เชิญชวนคนไทย ทั้งประชาชน ผู้จัดงาน และผู้ประกอบการร้านค้า ร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง ควบคู่กับการจัดงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างสถิติ ลอยกระทง ปลอดโฟม 100% ที่ถึงแม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนจะเริ่มหันมาใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น แต่กระทงโฟมยังคงมีอยู่ อีกทั้งกระทงทั้งหมดยังคงกลายเป็น “ขยะ” จำนวนมากตกค้างในแหล่งน้ำและก่อให้เกิดปัญหาขยะทะเลตามมาได้ กระทรวงทรัพย์ฯ แนะลอยกระทงลดขยะ “1 ครอบครัว 1 กระทง” “1 คู่รัก 1 กระทง” และ “1 แก๊ง/ก๊วน/กลุ่ม 1 กระทง” หรือลอยออนไลน์ทาง deqpth.green อีก 1 ทางเลือกสร้างสรรค์ ยุค 4.0
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า กระทรวงฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการสืบสานประเพณีดั้งเดิมของไทย แต่ยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาขยะ ขยะพลาสติก โฟม และขยะทะเล โดยได้รณรงค์ขอความร่วมมือในช่วงเทศกาลต่างๆ มาอย่าง ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงประเพณีลอยกระทง ที่พบว่า ยังคงมีปริมาณขยะกระทงจำนวนมากเกือบถึง 1 ล้านใบ ดังเช่น ปี 2561 ที่ผ่านมา จากสถิติการจัดเก็บขยะกระทงของกรุงเทพมหานคร พบมีมากถึง 841,327 ใบ อีกทั้ง ยังคงพบกระทงโฟม ที่ถึงแม้จะมีจำนวนลดลง เหลือประมาณ 5% หรือ 44,883 ใบ เนื่องจากประชาชนหันมาใช้กระทงที่ทำจากใบตองหรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติมากขึ้นแล้วก็ตาม
แต่อยากเชิญชวนคนไทยให้ร่วมกันสืบสานประเพณีอันดีงามของไทยควบคู่กับการลดขยะ ขยะพลาสติกและโฟม รวมถึงจัดงานลอยกระทงแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมกันสร้างสถิติใหม่ให้เกิดขึ้น ด้วยการลอยกระทงปลอดโฟม 100% และเกิดขยะกระทงน้อยที่สุดเพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีไทยแบบมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเพณีไทยให้นักท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้กระทรวงฯ ได้มีนโยบายไปยังสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทุกจังหวัด หน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกแห่งทั่วประเทศ ตลอดจนขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกัน ลอยกระทงปลอดโฟม ภายใต้แนวคิด “มาด้วยกัน ลอยด้วยกัน” “1 ครอบครัว 1 กระทง” “1 คู่รัก 1 กระทง” และ “1 แก๊ง/ก๊วน/กลุ่ม 1 กระทง”
และขอเชิญชวนไปยังผู้จัดงานลอยกระทงทั่วประเทศ ให้ร่วมกันจัด“งานลอยกระทงแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยขอความร่วมมือจากร้านค้าต่างๆ ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟมบรรจุอาหาร เลือกใช้ภาชนะทดแทนที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนพกถุงผ้า กระบอกน้ำ และกล่องอาหารมาเอง ส่งเสริมการจำหน่ายกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ รวมทั้งมีการจัดการขยะภายในงานอย่างเป็นระบบ มีถังขยะแยกประเภทอย่างเพียงพอ และอาจส่งเสริมให้มีจิตอาสาคัดแยกขยะ เนื่องจากสถานที่จัดงานส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง หากมีการจัดการขยะไม่ถูกวิธี ย่อมก่อให้เกิดขยะตกค้าง และอาจตกลงสู่แม่น้ำลำคลอง ในที่สุดก็จะไหลลงสู่ทะเล กลายเป็นปัญหาขยะทะเลตามมา
ด้านนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า การลอยกระทง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะ ลดโลกร้อน และยังคงสืบสานประเพณีอันดีงามของไทยไว้ มีหลายทางเลือกด้วยกัน เช่น การเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ ใช้ไม้กลัดแทนเข็มหมุด ไม่ใช้แม็กเย็บ ลอยกระทงขนาดเล็กแทนขนาดใหญ่ ไม่ตกแต่งหรือใช้วัสดุที่หลากหลายจนเกินไปหรือเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ เช่น กากเพชร สีเคมี ตลอดจนเลือกใช้กระทงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่หรือแหล่งน้ำ เช่น หากลอยในแหล่งน้ำที่มีปลาหรือสัตว์น้ำจำนวนมาก ควรเลือกกระทงขนมปัง แต่หากจำนวนสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ไม่มาก ลอยในแหล่งน้ำระบบปิด เช่น บึง หรือหนองน้ำ อาจใช้กระทงใบตองหรือวัสดุธรรมชาติอื่นแทน หรือการเลือกลอยกระทงแบบสร้างสรรค์เหมาะกับยุค 4.0 ด้วยการลอยกระทงออนไลน์ ที่ปลอดขยะและสร้างมลพิษน้อยที่สุด โดยประชาชนและผู้สนใจสามารถเข้ามาลอยกระทงออนไลน์ร่วมกัน ได้ที่ deqpth.green ตั้งแต่วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน 2562
ที่มา - กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม