อาลัย “ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ” เจ้าของนามปากกา “พนมเทียน” อายุ 89 ปีด้วยโรคชรา มีผลงานโดดเด่น “เพชรพระอุมา-จุฬาตรีคูณ-เล็บครุฑ-ศิวาราตรี” สวธ.เผยครอบครัวจัดรดน้ำศพ 22 เม.ย. สวดพระอภิธรรม 1 คืน เลื่อนพิธีบำเพ็ญกุศลไม่มีกำหนด จนกว่าโควิดคลี่คลาย
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2540 เสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เวลา 09.15 น. ณ โรงพยาบาลรามคำแหง เนื่องจากโรคชรา สิริรวมอายุ 89 ปี ล่าสุดได้รับการประสานจากทางครอบครัว นายฉัตรชัย ว่าจะกำหนดจัดพิธีรดน้ำศพ ในวันที่ 22 เมษายน 2563 เวลา 16.00 น. ณ วัดธาตุทอง ศาลา 8 (โดยขณะนี้กำลังดำเนินการขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ) จากนั้นจะสวดพระอภิธรรมศพ ในเวลา 18.30 น. เพียง 1 คืน และจะบรรจุศพไว้ก่อนจนกว่าสถานการณ์ไวรัส Covid-19 คลี่คลาย แล้วจึงจะแจ้งกำหนดการบำเพ็ญกุศลศพตามประเพณีในโอกาสต่อไปอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม สวธ.ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ได้มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ
สำหรับประวัติของนายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นามปากกา “พนมเทียน” เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ที่จังหวัดปัตตานี เป็นนักเขียนผู้สร้างผลงานทางวรรณศิลป์ที่ทรงคุณค่าไว้อย่างมากมายและต่อเนื่องมาเกือบ 5 ทศวรรษ ผลงานของเขาปรากฏแพร่หลายเป็นที่นิยมของผู้อ่านตลอดมา โดยเฉพาะนวนิยายซึ่งมีจำนวนถึง 38 เรื่องหลายเรื่อง เช่น จุฬาตรีคูณ เล็บครุฑ เพชรพระอุมา และศิวาราตรี มีความโดดเด่นเฉพาะตัว อย่างที่จะหานักเขียนอื่นในแนวเดียวกันมาเทียบเคียงได้ยาก “พนมเทียน” เป็นนักฝัน เขาถึงสามารถใช้จินตนาการสร้างสรรค์ผลงานโดยมีความรอบรู้ และประสบการณ์อันหลากหลายเป็นพื้นฐาน งานเขียนของเขาจึงมีหลายประเภทหลายแนว คือ มีทั้งประเภทจินตนิยาย อาชญนิยาย นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน แนวผจญภัย แนวพาฝัน ตลอดจนสาระนิยาย คุณลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของเขา คือ การใช้ภาษาด้วยลีลาอันงดงามและให้ภาพที่คมชัด งานของเขาจึงส่งผลสืบเนื่องไปถึงการสร้างงานศิลปแขนงอื่น เช่น ละครวิทยุ ละครเวที ตลอดจนเพลงประกอบละครเวที โดยเฉพาะเรื่อง จุฬาตรีคูณ นั้น เป็นที่นิยมกันมาตลอด 5 ทศวรรษ
นอกจากเรื่องจุฬาตรีคูณ จินตนิยาย เรื่องศิวาราตรี ของ “พนมเทียน” ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ “สกลวรรณ” นำ ศิวาราตรี มาเขียนเป็นร้อยกรองยาวกว่า 30,000 คำกลอน โดยอาศัยความงามแห่งภาษาร้อยแก้วของ “พนมเทียน” เป็นพื้นฐาน งานเขียนของ “พนมเทียน” มิได้เพียงแต่พาผู้อ่านเข้าไปสู่โลกแห่งจินตนาการที่มีแต่ความบันเทิงใจ หากอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์จะเห็นได้ว่าผู้เขียนยึดหลักการมนุษยธรรมอย่างมั่นคง เขาเห็นว่าโลกและชีวิตดำรงอยู่ด้วยมนุษยธรรม สันติภาพและภราดรภาพ อันเป็นอุดมการณ์ของมนุษยชาติ ผลงานของเขาจึงให้ทั้งความสำเริงอารมณ์และคุณค่าแห่งสาระที่แฝงอยู่เยื้องลึก “พนมเทียน” ได้สร้างสรรค์ผลงานทางวรรณศิลป์ที่งดงามและมีคุณค่า ประทับใจผู้อ่าน ต่างรุ่น ต่างวัย และต่างสถานภาพ มาเป็นเวลายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2540