xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอย “รพินทร์ ไพรวัลย์” สู่โต๊ะโมะถิ่นทองคำ ต้นกำเนิดป่ามหัศจรรย์ใน “เพชรพระอุมา”

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี


โต๊ะโมะถิ่นทองคำ ต้นกำเนิดป่ามหัศจรรย์ในเพชรพระอุมา
ชวนแฟนานุแฟนตามรอย “รพินทร์ ไพรวัลย์” มุ่งสู่ป่าที่เป็นต้นไอเดียของฉากป่ามหัศจรรย์หลากหลายใน “เพชรพระอุมา” นิยายผจญภัยสุดคลาสสิกยาวที่สุดในเมืองไทยของ “พนมเทียน” ผู้ล่วงลับ

“เพชรพระอุมา” เป็นหนึ่งในนวนิยายสุดคลาสสิคของเมืองไทยที่ยังคงความอมตะมาจนทุกวันนี้

เพชรพระอุมา เป็นตำนานแห่งนวนิยายผจญภัยยุคบุกเบิกของไทยที่มีความยาวที่สุดในเมืองไทย และยาวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก หรืออาจจะเป็นนวนิยายที่ยาวที่สุดในโลกก็เป็นได้

เพชรพระอุมา นิยายผจญภัยสุดคลาสสิกของเมืองไทย
แต่ถึงแม้จะเพชรพระอุมาจะมีเนื้อเรื่องที่ยาวมาก ๆ แต่ทว่าส่วนใหญ่ที่ได้อ่านต่างติดกันงอมแงม บางคนวางไม่ลงอดหลับอดนอนอ่านกันข้ามวันข้ามคืนเลยทีเดียว

แน่นอนว่าคุณความดีและความเป็นเลิศเอกอุของเพชรพระอุมานั้นก็ต้องยกให้กับผู้ประพันธ์คือ “พนมเทียน” ซึ่งเป็นนามปากกาของ “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ” (พ.ศ. 2474-2563) ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (ปี 2540) ที่เพิ่งล่วงลับจากโลกนี้ไปด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ในวัย 89 ปี

ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือ พนมเทียน ใช้เวลากว่า 25 ปีในการเขียนเพชรพระอุมา โดยเขาเริ่มเขียน “เพชรพระอุมา” บรรทัดแรกของภาคแรก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 และจบบรรทัดสุดท้ายของภาคสมบูรณ์ ในเวลา 02.45 น. ของวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2533



รวมแล้วพนมเทียนใช้เวลาเขียนเพชรพระอุมาไป 25 ปี 7 เดือน 2 วัน!

พนมเทียน ผู้ล่วงลับ ผู้ประพันธ์เพชรพระอุมาอันลือลั่น
เพชรพระอุมา กับป่าแห่งจินตนาการ

พนมเทียนได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน “อินไซด์เพชรพระอุมา” ว่า เรื่องเพชรพระอุมา ได้อิทธิพลมาจาก เรื่อง “King Solomon’s Mine” หรือ “สมบัติพระศุลี” ของ “เซอร์ฯ ไรเดอร์ แฮกการ์ด” (Sir H. Rider Haggard) ที่ว่าด้วยเรื่องราวการผจญภัยในป่าดงดิบของแอฟริกา

โดยจากโครงเรื่องประมาณ 5-6 บรรทัด ในสมบัติพระศุลี พนมเทียนได้นำมาสร้างสรรค์ เติมแต่งจินตนาการผสมสาระความรู้ กลายเป็นนวนิยายที่ยาวที่สุดในเมืองไทย

“King Solomon’s Mine” หรือ “สมบัติพระศุลี”
เพชรพระอุมา มีตัวละครหลัก ๆ นำโดย คู่พระ-คู่นาง “รพินทร์ ไพรวัลย์”-พระเอก พรานป่าผู้รับจ้างนำทาง ผู้เป็นไอดอลของชายไทยหลาย ๆ คนในยุคนั้น และ หม่อมราชวงศ์ “ดาริน วราฤทธิ์”-นางเอก ผู้เป็นไม้เบื่อไม่เมากับพระเอกในช่วงแรก ๆ ก่อนที่ทั้งคู่จะสร้างตำนานรักกลางผืนป่าอันลือลั่น

นอกจากนี้ก็ยังมี 3 ตัวละครเอก คือ “แงซาย” (จักรราช) - พรานกะเหรี่ยงลึกลับ คู่กัดของรพินทร์, พันโทหม่อมราชวงศ์ “เชษฐา วราฤทธิ์”-หัวหน้าคณะนำทาง พี่ชายของดาริน ผู้เป็นสุภาพบุรุษ มีหลักการ มีเหตุมีผล และ พันตรี “ไชยยันต์ อนันตรัย” นายทหารผู้มากน้ำใจ อารมณ์ดี เปิดเผย ร่าเริง

ร่วมด้วยตัวประกอบเด่น ๆ อย่าง พรานบุญคำ พรานจัน พรานเกิด พรานเส่ย และ “มาเรีย ฮอฟมัน” แหม่มสาวอวบอึ๋มผู้มาทีหลัง (ในภาคแรก) แต่ก็มีบทเด่นไม่น้อย

เพชรพระอุมา ตอนแรก
ส่วนในภาคสมบูรณ์ก็มีตัวละครใหม่ เพิ่มเติม อาทิ คริสติน่า, อิสซาเบล, เชิดวุธ, ลาร์รี่ คีธ, บิลล์ สแตนลีย์ ซึ่งตัวละครในทั้ง 2 ภาคมีทั้งที่มีตัวตนจริงกับมาจากจินตนาการของพนมเทียน

สำหรับเรื่องราวการผจญภัยในเพชรพระอุมานั้น มีครบเครื่องครบรส ทั้ง สนุกตื่นเต้นเร้าใจ บู๊ หักเหลี่ยมเฉือนคม ลี้ลับ พิศวง ความเชื่อ ไสยศาสตร์ แฟนตาซี เหนือจริง แทรกสลับอารมณ์ด้วย ดราม่า รักหวานแหวว พ่อแง่-แม่งอน เลิฟซีน ขบขัน รวมถึงมีการสอดแทรกความรู้เรื่องป่า สัตว์ป่า เรื่องปืน คุณธรรมน้ำมิตร คติเตือนใจ มุมมองชีวิต และ กฎแห่งกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้เพชรพระอุมายังมีจุดเด่นอีกอย่างในเรื่องของฉาก ขุนเขา ป่าไพร ต้นไม้ สัตว์ป่า เมืองที่สาบสูญ โดยฉากของผืนป่าต่าง ๆ ในเพชรพระอุมานั้นมีหลากหลายยิ่ง ทั้งป่าทั่วไป ป่าโปร่ง ป่าไผ่ ป่าหญ้า ป่าหิน ป่าดงดิบอุดมสมบูรณ์สัตว์ป่า ไฟป่า น้ำป่า ป่าพรุ ทะเลสาบ ธารลาวา ขุนเขาเร้นลับ ขุนเขาหิมะ เมืองผีดิบ หลุมอุกกาบาต ป่าดึกดำบรรพ์ที่มีไดโนเสาร์เดินเพ่นพ่าน เป็นต้น

ฉากป่ามหัศจรรย์ในเพชรพระอุมา
ด้วยฉากของป่าต่าง ๆ ที่พนมเทียนร้อยรจนาออกมาได้อย่างเห็นภาพ สนุกตื่นเต้น ผสมผสานกับจินตนาการอันบรรเจิด ทำให้หลายคนเมื่ออ่านแล้วมีอารมณ์ร่วม อยากตามรอยรพินทร์-ดาริน ไปดูว่าป่าแห่งจินตนาการในเพชรพระอุมานั้นได้รับอิทธิพลมาจากป่าเขาที่ไหนในเมืองไทยกันบ้าง?

ต้นกำเนิดป่ามหัศจรรย์

ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือ พนมเทียน เกิดที่ปัตตานี มีบ้านอยู่สายบุรี มีชีวิตผูกพันกับป่ามาตั้งแต่เด็ก ตระกูลของเขาทำ “เหมืองทองคำโต๊ะโมะ” มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในอดีตเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์

ส่วนคุณตา “รองอำมาตย์ตรี หมื่นบรรจง เจียรนัย” (สว่าง รัตนกุล) ซึ่งเป็นนักเดินป่ารุ่นแรก ๆ ผู้บุกเบิกผืนป่าดงพญาไฟ (ที่ตอนหลังเปลี่ยนเป็นดงพญาเย็นและเขาใหญ่) ถือเป็นครูพรานคนแรกของพนมเทียน ผู้ทำให้พนมเทียนหันมาสนใจทั้งเรื่องป่าและปืน

เหมืองทองคำโต๊ะโมะ โรงเรียนเดินป่าของพนมเรียน
ด้วยความชอบเรื่องป่า ในวันเด็กพนมเทียนจึงขลุกอยู่แต่กับพวกพรานพื้นเมืองในผืนป่าแถบเหมืองทองคำ โดยมีพรานมุสลิมคนหนึ่งผู้มีฝีมือฉกาจและทะลึ่ง-ทะเล้น ซึ่งพนมเทียนได้นำมาสร้างเป็นตัวละคร “พรานบุญคำ” พรานจอมทะเล้น (ลูกน้องรพินทร์ สีสันอันสนุกสนานของเพชรพระอุมา)

พนมเทียนเริ่มจับปืนตั้งแต่อายุ 14-15 ปี เมื่อเติบใหญ่ก็ออกตะลุยป่าล่าสัตว์ไปทั่ว ซึ่งในสมัยนั้นการเข้าป่าล่าสัตว์ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายเหมือนสมัยนี้

พนมเทียนได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขามีความสุขเมื่อได้เข้าป่า เพราะมันให้ความรู้สึกอิสระเสรี ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยเห็นในเมือง

พนมเทียนเชี่ยวชาญทั้งเรื่องป่าและเรื่องปืน
สำหรับป่าที่พนมเทียนเข้าไปบ่อย ๆ ในวัยหนุ่มก็มีป่าเมืองกาญจนบุรีไปจนจรดแนวผืนป่าตะวันตกอันอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าชุกชุม นอกจากนี้ก็ยังมีป่าทางใต้โดยบางครั้งการเข้าไปในป่าใหญ่ในยะลา (ที่พนมเทียนเคยกล่าวถึง) ใช้เวลาอยู่ที่นั่นนานเป็นเดือนเลยทีเดียว (สันนิษฐานว่าป่าใหญ่ในยะลาน่าจะเป็นป่าฮาลา-บาลา เนื่องจากเป็นป่าดิบที่สมบูรณ์และมีพื้นที่เชื่อมโยงมาถึงเขตป่าที่ทำเหมืองทองคำโต๊ะโมะ)

ป่าเมืองกาญจน์ อีกหนึ่งต้นไอเดียฉากป่ามหัศจรรย์ในยเพชรพระอุมา
ด้วยความที่เป็นผู้โชกโชนเรื่องการเข้าป่า ล่าสัตว์ และการใช้ปืน (ชนิดที่เป็นคอลัมนิสต์บทความเรื่องปืนในนิตยสารฉบับหนึ่ง) พนมเทียนจึงนำประสบการณ์การลุยป่าของตัวเอง ซึ่งในสมัยนั้นมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก มาผนวกกับจินตนาการอันเพริศแพร้วสร้างสรรค์เป็นนวนิยายอมตะเรื่องเพชรพระอุมาขึ้นมา
ป่าโต๊ะโมะ ถิ่นทองคำ

สำหรับป่าหลัก ๆ ที่คาดว่าเป็นต้นทางความคิดให้พนมเทียนนำมาเป็นฉากป่าหลากหลายในเพชรพระอุมานั้น ก็คือ “ป่าโต๊ะโมะ” หรือที่ปัจจุบันคือป่าใน ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส (เดิมป่าโต๊ะโมะขึ้นอยู่กับ อ.แว้ง จ.นราธิวาส)

ป่าโต๊ะโมะ เป็นป่าที่ผูกพันกับพนมเทียนมาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะต้นตระกูลวิเศษสุวรรณภูมิ ตั้งแต่รุ่นคุณทวด “พระวิเศษสุวรรณภูมิ” ได้สัมปทานทำ “เหมืองทองคำโต๊ะโมะ” (บ้านโต๊ะโมะ ต.ภูเขาทอง) มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนส่งต่อให้คุณปู่ คือ “หลวงวิเศษสุวรรณภูมิ”

ป่าโต๊ะโมะในปัจจุบัน
ป่าโต๊ะโมะถือเป็นป่าอันน่ามหัศจรรย์ เพราะใต้ดินที่นี่เต็มไปด้วยแร่ทองคำ ชนิดที่ร้อยกว่าปีผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็ยังมีทองคำจากใต้ดินให้ชาวบ้านได้ร่อนหานำมาขาย สร้างงานสร้างรายได้ จนทำให้บริเวณนี้ได้รับการเรียกขานใหม่ในภายหลังว่า “บ้านภูเขาทอง”

ป่าโต๊ะโมะ คือโรงเรียนฝึกพรานและการใช้ชีวิตในป่าแห่งแรกของพนมเทียน ซึ่งเขาได้นำประสบการณ์จากป่าแห่งนี้ไปเป็นแรงบันดาลใจต่อยอดจินตนาการ สร้างเป็นฉากผืนป่าอันน่าทึ่งหลากหลายในอมตะนิยาย “เพชรพระอุมา

ป่าโต๊ะโมะในปัจจุบัน
นอกจากนี้ที่หลาย ๆ คนไม่รู้ก็คือ เรื่องลี้ลับต่าง ๆ ในเพชรพระอุมาบางส่วน พนมเทียนได้นำมาจากเรื่องเล่าของพรานที่ป่าโต๊ะโมะแห่งนี้

ท่องเที่ยวภูเขาทอง

วันนี้แม้เหมืองทองคำโต๊ะโมะจะเลิกทำกิจการกลายเป็นเหมืองร้างมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ด้วยอดีตอันรุ่งโรจน์ของเหมืองทองแห่งนี้ยังคงอยู่

อุโมงลำเลียง เหมืองทองคำโต๊ะโมะ
ด้วยเหตุนี้ชาวชุมชนบ้านภูเขาจึงได้ต่อยอดพัฒนาพื้นที่บริเวณ (อดีต) เหมืองทองคำโต๊ะโมะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยเปิด “อุโมงค์ลำเลียง” ที่เป็นอุโมงค์ใต้ภูเขา ใช้สำหรับขนส่งแร่และเครื่องมือต่าง ๆ เมื่อสมัยยังเปิดเหมืองทองคำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบรรยากาศอวลไออดีต

นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การล่องแก่งภูเขาทอง-ต้นน้ำสายบุรี, เดินป่าชมต้นกะพงยักษ์ (ต้นสมพง) ที่ผืนป่าบาลา-ฮาลา หรือ ฮาลา-บาลา (อีกหนึ่งป่าที่เป็นต้นไอเดียของฉากป่าดงดิบในเพชรพระอุมา, ชมทะเลหมอภูเขาทอง, อร่อยไปกับอาหารท้องถิ่น

การร่อนทองของชาวบ้านที่ ต.ภูเขาทอง
รวมถึงกิจกรรมไฮไลท์ D.I.Y ลงไปแช่น้ำทดลองร่อนทองคำตามแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิม ด้วยการใช้ “ เลียง” หรือ “ชะเลียง” อุปกรณ์ร่อนทองลักษณะคล้ายกระทะทำจากไม้หลุมพอ ไปยืนในตำแหน่งน้ำไหลที่คาดว่าน่าจะมีแร่ทองคำ จากนั้นก็ร่อนเลียงวนไปเป็นรอบ ๆ สลับกันการยกเลียงขึ้นมาดู แล้วลุ้นว่าจะได้เศษแร่ทองคำติดขึ้นมาหรือเปล่า

งานนี้ใครดวงดีก็ได้ทองเยอะ ส่วนใครดวงแตกก็ได้แต่ก้อนกรวด ขี้เลน

ทองที่ร่อนได้
สำหรับทองคำที่ร่อนชาวบ้านรวมถึงนักท่องเที่ยวร่อนกันอยู่ทุกวันนี้ มีแหล่งกำเนิดเดียวกับเหมืองทองคำโต๊ะโมะ อดีตเหมืองทองคำชื่อดังแห่งภาคใต้ ที่แม้ว่าวันนี้เหมืองทองแห่งนี้จะปิดตัวไปแล้ว แต่ตำนาน เรื่องเล่า เรื่องราว และความผูกพันเกี่ยวกับพนมเทียนและเพชรพระอุมายังคงอยู่

เช่นเดียวกับ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือ พนมเทียน ที่แม้วันนี้จะท่านจากไป แต่เรื่องราวและผลงานของท่านยังดำรงคงอยู่ โดยเฉพาะ “เพชรพระอุมา” นวนิยายผจญภัยสุดคลาสสิกที่ยังดำรงคงอยู่คู่กับนักอ่านชาวไทยตลอดไป

อาลัยแด่ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือ พนมเทียน นักเขียนนามอุโโฆษของเมืองไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น