ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รพินทร์ ไพรวัลย์
ม.ร.ว.หญิงดาริน วราฤทธิ์
แงซาย
เรื่องราวของ “ตัวละครเอก” แห่ง “เพชรพระอุมา” นวนิยายขนาดยาวที่สุดในประเทศไทย และยาวมากที่สุดในประเทศไทย และยาวมากที่สุดในโลก โลดแล่นอยู่ในบรรณพิภพและประทับในความรู้สึกของนักอ่านชาวไทยมาเป็นเวลาช้านาน
หลายคนติดงอมแงมชนิดยอมอดตาหลับขับตานอนด้วยไม่สามารถละสายตาจากเรื่องราวที่ชวนให้ติดตามได้
หลายคนอ่านจบแล้วก็กลับมาอ่านอีกหลายต่อหลายรอบ
หลายคนมี “เพชรพระอุมา” เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต บางคนกลายเป็นนักเขียนก็เพราะชื่นชอบในพลังและความงดงามแห่งตัวอักษรที่ถูกส่งผ่านออกมา
ดังนั้น การจากไปของ “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ” หรือ “พนมเทียน” ผู้ประพันธ์อมตะนวนิยายเรื่องนี้เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาขณะสิริรวมอายุ 89 ปี จึงนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในแวดวงวรรณกรรมไทย
“พนมเทียน” หรือ “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ”เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2540 เป็นนักเขียนผู้สร้างผลงานวรรณศิลป์อันทรงคุณค่าไว้มากมาย โดยผลงานที่รังสรรค์ต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ ล้วนแล้วแต่เป็นที่นิยมแพร่หลายของผู้อ่านเสมอมา ด้วยเอกลักษณ์ทางภาษาอันงดงามและเร้าร้อน ถ่ายทอดอารมณ์ละเอียดอ่อน รายละเอียดแจ่มชัดสมจริงราวกับรับชมภาพยนตร์ เปี่ยมล้มไปด้วยจินตนาการและประสบการณ์ผสานสู่วรรณศิลป์โดดเด่นหาใครเทียบเคียงได้ยาก ทั้งแนวสืบสวนสอบสวน อาชญนิยาย ผจญภัย จินตนิยาย แนวพาฝัน ฯลฯ
“พนมเทียน” มีผลงานมากมาย เช่น เพชรพระอุมา, จุฬาตรีคูณ, เล็บครุฑ, ศิวาราตรี ฯลฯ แต่ที่รู้จักกันดีเห็นทีจะหนีไม่พ้น “เพชรพระอุมา” นวนิยายอันลือลั่นขวัญใจคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องราวการเดินทางและการผจญภัยในดินแดนลึกลับของจอมพรานป่า “รพินทร์ ไพรวัลย์" และคณะเดินทางแห่งพงไพร ที่นำเค้าโครงเรื่องมาจากนิยายเรื่อง “King Solomon’s Mine” หรือ “สมบัติพระศุลี” ของ “เซอร์ เฮนรี ไรเดอร์ แฮกการ์ด” ทว่า มีการเรียงร้อยถ้อยอักษรจนกลายเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น
เพชรพระอุมาแบ่งมีการตีพิมพ์ต่อเนื่องยาวนานกว่า 25 ปีและมีความยาวมากถึง 48 เล่มจบ โดยแบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคแรก จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน ได้แก่ ไพรมหากาฬ, ดงมรณะ, จอมผีดิบมันตรัย, อาถรรพณ์นิทรานคร, ป่าโลกล้านปีและแงซายจอมจักรา และภาคสมบูรณ์ จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน ได้แก่ ได้แก่ จอมพราน, ไอ้งาดำ, จิตรางคนางค์, นาคเทวี, แต่ปางบรรพ์และมงกุฎไพร
เพชรพระอุมาเป็นเรื่องราวการผจญภัยในดินแดนลึกลับที่เต็มไปด้วยอาถรรพณ์ เรื่องราวแปลกประหลาดต่าง ๆ ในป่าดงดิบของรพินทร์ ไพรวัลย์ พรานป่าผู้รับจ้างนำทางในการออกติดตามค้นหาผู้สูญหายของคณะนายจ้างชาวเมือง ที่มี พันโทหม่อมราชวงศ์เชษฐา วราฤทธิ์ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางพร้อมด้วย หม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ น้องสาวคนเล็ก และ พันตรีไชยยันต์ อนันตรัย เพื่อนชายคนสนิท โดยมีพรานบุญคำ พรานจัน พรานเกิดและพรานเส่ย พรานป่าคู่ใจของรพินทร์ ไพรวัลย์ จำนวน 4 คน และแงซาย กะเหรี่ยงลึกลับที่มาขอสมัครเป็นคนรับใช้เพื่อขอร่วมเดินทางในครั้งนี้ด้วย
ในส่วนของอัตชีวประวัติ “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ” เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2474 ณ จังหวัดปัตตานี แต่เติบโตและร่ำเรียนในกรุงเทพฯ เริ่มเรียนที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ก่อนเข้าเรียนชั้นเตรียมอักษรศาสตร์ สวนกุหลาบวิทยาลัย หลังจากนั้นได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นเวลา 1 ปี และลาออก ก่อนตัดสินใจศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอมเบย์ ประเทศอินเดีย
ในช่วงชีวิตวัยรุ่น ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ มีโอกาสคลุกคลีกับนักเลงในยุคอันธพาลครองเมือง ทำให้รู้เรื่องราวของนักเลงและตำรวจเป็นอย่างดี เคยรับราชการตำรวจเป็นสายลับ แฝงตัวเข้าไปอยู่ในซ่องโจร คลุกคลีกับพ่อค้ายาเสพติด เรียกว่า เป็นประสบการณ์ที่นำมาเป็นพลอตนวนิยายในเวลาต่อมา
พนมเทียน ส่องแสงโชติช่วงในวงการวรรณกรรม ตั้งแต่ยังเยาว์ สมัยมัธยมฯ ได้เขียนงานเรื่อง “เห่าดง” รวมทั้งเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความเกี่ยวกับอาวุธปืน ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เขาจะรอบรู้เรื่องปืนและนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของ “เพชรพระอุมา” ชนิดที่บรรดาผู้นิยมชมชอบอาวุธปืนต้องยกนิ้วให้ เพราะ “เป๊ะ” ในทุกรายละเอียดและไม่มีความผิดพลาดปรากฏให้เห็น
นอกจากนี้ในระหว่างเรียนเตรียมอักษรฯ เขายังได้เขียนเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจหลังจากได้อ่านเรื่องราวของดินแดนที่แม่น้ำคงคาและยมุนามาบรรจบกัน กระทั่ง ครูแก้ว – อัจฉริยะกุล ราชาละครวิทยุคณะแก้วฟ้า ได้อ่าน “จุฬาตรีคูณ” แล้วชอบจึงนำมาให้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งเพลงประกอบ 4 เพลงตามเนื้อเรื่อง ได้แก่ จุฬาตรีคูณ, เจ้าไม่มีศาล, อ้อมกอดพี่ และใต้ร่มมลุลี ออกอากาศตามวิทยุจนโด่งดัง รวมทั้งมีการนำไปดัดแปลงเป็นละครเพลงจัดแสดงที่ศาลาเฉลิมไทยอีกด้วย
ชื่อของ พนมเทียน เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเป็นลำดับ สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่นิยมมากมาย ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ เช่น แนวนิยายรัก เรื่องชุด ละอองดาว, สกาวเดือน, รัศมีแข เรื่อง แววมยุรา, รัตติกัลยา, รัตติกาลยอดรัก หรือ แนวสืบสวนอาชญากรรม ชุด เล็บครุฑ, ทูตนรก, ล่ามัจจุราช, ล่าพระกาฬ, มัจจุราชสีรุ้ง, เด็กเสเพล หรือ แนวอิงประวัติศาสตร์อินเดีย เรื่อง ศิวาราตรี เป็นต้น
ที่สำคัญคือ นักเขียนชั้นบรมครูท่านนี้ ไม่เพียงสร้างผลงานไว้มากมาย ยังเป็นที่รักเคารพของผู้คนในแวดวงวรรณกรรม เป็น “ต้นแบบ” ให้นักเขียนรุ่นใหม่เจริญรอยตาม
“ผมเริ่มเป็นนักขโมยอักษรในตอนเด็ก และคนที่ทำให้ผมเป็นก็คือนักเขียนนาม พนมเทียน ขโมยอักษรในร้านหนังสือ แอบอ่านวันละ 3-4 หน้า ครั้นเจ้าของร้านมองบ่อยเข้า ก็หายตัวไป วันต่อมาก็ไปขโมยอักษรอีก ในวัยเด็กผมค้นพบงานของพนมเทียนโดยบังเอิญ ไม่รู้หรอกว่าเป็นใคร แต่งานเหล่านั้นเป็นเช่นแม่เหล็กมหึมา ดึงดูดผมเข้าไปในโลกอีกโลกหนึ่ง
“ผมอ่านทุกเรื่องที่เขาเขียน ทั้งนิยายบู๊ นิยายรักหวานแหวว นิยายผจญภัย แม้แต่เรื่องนักสืบหรือแนวจิตวิญญาณ หลงรักทุกอักษรเข้าวิญญาณจนยอมเป็นขโมย อ่านในห้องสมุด อ่านในห้องเรียน เมื่อห้องสมุดไม่มีเล่มใหม่ ก็ไปขโมยอ่านในร้านหนังสือ ผมขโมยอ่านเล็บครุฑหลายเล่มในร้านหนังสือเล็กๆ ในเมืองน้อย
“โลกในต่างจังหวัดเมื่อ 50 ปีก่อนเป็นโลกเล็ก ๆ แต่งานของพนมเทียนทำให้โลกเล็กใบนั้นขยายออกไป การค้นพบงานของพนมเทียนในห้องสมุดจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิต นึกในใจว่า นักเขียนคนนี้เก่งเหลือเกิน เขียนได้หลายแนว และเขียนดีทุกแนว นึกในใจอีกว่า ชาตินี้คงไม่มีวันเป็นนักเขียนได้ เพราะงานแบบนี้เกินกำลังแน่นอน
“พนมเทียนเริ่มชีวิตนักเขียนมาตั้งแต่วัยรุ่น หล่อหลอมประสบการณ์ชีวิตยาวนาน กลั่นเป็นอักษร เป็นอักษรที่เลี้ยงชีวิต เขาเริ่มเขียนนวนิยาย เพชรพระอุมา ในปี 2507 เขียนได้ไม่กี่เล่ม ก็ตัดสินใจเปิดนิตยสารฉบับใหม่ชื่อจักรวาล แล้วเขียนนิยายเรื่องนี้เลี้ยงนิตยสาร คล้ายๆ กิมย้งเขียน อินทรีเจ้ายุทธจักร เลี้ยงหนังสือพิมพ์หมิงเป้าจักรวาลเปิดจักรวาลของนักอ่านไทยทั่วประเทศ ผู้คนตามอ่าน เพชรพระอุมา อย่างใจจดใจจ่อทุกอาทิตย์ การเขียนนิยายเลี้ยงสำนักพิมพ์ได้นั้น ต้องใช้ฝีมือชั้นสูง จับคนอ่านอยู่หมัด ติดงอมแงมยิ่งกว่ากัญชา
“ในแวดวงงานประพันธ์เชิงจินตนาการลึก บรรเจิด และสนุก ฝั่งตะวันตกมี อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ ฝั่งจีนมีกิมย้ง ฝั่งไทยมีพนมเทียน เส้นทางที่นักประพันธ์เหล่านี้สร้าง เป็นทางลึกชัดเจนและปูทางให้นักเขียนรุ่นหลังเดินตาม และขโมย!
“ในวัยโตขึ้น ผมกลายเป็นนักขโมยอักษรอีกครั้ง คราวนี้ขโมยจากงานของพนมเทียนโดยตรง ในโลกของการเขียนหนังสือ ไม่มีโรงเรียนใดสอนเรื่องการเขียนดีเท่าผลงานของนักเขียน ผมศึกษาวิเคราะห์งานเขียนของพนมเทียน เรียนรู้เทคนิคการวางพล็อต การเดินเรื่อง จังหวะจะโคน ภาษา เป็นศิษย์ชนิดครูพักลักจำ เรียนรู้การเขียนจากงานเหล่านั้น งานหลายชิ้นสลักเสลาเหมือนประติมากรรมหินอ่อน ยกตัวอย่างเช่น ศิวาราตรี ภาษาวิจิตรงดงาม แม้แต่นวนิยายผจญภัย เพชรพระอุมา นอกจากสนุกระดับสุดยอด ยังแสดงให้เห็นฝีมือการประพันธ์ระดับโลก ภาษางดงาม ผมไม่มีทางเดินถึงจุดจุดนี้ในโลกวรรณกรรม หากไม่มีนักเขียนนามพนมเทียน หมึกที่เขียน ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ก็มีร่องรอยทอดมาจาก เล็บครุฑ และ เพชรพระอุมา
“หลายสิบปีตั้งแต่ขโมยอักษรของพนมเทียนครั้งแรก ผมมีโอกาสร่วมทาง-สนทนา-เสวนากับเขาหลายครั้ง เป็นนักเขียนที่ถ่อมตน เป็นจอมยุทธ์งำประกาย ถ่อมตน และมีความเมตตาปรานีต่อนักเขียนรุ่นหลัง จอมยุทธ์อักษรที่สูงสุดคืนสู่สามัญ เป็นเทียนเล่มหนึ่งที่นำทางนักอ่านและนักเขียน ดีใจที่โลกมีแสงเทียนดวงนี้ ดีใจที่ได้เดินตามรอยปรมาจารย์ไปในดงอักษร ดีใจที่ได้ขโมยอักษรจากใจนักขโมยอักษรคนหนึ่ง”
นั่นคือความรู้สึกที่ “วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนรางวัลซีไรต์และศิลปินนแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 บันทึกไว้หลังการจากไปของ “พนมเทียน”
สำหรับที่มาของนามปากกา “พนมเทียน” เคยอธิบายไว้ความว่า “หมายถึงแสงสว่าง ความโชติช่วงที่มันติดอยู่ในใจผมมานานแล้ว เมื่อตอนเด็กๆ อยู่ชั้น ม.3 เรียนวิชาเคมี ฟิสิกส์ มันมีคำว่าพนมเทียน แล้วเขาก็อธิบายว่า พนมเทียนคือเปลวไฟที่ติดอยู่บนปลายเทียน ในเมื่อมันติดไฟแล้ว มันจะเป็นประกายขึ้นไป ปลายมันเรียวแหลม ตรงกลางมันป่อง ตรงที่ติดกับไส้ก็เรียวลงมาอีก เมื่อมันป่องอย่างนี้ จึงเป็นลักษณะของพนมเทียน ผมจึงเอาคำนี้ไปใช้เป็นนามปากกา เมื่อมาถึงปัจจุบัน คำนี้เด็กจะไม่รู้จัก เพราะคนทั่วไปยังเข้าใจผิด เข้าใจว่านำเทียนมาใส่มือแล้วพนม ศิลปะของพนมเทียน ถ้าจ้องให้ดี เราจะเห็นว่าข้างนอกมันสีแสด ค่อยหรี่เป็นน้ำเงิน เป็นสีแดง มันมีหลายสีอยู่ในนั้น”
วันนี้ “พนมเทียน” จากไปแล้วแต่ชื่อของบรมครูแห่งบรรพพิภพท่านนี้ “จักยังคงเป็นตำนาน” เฉกเช่นเดียวกับผลงานของเขาที่จะ “เล่าขานสืบไป” ตราบนานเท่านาน.