ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์เผยว่า ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา มีสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ โผล่ให้เห็นมากขึ้น เนื่องจากกิจกรรมท่องเที่ยวไม่รบกวนชายหาด สัตว์กล้าเข้ามาใกล้กว่าเดิม ซึ่งมีเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ และยังพบฝูงพะยูน, ฉลามหูดำ
วันนี้ (28 เม.ย.) เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา มีสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ โผล่ให้เห็นมากขึ้น เนื่องจากกิจกรรมท่องเที่ยวไม่รบกวนชายหาด สัตว์กล้าเข้ามาใกล้กว่าเดิม โดยผู้โพสต์ระบุว่า
“สรุปสัตว์อัศจรรย์ทะเลอันดามันที่เข้ามาในช่วงมนุษย์หยุด เพราะโควิดให้เพื่อนธรณ์ครับ หลักๆ คือ เต่ามะเฟือง พะยูน วาฬเพชฌฆาตดำ และฉลามหูดำ #เต่ามะเฟือง เข้ามาวางไข่ก่อนโควิด ลูกเต่าบางรังเกิดในช่วงโควิด ว่ายลงทะเลไร้เรือ
ยังมีรายงานเต่าทะเลอื่นๆ เช่น เต่าตนุ ขึ้นมาวางไข่ถึงชายฝั่ง รวมถึงหาดหน้าสนามบิน พื้นที่สำคัญคือ turtle coast ตั้งแต่เหนือภูเก็ตขึ้นไปจนถึงพังงาและระนองใต้ แถวนี้มีมาตรการบางอย่างช่วงแม่เต่าวางไข่ ยังเป็นพื้นที่รณรงค์เรื่องขยะทะเล หากจัดเป็นพื้นที่เน้นหนักในเรื่องนี้ ทั้งกิจกรรมท่องเที่ยวไม่รบกวนหาด การสัญจรทางน้ำต่างๆ ในช่วงเต่าวางไข่ การเน้นเป็นพื้นที่โมเดลขยะทะเล เรื่องพวกนี้จะช่วยได้เยอะ และเชื่อว่า ทั้งภาครัฐ/ท้องถิ่น/พี่น้องแถวนั้น พร้อมสำหรับการเดินหน้าครับ
#พะยูน อยู่ในพื้นที่เดิม ตรัง/กระบี่ แต่ว่ายอย่างเสรีเพราะไม่มีเรือ ยังมีรายงานการพบพะยูนที่คุระบุรี มาเรียมโปรเจกต์มีแผนต่างๆ ในการดูแลพื้นที่ กันบางส่วนไม่ให้เรือเข้า ไม่อนุญาตให้นำเรือต่างถิ่นเข้าไป ดูแลเครื่องมือประมงบางชนิด เรื่องพวกนี้ช่วยได้แน่นอน หลังโควิดหากเราเดินหน้าต่อ สนับสนุนคนในพื้นที่อย่างจริงจัง ทำให้เกิดระบบถาวรได้ จะมีส่วนช่วยเยอะมาก
#ฉลามหูดำ มาเป็นฝูงในเขตน้ำตื้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม สุรินทร์/ตาชัย พีพี/เกาะห้อง เราอาจเริ่มศึกษาประชากร/พฤติกรรมฉลามกลุ่มนี้ รวมถึงการกำหนดพื้นที่บางแห่งให้เป็นเขตปลอดเรือ เปิดพื้นที่ให้ฝูงฉลามมากขึ้น ยังหมายถึงการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว ปรับแผนบริการจัดการอุทยานต่างๆ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความเป็นจริงในยุคหลังโควิด
#วาฬและโลมา มีข่าววาฬเพชฌฆาตดำแถวลันตา หลังจากไม่มีรายงานมานาน ยังมีโลมาหากินตามพื้นที่ใกล้ฝั่ง เช่น หาดภูเก็ต เหตุผลสำคัญคือเรือหายไป ทำให้สัตว์กล้าเข้ามาใกล้กว่าเดิม การดูแลเรื่องนี้ต้องเน้นการสัญจรทางน้ำและเรือท่องเที่ยว หากเราเริ่มระบบติดตามเรืออย่างจริงจัง เราจะได้ทั้งความปลอดภัยและดูแลธรรมชาติ ตอนนี้มีระบบต่างๆ บ้างแล้ว หากมีการเชื่อมต่อกันให้สมบูรณ์ ระหว่างกรมเจ้าท่า กรมอุทยาน กรมทะเล ก.ท่องเที่ยว จะสร้างการท่องเที่ยวยุคใหม่ของอันดามันได้จริง
ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่ผมคิดว่าจะช่วยให้อันดามันอยู่กับเราอีกยาวๆ ยังรวมถึงการเดินหน้าโรงพยาบาลสัตว์ ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์หายาก และศูนย์พะยูนที่ตรัง ทั้งหมดของกรมทะเล โดยบางแห่งมีภาคเอกชนสนับสนุน หากไม่ติดขัดใดๆ ไปต่อได้ เราจะเห็นการยกระดับสถานที่/อุปกรณ์/บุคลากร อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ มีอีกเรื่องที่คุยกันมานานนับ 10+ ปี นั่นคือ #โครงการอันดามันมรดกโลก เป็นจังหวะดีมากที่เราควรเดินหน้า วันหลังจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง วันนี้ผู้ป่วยเพิ่มแค่ 7 รายครับ
หมายเหตุ - แผนที่ผมทำเอง คลิปวาฬจากอุทยานลันตา พะยูนจากศูนย์อุทยานทางทะเล ตรัง ขอบคุณครับ”