ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลได้เผยภาพฝูงฉลามหูดำที่มาหยา และ ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ ที่ลันตา ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งอวดภาพฝูงพะยูนที่จังหวัดตรังไป ระบุ เป็นการปิดท้ายสำหรับ The Great Earth Day อย่างยิ่งใหญ่ในปีนี้ ซึ่งทั้ง 3 ภาพถ่ายภายในวันนี้วันเดียว วอนคนไทยดูแลทะเลแบบนี้อยู่กับเราต่อไปนานๆ
วันนี้ (22 เม.ย.) เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ภาพน่าปีติอีก 2 ชุด คือ ภาพฝูงฉลามหูดำ ที่มาหยา กว่า 30 ตัว ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ ที่ลันตา 10-15 ตัว โดยก่อนหน้านี้ ได้โพสต์ภาพฝูงพะยูนที่จังหวัดตรัง ร่วม 30 ตัว โดยย้ำว่านี่แค่วันเดียววันนี้ เฉพาะที่ 3 อุทยาน ใน 2 จังหวัดกระบี่ และ จังหวัดตรัง
โดยระบุเนื้อหาโพสต์ว่า “ปิดท้ายอย่างยิ่งใหญ่สำหรับ The Great Earth Day ในปีนี้ ด้วยฝูงวาฬเพชฌฆาตดำที่อุทยานหมู่เกาะลันตา ขึ้นมาอาบแสงอาทิตย์อัสดง บอกแบบฟันธงเลยว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยมีเอิร์ธเดย์ปีไหนสะใจเท่าปีนี้ ทั้งพะยูน ทั้งฉลาม ทั้งวาฬ มากันท่วมทะเล ผมลงโพสต์แรกก่อนเที่ยง ยิงยาวถึงตอนนี้ 4 โพสต์รวดไม่มีหยุด ทบทวนกันอีกที หนึ่งวันเจออะไรบ้าง ฝูงพะยูนที่ตรัง ร่วม 30 ตัว ฝูงฉลามหูดำที่มาหยา 30+ ตัว ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำที่ลันตา 10-15 ตัว เน้นย้ำว่านี่แค่วันเดียว และเฉพาะที่ 3 อุทยานใน 2 จังหวัด กระบี่และตรัง เมื่อมนุษย์หายไป ทะเลยิ่งใหญ่จริงๆ อยากเห็นทะเลแบบนี้อยู่กับเราต่อไปนานๆ เราต้องเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการอยู่ร่วมกับเธอ เราต้องรักเธอให้มากกว่าเดิม ขอบคุณภาพจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาครับ
ทั้งนี้ ดร.ธรณ์ ได้ให้รายละเอียดวาฬเพชฌฆาตดำ (false killer whale) ไม่ใช่วาฬ แต่เป็นโลมาขนาดใหญ่ อาจมีความยาวได้ถึง 6 เมตร แต่ปกติเล็กกว่านั้น ในไทยที่เคยพบ ส่วนใหญ่ยาว 3-4 เมตร อย่างไรก็ตาม เรายังคงเรียกว่าวาฬ เหมือนวาฬออร์ก้า หรือ วาฬเพชฌฆาต ที่เป็นโลมาขนาดใหญ่เช่นกัน คำว่า false killer whale มาจากขนาดที่ใหญ่เกือบเท่าวาฬเพชฌฆาต อีกทั้งมีโครงกระดูกคล้ายคลึงกัน แม้รูปร่างและสีจะแตกต่างเห็นชัด มีพฤติกรรมรวมฝูงแนบแน่น บางฝูงอาจมีจำนวนนับร้อย แต่ที่พบในไทยส่วนใหญ่อยู่ระดับ 10-20 ตัว พบได้ทั่วโลก ในไทยพบตามทะเลเปิดหรือน้ำลึกหรือเกาะห่างไกล เช่น เกาะสิมิลัน เกาะเต่า เกาะราชา ฯลฯ ในอดีตเคยมีวาฬชนิดนี้เกยตื้นที่เกาะราชา (พ.ศ. 2551) จำนวน 30 ตัว มีอาสาสมัครไปช่วยกันพาวาฬออกจากฝั่ง แต่มีบ้างที่จากไป และเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 62 เพิ่งพบหลงเข้ามาที่เกาะกูด จากนั้นก็เกยตื้นที่พัทยา แต่น้องอำลาจากไปในที่สุด วาฬพวกนี้ชอบอยู่เป็นฝูง เป็นสัตว์สังคม หลงฝูงไปรอดยากมากครับ มีรายงานล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่สิมิลัน และพบอีกครั้งในวันนี้ที่ลันตา ไม่ค่อยมีรายงานในอุทยานหมู่เกาะลันตา วาฬเพชฌฆาตดำถือเป็นสัตว์คุ้มครองของไทย
และภาพฝูงฉลาดหูดำนั้น ดร.ธรณ์ ได้แชร์มาจาก เพจ “อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี” ทางเพจระบุเนื้อหาโพสต์ว่า “เช้าวันนี้เวลาประมาณ 7.00 น. พบฉลามหูดำฝูงใหญ่มากกว่า 70 ตัว เข้ามาแหวกว่ายหากินอยู่ในบริเวณอ่าวมาหยา”