xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ก่อน “บริจาค” ต้องคิด ผิดที่ไม่มีการ “จัดระเบียบ” เพราะคนไม่กลัวโควิด...กลัวอดตาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จากกรณี “ผู้ใจบุญ” นำสิ่งของต่างๆ มาบริจาคช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ซึ่งหลายพื้นที่เกิดภาพความโกลาหล ด้วยฝูงชนตบเท้าฝ่าความกลัว “โควิด-19” รวมตัวชุมนุมรับสิ่งของบริจาค ไม่หวั่นแม้เสี่ยงติดเชื้อ เบียดเสียดกรูกันไปรับสิ่งของอาหารและเงินบริจาค กระทั่งเรื่องราวลุกลามใหญ่โตเมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี “ผู้บริจาค” ฐานฝ่าฝืน “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เพราะเป็นต้นเหตุสร้างความชุลมุนวุ่นวาย ให้เกิดการชุมนุมของผู้คนจำนวนมากเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ กลายเป็น “ดรามา” ที่ร้อนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

คำถามมีอยู่ว่า เรื่องนี้ใครต้องรับผิดชอบ

ผู้บริจาคหรือเจ้าหน้าที่ผู้บังคับกฎหมาย


หรือเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องทบทวนและหามาตรการป้องกันร่วมกัน ด้วยผลที่ตามนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การ Super Spreader หากแม้เพียงคนเดียวในกลุ่มนั้นมีเชื้ออยู่

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์ก็จะพบความจริงว่า บรรยากาศการแจกสิ่งของหลายพื้นที่ชุลมุนควบคุมไม่ได้ ประชาชนยืนประชิดกันรอรับสิ่งของเนื่องแน่น โดยไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตามมาตรการของรัฐ ซ้ำร้ายบางแห่งเกิดเหตุฝูงชนวิ่งกรูเบียดเสียดเพื่อมารับของบริจาค ก่อเหตุทะเลาะวิวาทถึงขั้นลงไม้ลงมือ

อีกทั้งในบรรดาผู้ที่มารอเข้าคิวรับสิ่งของอาหารและเงินบริจาค ทุกคนประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเกิดกรณี “มาเฟียของแจก” จัดคิวเวียนรับสิ่งของบริจาค ทำให้คนเดือดร้อนจริงๆ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นเหตุนำไปสู่การ “ดำเนินคดีกับผู้ใจบุญ” ในความผิดฐาน “ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการจัดกิจกรรมมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ"

นอกจาก เกิดกังวลในการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ที่ไม่มีการจัดระเบียบเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งเสี่ยงให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ ยังเกิดเสียงติติงไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินคดีกับผู้จิตศรัทธาว่ากระทำการเกิดกว่าเหตุ...หรือไม่?

ดังเช่น กรณี ย่านหัวลำโพง จ.กรุงเทพฯ มีผู้ใจบุญขับรถกระบะนำสิ่งของและเงินมาบริจาคแก่ผู้ยากไร้คนเร่ร่อนในบริเวณนั้น ปรากฏว่ามีผู้คนจำนวนมากรอรับสิ่งของบริจาค และเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายกัน ภายหลังเจ้าหน้าตำรวจตรวจพบว่า มิได้จัดการให้ประชาชนที่มารับบริจาค มีการเว้นระยะห่าง หรือ มีการควบคุมเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค จึงดำเนินคดีกับผู้ใจบุญ

กรณี จ.ภูเก็ต บริเวณวงเวียนหอ กลุ่มหนุ่มสาววัยรุ่นใจบุญ รวมเงินจัดซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคมาบรรจุถุงทำเป็นถุงยังชีพกว่า 1,000 ถุง นาฬิกา จ.ภูเก็ต มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กมีผู้คนมาเขาคิวเบียดเสียดนับพัน มีการวิ่งกรูเข้าเพื่อรับของ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองภูเก็ต แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ใจบุญ ด้วยผู้แจกไม่ได้สร้างระบบการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างและต้องการให้สังคมรับรู้ว่าทำแบบนี้ทำไม่ได้ จึงส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ ศาลแขวงภูเก็ต สั่งฟ้องและผู้พิพากษาได้ตัดสินลงโทษจำคุก รอลงอาญาไว้ และปรับเป็นเงิน 1,000 บาททางตำรวจมีความจำเป็นซึ่งที่ผ่านมาได้ประชาสัมพันธ์ไปหลายครั้งแล้วข้อมูลอาจไปไม่ถึง จึงต้องการสร้างความรับรู้ว่าผู้มีจิตศรัทธา จะบริจาคสิ่งของใดขอให้ติดต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบ ทำให้เป็นมาตรฐานเพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบกติกา” พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ
ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าว

หรือ กรณี จ. นครปฐม หญิงสาวจิตอาสาผู้ใจบุญ นำโจ๊กหมู 250 ถุง และข้าวกล่อง 50 กล่อง แจกจ่ายให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากโควิด-19 บริเวณหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่เทศบาลนครปฐมเข้ามายึดโจ๊กทั้งหมด ระบุว่าเป็นการกระทำฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนโจ๊กและข้าวกล่องทั้งหมด เจ้าหน้าที่ฯ ยึดไปแจกจ่ายเอง สุดท้ายเกือบถูกดำเนินคดี แต่เทศบาลฯ ผ่อนปรนตามกระแสสังคมเข้ามาจัดระเบียบดูแลในครั้งถัดไป โดยกำหนดให้ทำตามระเบียบขออนุญาตทางการเสียก่อน

โดยก่อนหน้านี้ เกิดกรณีแจกเงินบริเวณหน้าห้างมีโชคพลาซ่า จ.เชียงใหม่ หนุ่มใจบุญ แจกเงินเป็นธนบัตรใบละ100บาท เป็นเหตุให้ผู้คนจำนวนมากพากันวิ่งกรูเบียดเสียดเพื่อรับเงินบริจาค ไม่เพียงเป็นภาพอันน่าสลดหดหู่ใจ เนื่องจากผู้คนเดือดร้อนต่างพากันแย่งรับความช่วยเหลือ ยังเกิดความกังวลว่าการรวมกลุ่มคนจำนวนมากที่ไม่มีการจัดระเบียบเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 เสี่ยงให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ

รวมทั้ง กรณี แจกเงินในย่านดอนเมือง จ.กรุงเทพฯ โดยผู้ใจบุญแจกให้กับประชาชนทั่วไป 500 บาทและผู้ขับแท็กซี่คนละ 1,000 บาท รวมทั้ง มีการสิ่งของอุปโภคบริโภค มูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท ปรากฏว่าทั่วบริเวณอัดแน่นไปด้วยฝูงชนมาเข้าแถวรอรับบริจาค

กล่าวสำหรับสถานการณ์ฝูงชนแห่รับแจกสิ่งของอาหารและเงินที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) กล่าวแสดงความกังวลและแนะนำให้ประชาชนทุกท่านที่ไปร่วมชุมนุมรับสิ่งของบริจาค ถือเป็น “กลุ่มเสี่ยง” ขอให้เฝ้าระวัง สังเกตอาการตัวเอง หากพบว่ามีไข้ หรือไอแห้ง ขอให้ไปพบแพทย์โดยด่วน โดยฝากถึงผู้ใจบุญทุกท่าน หากคิดจะบริจาคหรือช่วยเหลือพี่น้องประชาชนขอให้มีการจัดระบบที่ดี เพื่อไม่ให้เกิด Super Spreader

อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เปิดเผยถึงการดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับคนแจกอาหารและเงินให้ประชาชน ที่ไม่ได้จัดให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) หรือควบคุมเพื่อป้องกันความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอมรับว่าเข้าเจตนาดีของผู้ที่นำสิ่งของมาบริจาคมีความหวังดีที่อยากช่วยเหลือประชาชน แต่ประเด็นสำคัญต้องขอให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักเขต, ฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน เพื่อจะได้เตรียมพื้นที่และจัดระเบียบให้ถูกสุขอนามัย เข้ากับการบริหารจัดการลดการแพร่ระบาดไวรัสโรคโควิด-19 เมื่อเป็นความผิดทางกฎหมายจำเป็นต้องดำเนินคดี

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด กรณีประชาชนและภาคเอกชนมีจิตศรัทธาให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภค อาหาร และเงิน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

กระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 11 มาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยทำความเข้าใจกับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคให้ประสานกับจังหวัด หรืออำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทราบก่อนการแจกจ่ายมอบสิ่งของเพื่อช่วยในการจัดการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนถือปฏิบัติตามหลักการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเคร่งครัด โดยให้จังหวัดจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลให้เป็นระเบียบ เพื่อให้การส่งมอบความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ขณะที่เฟซบุ๊ก เพจไทยคู่ฟ้า ได้เผยแพร่แนวทางสำหรับประชาชนที่มีจิตศรัทธา โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ตั้งใจนำอาหารหรือสิ่งของมาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 แต่หากทำไม่ถูกวิธีอาจเป็นแหล่งชุมนุมที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้

กำหนด 3 แนวทาง สำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคหรือแจกสิ่งของให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและห่างไกลจากการแพร่เชื้อ ดังนี้ 1. การแจกตามบ้านโดยการเคาะประตูบ้านแจก ให้ประสานกับสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนเพื่อขอคำแนะนำ วิธีการที่ถูกต้องและปลอดภัย 2. การบริจาคให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่ต้องการ 3. การจัดจุดแจกสิ่งของในพื้นที่ 50 เขต ใน 3 ช่วงเวลา คือ เช้า เวลา 07.00 – 09.00 น., กลางวัน 11.00 – 13.00 น. และ เย็น เวลา 16.00 – 18.00 น.

ย้ำเตือนว่า การแจกอาหารหรือสิ่งของต้องติดต่อกับสำนักงานเขตในพื้นที่ก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดเจ้าหน้าที่ดูแลและจัดระเบียบการแจก รวมถึง เตรียมแอลกอฮอล์ล้างมือ การตรวจวัดไข้ และจัดระยะห่างสำหรับประชาชนที่จะมารับสิ่งของ พร้อมกันนี้ กทม. จัดทำระบบ BKK HELP สำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มีความประสงค์จะแจกอาหารหรือสิ่งของด้วยตนเอง และได้กำหนดจุดแจกสิ่งของไว้ทั้งสิ้น 71 จุด

ท้ายที่สุด ทุกคนต้องยอมรับกติการ่วมกัน ต้องไม่ลืมว่าอยู่ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์ไม่ปกติต้องรับผิดชอบดูแลตัวเองและส่วนรวม ให้ความร่วมมือกับรัฐปฏิบัติตามแนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

แม้เกิดเหตุติดขัดในการบริจาคสิ่งของดังเช่นกรณีที่กล่าวมา แต่เชื่อว่าธารน้ำใจของผู้มีจิตศรัทธายังคงหลั่งไหลไปยังพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง ข้อสำคัญต้องขออนุญาตทางการและมีการจัดการระบบที่ดี เพื่อให้เราทุกคนฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น