xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อไทยต้อง “เปิดเมือง” สู้ “โควิด” ระวังเจอ “ปิดรอบ 2” แบบ “สิงคโปร์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สังเกตอากัปกิริยาของผู้คนในห้วงเวลานี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า สุ่มเสียงจำนวนมากมีความปรารถนาที่จะให้รัฐบาล “ผ่อนคลาย” มาตรการ “ล็อกดาวน์” เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ** ลงบ้าง โดยเฉพาะข้อจำกัดต่างๆ ในการทำมาหากินและการดำรงชีวิตประจำวัน

เหตุผลสำคัญมี 2 ประการคือ

หนึ่ง-ประชาชน โดยเฉพาะคนชั้นกลางและคนชั้นรากหญ้าไม่มีทุนรอนเพียงพอที่จะใช้ชีวิตในลักษณะดังกล่าวอีกต่อไป แม้รัฐจะมีมาตรการ “เยียวยา” ออกมา แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่การประคับประคองชีวิตให้อยู่รอดเท่านั้น

หรือหมายความว่า ยิ่ง “ปิดเมือง” นานเท่าไหร่ ผลกระทบที่มีต่อคนจนและคนชั้นกลางก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเท่านั้น และนั่นจะส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


และสอง-ประชาชนเห็นว่า นับแต่รัฐบาลโดยประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีจำนวน “ผู้ติดเชื้อ” ของประเทศไทยลดลงมาเป็นลำดับ

เห็นได้ชัดว่า ณ เวลานี้ ผู้คนเริ่มสัญจรไปมาบนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับจากช่วงแรกที่ มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางในเขตกทม.และปริมณฑล

มีข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมว่า เมื่อวันอังคารที่ 21 เม.ย. รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง มีผู้โดยสาร จำนวน 102,570 คน รถไฟฟ้า BTS มีผู้โดยสาร 174,880 คน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มีผู้โดยสาร 14,886 คน เปรียบเทียบกับ วันอังคารที่ 14 เม.ย. รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง มีผู้โดยสาร จำนวน 90,261 คน รถไฟฟ้า BTS มีผู้โดยสาร 157,300 คน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มีผู้โดยสาร 13,469 คน

ขณะที่ เรือแสนแสบ และเรือด่วนเจ้าพระยา มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว โดยวันอังคารที่ 21 เม.ย. เรือแสนแสบ มีผู้โดยสาร 6,412 คน เรือด่วนเจ้าพระยา มีผู้โดยสาร 4,425 คน เปรียบเทียบกับ วันอังคารที่ 14 เม.ย. เรือแสนแสบมีผู้โดยสาร 3,465 คน เรือด่วนเจ้าพระยา มีผู้โดยสาร 3,420 คน

ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) รายงานตัวเลขผู้โดยสารรถ ขสมก. ในวันที่ 21 เม.ย. มีจำนวน 370,110 คน เพิ่มขึ้นจากวันที่ 14 เม.ย. ที่มีผู้โดยสารจำนวน 330,953 คน ขณะที่หากดูย้อนไปช่วงเดือนมี.ค. ก่อนที่จะมีการประกาศเคอร์ฟิว ผู้โดยสารรถขสมก.มีกว่า 7 แสนคนต่อวัน

แน่นอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ (ศบค.) ยอมรับรู้สัญญาณดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ทว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจในฉับพลันทันที ด้วยมีตัวอย่างในหลายประเทศที่ผ่อนคลายการล็อกดาวน์และส่งผลทำให้การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงอีกครั้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “ประเทศสิงคโปร์”

สิงคโปร์เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นโมเดลที่ชาติอื่นๆ พึงกระทำตามมาก่อน ในเรื่องวิธีจัดการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการเข้มงวดกวดขันจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศ รวมทั้งปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพในการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งสามารถยับยั้งการระบาดของไวรัสไม่ให้ปะทุรุนแรงได้ ทว่า ในระยะไม่กี่วันหลังๆ มานี้ จำนวนของเคสที่ยืนยันว่าติดเชื้อกลับขึ้นทะยานลิ่ว โดยมีต้นเหตุมาจากผู้คนจำนวนหลายพันเดินทางกลับสิงคโปร์จากพวกประเทศซึ่งไม่ได้มีมาตรการป้องกันเข้มแข็งและ ปรากฏว่าในหมู่ผู้คนเหล่านี้ มีกว่า 500 คนซึ่งนำเอาเชื้อไวรัสกลับมาพร้อมพวกเขาด้วย รวมถึงปัญหาการพักอาศัยของแรงงานต่างชาติในหอพักที่มีความแออัด

ญี่ปุ่น” ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะ “หยุดยาแรง” แล้วหรือยัง? โดยเฉพาะประชาชนคนไทยมี “ความเข้มแข็ง” พอที่จะรับมือกับไวรัสมรณะแล้วใช่หรือไม่


“ขณะนี้หลายอย่างก็ดีขึ้น สถิติผู้ติดเชื้อก็ลดลงมาตามลำดับหลายวันมาแล้ว ก็คงต้องดูต่อไปเพื่อดำเนินการขั้นตอนต่อไปในระยะต่อไป อย่าเพิ่งผลีผลาม หลายท่านก็เรียกร้องให้มีการปลดโน่นปลดนี่กันในเวลานี้ ผมคิดว่าเราต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ต้องฟังข้อมูลจากด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ต่างๆ และบริการอื่นๆ เรามีบริการรองรับเพียงพอแล้วหรือไม่ ผมไม่ต้องการให้มีการตัดสินใจด้วยแรงกดดันหลายๆอย่าง ตนอยากให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ ถ้าเราเริ่มอะไร หรือปลดอะไรเร็วเกินไป สิ่งที่จะตามมาหากมีการระบาดเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดในระยะเวลานานพอสมควรก็จะล้มเหลวทั้งหมดแล้วจะทำอย่างไร

“จะมีการพิจารณา พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันอังคารที่ 28 เม.ย. ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับความร่วมมือ และสถิติจากสาธารณสุขเป็นหลัก ขณะที่การผ่อนปรนให้มีการใช้ดุลยพินิจ เช่น เรื่องขนส่งสินค้าของประชาชน ให้กระทรวงมหาดไทยดูแล แต่มีการผ่อนปรนอยู่แล้ว อาจยังไม่เข้าใจกัน อย่างไรก็ตามตัวเลขการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีอยู่ ยังไม่น่าพอใจ ถ้าร่วมมือกันมากการผ่อนปรนก็จะมากขึ้นในอนาคต”

นั่นคือคำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวถึงการคลายล็อกดาวน์ที่ดังกระหึ่มอยู่ทุกซอกมุมของสังคมด้วยความหวัง

จากคำตอบข้างต้นก็พอทำให้เห็นว่า การจะตัดสินใจไปในทิศทางไหนขึ้นอยู่กับ “ข้อมูล” เป็นสำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการยกเลิกล็อกดาวน์จะยังไม่เกิดขึ้น ทว่า อาจจะมี “การผ่อนปรน” บ้างซึ่งมีความเป็นไปได้สูง

ตัวเลข ณ วันที่ 23 เมษายน 2563 ศบค.รายงานว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่จำนวน 13 ราย (จากเคยสูงสุด 188 ราย ช่วงวันที่ 22 มีนาคม) หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 78 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 2,839 ราย หายป่วยรวม 2,430 ราย เสียชีวิตรวม 50 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 359 ราย

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ขณะนี้ประชาชนตระหนักถึงภยันตรายของโควิด-19 ไปในทิศทางที่น่าพอใจ ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้คนใส่หน้ากากอนามัยกันทั้งประเทศ และสามารถพบเห็นแอลกอฮอล์เจลล้างมือทั่วทุกหนแห่ง

ขณะที่การแพร่ระบาดก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ มี 9 จังหวัดที่ปลอดโรค มี 9 จังหวัดไม่มีผู้ป่วยในช่วง 28 วัน มี 32 จังหวัด มีรายงานในช่วง 14-28 วัน มี 13 จังหวัดมีรายงานใน ช่วง 7-14 วัน และมี14 จังหวัด รายงานผู้ป่วยช่วง 7 วัน โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคมากกว่า 1 พันราย ได้แก่ กทม. 10,942 ราย ยะลา 4,060 ราย นนทบุรี 3,578 ราย ชลบุรี 1,844 ราย ภูเก็ต 2,136 ราย และสมุทรปราการ 1,285 ราย(ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน)

ส่วนเรื่องการเฝ้าระวังก็ต้องยอมรับว่า อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) 1,040,000 คนทั่วประเทศ รวมทั้ง **“ฝ่ายปกครองคือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” ถือเป็นกำลังสำคัญที่พร้อมเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อและค้นหาผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะ อสม.นั้นมีความเข้มแข็งจนได้รับคำชมจาก “องค์การอนามัยโลก”

“เราตรวจ RT-PCR หาเชื้อไวรัสมาแล้ว 142,589 ตัวอย่าง (ตัวเลข ณ วันที่ 17 เมษายน) และมีขีดความสามารถตรวจได้วันละ 20,000 ตัวอย่าง แต่ทุกวันนี้มีผู้เข้าเกณฑ์ตรวจหาเชื้อเพียง 3,000 - 4,000 ตัวอย่าง (ทั้งๆที่เกณฑ์ตรวจเชื้อเปิดกว้างมากแล้ว) ดังนั้นจึงมีขีดความสามารถคงเหลืออีก 16,000 ตัวอย่างต่อวัน

“เรามีเตียงที่รองรับผู้ป่วยโควิดทั้งประเทศ 15,095 เตียง เป็น เตียง ICU 4,681 เตียง, ห้องแยก Isolation Room 3,748 เตียง, ห้องผู้ป่วยรวม Cohort Ward 4,533 เตียง, Hospitel (กรุงเทพมหานคร) 522 เตียง และเตียงสนาม (ต่างจังหวัด) 1,611 เตียง และเรามีเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) รองรับผู้ป่วยโควิด 12,735 เครื่อง”

นั่นคือข้อมูลจาก “หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” ที่ปรึกษาของ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่มีความเห็นว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะ “เปิดเมือง” แต่ต้องเป็นการเปิดเมืองอย่างมีขั้นตอนและปลอดภัยตามข้อเสนอแนะของกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ในเรื่องการผ่อนปรนการล็อกดาวน์นั้น สธ.ได้มีการประชุมพิจารณามาเป็นระยะๆ และในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ก็พอจะทำให้เห็นภาพว่าสถานการณ์จะดำเนินไปในลักษณะใด

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผย ภายหลังการประชุมว่า การผ่อนปรนมีเงื่อนไขสำคัญ 5 ประการคือ

หนึ่ง-ต้องมีความเข้มข้นในมาตรการการตรวจคัดกรองคนเข้าประเทศ ต้องกักผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศตามมาตรฐาน 14 วัน เพราะยังมีการนำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามา ทุกจังหวัดต้องมีระบบค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง อยู่กันแออัด เช่น ในชุมชน แรงงานต่างชาติ หรือที่มีความเสี่ยงต่างๆ มาตรการสาธารณสุขจะเป็นพื้นฐาน จะต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้น

สอง-ทุกสังคม ทุกองค์กร ต้องสร้างข้อตกลงในเรื่องของสุขลักษณะที่ถูกต้อง ได้แก่ ออกที่สาธารณะต้องสวมหน้ากากอนามัย การอยู่ห่าง เพราะฉะนั้น การใช้ชีวิตจะไม่เหมือนเดิม

สาม- ภาคธุรกิจ ขณะนี้มีคนตกงาน 7-10 ล้านคน ภาคธุรกิจต้องปรึกษาหารือกันว่า กิจการใดเป็นกิจการเสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง เสี่ยงต่ำ และพยายามปรับธุรกิจหรือกิจการต่างๆ ที่มีความเสี่ยงให้ลดความเสี่ยงลงน้อยที่สุด

สี่-กิจการที่มีความเสี่ยงสูงมากจะต้องปิดยาว ได้แก่ สถานบันเทิง ผับบาร์ คลับ คาราโอเกะ ไนต์คลับ จากนั้นจึงจะพิจารณาผ่อนปรน เปิดให้บริการกิจการประเภทความเสี่ยงต่ำ และ ความเสี่ยงกลาง เพื่อให้กิจการต่าง ๆ เดินหน้าได้ ซึ่งกิจการประเภทความเสี่ยงต่ำ ก็ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหาร, ร้านตัดผม ส่วนกิจการประเภทความเสี่ยงกลาง เช่น ห้างสรรพสินค้า แต่ทั้งนี้จะต้องออกแบบมาตรการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการ เพื่อลดจำนวนความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด ด้วย

และห้า- เฝ้าระวังอย่างเรียลไทม์ ทันเหตุการณ์ เพื่อรู้ว่าสถานการณ์แต่ละจุดเป็นอย่างไร หากเกิดมีการแพร่ระบาดอีกครั้ง จะได้สามารถติดตามสถานการณ์ได้ทัน

ที่สำคัญคือ มาตรการผ่อนปรนต่างๆ ถ้าเกิดขึ้นจริงก็มีความชัดเจนเช่นกันว่า จะไม่พร้อมกันหมด 77 จังหวัด หากแต่จะแบ่งเป็นพื้นที่ตามข้อมูลของสธ.ที่จัดกลุ่มจังหวัด คือ กลุ่ม 32 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยในรอบ 2 สัปดาห์ ถือว่ามีการติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำ กลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่อาจจะมีการทดลอง 3 - 4 จังหวัดก่อน จากนั้น 2 สัปดาห์ถ้าสถานการณ์เรียบร้อยดี ก็จะเป็นกลุ่ม 38 จังหวัดที่มีการติดเชื้อประปราย เพราะถึงเวลานั้นจังหวัดเหล่านี้คงมีผู้ป่วยน้อย และจะเป็นกลุ่ม 7 จังหวัดที่มีการติดเชื้อต่อเนื่อง แต่ไม่มีการระบาดใหญ่ ก็จะเป็น 2 สัปดาห์ถัดไป คือ ต้นเดือนมิถุนายน

ส่วน กทม.และนนทบุรี เป็น2 จังหวัดนี้ที่จะพิจารณาเป็นลำดับ “สุดท้าย” และพิจารณาเป็นพื้นที่

ขณะที่ “ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การควบคุมการระบาดให้หมดไปแบบ SARS คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะระบาดไปทั่วโลก จึงเป็นการยากที่จะทำให้เป็นศูนย์ ดังนั้นการจะใช้ตัวเลขให้โรคโควิด-19 หมดไปเป็นศูนย์ ภายใน 14 วัน หรือ 28 วัน คงจะเป็นการยาก เพราะฉะนั้นหากเปิดประเทศ ต้องรักษาระยะห่างเพื่อความสมดุล การประกอบอาชีพหลายอย่างอาจเปลี่ยนไปบ้าง ภาวะเศรษฐกิจ สังคม จะต้องอยู่ในจุดสมดุล ถ้าต้องการให้โรคหมดไป ภาวะเศรษฐกิจและสังคมก็จะอยู่ในภาวะลำบากมาก ถ้ากลับไปอยู่สภาพเดิมของภาวะเศรษฐกิจและสังคม เราก็จะควบคุมการระบาดของโรคไม่ได้

การเปิดประเทศ เปิดเมือง ขยายกิจกรรมต่างๆ จะต้องค่อยเป็นค่อยไป พร้อมทั้งนี้กฎเกณฑ์ในการให้ โควิด 19 พบน้อยที่สุด กิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำมากๆจะต้องยอมให้เปิดก่อน แต่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ กำหนดระยะห่างของสังคม การดูแลเรื่องสุขอนามัย การเข้าค้นหาผู้ป่วยให้เร็วที่สุด การควบคุมโรค ไม่ให้แพร่ขยายต่อได้ ทุกคนต้องช่วยกันเฝ้ามองและเคารพในกฎเกณฑ์ กลุ่มเสี่ยงยังคงต้องอยู่บ้าน ผู้ออกนอกบ้านจะต้องคำนึงถึงคนในบ้านไม่นำพาโรคเข้ามาโดยเฉพาะให้กับผู้สูงอายุ


นอกจากนั้น การประกอบอาชีพหลายอย่างอาจจะต้องเปลี่ยนไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่น การตัดผม เสริมสวย จะต้องเคร่งครัดใส่หน้ากากอนามัยทั้งสองฝ่ายและพูดคุยกันให้น้อยที่สุด กำหนดระยะห่างภายในร้าน หรือมีการนัดคิว นัดเวลา ไม่ควรรอในร้านหลายคน การเปิดห้างจะทำอย่างไรให้คนไปซื้อของที่จำเป็น และอยู่ภายในเวลาน้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีคนจำนวนมาก ลดการสัมผัสระหว่างคน ร้านอาหาร จะต้องจำกัดคนที่รับประทานในร้าน กำหนดระยะห่าง ให้เน้นการซื้อกลับบ้าน ทุกคนควรอยู่บ้าน การทำงานที่บ้าน ยังคงจะต้องอยู่ไประยะหนึ่ง สถานบันเทิง การแข่งกีฬา ที่อนุญาตให้คนเข้าชมควรจะต้องงด เพราะถือเป็นความเสี่ยงสูง

“ทำอย่างไรเราจะไม่ให้เกิดคลื่นลูกที่ 2 เพราะเราควบคุมคลื่นลูกแรกได้ดีแล้ว การเกิดจำนวนน้อยที่อยู่ในปริมาณที่เราควบคุมได้ และระบบสาธารณสุขรองรับได้ จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และลดการศูนย์เสียทั้งทางสุขภาพร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกันให้ทุกคนอยู่ได้”หมอยงให้ความเห็น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องตระหนักเพราะถือเป็น “จุดอ่อน” ที่ประเทศไทยยังเหลืออยู่ก็มีอยู่เช่นกัน นั่นคือระบบการตรวจที่เน้น “กลุ่มเสี่ยงที่เข้าเกณฑ์” เป็นหลัก ดังนั้นอาจจะมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงมีโอกาสแพร่เชื้ออยู่ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่แสดงอาการช้า หรือหลบเลี่ยงไม่เข้าไปตรวจหรือไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่อง “เชื้อนำเข้า” ดังที่เกิดกับสิงคโปร์ ซึ่งประเทศไทยเองก็มีการเดินทางเข้าออกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 2,660,159 คน ตามข้อมูลของสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว

แต่จะปิด จะเปิดหรือจะคลายล็อกเมื่อไหร่นั้น ไม่สำคัญเท่ากับว่า ถึงจะอย่างไรโอกาสที่ “คนไทย” และคนทั้งโลกจะกลับมาใช้ชีวิตเป็น “ปกติเหมือนเดิม” เหมือนเช่นก่อนเกิดการระบาดของ “โควิด-19” นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน...


กำลังโหลดความคิดเห็น