xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 26 เม.ย.-2 พ.ค.2563

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
1.ราชกิจจาฯ ประกาศ เคอร์ฟิวต่อทั่วประเทศ 4 ทุ่ม-ตี 4 งดเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น!

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 5) ว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. และได้ขยายเวลาการบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2563 แล้วนั้น เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการต่างๆ ยังคงอยู่ต่อไป เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงได้ออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

1.ให้การห้ามบุคคลทั่วประเทศออกนอกเคหสถาน ระหว่างเวลา 22.00 น.-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้นตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 2) และข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 3) ยังคงใช้บังคับต่อไป ผู้ฝ่าฝืนมีความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และผิดผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ทั้งนี้ ทางราชการอาจพิจารณาขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้กระทำความผิดดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาในการขอรับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐในโอกาสต่อไปด้วยก็ได้

2. ห้ามหรือจำกัดการดำเนินการหรือการทำกิจกรรมบางอย่างตาม พ.ร.ก. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ห้ามใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่เป็นการดำเนินการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์, ห้ามผู้ใดจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของการจัดเลี้ยง เว้นแต่เป็นการจัดโดยพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ห้ามผู้ใดใช้ท่าอากาศยานเพื่อการขึ้นลงของอากาศยาน เว้นแต่เป็นไปตามประกาศ เงื่อนไข และเงื่อนเวลาที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกำหนด ให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ ปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา และหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรี ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกำหนด และให้ผู้ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ สั่งหรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรให้แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ ที่เอกเทศ หรือสถานที่ซึ่งทางราชการกำหนด ต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขดังกล่าวตามระยะเวลาที่กำหนด

ให้ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีคำสั่งปิดสถานที่ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่โรค ดังนี้ โรงมหรสพ สถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันทิง สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสนุก สวนสัตว์ สถานที่เล่น สเก็ตหรือโรลเลอร์เบรด หรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน สนุกเกอร์ บิลเลียด สถานที่เล่นโบว์ลิ่งหรือตู้เกม ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต สระว่ายน้ำสาธารณะ สนามชนไก่ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดสาธารณะ

รวมถึงสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ สนามมวย โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ สนามม้า สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้าและสถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด ในพื้นที่รับผิดชอบเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ประเมินสถานการณ์และมีข้อกำหนดให้ผ่อนคลายต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการสถานที่หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นที่มีความเสี่ยงนอกเหนือจากที่ระบุไว้เพิ่มเติมภายในพื้นที่รับผิดชอบได้ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แต่การสั่งให้เปิดดำเนินการสถานที่หรือกิจกรรมใดๆ ที่มีคำสั่งปิดจะกระทำมิได้จนกว่าจะได้ประเมินสถานการณ์และมีข้อกำหนดให้ผ่อนคลายต่อไป

3. คำสั่งหรือการกำหนดดังกล่าว ถือเป็นคำสั่งตามข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย

4. การปฏิบัติศาสนกิจหรือศาสนพิธีในวันสำคัญทางศาสนาหรือตามประเพณีนิยม ณ ศาสนสถานใดให้เป็นไปตามดุลยพินิจและอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ปกครองดูแลศาสนสถานนั้น ในกรณีมีมาตรการหรือคำแนะนำขององค์กรปกครองทางศาสนานั้น หรือของทางราชการเกี่ยวกับการป้องกันโรค ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการหรือคำแนะนำดังกล่าว

5. ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่มีความจำเป็น ซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องรับการตรวจคัดกรอง และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด อันอาจทำให้การเดินทางต้องใช้เวลามากกว่าปกติ และไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป

2.ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนดคลายล็อก “ร้านตัดผม-ตลาดนัด-ร้านอาหาร” เปิดได้ ต้องมีมาตรการป้องกัน ไฟเขียวขายเหล้า แต่ห้ามนั่งดื่มในร้าน!


เมื่อวันที่ 1 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 6) ว่า ด้วยสมควรผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตามหลักเกณฑ์ ขององค์การอนามัยโลก และตามผลการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุข โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

ธนาคาร โรงงาน สถานีบริการเชื้อเพลิง บริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง ยังคงเปิดดำเนินการต่อไปได้เช่นเดิม ส่วนสถานที่ สถานประกอบการ หรือกิจกรรมใด ซึ่งเคยมีข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งให้ปิดหรือจำกัดการดำเนินการชั่วคราวหรือเคยผ่อนผันโดยมีเงื่อนไขไว้ ในระยะแรกนี้ ให้เปิดดำเนินการได้ทั่วประเทศตามความสมัครใจและความพร้อม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต คือ การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ซึ่งไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ ให้เปิดได้ โดยอาจให้นำกลับไปบริโภคที่อื่น แต่หากเปิดให้ใช้บริการในสถานที่นั้น ก็สามารถทำได้โดยต้องจัดระเบียบการเข้าใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการ สำหรับร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งจำหน่ายสุรา ให้เปิดได้ แต่ห้ามการบริโภคสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ธนาคาร ที่ทำการหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ส่วนแผนกร้านอาหาร ให้เปิดได้เฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่น

สำหรับร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม ร้านค้าปลีก/ค้าส่งชุมชน ตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด ให้เปิดได้ โดยต้องควบคุมทางเข้าออก จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ให้และ ผู้ใช้บริการ เว้นระยะห่างในการเลือกสินค้าและชำระราคา ขณะที่ร้านเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผมสำหรับบุรุษหรือสตรี ให้เปิดได้เฉพาะกิจกรรม สระ ตัด ซอยผม แต่งผม และต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน

ส่วนกิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ คือ โรงพยาบาล คลินิก สถานทันตกรรม หรือสถานพยาบาลทุกประเภท ที่จัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย สนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ ให้เปิดได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกัน หรือเป็นการแข่งขัน ในกรณีของสโมสร คลับเฮาส์ หรือร้านอาหารในบริเวณดังกล่าวให้ปฏิบัติตามเช่นกัน สนามกีฬา เฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้งและตามกติกาสากล ผู้เล่นต้องมีระยะห่าง ทางสังคมและไม่คลุกคลีกันอยู่แล้ว เช่น เทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน ยิงธนู และต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกัน หรือเป็นการแข่งขัน ในกรณีของสโมสร คลับเฮาส์ หรือร้านอาหารในบริเวณดังกล่าว ให้ปฏิบัติตามเช่นกัน

ขณะที่สวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา ให้เปิดได้เฉพาะพื้นที่โล่งแจ้ง เพื่อการเดิน วิ่ง ขี่หรือปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นที่เป็นส่วนบุคคล โดยไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกันหรือเป็นการแข่งขัน การละเล่น การแสดง และสถานที่ให้บริการดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์

อย่างไรก็ตาม ให้เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ทุกประเภทมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่ ภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ และจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้เกี่ยวข้อง และให้เป็นไปตามคำแนะนำ เงื่อนไข และเงื่อนเวลา ที่ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือทางราชการกำหนด เช่น การให้เข้าใช้บริการ โดยนัดหรือแจ้งล่วงหน้า การไม่ให้ผู้ใช้บริการหลายคนรออยู่ในสถานที่เดียวกัน การจำกัดจำนวน ผู้ใช้บริการในแต่ละคราว และเวลาการเข้าใช้บริการ

ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจและให้คำแนะนำ หรือตักเตือน ห้ามปรามได้ตลอดเวลา หากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือเป็นอันตรายต่อการป้องกัน การแพร่ของโรค ให้เสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อสั่งปิดสถานที่นั้นเฉพาะราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป

ด้าน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิกาคสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.นี้ โดยย้ำว่า ยังไม่อนุญาตให้เปิดคลินิกเสริมความงาม หรือเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตปกติสุข เนื่องจากกิจกรรมที่ใช้เวลานานๆ มีความเสี่ยงติดโรคจากผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ แต่อาจจะมีการประเมินอีกครั้งว่าควรอยู่ในเฟสสองหรือสามหรือไม่

3.ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยลดลงน่าพอใจ หลังพบต่ำสิบติดต่อกัน 6 วัน!

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 ในไทย มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 26 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 15 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ยอดผู้ป่วยสะสม 2,922 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 2,594 ราย เสียชีวิตรวม 51 ราย ยังรักษาใน รพ. 277 ราย

วันต่อมา 27 เม.ย. มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 9 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,931 ราย รักษาหายเพิ่ม 15 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,609 ราย ยังรักษาใน รพ.270 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย คือ ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 64 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคโลหิตจาง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันเป็นคนในครอบครัวที่มีการป่วยถึง 5 คน

วันต่อมา 28 เม.ย. มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่แค่ 7 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,938 ราย รักษาหายเพิ่ม 43 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,652 ราย ยังรักษาใน รพ. 232 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย คือ 1. ผู้ป่วยชายไทย อายุ 52 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว สัมผัสผู้ป่วยยืนยันจากการไปสัมมนา 2. ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 63 ปี อาชีพค้าขาย เป็นเจ้าของร้านอาหาร ทำหน้าที่รับเงิน มีภาวะอ้วน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว คือ สามีและหลานสาว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า “จะเห็นว่าส่วนใหญ่ยังมีการติดเชื้อในครอบครัว เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องรักษาระยะห่าง แม้แต่คนในครอบครัว ต้องทำให้เป็นชีวิตวิถีใหม่เรื่อยๆ เราไม่ทราบใครติดเชื้ออะไรมาอย่างไร ตอนนี้ให้ระวังไว้ว่าทุกคนมีโอกาสติดเชื้อได้ทั้งสิ้น"

วันต่อมา 29 เม.ย. มีผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ยอดผู้ป่วยสะสม 2,947 ราย รักษาหายเพิ่ม 13 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,665 ราย ยังรักษาใน รพ. 228 ราย

วันต่อมา 30 เม.ย. มีผู้ป่วยรายใหม่แค่ 7 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยสะสม 2,954 ราย รักษาหายเพิ่ม 22 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,687 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 213 ราย

วันต่อมา 1 พ.ค. มีผู้ป่วยรายใหม่ แค่ 6 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีผู้เสียชีวิต ยอดผู้ป่วยสะสม 2,960 ราย รักษาหายเพิ่ม 32 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,719 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 187 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ พบใน กทม. 1 ราย และการค้นหาเชิงรุกที่ ยะลา บันนังสตา 5 ราย สำหรับผู้ป่วย 1 รายใน กทม. นั้น เป็นชายไทย อายุ 60 ปี มีประวัติไปตลาดแห่งหนึ่งใน กทม.

ล่าสุด วันนี้ (2 พ.ค.) มีผู้ป่วยรายใหม่ แค่ 6 ราย เท่ากับเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ไม่มีผู้เสียชีวิต ยอดผู้ป่วยสะสม 2,966 ราย รักษาหายเพิ่ม 13 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,732 ยังรักษาตัวใน รพ. 180 ราย ยอดผู้เสียชีวิตรวมคงที่ 54 ราย

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่มาจาก 1.สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย คือ ภูเก็ต เป็นหญิง อายุ 22 ปี และ กทม. เป็นชาย อายุ 48 ปี 2.ค้นหาเชิงรุก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 2 ราย เป็นหญิงอายุ 21 ปี และ 58 ปี และ 3.จากสถานที่กักตัวของรัฐ 2 ราย ใน กทม. กลับมาจากอินเดีย เป็นหญิง อายุ 52 ปี เป็นนักบวช เดินทางไปปฏิบัติธรรมและกลับมาวันที่ 24 เม.ย. และมาจากญี่ปุ่น เป็นชาย อายุ 52 ปี กลับมาวันที่ 21 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ ย้ำว่า นี่เป็นความสำคัญของสถานที่กักตัว ที่ทำให้พบผู้ติดเชื้อที่กลับจากต่างประเทศได้

นพ.ทวีศิลป์ เผยด้วยว่า วันที่ 2 พ.ค. มีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยจะมาจากคาซัคสถาน 55 คน เนเธอร์แลนด์ 50 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) 129 คน วันที่ 3 พ.ค. มาจากสเปน 45 คน สิงคโปร์ 175 คน รัสเซีย 70 คน รวมคนเดินทางกลับตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.-1 พ.ค. รวม 3,584 คน จาก 24 ประเทศ ส่วนคนไทยเดินทางผ่านแดนทางบก ลงทะเบียนเข้ามาวันที่ 1 พ.ค. 466 คน เดินเข้ามา 546 มากสุดมาเลเซีย 454 คน เมียนมา 11 คน ลาว 39 คน และกัมพูชา 42 คน

4.เกษตรกรเฮ! ครม.ไฟเขียวแจกเงิน 5 พัน 3 เดือน ด้าน “ปลายฝน” สาว รปภ.ผูกคอตาย อาจไม่รู้ได้เงินเยียวยา 5 พันแล้ว!

(ซ้าย) ภาพวาดโดย น.ส.ปลายฝน หรือเกตุ อ่ำสาริกา (ขวา) ผลการตรวจสอบสถานะที่ยืนยันว่า น.ส.ปลายฝน ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอนุมัติ 2 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 16 ล้านราย วงเงินไม่เกิน 240,000 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไม่เกิน 170,000 ล้านบาท และที่เหลือเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ไม่เกิน 70,000 ล้านบาทโดยจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.-30 มิ.ย.2563

2.โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 10 ล้านราย วงเงินไม่เกิน 150,000 ล้านบาท โดยจำนวนนี้ใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ ทั้งหมด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.2563

สำหรับกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย 1.เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จำนวน 8.43 ล้านราย และ 2.เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน ไม่เกิน 1.57 ล้านราย

ส่วนที่เกิดกรณี น.ส.ปลายฝน หรือเกตุ อ่ำสาริกา อายุ 19 ปี อาชีพ รปภ. ได้วาดภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อม ตัดพ้อการบริหารงานราชการกล่าวหาว่ารัฐบาลใจร้าย ทำให้เงินขาดมือ ไม่มีแม้กระทั่งค่านมลูก ซึ่งในเวลาต่อมา ได้ตัดสินใจผูกคอตาย ขณะที่แฟนหนุ่มของ น.ส.ปลายฝน ระบุว่า เงินเดือนของแฟนสาวถูกบริษัท รปภ.หักไปนั้น

ทางตัวแทนบริษัท รปภ.ที่ น.ส.ปลายฝนทำงานอยู่ ได้เดินทางมาร่วมสวดอภิธรรมศพที่วัดแสนภูดาษ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทราด้วย และได้ชี้แจงกรณีเงินเดือนที่ถูกนายวิชัย แฟนหนุ่มอ้างว่าบริษัทหักเงินเดือน ทำให้รายได้ลดลง โดยทางบริษัทนำสลิปเงินเดือนมายืนยันว่า บริษัทจ่ายให้ตามปกติ แต่เนื่องจาก น.ส.ปลายฝนเป็นพนักงานใหม่ ยังไม่มีระบบบัญชีธนาคารเชื่อมกับบริษัท จึงมีการใช้วิธีโอนเงิน แต่บริษัทจะออกสลิปให้ก่อน วันที่ 16 เม.ย. เพื่อให้ทราบถึงรายได้ก่อน ส่วนเงินเดือนจะเข้าบัญชีในวันที่ 20 เม.ย. ส่วนการหัก 300 บาทนั้น เป็นค่าชุดทำงานของบริษัท

อย่างไรก็ตามทางญาติของ น.ส.ปลายฝน ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า สงสัยนายวิชัย แฟนหนุ่มของหลานสาว เนื่องจากช่วงที่เงินเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาทเข้าบัญชีหลานวันที่ 16 เม.ย.นั้น นายวิชัยแฟนหนุ่มกลับเอาไปจ่ายค่างวดรถจักรยานยนต์ที่ซื้อใหม่ รวมทั้งเงินเดือนหลานอีกกว่า 5,000 บาทที่บริษัทโอนให้วันที่ 20 เม.ย. ซึ่งนายวิชัยอาจเป็นผู้ถือสมุดบัญชีหลาน ทำให้ไม่รู้ว่าตัวเองได้เงินเยียวยา 5,000 บาท รวมกับเงินเดือนแล้วมีเงินกว่า 1 หมื่นบาท

ด้านนายวิชัย แฟนใหม่ น.ส.ปลายฝน ที่เพิ่งคบกันได้ไม่กี่เดือน ได้ยอมรับในเวลาต่อมาว่า นำเงินเยียวยา 5,000 บาทของ น.ส.ปลายฝนไปจ่ายค่างวดรถจริง โดยอ้างว่า น.ส.ปลายฝนบังคับให้เอาเงินเยียวยาไปจ่าย 4,000 และอีก 1,000 บาทก็เก็บไว้เป็นค่าใช้จ่าย

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายทักษิณ ชินวัตร มีชื่อเป็นเจ้าภาพในงานสวดศพ น.ส.ปลายฝน ด้วย 1 คืน

5.คกก.วัตถุอันตรายยืนยันมติเดิมแบน 2 สารพิษ "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส" มีผล 1 มิ.ย.นี้!


เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ได้มีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย หลังประชุม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เผยว่า มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นกรรมการมาประชุม 24 ท่าน จากทั้งหมด 28 ท่าน และได้ลงมติอย่างเปิดเผย โดยเสียงส่วนใหญ่ 17 เสียงให้ยึดมติเดิมเมื่อ 27 พ.ย. 2562 ที่กำหนดให้ 2 สารเคมีทางการเกษตร คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) มีผลวันที่ 1 มิถุนายน 2563 “เสียงส่วนใหญ่ 17 เสียงให้คงการแบน 2 สารตามมติเดิม ขณะที่กรรมการอีก 6 ท่านไม่เห็นด้วยที่จะคงมติเดิม และอีก 1 ท่านที่งดออกเสียง เพราะขอกลับก่อน เนื่องจากติดภารกิจ ส่วนตัวผมนั้นยืนยันว่า เห็นด้วยกับการยึดมติเดิม”

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปหาสารทดแทน เพื่อที่จะนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมในเดือน พ.ค. เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือก อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ทางกรมวิชาการเกษตรได้แจ้งว่า มีสารทดแทนเบื้องต้นแล้ว แต่ยอมรับว่ามีราคาแพง ขณะเดียวกัน กรมวิชาการเกษตรจะไปจัดทำเว็บไซต์เพื่อป้อนข้อมูลเกี่ยวกับสารที่จะมาทดแทนและวิธีดำเนินงานต่างๆ ให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาดูแนวทางดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการรับรองมติการประชุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยมติเสียงส่วนใหญ่รับรองรายงานที่ประชุมดังกล่าว โดยมีกรรมการบางท่านแจ้งขอสงวนสิทธิไม่รับรองรายงาน

ด้านนางอุมาพร พิมลบุตร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สต๊อก 2 สารไ ด้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอสที่มีอยู่ขณะนี้ประมาณ 10,000 ตันนั้น เบื้องต้นกระจายอยู่ในร้านค้า ผู้ผลิต เกษตรกร เมื่อถึงกำหนดการแบน 1 มิ.ย.นี้ หากยังเหลือ ตามกฎหมายจะต้องส่งคืนสารดังกล่าวให้แก่กรมวิชาการเกษตร เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี “กรมวิชาการเกษตรได้ระบุว่า สารที่จะมาทดแทนการใช้ 2 สารที่จะถูกแบนนั้น ก็มีอยู่ 2-3 ตัว แต่ละพืชที่จะใช้สารทดแทนก็จะต่างกันไป แต่ยอมรับว่ามีหลายราคา แต่ภาพรวมจะมีราคาสูงกว่า”
กำลังโหลดความคิดเห็น