xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“New Normal-ความปกติใหม่” หลังปลดล๊อกดาวน์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักเรียนชาวจีนในมณฑลส่านซีนั่งรับประทานอาหารโดยเว้นระยะห่างจากกันราว 1 เมตร และมีแผ่นป้ายกั้นกลางระหว่างโต๊ะเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในช่วงที่ทุกคนสวมบทบาท Survivor ปรับตัวดิ้นรนเพื่ออยู่รอด ระหว่างรอ “จุดสิ้นสุด” การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ทำให้พฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป จนเกิดปรากฎการณ์ “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” แทรกซึมเข้ามาในวิถีชีวิต ยิ่งน่าจับตาหลังปลดล็อกดาวน์ และการสิ้นสุดการแพร่ระบาด จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

กล่าวสำหรับที่มาของ “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” คำๆ นี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551 เป็นแนวคิดของ Bill Gross ผู้จัดการกองทุนชื่อดังของสหรัฐฯ ที่โด่งดังในช่วงวิกฤตการเงินโลก กล่าวถึงพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เช่น การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต ที่ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

เช่นเดียวกับ การแพร่ระบาดของโควิด-19 อุบัติการณ์สั่นคลอนความปลอดภัยด้านสุขภาพของมวลมนุษยชาติ อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก เป็นผลพวงให้เกิดปรากฎการณ์ “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่”

ส่วนความหมายของความปกติใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ อธิบายง่ายๆ ก็คือหลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำธุรกิจค้าขาย การทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง ฯลฯ อันสืบเนื่องผลกระทบของเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนปรับตัวในการใช้ชีวิตขึ้นมา เช่น การทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home, การซื้อของออนไลน์แทนการไปเดินชอปปิง, สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ แทนการออกไปซื้อกินเอง, การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ฯลฯ

โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพอนามัย ผู้คนพากันสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ฯลฯ

“...วิกฤตโควิด-19 ทำให้โลกใบนี้เข้าสู่ภาวะปกติใหม่ ประเทศไทยก็เช่นกัน คำว่า New Normal หรือ ภาวะปกติใหม่ เข้าใจง่ายๆ คือ ต่อไปนี้หลายๆ อย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมคน ชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากิน การค้าขาย ฯลฯ เพราะทุกคนต้องปรับตัวจากสถานการณ์ที่บีบรัด จนกลายเป็นเรื่องปกติไปในที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดี แต่ใครบ้างที่จะก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และอยู่ต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลเองก็มีการเตรียมตัวในเรื่องนี้ ในการจะนำพาพี่น้องประชาชน นำพาประเทศเข้าสู่โลกใหม่ ใบเดิมที่ว่านี้”อีกประเด็นที่น่าจับตาไม่แพ้กัน ในส่วนของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนับจากนี้”

นั่นคือสิ่งที่ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับการปรับเข้าสู่ “ความปกติใหม่” หรือ “New Normal

ทั้งนี้ “ไอพีจี มีเดียแบรนด์ ประเทศไทย ได้วิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคหลังสิ้นสุดวิกฤตการณ์สั่นสะเทือนความปลอดภัยด้านสุขภาพว่าประกอบด้วย 8 พฤติกรรมหลักๆ ด้วยกัน

พฤติติกรรมที่ 1 งานบ้านหนักๆ ผลักไปบนโลกดิจิทัล (Digitized Chore) พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการอยู่บ้าน เพื่อเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม ผู้บริโภคใช้โทรศัพท์มือถือ หรือโลกออนไลน์ ในการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของใช้ในบ้าน อาหาร หรือข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น เรียกได้ว่าไม่มีกำแพงกั้นระหว่างการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านค้า กับการสั่งออนไลน์อีกต่อไป หลังจากวิกฤตนี้จบลง ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะยังคงซื้อสินค้าที่จำเป็นผ่านทางโลกออนไลน์ จึงคาดการณ์ได้ว่ายอดขายจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเพิ่มสูงขึ้น

พฤติกรรมที่ 2 การอยู่บ้านอย่างมีสไตล์ (In Home in Style) เป็นครั้งแรกที่ชีวิตบนโลกโซเชียลจะมาพร้อมโลกส่วนตัว เน้นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไร้การเสริมแต่งใดๆ ให้ดูดีขึ้นกล้อง ผู้บริโภคจะสั่งอาหารที่สะอาด ปลอดภัย มาในแพ็กเกจรักษ์โลก พร้อมถ่ายรูปลงอินสตาแกรมกันมากขึ้น และจะกลายเป็นความปกติแบบใหม่ ในการลงรูปอาหารบนโลกโซเชียล สิ่งนี้จะแทนที่ภาพการทำอาหารที่บ้าน ตามด้วยการรับประทานกันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว คาดการณ์ว่าจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป การช้อปปิ้งออนไลน์ในแต่ละครั้งจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ในจำนวนครั้งที่น้อยลง แน่นอนว่าการเดินทางไปซื้อของที่ร้านหรือค่าส่งอาหารจะลดลงไปด้วย

พฤติกรรมที่ 3 สะอาด ห้า สัมผัส (Sanitized of Five Senses) คาดว่าสินค้าและบริการต่างๆ หลายประเภท จะเป็นเครื่องมือในการยกระดับความสะอาดและสุขอนามัยให้กับผู้บริโภค โดยผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจะกลายเป็นของใช้ประจำวัน และผู้บริโภคยังคาดหวังให้ร้านค้าวางเจลแอลกอฮอล์รวมถึงมีบรรจุภัณฑ์ถูกสุขอนามัยให้ลูกค้า การเว้นระยะห่างและช่องชำระสินค้าแบบไร้การสัมผัสจะสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบใหม่ จุดชำระเงินจะต้องสะอาด ในด้านเทคโนโลยี การสั่งงานด้วยเสียงจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในสถานที่หรูหรารวมถึงร้านค้าปลีก

พฤติกรรมที่ 4 เก่งเทคโนโลยีการเงิน (Tech-finance Literacy) การคำนึงเรื่องความปลอดภัยทำให้ผู้บริโภคเลือกทำธุรกรรมทางการเงินโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น กลายเป็นความปกติแบบใหม่ด้านการเงิน สังคมไร้เงินสดที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งจะยังคงดำเนินต่อไป ปรากฏการณ์การให้ความสำคัญกับสุขอนามัยผนวกกับความสะดวกที่เกิดขึ้น ทำให้เราจะยังเห็นพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโลกดิจิทัล การใช้ดิจิทัลแบงกิ้ง (Digital Banking) หรือธนาคารแบบออนไลน์ แอปพลิเคชัน e-Wallet และการจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัลจะเป็นประตูเบิกทางไปสู่การทำทุกอย่างให้เป็นอีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

พฤติกรรมที่ 5 วิตกเรื่องสุขภาพ (Anxious about Health) แนวโน้มการดูแลป้องกันสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนเจนวาย (Gen Y) จะมีเพิ่มมากขึ้น และขยายไปยังช่วงวัยอื่นๆ เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลว่า การรักษาสุขภาพตนเองให้ดีอยู่เสมอจะช่วยป้องกันตนเองจากไวรัสได้ อาหารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความกังวลเรื่องสุขภาพของผู้บริโภค ในแต่ละวัน การหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการของโรค จะเป็นสิ่งที่คนทำมากที่สุด ในการสังเกตอาการของตนเอง และในยุคที่ทุกวัยเข้าถึงโลกดิจิทัลกันทั้งสิ้น การตรวจรักษากับแพทย์ผ่านระบบออนไลน์จึงเพิ่มมากขึ้น การให้คำปรึกษาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตแบบออนไลน์จะกลายเป็นสิ่งสำคัญด้านสุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้บริโภค

พฤติกรรมที่ 6 รูปแบบใหม่ของความเชื่อมั่น (Nouveau Trust)
ความเชื่อใจที่ถูกมองเป็นเรื่องที่มากับแบรนด์ดังต่างๆ จะถูกเปลี่ยนมุมมองไป เนื่องจากปัจจัยด้าน สุขอนามัย กลายเป็นหนึ่งในคุณค่าของแบรนด์ไปแล้ว ผู้บริโภคจะต้องการข้อมูลและคอนเทนต์ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะที่อยู่บนโลกโซเชียลเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าที่มีการตรวจสอบย้อนกลับได้ บรรจุภัณฑ์ของอาหารที่ผู้บริโภคสั่งมารับประทานและนำเข้าไมโครเวฟได้ จะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ถูกสุขอนามัย และปิดมิดชิด สินค้าของแบรนด์ใดที่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้จะได้รับความสนใจโดยผู้บริโภคคนไทยเพิ่มมากขึ้น

พฤติกรรมที่ 7 การเปลี่ยนคุณค่าของความนิยมและพฤติกรรมการเสพสื่อ (Conversion of Media Appreciation) ความต้องการที่มีพื้นฐานมาจากความตระหนักด้านสุขอนามัย จะส่งผลให้สื่อมีการปรับเปลี่ยน ทั้งการยกระดับด้านสุขอนามัย การปรับเปลี่ยนสื่อต่างๆ ทั้งในโรงภาพยนตร์ งานอีเวนต์ การทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่คำนึงถึงสุขอนามัยสูง ผู้บริโภคจะใช้เวลาในโลกออนไลน์ยาวนานขึ้น รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ จะถูกเชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อ อันเป็นผลจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค และการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

การรวมพลังทางสังคมจะเกิดขึ้นและแข็งแกร่งกว่าครั้งใดๆ นำไปสู่การลดความแตกแยก เนื่องจากมีการคำนึงถึงส่วนรวม แทนการคำนึงถึงแต่ส่วนตน ข่าวปลอมต่างๆ จะลดน้อยลง สัญญาณข้อมูลต่างๆ (Data Signal) จะมีความละเอียดมากขึ้น โดยจะถูกนำไปผูกกับการระบุพิกัด (Geolocation) โดยผู้บริโภคจะยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

และ พฤติกรรมที่ 8 การผสานกันของบ้านและหน้าที่ (Evolving of Home and Duty) การทำงานจากที่บ้านหลายสัปดาห์ได้ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจความหมายของการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมากขึ้น และจะถวิลหาความรู้สึกเหมือนอยู่ที่บ้านเวลาไปที่ทำงาน และความรู้สึกของการทำงานจากที่บ้าน เพื่อบริหารจัดการชีวิตให้มีประสิทธิภาพ สิ่งนี้ไม่ต่างจากการเรียนหนังสือจากที่บ้าน ซึ่งมีความเป็นไปได้ในอนาคต และหลายคนตั้งคำถามว่าการเรียนหนังสือจากที่บ้านอาจเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเด็กในยุคเจนซี (Gen Z) และเจเนอเรชันอัลฟ่า (Alpha Generation) หรือไม่

ดังนั้น ต้องยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ที่ยังไม่มีวี่แววสิ้นสุดในเร็วๆ นี้ ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายอย่าง และเป็นไปได้ว่าหากสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภครูปแบบเหล่านี้ จะยังคงอยู่และกลายเป็น “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” ที่เกิดขึ้นในโลกใหม่ใบเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น