26 เมษายน 2562 วันนี้เมื่อปีที่แล้ว เป็นวันที่คนไทยได้ทำความรู้จักกับพะยูนน้อยหลงแม่มาเกยตื้นที่ชายหาด นามว่า “มาเรียม” เป็นครั้งแรก
ในเวลาเพียงไม่นาน พะยูนน้อยตัวนี้ได้สร้างความรักและความเอ็นดูให้เกิดขึ้นในหัวใจของคนไทย แต่ก็เป็นเวลาอันแสนสั้นเพียง 111 วัน เท่านั้น น้องมาเรียมก็จากพวกเราไปด้วยสาเหตุอันน่าสะเทือนใจ แต่ก็ไม่ได้จากไปอย่างสูญเปล่า เพราะมาเรียมได้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในการอนุรักษ์เพื่อนพ้องสัตว์ทะเลไว้เบื้องหลัง
แรกพบมาเรียม
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 เป็นวันที่เราได้พบพะยูนน้อยเพศเมีย อายุราว 4-5 เดือน มาเกยตื้นอยู่ที่ชายหาดอ่าวทึง ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ซึ่งแม้ชาวบ้านจะช่วยกันนำลูกพะยูนน้อยตัวนี้ปล่อยคืนสู่ทะเล แต่ก็เห็นมันกลับมาว่ายเวียนป้วนเปี้ยนที่เดิมอีก จึงคาดว่าคงพลัดหลงจากแม่มาอยู่ที่บริเวณทะเลแถบนี้
จากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าหากปล่อยพะยูนน้อยไปตามธรรมชาติคงจะเอาชีวิตไม่รอดเป็นแน่ จึงตัดสินใจย้ายลูกพะยูนมาอนุบาลในสภาพธรรมชาติ ท่ามกลางการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง บ้านแหลมจูโหย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เนื่องจากที่นี่เป็นแหล่งหญ้าทะเลและเป็นแหล่งอยู่อาศัยของพะยูนมากที่สุดในเมืองไทย พร้อมกับที่เจ้าพะยูนน้อยได้ชื่อใหม่ว่า “มาเรียม” ที่แปลว่า “หญิงสาวที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล”
น่ารักแสนซน จนเป็นกระแสมาเรียมฟีเวอร์
ความน่ารักไร้เดียงสาของมาเรียมทำให้คนไทยต่างเอ็นดูและหลงรัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เจ้าพะยูนกำพร้าตัวนี้มัวนอนหลับเพลินจนเกือบจะเกยตื้นชายหาดอยู่บ่อยๆ เพราะไม่มีแม่คอยดูแลพาออกไปในที่น้ำลึกๆ หรือเรื่องที่มาเรียมกินนมจนหลับปุ๋ยในอ้อมแขนของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเหมือนเด็กๆ โดยภาพถ่ายของอ้อมกอดที่อบอุ่นระหว่างคนและพะยูนน้อยได้ถูกถ่ายทอดออกไปผ่านมุมมองของช่างภาพ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย จนทำให้เรื่องราวของมาเรียมเป็นที่กล่าวขานไปในวงกว้างมากขึ้น โดยในภายหลังภาพถ่ายดังกล่าวที่มีชื่อภาพว่า “กอด” ก็ได้คว้ารางวัลภาพยอดเยี่ยมจากงาน POY77 ซึ่งเป็นงานประกวดภาพถ่ายช่างภาพอาชีพและสื่อมวลชน ของ Reynolds Journalism Institute ซึ่งจัดติดต่อกันมาเป็นครั้งที่ 77 แล้ว
แต่เรื่องที่สร้างความสงสารและเอ็นดูมากที่สุดคงเป็นเรื่อง “แม่ส้ม” เรือแคนูสีส้มที่พี่เลี้ยงเจ้าหน้าที่ใช้พายฝึกมาเรียมให้ว่ายน้ำให้แข็ง และใช้เฝ้าดูมาเรียมอย่างใกล้ชิด ซึ่งมาเรียมมีความผูกพันกับเรือแคนูลำนี้เป็นอย่างยิ่ง คอยว่ายน้ำคลอเคล้าใต้ท้องแม่ส้ม ไปซุกนอนหลับ ไปแอบ ไปเล่น ด้วยเข้าใจว่านี่คือแม่ของตน จนกลายเป็นเรื่องราวประทับใจที่เรียกน้ำตาให้กับผู้พบเห็นได้เป็นอย่างมาก
ข่าวเศร้าเดินทางมาถึง
ราวสามเดือนต่อมาการดูแลอนุบาลมาเรียมดูเหมือนจะไปได้ดี เจ้าหน้าที่ต่างทุ่มเทและสละตนเพื่อช่วยให้มันสามารถใช้ชีวิตรอดได้เองในธรรมชาติ
ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีพะยูนน้อยเพศผู้อีกตัวหนึ่งถูกพบเกยตื้นที่บ้านบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2562 มีสภาพอ่อนแรงมาก เจ้าหน้าที่จึงนำลูกพะยูนมารักษาที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก จ.ภูเก็ต ซึ่งต่อมาพะยูนน้อยตัวนี้ได้ชื่อว่า “ยามีล” แปลว่า ชายรูปงามแห่งท้องทะเล
การมีลูกพะยูนน้อยหลงทางถึงสองตัวมาอยู่ในความดูแล ทำให้เกิดกระแสอนุรักษ์ในวงกว้างและทำให้คนไทยหันมาให้ความสนใจและลุ้นเอาใจช่วยให้มาเรียมและยามีลหายป่วยเร็วขึ้น พร้อมทั้งตระหนักถึงความยากลำบากในชีวิตของลูกพะยูนที่กำพร้าแม่ว่าเป็นชีวิตที่ไม่ง่ายเลย
แล้ววันหนึ่งจู่ๆ ก็มีพะยูนจากภายนอกเข้ามาคุกคามมาเรียม จนเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2562 ลูกพะยูนน้อยเกิดอาการช็อก ซึม ไม่กินอาหาร อ่อนเพลีย ไม่เริงร่าว่ายน้ำกับแม่ส้มเหมือนเมื่อก่อน จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ต้องย้ายมาเรียมจากทะเลขึ้นฝั่ง และนำไปรักษาอาการป่วยในบ่ออนุบาลชั่วคราวบนเกาะลิบง
คนไทยที่รักและเอ็นดูมาเรียมต่างเฝ้าติดตามและหวังให้เจ้าพะยูนน้อยหายป่วยโดยไว แต่ดูเหมือนอาการป่วยจะมากกว่าที่คิดไว้ สุดท้ายแล้วช่วงเที่ยงคืนของเช้าวันที่ 18 ส.ค. 2562 หลังจากทีมสัตวแพทย์ได้พยายามช่วยเหลือทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตมาเรียมไว้ได้
เจ็บปวดมากขึ้นไปอีกเมื่อการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตของน้องมาเรียม พบว่าในลำไส้ของมันมีเศษพลาสติกเล็ก ๆ หลายชิ้นขวางลำไส้จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ จนทำให้มีแก๊สสะสมเต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ลุกลามไปถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตในที่สุด
ชิ้นพลาสติกเหล่านี้ เหมือนกำลังตะโกนบอกว่า เราทุกคนต่างมีส่วนทำให้ “มาเรียม” พะยูนน้อยที่ไร้เดียงสาต้องตายก่อนเวลาอันควร
เหมือนว่ายังเศร้าไม่พอ เพราะหลังจากมาเรียมจากไปเพียง 4 วัน เจ้ายามีล พะยูนหนุ่มน้อยก็เสียชีวิตตามไปเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2562 หลังจากร่างกายเกิดสภาวะลำไส้หยุดทำงาน เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ผนังลำไส้บางลง เส้นเลือดฝอยแตกและเกิดภาวะติดเชื้อ แม้จะรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว แต่เมื่อยามีลกลับมาที่บ่ออนุบาลแล้วก็เกิดภาวะช็อก หัวใจหยุดเต้น สุดที่ทีมสัตวแพทย์จะยื้อชีวิตไว้ได้
พะยูนน้อยจากไป ไม่สูญเปล่า
26 เมษายน 2563 เป็นเวลา 1 ปีแล้วเมื่อเราพบเจ้ามาเรียมครั้งแรก และยังจดจำความน่ารักแสนซนของมันได้เสมอ แต่นอกจากความทรงจำเหล่านี้แล้ว การตายของมาเรียมยังสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความตระหนักในเรื่องของการอนุรักษ์ทะเล และการลดการใช้ถุงพลาสติกเป็นวงกว้างกว่าเดิม อีกทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างจัดกิจกรรมอนุรักษ์ทะเลที่สืบเนื่องจากการตายของพะยูนมาเรียม ไม่ว่าจะเป็นการเติมความสมบูรณ์แหล่งอาหาร ปลูกหญ้าทะเลให้พะยูน จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อระดมทุนให้หน่วยงานที่ดูแลท้องทะเล และกิจกรรมกระตุ้นจิตสำนึกอนุรักษ์ต่างๆ
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย ได้เคยกล่าวให้สัมภาษณ์ไว้ถึงเรื่องที่คนไทยต้องตระหนักหลังจากการตายของมาเรียม นั่นก็คือ ภัยจากเครื่องมือประมง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้านถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามหลักต่อชีวิตพะยูนในเมืองไทย เพราะมีการใช้อวนลอยและอวนกระเบนเพื่อทำประมงกันอย่างแพร่หลาย โดยเมื่อพะยูนว่ายน้ำเข้าไปติดและไม่สามารถออกมาได้ มันก็จะจมน้ำตาย เพราะพะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายใจทางปอด
ภัยจากการท่องเที่ยวก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหากการท่องเที่ยวทางทะเล จ.ตรัง เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะปริมาณเรือนำเที่ยวที่มากเกินไปอาจไปรบกวนระบบนิเวศน์ของพะยูนและสัตว์น้ำอีกหลายชนิดในน่านน้ำของ จ.ตรัง
แต่ภัยที่อันตรายที่สุดก็คือภัยจากขยะทางทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่เป็นสาเหตุการตายของมาเรียม และสัตว์ทะเลอีกหลายชนิด โดยคนไทยยังมีพฤติกรรมในการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมหาศาล สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้เพียงการรณรงค์อาจไม่เพียงพอ แต่ต้องใช้มาตรการที่แรงกว่านี้จึงจะแก้ปัญหาได้
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เป็นผลสืบเนื่องจากการตายของมาเรียมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั่นก็คือบทเรียนสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก เป็นรากฐานสู่ “แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” ที่เกิดขึ้นภายใต้แผนแม่บทมาเรียมโปรเจค ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ
แผนอนุรักษ์ดังกล่าววางเป้าหมายเพิ่มประชากรพะยูนจาก 250 ตัว เป็น 280 ตัว ในเวลา 3 ปี โดยจะมีโครงการต่างๆ จำนวน 7 โครงการให้หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำแผนไปดำเนินการต่อไป รวมทั้งแผนการดูแลพื้นที่อาศัยพะยูน 12 แห่งแบบองค์รวม รวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่เพื่อทดแทนการลดการรบกวนพะยูนจากการทำประมง แผนศูนย์ช่วยชีวิตหลัก 2 แห่ง และรอง 5 แห่ง แผนการสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์หายากและศูนย์เรียนรู้ฯ และการรณรงค์การอนุรักษ์พะยูนและการประกาศวันพะยูนแห่งชาติ โดยหลังการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แผนอนุรักษ์พะยูนฯ จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
ผศ.ดร.ธรณ์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติฯ และคณะกรรมการปฏิรูปสิ่งแวดล้อม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มีส่วนผลักดันให้เกิดแผนดังกล่าวขึ้น ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คระบุถึงความสำเร็จในการผลักดันแผนดังกล่าวว่า แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติถือเป็นแผนที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยทำเรื่องนี้มา โดยได้กล่าวขอบคุณมาเรียมและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ช่วยกันทำให้สิ่งที่พยายามกันมา 27 ปี (นับจากพะยูนเป็นสัตว์สงวนตามพรบ. คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535) สำเร็จลงในที่สุด และนอกจากพะยูนจะได้ประโยชน์แล้ว ยังช่วยสัตว์ทะเลหายากอื่นๆ รวมไปถึงคนท้องถิ่นอีกด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เราพูดได้เต็มปากว่า "การจากไปของมาเรียมจะไม่สูญเปล่า"
..................................................................................
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR