xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เวอร์ชั่นผ่อนปรน ช่วยบางอาชีพหายใจ แต่ยังหนัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
อีก 1 เดือนเป็นอย่างต่ำ ตามคิวที่ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เตรียมจะประกาศขยายเวลาประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเร็วๆ นี้ เช่นเดียวกับการประกาศเคอร์ฟิว

เพราะแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อเทียบกับทั่วโลกแล้วถือว่า ทำได้ในระดับดีมาก หากแต่ตราบใดที่ยังไม่มี “วัคซีน”ทุกตารางนิ้วบนพื้นที่โลกย่อมมีความเสี่ยง

โดยเฉพาะบทเรียนจากสองชาติที่ชนะคะแนนไวรัสโควิด-19 ในยกแรกได้อย่าง “ญี่ปุ่น”และ“สิงคโปร์” จนชะล่าใจ ผ่อนคลายมาตรการลง จนเป็นเหตุให้มีการกลับมาระบาดอย่างหนักอีกครั้ง ทำให้รัฐบาลไม่กล้าจะที่จะผ่อนคลายโดยเร็ว

แม้ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทยจะอยู่ที่ไม่เกิน 30 ต่อรายในแต่ละวัน หากแต่ผู้ป่วยเพียงรายเดียวสามารถทำให้ประเทศกลับมาระบาดหนักได้ จึงเป็นเหตุผลให้ต้องขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน

แต่กระนั้น ปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจทำให้รัฐบาลสามารถเข้มข้นเหมือนช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา คือสภาพความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทำให้ต้อง “หย่อน”เพื่อให้สองปัญหาที่คาบเกี่ยวกันคือ การป้องกันการแพร่ระบาดและสภาพเศรษฐกิจเดินคู่ไปด้วยกันได้ จึงต้องผ่อนคลายในบางส่วนเร็วกว่ากำหนด

แม้ใจอยากจะเข้มข้นทุกพื้นที่สักอีก 1 เดือน แต่ไม่สามารถทำได้ จึงต้องหารือกับทีมแพทย์และนักวิชาการ เพื่อหามาตรการป้องกันในช่วงที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการลง

สำหรับแนวทางการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุข ระดมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คณบดีจากคณะแพทย์ เสนอกับ “บิ๊กตู่”คือ

1. หน่วยงานด้านสาธารณสุข ต้องเพิ่มความเข้มข้นมาตรการตรวจคัดกรองคนติดเชื้อในประเทศ เข้มงวดกับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ มีการกักเฝ้าสังเกตอาการ 14 วันในสถานที่ที่กำหนด การค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ในชุมชนแออัด

2. คนไทยทุกคน ทุกชุมชน ทุกสังคม ต้องร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน การมีระยะห่างทางกาย งดการชุมนุม กลุ่มเสี่ยงยังควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน

3. ภาคธุรกิจต้องประเมินความเสี่ยง และปรับการดำเนินการให้มีความเสี่ยงต่ำ เช่น มาตรการตรวจวัดไข้ เว้นระยะห่างทางกาย การทำความสะอาดมือ การลดจำนวนผู้คนที่มาติดต่อใช้บริการ

4. ปิดบริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เป็นแหล่งแพร่ระบาดได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศทั้งตรงและแฝง สนามการพนัน ต้องปิดในระยะยาว สำหรับการปิดกิจการในอนาคต ควรใช้วิธีปิดแบบจำเพาะที่เป็นปัญหา และคงความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

5. เฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ

แต่ไม่ได้หมายความว่า จะผ่อนปรนทุกพื้นที่ แต่จะดูจังหวัดที่มีการติดเชื้อต่ำเริ่มจากกลุ่มจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีประมาณ 32 จังหวัด ที่สามารถเริ่มได้ในต้นเดือน พ.ค. หรืออาจนำร่องทดลองปลายเดือนเม.ย.

ขณะที่ระยะต่อไปจะเริ่มในกลุ่มที่สอง คือ จังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่แบบประปราย ซึ่งมีประมาณ 38 จังหวัด จะเริ่มใช้ประมาณกลางเดือน พ.ค.

ส่วนกลุ่มที่สาม คือจังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีประมาณ 7 จังหวัด และมี กทม.อยู่ในนั้นด้วย หากสามารถลดการระบาดและไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ สามารถผ่อนปรนเปิดได้ต้นเดือนมิ.ย.นี้

เป็นการ “กึ่งปลดล็อก” ในบางพื้นที่เท่านั้น

สาเหตุที่ “บิ๊กตู่”ต้องกำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอาไว้ อย่างน้อยหากสถานการณ์กลับมาเลวร้ายลงในพื้นที่ไหน สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายตัวนี้ ออกประกาศต่างๆ ได้ทันท่วงที

แน่นอนว่า การต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเคอร์ฟิว ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากประชาชนยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้

แม้จะมีการผ่อนคลาย แต่เป็นเพียงบางสาขาอาชีพ และบางพื้นที่เท่านั้น อาจจะลดปริมาณผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องว่างเว้นจากงานและรายได้ไปได้ แต่ไม่ได้มีผลอะไรมากมายนัก เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบมีมากกว่า

มีหลายอาชีพที่ยังเปิดไม่ได้ ซึ่งมีการจ้างงานจำนวนมาก ทั้งสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ไหนจะบรรดาอีเวนต์ต่างๆ ที่ไม่สามารถนำคนมาร่วมกลุ่มได้

ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน แต่หลังประเทศไทยจำกัดคนเข้าประเทศ จะยังซบเซาต่อไป อันหมายถึงผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง

เพียงแต่ว่า ไม่สามารถเข้มข้นต่อไปได้ เพราะรัฐบาลเองก็ไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที และทั่วถึงได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ซึ่งในช่วงคงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ รัฐบาลจะต้องเร่งเยียวยาสาขาอาชีพที่ยังกลับมาเปิดปกติไม่ได้ให้ได้โดยเร็วและทั่วถึงที่สุด เพื่อลดแรงเสียดทานและความเดือดร้อนจากการบังคับใช้กฎหมายด้วยยาแรงชนิดนี้ เพื่อให้การร่วมมือยังคงอยู่ต่อไป

สำหรับรัฐบาล การต่อหรือต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลกระทบแทบทั้งสิ้น ซึ่งต้องเลือกจุดที่สมดุลที่สุด นั่นคือ ตึงไปมากก็ไม่ได้ เพราะประชาชนได้รับผลกระทบหนักหน่วง แต่จะหย่อนมากก็ไม่ได้ เพราะหากปล่อยให้มีการระบาดหนักอีกครั้ง ทั้งการป้องกันไวรัสโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจพังหนักกว่าเก่า

จึงต้องเข้มข้นแบบมีอะลุ่มอล่วยกันบ้าง เพื่อให้ได้หายใจหายคอ

แต่กระนั้นรัฐบาลก็ต้องภาวนาว่า แนวทางที่เลือกจะได้ผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการคือ ควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยที่ประชาชนเห็นผลว่า คุ้มแก่การถูกจำกัดพื้นที่อีก1เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น