xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ล๊อกดาวน์ประเทศ ปลดแอกทะเลไทย “พะยูน – วาฬเพชฌฆาตดำ - ฉลามหูดำ” ยกทัพอวดโฉม อัศจรรย์อันดามัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พะยูนฝูงใหญ่ แหวกว่ายลอยตัวหากินหญ้าทะเลในแหล่งน้ำตื้นอย่างสบายใจ บริเวณเแหลมจูโหย จ.ตรังหลังมีคำสั่งปิดแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่ง เพื่อคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - พะยูน 22 ตัว โผล่พ้นน้ำแหวกว่ายหากินหญ้าทะเลในแหล่งน้ำตื้น บริเวณแหลมจูโหย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง

ฝูงฉลามหูดำ 20 ตัว ว่ายเล่นน้ำอย่างสบายใจ หลังทะเลเงียบสงบไร้นักท่องเที่ยว บริเวณอ่าวมาหยา เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่

วาฬเพชฌฆาตดำ 10 – 15 ตัว แหวกว่ายอวดโฉมบริเวณอ่าวหินงาม เกาะรอกในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่

เต่ามะเฟือง ขึ้นมาวางไข่ตามหาดฝั่งทะเลอันดามัน มากที่สุดในรอบ 20 ปี มีลูกเต่ามะเฟืองฟักเป็นตัวและปล่อยคืนลงสู่ทะเลแล้วกว่า 351 ตัว จาก 11 รัง

และล่าสุด ทะเลฝั่งอ่าวไทย พบ เต่าตนุ ขนาดใหญ่คลานขึ้นมาวางไข่ริมชายหาดบริเวณหน้าโรงแรมแห่งหนึ่งบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของทะเลไทยทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ที่กำลังกลับคืนมาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อันเป็นผลพวงจากมาตรการการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19

หลังจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศปิดการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานทุกแห่ง ตั้งแต่ 25 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา พบว่าทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด สัตว์ป่าปรากฏตัวเพิ่มมากขึ้น สัตว์ทะเลหายากอวดโฉมแหวกว่ายละลานตา ทั้งยังขยายพันธ์เพิ่มมากขึ้น เป็นสัญญาณบ่งชี้การพื้นตัวของธรรมชาติหลังจากไร้การรบกวนจากมนุษย์

เต่ามะเฟือง ขึ้นมาวางไข่ตามหาดฝั่งทะเลอันดามันมากที่สุดในรอบ 20 ปี

ลูกเต่ามะเฟือง ทยอยออกจากไข่คลานลงสู่ทะเลด้วยตัวเองแล้วกว่า 351 ตัว
นับเป็นความอัศจรรย์จากท้องทะเลไทยที่สร้างความอิ่มเอมใจ เป็นความสุขเล็กๆ ในยามที่คนไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ และถือเป็นโอกาสอันดีในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเลไทยและสัตว์ทะเลหายากอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เพียงผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนครั้งสำคัญทะเลไทย ก่อนหน้านี้ การจากไปของพะยูนน้อย “มาเรียม” แห่งเกาะลิบง จ.ตรัง เนื่องจากขยะพลาสติกจากฝีมือมนุษย์ เมื่อช่วงกลางปี 2562 เตือนสติคนไทยทั้งประเทศให้หันมาอนุรักษ์หวงแหนทะเลไทย และนำสู่แผนอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก “มาเรียมโปรเจ็กต์” โดยความร่วมมือระหว่างคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนแนวทางอนุรักษ์สัตว์ทะเลยากต่างๆ ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

จนเกิดภาพสุดประทับใจ ฝูงพะยูน 22 ตัว อวดโฉมแหวกว่ายหากินหญ้าทะเลในแหล่งน้ำตื้น บริเแหลมจูโหย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2563 ขณะเจ้าหน้าที่นำทุ่นไข่ปลาออกไปวางเพื่อกำหนด “เขตพิเศษอภัยทาน” ซึ่งครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ระยะทางประมาณ 1 ก.ม. โดยมีเป้าหมายครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 18,000 ไร่ คุ้มครองแหล่งหญ้าทะเล คุ้มครองพะยูน ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการทำประมง การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางทะเล กำหนดเป็นพื้นที่ปลอดเครื่องมือทำประมงและเรือทุกชนิด เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่ง และสัตว์ทะเลหายาก ประเภทต่างๆ อาทิ พะยูน เต่าทะเล โลมา ฯลฯ

นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง บอกว่าพะยูนที่พบในเขตห้ามล่าแหลมจูโหยบริเวณนี้เป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 20 - 40 ตัว ตามธรรมชาติพะยูนเป็นสัตว์สังคมอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มมีพ่อแม่ลูก ส่วนที่เห็นชัดเจน คือ บริเวณหน้าที่ทำการเขตห้ามล่าแหลมจูโหย ซึ่งเป็นโซนที่สงบไม่มีกิจกรรมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมการประมง บริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยหญ้าทะเลเหมาะกับการอาศัยของพะยูน โดยช่วงโควิด-19 ระบาดมีส่วนทำให้ประชากรพะยูนเติบโตและมีให้เห็นจำนวนมากขึ้น

การที่สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้กลับคืนมา เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และปริมาณเรือท่องเที่ยวที่ลดลง ทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้ที่แต่เดิมมีอยู่แล้วในพื้นที่ กลับเข้ามาว่ายให้เห็นกันมากขึ้น รวมถึงระบบนิเวศน์ อาหารต่างๆ มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นด้วย และการปรากฏตัวของพะยูนฝูงใหญ่ไม่ใช่เรื่องปกติ เรียกว่าเป็นความอัศจรรย์แห่งทะเลอันดามันเลยก็ว่าได้

“การที่จะเห็นพะยูนมารวมตัวกันจำนวนมากเท่านี้นั้นถือว่ายากมาก ที่สำคัญเห็นชัดๆ ในน้ำใสๆ ว่ายน้ำแบบสบายใจ บางตัวแทบไม่ว่ายด้วย แต่เป็นการลอยตัวในน้ำแบบไม่กังวลอะไร แบบมีความสุข ซึ่งการที่พะยูนจำนวนมากว่ายน้ำมารวมตัวกันมากขนาดนี้จะส่งผลดีก็คือ จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการคัดเลือกพันธุ์ที่มีความหลากหลาย ผลก็คือ เราจะได้พะยูนรุ่นต่อไปที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พูดอีกแง่หนึ่งคือ ตรงนี้เป็นเวทีดูตัวของพะยูนให้เขาเลือกคู่กันนั่นเอง มองเห็นแล้วก็มีความสุขมาก” **นส.พ. ภัทรพล มณีอ่อน** หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่ง

เจ้าหน้าที่วางทุ่นไข่ปลากำหนดเขตพิเศษอภัยทาน เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่งและสัตว์ทะเลหายาก ประเภทต่างๆ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง


ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง หาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ถึงสัตว์อัศจรรย์แห่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากที่เข้ามาแหวกว่ายอวดโฉมในช่วงโควิด-19 ระบาด หลังจากมนุษย์หยุดกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว รวมทั้ง แผนการดูแลรักษาการท่องเที่ยวเกี่ยวกับท้องทะเล ความว่า

#เต่ามะเฟือง เข้ามาวางไข่ก่อนโควิด ลูกเต่าบางรังเกิดในช่วงโควิด ว่ายลงทะเลไร้เรือ ยังมีรายงานเต่าทะเลอื่นๆ เช่น เต่าตนุ ขึ้นมาวางไข่ถึงชายฝั่ง รวมถึงหาดหน้าสนามบิน พื้นที่สำคัญคือ turtle coast ตั้งแต่เหนือภูเก็ตขึ้นไปจนถึงพังงาและระนองใต้ แถวนี้มีมาตรการบางอย่างช่วงแม่เต่าวางไข่ ยังเป็นพื้นที่รณรงค์เรื่องขยะทะเล หากจัดเป็นพื้นที่เน้นหนักในเรื่องนี้ ทั้งกิจกรรมท่องเที่ยวไม่รบกวนหาด การสัญจรทางน้ำต่างๆ ในช่วงเต่าวางไข่ การเน้นเป็นพื้นที่โมเดลขยะทะเล เรื่องพวกนี้จะช่วยได้เยอะ และเชื่อว่าทั้งภาครัฐ/ท้องถิ่น/พี่น้องแถวนั้น พร้อมสำหรับการเดินหน้าครับ

#พะยูน อยู่ในพื้นที่เดิม ตรัง/กระบี่ แต่ว่ายอย่างเสรีเพราะไม่มีเรือ ยังมีรายงานการพบพะยูนที่คุระบุรี
มาเรียมโปรเจ็คมีแผนต่างๆ ในการดูแลพื้นที่ กันบางส่วนไม่ให้เรือเข้า ไม่อนุญาตให้นำเรือต่างถิ่นเข้าไป ดูแลเครื่องมือประมงบางชนิด เรื่องพวกนี้ช่วยได้แน่นอน หลังโควิดหากเราเดินหน้าต่อ สนับสนุนคนในพื้นที่อย่างจริงจัง ทำให้เกิดระบบถาวรได้ จะมีส่วนช่วยเยอะมาก

#ฉลามหูดำ มาเป็นฝูงในเขตน้ำตื้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม สุรินทร์/ตาชัย พีพี/เกาะห้อง เราอาจเริ่มศึกษาประชากร/พฤติกรรมฉลามกลุ่มนี้ รวมถึงการกำหนดพื้นที่บางแห่งให้เป็นเขตปลอดเรือ เปิดพื้นที่ให้ฝูงฉลามมากขึ้น ยังหมายถึงการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว ปรับแผนบริการจัดการอุทยานต่างๆ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความเป็นจริงในยุคหลังโควิด

#วาฬและโลมา
มีข่าววาฬเพชฌฆาตดำแถวลันตา หลังจากไม่มีรายงานมานาน ยังมีโลมาหากินตามพื้นที่ใกล้ฝั่ง เช่น หาดภูเก็ต เหตุผลสำคัญคือเรือหายไป ทำให้สัตว์กล้าเข้ามาใกล้กว่าเดิม การดูแลเรื่องนี้ต้องเน้นการสัญจรทางน้ำและเรือท่องเที่ยว หากเราเริ่มระบบติดตามเรืออย่างจริงจัง เราจะได้ทั้งความปลอดภัยและดูแลธรรมชาติ

“ตอนนี้มีระบบต่างๆ บ้างแล้ว หากมีการเชื่อมต่อกันให้สมบูรณ์ ระหว่างกรมเจ้าท่า กรมอุทยานฯ กรมทะเล ก.ท่องเที่ยว จะสร้างการท่องเที่ยวยุคใหม่ของอันดามันได้จริง ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่ผมคิดว่าจะช่วยให้อันดามันอยู่กับเราอีกยาวๆ ยังรวมถึงการเดินหน้าโรงพยาบาลสัตว์ ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์หายาก และศูนย์พะยูนที่ตรัง ทั้งหมดของกรมทะเล โดยบางแห่งมีภาคเอกชนสนับสนุน หากไม่ติดขัดใดๆ ไปต่อได้ เราจะเห็นการยกระดับสถานที่/อุปกรณ์/บุคลากร อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ”

ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ แหวกว่ายเล่นน้ำอย่างร่าเริง บริเวณอ่าวหินงาม เกาะรอกในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่

ฉลามหูดำ 20 ตัว อวดโฉมหลังทะเลเงียบสงบไร้นักท่องเที่ยว บริเวณอ่าวมาหยา เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่


สำหรับแผนการดูแลรักษาการท่องเที่ยวเกี่ยวกับท้องทะล ดร.ธรณ์ จำแนกเป็น 4 ขั้นตอน ความว่า

“การ์ดห้ามตก เราจะลดการ์ดดูแลทะเลไม่ได้ การลาดตระเวน/ดูแล/เครือข่าย ฯลฯ ต้องใช้งบประมาณ แต่อุทยานขาดรายได้ถึงตอนนี้หลายร้อยล้านแล้วครับ เพราะฉะนั้น ลดงบดึงงบอะไรก็ได้ แต่อย่าดึงงบดูแลรักษา ซึ่งเรื่องนี้จำได้ว่าท่าน รมต.ก็เคยย้ำไปแล้ว

สอดคล้องโควิด
การเที่ยวแบบ new normal ยุคหลังโควิดจะเพิ่มระยะห่างและลดคนอยู่แล้ว เรื่องนี้ก็ตรงกับการดูแลธรรมชาติไม่ให้แออัด หากเราปรับแผนให้เข้ากัน สองเรื่องนี้ไปด้วยกันได้เป๊ะๆ

รุกคืบข้างหน้า อยากไปยุคใหม่ เราต้องวางแผน แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน หากเราลงมือทำงานมันจะเกิดผล เช่น ขีดความสามารถรองรับ พื้นที่จอดเรือ การควบคุมเรือวิ่งไปมา การดูแลท่องเที่ยวในพื้นที่บอบบาง ฯลฯ หากไม่มีแผนในพื้นที่ รอแต่มีปัญหาแล้วค่อยแก้ เราก็คงอยู่ในยุคเดิมๆ ต่อไป อยากเปลี่ยนต้องมีแผน ต้องปฏิบัติได้ แผนดีที่สุดจะเกิดจากพื้นที่ ค่อยนำมาปรับแต่งปรับเพิ่มจากส่วนกลาง ล่างขึ้นบน ธงเดียวกัน คืนบ้านให้สัตว์ทะเล

ฝันให้ไกล มองภาพรวมและน่าจะเป็นโปรเจกต์ใหญ่สุดของการท่องเที่ยวทางทะเลไทย คือ โครงการอันดามันมรดกโลก เราจมปลักกับโครงการนี้มาเกิน 10 ปี สมัยผมเป็น สปช. เคยดันผ่านสภาด้วยคะแนนเต็ม ไม่มีผู้ไม่เห็นด้วยเลย คงต้องกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง และถ้าทำจริงเป็นไปได้ เพราะมีข้อมูลอยู่เยอะแล้ว”

จังหวะนี้เป็นจังหวะดีที่สุดในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเลไทยและสัตว์ทะเลหายาก ขึ้นอยู่กับว่าผู้รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้องจะเดินหน้าหรือไม่? กล้าวัดใจหรือเปล่า? คงต้องจับดูกันอย่างใกล้ชิดถึงสิ่งที่คนรักทะเลทุกท่านฝันไว้ “ทะเลสมบูรณ์ สัตว์น้ำยิ้มแย้ม ผู้คนหากินยั่งยืน” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น