xs
xsm
sm
md
lg

“สรวง สิทธิสมาน” จากนักศึกษาจีน สู่ “มาหามังกร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นอกจากจะมีหน้าตาเป็นอาวุธ “ต้นน้ำ-สรวง สิทธิสมาน” ยังเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีฝีไม้ลายมือในการเขียน สามารถถ่ายทอดแนวคิดคมคายออกมาได้อย่างเฉียบคม สมกับเป็นลูกไม้ใต้ต้นของ “คุณพ่อคำนูณ สิทธิสมาน” สมาชิกวุฒิสภา และ “คุณแม่สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการศึกษา และคอลัมนิสต์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก ในเว็บไซต์ของ Manager online อีกทั้งยังเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุ ผู้หญิงสามมุม FM 96.5 ทาง อสมท

ในวัย 22 ปี สรวงเพิ่งได้รับการทาบทามให้เป็นคอลัมนิสต์หน้าใหม่ของ aday BULLETIN และยังสนุกกับชีวิตนักศึกษาในฐานะนักเรียนทุนของมหาวิทยาลัย ECNU (East China Normal University) แห่งเมืองเซี่ยงไฮ้


หนีห่าว...นักศึกษาไทยในจีน

“พอเรียนจบ ม.6 ที่โรงเรียนวชิราวุธ ผมก็ปักหมุดว่าจะไปเรียนต่อที่จีน เหตุผลที่เลือกเซี่ยงไฮ้แทนที่จะเป็นปักกิ่ง เพราะเคยไปซัมเมอร์ที่ปักกิ่งแล้วภูมิแพ้กำเริบ ที่นั่นฝุ่นเยอะ ผมเลือกเรียนต่อคณะที่เน้นภาษาจีน อารมณ์คล้ายๆ ศิลปศาสตร์บ้านเรา เรียนตั้งแต่ภูมิศาสตร์ การเมืองการปกครอง วัฒนธรรมจีน และตัวอักษรจีนโบราณ ส่วนใหญ่คนที่เรียนคณะนี้จบไปก็ไปเป็นอาจารย์ แต่ผมคิดว่าคงไม่ไปสายนี้ เพราะคงสอนใครไม่รู้เรื่อง และที่สำคัญผมยังมีเป้าหมายอีกหลายอย่างที่อยากจะทำ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือ งานพิธีกร หรือแม้แต่งานการเมือง”

ถามว่า ทำไมถึงสนใจภาษาจีนและเลือกมาเรียนที่จีน แทนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังในยุโรปหรืออเมริกา เหมือนวัยรุ่นทั่วไป สรวงตอบชัดว่าแพสชันนี้ถูกจุดประกายมาตั้งแต่ ม.3

“ยอมรับครับว่า ช่วงแรกก็ยังมีอคติกับจีนอยู่บ้าง แต่พอตอน ม.3 ผมและน้องชาย (สิน สิทธิสมาน) มีโอกาสไปซัมเมอร์ที่จีนกับทางโรงเรียน ก็รู้สึกหลงรักจีนตั้งแต่ตอนนั้น จนกลับมาเลือกเรียนต่อศิลป์ภาษาจีน พอ ม.6 ผมไม่ยื่นคะแนนสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่ไหนในไทยเลย เพราะหมายมั่นว่าจะต้องมาเรียนต่อที่จีนเท่านั้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็สนับสนุน เพราะท่านก็เห็นเทรนด์แล้วว่าในอนาคตจีนจะเป็นมหาอำนาจแน่นอน ซึ่งตอนแรกผมก็ยังไม่แน่ใจ แต่มาถึงวันนี้ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ”

ตอนที่ตัดสินใจมาเรียนต่อที่จีน สรวงเล่าว่า เขาพอมีพื้นภาษาจีนที่เรียนมาบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับพอใช้ “ผมว่าทุกวันนี้มีคนไทยที่พูดภาษาจีนได้ก็เยอะ แต่ที่พูดแบบใช้งานได้ 100% ยังถือว่าน้อย ผมเลยพยายามพัฒนาตัวเอง เพื่อเป็นคนไทยที่สามารถใช้ภาษาจีนได้ 100% แบบคนจีน เพื่ออัปโปรไฟล์ตัวเอง ซึ่งหลังจากเรียนมา 4 ปี ผมคิดว่าตอนนี้ผมมาประมาณ 75-80% สิ่งที่ยังขาดคือ พวกคำศัพท์ทางการที่ยังมีสับสนอยู่บ้าง”

อย่างไรก็ตาม สรวงยอมรับว่า การเรียนภาษาจีนในระดับมหาวิทยาลัย ไม่หมูอย่างที่คิด “ยิ่งเป็นนักเรียนทุน ทางมหา'ลัยก็ยิ่งกดดันให้เราพัฒนาเลเวลภาษาจีนอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเขามีวิธีสอบวัดระดับตลอด หน้าที่ของเราคือต้องสอบให้ผ่าน (หัวเราะ) แต่ถึงอย่างนั้น เวลาเรียนในมหาวิทยาลัย ถึงคลาสที่เรียนจะเป็นภาษาจีนทั้งหมด แต่เพื่อนร่วมชั้นก็ยังเป็นนักเรียนต่างชาติด้วยกัน เพราะถ้าให้เรียนกับนักศึกษาจีนซึ่งเป็นเจ้าของภาษาและยังขยันมาก คงไม่ไหวแน่นอน



บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์สไตล์ครอบครัวนักคิด

ในฐานะที่เติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่เป็นนักคิดนักเขียน ทำให้ลูกชายคนโตของบ้านได้ดีเอ็นเอนี้ติดตัวมาไม่น้อย

“ผมเป็นเด็กดื้อเงียบ แต่ก็มีวิธีการแสดงให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าผมไม่โอเคกับสิ่งที่เป็นอยู่ (หัวเราะ) ผมโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงแบบประชาธิปไตยมากๆ รับฟังและไม่เคยดุหรือตำหนิ ถ้ามีเรื่องที่ไม่เข้าใจกันจะใช้วิธีการเรียกคุย และถกกันมากกว่า ที่สำคัญผมคิดว่าท่านมีจิตวิทยาในการเลี้ยงลูกมากๆ ไม่เคยลงโทษ แต่ใช้การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส อย่างช่วงที่ผมติดเกม คุณพ่อคุณแม่ไม่ห้าม แต่ยื่นข้อเสนอว่าอยากเล่นเท่าไหร่ก็เล่นไป แต่ต้องอ่านหนังสือแลก ซึ่งจะเป็นหนังสืออะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น สมมติถ้าอยากเล่นเกม 2 ชั่วโมง ก็ต้องอ่านหนังสือ 2 ชั่วโมง กลายเป็นว่าเป้าหมายในการอ่านหนังสือของผมตอนนั้นคือเพื่อที่จะเล่นเกม มีอยู่วันหนึ่งผมอยากเล่นเกม 5 ชั่วโมง ก็รีบตื่นเช้ามาอ่านหนังสือ อาจจะมีโกงบ้างเล็กน้อย แต่อย่างน้อยก็อยู่หน้าหนังสือ พออ่านครบก็บอกคุณแม่ คุณแม่ก็อนุญาตให้เล่นเกมยาว”

จากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูนี้เอง ค่อยๆ หล่อหลอมให้สรวงเป็นเด็กรักการอ่าน เช่นเดียวกับการเขียน เพราะตั้งแต่ยังเขียนหนังสือไม่คล่อง สรวงก็เริ่มเขียนไดอารีเวลาเดินทางไปเที่ยวไหน เพื่อจดบันทึกเรื่องราวและประสบการณ์ในชีวิตตั้งแต่ยังไม่ประสา

“อย่างตอนบวชเป็นเณร ผมจดบันทึกตลอด 14 วันเลย เหมือนว่าชีวิตผมโตมากับการอ่านและการเขียน เพราะคุณพ่อและคุณแม่ก็เป็นนักเขียนเก่า ที่บ้านเรามีหนังสือเยอะมาก ทุกครั้งที่ผมอ่านหนังสือที่ชอบ แล้วเจอหนังสือแนะนำตรงท้ายเล่ม มันเหมือนผมกำลังเปิดประตูไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ซึ่งโชคดีที่บ้านผมมีหนังสือเยอะ ทำให้เวลาจะซื้อหนังสือ ผมต้องถามก่อนว่าเล่มนี้ที่บ้านมีหรือยัง โดยเฉพาะคุณพ่อจะมีหนังสือที่ผมอยากอ่านอยู่หลายเล่มมาก ไม่ต้องซื้อเองเลย ส่วนตัวผมชอบอ่านหนังสือหลายแนว อย่างวรรณกรรมที่สะท้อนสังคม แนว Realism ที่มีความเป็นโศกนาฏกรรมนิดหนึ่ง พวกทฤษฎีการเมือง ปรัชญา หรือจิตวิทยา ก็ชอบอ่าน ส่วนใหญ่ผมจะอ่านหนังสือที่แปลไทย เพราะเป็นคนอ่านหนังสือช้า ทำอย่างไรก็แก้ไม่หาย เลยคิดว่าถ้ายิ่งอ่านเป็นภาษาอังกฤษ หรือจีน จะยิ่งช้า และทำให้หมดกำลังใจในการอ่าน”

งานนี้เพื่อให้เห็นภาพตาม สรวงเล่าอย่างออกรสต่อว่า สมมติถ้าหนังสือมี 300 หน้า แล้วอ่านแบบตั้งใจจริงๆ ต้องใช้เวลา 3-4 วันจึงจะอ่านจบ “ผมเป็นคนที่อ่านแล้วคิดตามทุกตัวอักษร ไม่อ่านข้าม และอ่านแบบเอาเรื่อง ไม่ใช่แค่กวาดสายตา ถ้าส่วนไหนไม่เข้าใจก็จะย้อนกลับไปอ่านซ้ำอีกที บางครั้งทั้งย่อหน้า หรือบางทีก็ทั้งหน้าเลย”



แกะกล่องว่าที่นักเขียนป้ายแดง

ตามประสานักอ่านที่สะสมคลังข้อมูลไว้กับตัว เมื่อถึงวันที่ความคิดเริ่มตกผลึก เขาจึงค่อยๆ ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ

“ประสบการณ์ด้านงานเขียนของผม เริ่มต้นตอนที่ผมและน้องชายตามคุณแม่ไปทำงานที่อเมริกา ซึ่งแม้จะมีโอกาสไปต่างประเทศหลายครั้ง แต่ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าได้สัมผัสการใช้ชีวิตในต่างแดนอย่างแท้จริง ผมสัมผัสได้ถึงความแตกต่างของประเทศไทยกับอเมริกา และอยากนำมาถ่ายทอด พอดีตอนนั้นคุณแม่มีคอลัมน์ประจำที่ต้องตีพิมพ์ทุกสัปดาห์ เลยชวนให้ผมลองเขียนคอลัมน์แทน ตอนแรกกะว่าแค่บทความเดียว แต่สุดท้ายคุณแม่ให้ยิงยาว 3 บทความ โดยผมใช้มุมมองของเด็กวัยรุ่นอายุ 16-17 ปี เล่าถึงความแตกต่างของไทยกับ 3 เมืองในอเมริกา ได้แก่ ซีแอตเทิล วอชิงตัน ดี.ซี. และนิวยอร์ก ตอนนั้นคุณแม่ให้อิสระในการเขียน แค่ช่วยตรวจคำถูกคำผิดให้เฉยๆ ถือเป็นงานเขียนชิ้นแรกของผมที่มีโอกาสตีพิมพ์ ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาผมเพิ่งหยิบมาอ่านอีกครั้ง ก็อดขำในความเป็นเด็กน้อยที่เพิ่งได้ไปเปิดโลกของตัวเองไม่ได้”

หลังจากงานเขียนชิ้นแรก สรวงก็ยังนำความคิดที่ตกผลึกมาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสืออย่างต่อเนื่อง ด้วยการถ่ายทอดมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว

“ส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่ผมก็ช่วยแชร์สิ่งที่ผมเขียน ซึ่งด้วยความที่ท่านอยู่ในวงการนักเขียน พอแชร์ไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าผลงานไปเข้าตา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทาง aday BULLETIN เลยมาทาบทามให้ไปเป็นคอลัมนิสต์ เพื่อเขียนถ่ายทอดเรื่องราวของประเทศจีนในมุมมองใหม่ลงในคอลัมน์ “มาหามังกร” ตีพิมพ์ในนิตยสารซึ่งออกเป็นรายปักษ์ ก่อนจะไปเผยแพร่บนเว็บไซต์

“ชื่อคอลัมน์นี้ ผมคิดได้ตอนนั่งรถไปกับคุณแม่ ผมขอคำแนะนำคุณแม่ว่า จะตั้งชื่อคอลัมน์ว่าอะไรดี เพราะในใจคืออยากให้มีคำว่า “มังกร” เข้าไปอยู่ในชื่อคอลัมน์ ผมถามคุณแม่ว่าชื่อ “มหามังกร” ดีมั้ย คุณแม่ก็ถามกลับมาว่า มาหา หรือมหา ตอนนั้นผมปิ๊งเลยว่าคำนี้ดี เป็นการเล่นคำพ้องเสียงที่มีความหมายด้วย สื่อถึงเนื้อหาในคอลัมน์ที่ต้องการเชิญชวนทุกคนไปหามังกร ทำความรู้จักกับประเทศจีน อีกคำคือมหา ซึ่งสื่อถึงความเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่”

สำหรับไอดอลในใจ สรวงยกให้ “สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” “ผมยังไม่มีโอกาสได้เจอตัวจริง แต่ก็ชอบเขามาก ชอบที่เขามีความเป็นตัวของตัวเองสูง สามารถนำเสนอความเป็นตัวของตัวเองได้งดงาม เขามีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน ไปเที่ยวลุยเดี่ยว ไปที่ที่ยังไม่มีคนไป สำหรับผู้ชายอย่างผมก็อยากมีชีวิตที่มีการผจญภัยแบบนั้น แต่คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะการจะทำแบบนั้นได้ต้องใช้ความกล้าสูงมาก”



วันว่างของหนุ่มนักคิด

ชวนคุยเรื่องหนักๆ มาพอสมควร พักเบรกด้วยกิจกรรมยามว่างที่สรวงชอบกันบ้าง

“เวลาว่างผมชอบอ่านหนังสือ ส่วนกีฬาตอนเรียนโรงเรียนประจำก็เล่นเกือบทุกชนิด ทั้งบาสฯ บอล รักบี้ แต่ก็เล่นแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่เด่นสักอย่าง พอเรียนจบมา พบว่าเหมาะกับกีฬาประเภทเดี่ยวมากกว่าทีม เลยเข้าฟิตเนส สนใจเรื่องศิลปะการต่อสู้ ทั้งมวยไทย มวยสากล มวยปล้ำ เพราะพอดีได้รู้จักครูสอนมวยไทย เลยแวะเวียนไปเรียนบ่อยๆ”

ล่าสุด สรวงและน้องชายยังได้ทำโชว์ชกมวยร่วมกัน เพื่อแสดงในงาน International Cultural Festival ซึ่งเจ้าตัวถือเป็นอีกประสบการณ์ที่ดี

“พูดถึงน้องชาย เขาเองก็ไปเรียนที่คณะและมหาวิทยาลัยเดียวกับผม เป็นทั้งรูมเมตกัน ถึงจะอายุห่างกันเกือบ 2 ปี แต่เพราะตามเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย ถ้าจะสอบชิงทุนผมต้องไปเรียนภาษาที่นานกิงก่อน 1 ปี เลยทำให้เรียนช้าไป 1 ปี และกลายเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับน้องชาย ซึ่งยังใช้ชีวิตแบบตัวติดกันเหมือนสมัยเด็ก ถามว่ามีทะเลาะกันบ้างมั้ย แน่นอนว่ามีบ้างตามประสา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต และที่สำคัญถ้าไม่ใช่เรื่องที่ยอมไม่ได้ ผมก็มักจะเป็นฝ่ายยอมให้ก่อนเสมอ”

ส่วนทั้งคู่จะกลับไปสวมบทบาทนักศึกษาจีนเต็มตัวอีกครั้งเมื่อไหร่ สรวงบอกว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลาย ทำให้ตอนนี้เขาและน้องชาย ซึ่งเดินทางกลับมาประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม เพราะเป็นช่วงปิดเทอมพอดี ยังไม่รู้อนาคต และหากเปิดเทอมแล้วสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อาจจะต้องเรียนทางออนไลน์ไปก่อน



กำลังโหลดความคิดเห็น