักเอง แต่ให้บริการแบบสั่งเป็นจานมากินได้ หากจำหน่ายเครื่องดื่มภายในร้าน ไม่อนุญาตให้นั่งดื่มภายในร้าน ต้องซื้อกลับบ้านอย่างเดียว ห้ามแสดงดนตรีสด เว้นระยะห่างในการเข้าคิดเงิน เพื่อรอเข้าไปใช้บริการ ส่วนการนั่งทานอาหารรวมกลุ่ม ขอความร่วมมือไม่ให้รวมกลุ่ม ขอให้แยกที่นั่ง ร้านค้า แผงลอย และหาบเร่ ควรมีมาตรการเว้นระยะห่างลูกค้าที่มาต่อแถวรอซื้อของ
2. ตลาด ประกอบด้วย ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน ให้จำกัดจำนวนคนเข้า และจำกัดทางเข้า-ออก ตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ ทั้งพ่อค้า-แม่ค้า ผู้มาใช้บริการ ตั้งจุดบริการน้ำยาฆ่าเชื้อ รณรงค์ให้มีการทำความสะอาดล้างมือ ทุกคนที่อยู่ในตลาดจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย
3. ร้านตัดผม-เสริมสวย อนุญาตให้บริการเฉพาะตัด-สระ-ไดร์ ต้องจำกัดจำนวนคนเข้าไปใช้บริการ เปิดเป็นรอบ ต้องหยุดทำความสะอาดร้านไม่ต่ำกว่า 20 นาทีต่อครั้ง ลงตารางทำความสะอาดร้านให้ชัดเจน ต้องจดบันทึกข้อมูลผู้มาใช้บริการทุกคน
4. คลินิกและสถานพยาบาล ไม่รวมคลินิกเวชกรรม คลินิกลดน้ำหนัก คลินิกเสริมความงาม ให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่จะมีการประกาศอีกครั้ง
5. สนามกอล์ฟและสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ ให้บริการอาหารได้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการเดียวกับร้านอาหารและเครื่องดื่ม ไม่จัดกิจกรรมรวมกลุ่มขณะเล่นหรือหลังเล่น ไม่จัดการแข่งขัน ต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
6. สนามกีฬากลางแจ้งและประเภทกีฬาที่อนุญาตให้เล่นได้ คือ เทนนิส ยิงปืน และ ยิงธนู ให้บริการอาหารได้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการเดียวกับร้านอาหารและเครื่องดื่ม ไม่จัดกิจกรรมรวมกลุ่มขณะเล่นหรือหลังเล่น ไม่จัดการแข่งขัน ไม่มีผู้ชม ไม่เล่นเป็นคู่ ไม่เล่นกีฬาประเภททีม ให้บริการเป็นรอบ ต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
7. สวนสาธารณะ อนุญาตให้เดิน วิ่ง ขี่ หรือปั่นจักรยานได้ เน้นการออกกำลังกายส่วนบุคคล อาทิ การรำไทเก๊ก ให้ออกกำลังกายด้วยการท่ารำส่วนตัวแยกกัน ไม่อนุญาตให้รวมกลุ่มกัน โดยสวนสาธารณะต้องจำกัดทางเข้า-ออก พร้อมตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ รวมทั้งผู้อยู่ในสวนสาธารณะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ไม่อนุญาตให้ขายและรับประทานอาหาร ให้ขายเฉพาะเครื่องดื่มเท่านั้น
และ 8. ร้านตัดขนสัตว์ อาบน้ำ สปาผู้ใช้บริการต้องโทรจองติว มีบันทึกรายชื่อผู้มาใช้บริการ และซักประวัติเจ้าของสัตว์ว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือติดเชื้อโควืด-19 หรือไม่
สำหรับสถานที่ที่เปิดอยู่แล้ว เช่น กิจการค้าปลีก-ส่ง ประกอบด้วย ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง-ยืนรับประทาน ร้านค้าปลีกขนาดย่อย ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านขายปลีก ให้จำกัดจำนวนคนเข้า-ออก คัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ รวมทั้งเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในการเลือกซื้อสินค้า ส่วนธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่อยู่ในห้าง รวมทั้งตู้ซื้อ-ขายโทรศัพท์มือถือ อนุญาตให้เปิดขายได้ แต่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
ส่วนตลาดนัดจตุจักรและตลาดอื่นที่อยู่ในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง มีมาตรการเช่นเดียวกัน ขณะนี้สำนักงานตลาด อยู่ระหว่างพูดคุยกับผู้ค้าว่าจะสามารถเปิดขายได้เมื่อใด แต่คงยังไม่ใช่วันที่ 3 พ.ค.นี้ เพราะแต่ละร้านค้าต้องมีการเตรียมตัว อยู่ระหว่างการพูดคุย ขณะที่การจำหน่ายสุรา รัฐบาลอนุญาตให้จำหน่ายได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. เบื้องต้น กทม.ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล แต่หากมีการพูดคุยนอกรอบกันระหว่างจังหวัดปริมณฑล รวมทั้งกรุงเทพฯ แล้วเห็นควรว่างดไปก่อน ทาง กทม.ก็จะดำเนินด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ในส่วนของผับ-บาร์ สถานบันเทิง ยังไม่อนุญาตเปิดให้บริการแน่นอน
ด้านมาตรการรับมือรองรับผู้เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดยาว เบื้องต้นต้องรอมาตรการจากทางฝ่ายความมั่นคง ซึ่งจะประชุมกันอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม กทม.พร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผู้เดินทางกลับเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งยังคงให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำนักอนามัย ทำตามมาตรการค้นหาผู้ติดเชื้อเช่นเดิม