ประเทศไทย บริหารจัดการขยะทะเลและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งประสบความสำเร็จจนอับดับประเทศที่มีขยะทะเลสูงสุดในโลกลงมาอยู่อันดับ10 ซึ่งเป็นผลมาจากภาครัฐและเอกชนร่วมมือ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่สร้างแรงกระตุ้น ผลักดัน ให้ประชาชนตื่นตัวในการลดใช้ถุงพลาสติกและโฟมอย่างเห็นได้ชัด
จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จากการออกมาตรการและแก้ปัญหาขยะทะเลและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างจริงจังของรัฐบาล ควบคู่กับการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั่วประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถปรับอันดับประเทศที่มีขยะทะเลสูงสุดในโลกในอับดับ 6 ลงมาอยู่ที่อันดับ10 ได้สำเร็จ
ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีจากการแก้ปัญหาขยะทะเลและและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งของไทย ดูได้จากการที่ภาคเอกชนกว่า 50 แห่งเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับภาครัฐงดและหยุดแจกจ่ายถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และตลาดสด ที่จะเริ่มอย่างเข้มข้นในวันที่ 1 มกราคม 2563
ประกอบกับ ภาคเอกชนจำนวนมากรณรงค์ให้งดใช้ถุงพลาสติกและโฟมภายในองค์กร จึงเป็นตัวเร่งให้การลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single - Use Plastic) หมดไปจากประเทศได้เร็วขึ้น โดยมีภาคประชาชนเป็นแรงเสริม สนับสนุน และผลักดันให้การแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศเห็นผลได้จริง
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า ไทยนับเป็นอีกประเทศที่มีความก้าวหน้าเรื่องการบริหารจัดการขยะอย่างเห็นผลและทำได้จริง โดยเฉพาะการยกระดับการแก้ปัญหาขยะทะเลอยู่ในระดับอาเซียนสำเร็จ ประกอบกับ สร้างการจิตสำนึกและการรับรู้การแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อนำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้นำกลับมาใช้ใหม่หรือแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ข้อมูลอ้างอิง สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ http://nwnt.prd.go.th/centerweb/news/NewsDetail…
เมื่อต้นปี ตั้งเป้าให้ไทยหลุด 1 ใน 10
ก่อนหน้านี้ นักวิชาการด้านทรัพยากรทางทะเล “ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” เปิดเผยแทบทุกเวทีที่พูดเรื่อง “ขยะทะเล” ว่า การแก้ไขปัญหาขยะทะเล ต้องจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เน้นลดการใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกัน ตั้งเป้า ไทยต้องหลุด 1 ใน 10 ประเทศที่มีปริมาณขยะมากที่สุด
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าสถานการณ์ทะเลไทยกับปัญหาขยะในทะเล มีข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ พบว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่พบในกลุ่มประเทศอาเซียนมากที่สุด ประเทศจีนเป็นอันดับ 1 ที่มีปริมาณขยะทะเลมากถึง 3 ล้านต้น รองมาคือ ประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่ประเทศไทยติดอันดับ 6 ซึ่งมีปริมาณขยะถึง 1 ล้านตัน
ดังนั้น ในปีนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องลงมือในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างแท้จริง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการจัดการกับขยะพลาสติกให้น้อยลงที่สุด โดยเฉพาะพลาสติกจากขวด มีการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกและอาจมีการจัดเก็บค่าถุงพลาสติกในบางพื้นที่ รวมทั้งการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า
อย่างไรก็ดี ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทิ้งขยะลงทะเลโดยตรง ขยะทะเลร้อยละ 80 เกิดจากกิจกรรมทางบก มาจากแม่น้ำลำคลอง ดังนั้น ประเทศไทย ต้องตั้งเป้าต้องจัดการกับปัญหาขยะทะเลให้หลุด 1 ใน 10 ประเทศที่มีขยะทะเลมากที่สุด ซึ่งการรณรงค์ลดการใช้พลาสติก เช่น การให้เปลี่ยนไปใช้ถุงผ้าแทน ช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างชัดเจน หรือการรียูส ที่เป็นการนำกลับมาใช้ซ้ำ ใช้ให้คุ้มค่าจริงๆ ก่อนทิ้งเป็นขยะ รวมถึงการรีไซเคิลให้เป็นวัสดุใหม่ ทั้งหมดช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมขาติ ยิ่งเป็นวัสดุพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ก็จะช่วยลดการใช้ฟอสซิลซึ่งถือว่าช่วยลดโลกร้อนด้วย