xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ล็อกน่านฟ้า สายการบินทั่วโลกเสี่ยงล้มละลาย THAI จะไหวไหม?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การประกาศหยุดบินคล้ายปิดน่านฟ้ากันทั่วทั้งโลกส่งผลสะท้านสะเทือนอย่างใหญ่หลวง บรรดานักวิเคราะห์ คาดกันว่าในอีกสองเดือนข้างหน้าจะมีอีกหลายสายการบินที่ล้มละลายตาม Flybe สายการบินภายในภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปที่ปิดฉากไปแล้ว ขณะที่สายการบินของไทยเริ่มออกอาการร่อแร่ตามๆ กัน ที่น่าห่วงสุดคือ THAI จะสิ้นชื่อเหลือเพียงตำนานหรือไม่ รอวัดใจคลังอุ้มไหวไหม

หลังการปิดฉากของ Flybe ไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาด้านการบินระดับโลก ทยอยออกบทวิเคราะห์ให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่า อุตสาหกรรมการบินของทั้งโลกเข้าสู่โซนเสี่ยงสุดขีด และอีกไม่นานเกิน 2 เดือนข้างหน้านี้ จะเห็นการทยอยปิดตัวลงของสายการบินทั่วทั้งโลก เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างออกประกาศห้ามการเดินทางเข้า-ออก หากไม่ฉุกเฉินจริงๆ ทำให้จำนวนผู้โดยสารสายการบินลดฮวบจนสายการบินต้องหยุดทำการบิน

อย่างรายงานการวิเคราะห์ของ CAPA Centre for Aviation บริษัทที่ปรึกษาด้านสายการบินระดับโลก ที่สื่อหลายสำนัก สรุปรายงานฯที่คาดการณ์ว่าธุรกิจสายการบินทั่วโลกจะล้มละลายครั้งใหญ่ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 นี้ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบหนักหน่วงร่วมกับการที่รัฐบาลหลายประเทศระงับการเดินทางทางอากาศ

เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสฯ บวกเข้ากับสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่แสดงอาการย่ำแย่มาตั้งแต่ต้นปี ทำให้ CAPA วิเคราะห์ว่า ตอนนี้มีสายการบินจำนวนไม่น้อยล้มละลายไปแล้วในเชิงเทคนิค การผิดนัดชำระหนี้จะเกิดขึ้นจากรายได้ที่ต่ำลงอย่างฮวบฮาบ และมูลค่าหุ้นของสายการบินลดต่ำลงกว่า 50% หลังการแพร่ระบาดของไวรัสฯ ตั้งแต่ต้นปี

เมื่ออุตสาหกรรมการบินทั้งโลกออกอาการย่ำแย่ สายการบินของไทยก็ไม่แตกต่าง โดยทยอยปิดเส้นทางบิน เช่น ออกประกาศปิดทำการบินในเส้นทางบินต่างประเทศชั่วคราว 2 เดือน ในเส้นทางบินในภูมิภาคนี้และอื่นๆ ในทุกเที่ยวบิน โดยหยุดทำการบิน ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2563 ส่วนเส้นทางบินยุโรป หยุดทำการบิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 พฤษภาคม 2563

สายการบินไทยแอร์เอเชีย ประกาศหยุดบินชั่วคราวทุกเส้นทางระหว่างประเทศ ตั้งเเต่วันที่ 22 มีนาคม - 25 เมษายน 2563

สำหรับสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ประกาศหยุดบินชั่วคราว ทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และมีแผนจะกลับมาทำการบินอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคมปีนี้

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า กพท.ประเมินผลกระทบตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ว่า จะมีเที่ยวบินลดลง 9,797 เที่ยวบิน ตัวเลขผู้โดยสารหายไปกว่า 3,000,000 คน

 ขณะเดียวกัน เมื่อดูจากตัวเลขสายการบินขอยกเลิกเที่ยวบินและผู้โดยสารที่ลดลง ตามที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา จะเห็นชัดว่า AOT ได้รับผลกระทบจากจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่ลดลงจำนวนมาก

 โดยผลการดำเนินงานในเบื้องต้น ตามข้อมูล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2563 มีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินและแจ้งยกเลิกทำการบินล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2563 รวม 32,991 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศจำนวน 26,648 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศจำนวน 6,343 เที่ยวบิน

 การลดลงของเที่ยวบินและผู้โดยสาร ส่งผลให้ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 ทอท. มีรายได้ลดลงคิดเป็นประมาณ 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบของรายได้ที่ลดลงในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน และมาตรการที่ ทอท.ให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการ 

หากกล่าวสำหรับการบินไทย ต้องถือว่าสาหัสสากรรจ์กว่าสายการบินอื่นๆ เพราะมีต้นทุนการดำเนินงานสูง ขณะทำรายได้ต่ำกว่าเป้า แถมมีหนี้สะสมมโหฬารจนจุดกระแส “ข่าวปลอม” ในโลกโซเชียลว่าการบินไทยส่อล้มละลาย กระทั่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ออกมายันข่าวปลอมว่าบินไทยยังไหว

แต่ตัวเลขงบการเงิน ปี 2562 ระบุว่า การบินไทย ซึ่งมีฝูงบินกว่า 100 ลำ มีต้นทุนการดำเนินงาน (ไม่รวมค่าน้ำมัน) 1.37 แสนล้านบาท เฉลี่ยราว 1.15 หมื่นล้านบาทต่อเดือน แม้ว่าจะไม่ได้ทำการบิน ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้

สำหรับงบการเงินของการบินไทย ปี 2562 ระบุว่า บริษัทมีรายได้รวม 184,046 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท และมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 244,899 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งนอกจากจะออกมายืนยันว่าสถานะของการบินไทย ยังไม่ได้อยู่ในภาวะล้มละลายแล้ว สคร. ยังหารือร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ถึงแผนดำเนินงานของการบินไทย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อนที่จะรายงานต่อรัฐมนตรีคลัง โดยแผนเบื้องต้นมีหลายทางเลือก เช่น การกู้เงิน ออกหุ้นกู้ หรือเพิ่มทุน แต่ยังไม่ได้สรุปอย่างเป็นทางการ

“แผนเดิมที่การบินไทยเคยทำไว้ที่จะออกจากแผนฟื้นฟู ตอนนี้จะต้องรีวิวใหม่หมดว่าในสภาวะเช่นนี้จะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะมีเรื่องของการระบาดของไวรัส Covid-19 เข้ามาด้วย เบื้องต้นที่หารือร่วมกันนั้นจะมีทั้งแผนการใช้เงินกู้ การเพิ่มทุน โดยพิจารณาว่าหากเพิ่มทุนนั้นจะใช้แหล่งเงินจากที่ใด แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้” นายประภาศ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ

การบินไทยปรับตัวด้วยการจำหน่ายอาหารจาก “ครัวการบินไทย” อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ส่วนสายการบินอื่นๆ เช่น ไทยแอร์เอเชีย ก็อยู่ในโซนเสี่ยงลูกผีลูกคนเช่นกัน เมื่อฟังจากปากคำที่นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย ที่ยอมรับในการให้สัมภาษณ์สื่อว่า ตอนนี้ทุกคนอ่อนแรงหมด ไทยแอร์เอเชียตอนนี้ปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งหมดเหลือเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ เงินสดเข้ามาก็น้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดยังคงอยู่เหมือนเดิม ทำให้กระแสเงินสดเราลดลงเรื่อย ๆ ถ้าทุกอย่างจบภายในมิถุนายนนี้เรายังพอรับไหว แต่ถ้าเกินจากนั้นเราก็คงรับไม่ไหวเหมือนกัน

ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียต้องใช้กระแสเงินสดหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ราว 1,000 ล้านบาทต่อเดือน รวมทั้งกลุ่มประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อเดือน หากผลกระทบยาว 6 เดือน บริษัทต้องใช้กระแสเงินสดไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท

แวดวงการบิน มองว่า สายการบินที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้คือสายการบินที่มีเน็ตเวิร์กการบิน และมีเครื่องบินในเครือข่ายจำนวนมาก เช่น ไทยไลอ้อนแอร์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยเวียตเจ็ท เนื่องจากเครือข่ายการบินเหล่านี้มียอดคำสั่งซื้อฝูงบินใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะต้นทุนหลักของสายการบินคือเครื่องบิน

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ย้ำให้เห็นถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอุตสาหกรรมการบินในการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่ามีความเสี่ยงที่สายการบินในประเทศอาจถึงขั้นล้มหายตายจาก หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อเกินปี 2563 ซึ่งจะเห็นว่าหลังการระบาดทำให้มีสายการบินต่างประเทศประกาศปิดกิจการหรือยื่นล้มละลายกันแล้วหลายราย

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ธุรกิจสายการบินของไทยมีประสบการณ์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว จึงมีการสำรองเงินไว้ในมือพอสมควร ซึ่งคาดว่าจะสามารถประคองธุรกิจไปได้อีกราว 1 ปี

ต้องลุ้นกันหนักนับจากนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าสายการบินระดับตำนานอย่าง สายการบิน Flybe ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2522 หรือนานร่วม 40 ปี มีผู้ใช้บริการราว 8 ล้านคนต่อปี ครอบคลุมเส้นทางบินกว่าร้อยละ 80 ในสหราชอาณาจักร และมีเส้นทางให้บริการทั่วยุโรปอีกกว่า 170 จุดหมาย ก็ยังไม่รอด

มิหนำซ้ำ บีบีซี สื่อดังของอังกฤษ ยังรายงานว่า นายเจมส์ กู๊ดออล์ นักวิเคราะห์ด้านการคมนาคมจาก Redburn กล่าวว่า กรณีของ Flybe น่าจะเป็นกรณีแรกของอีกหลายกรณีที่จะตามมาอีกมากในปี 2020 เพราะการระบาดของไวรัสโควิด19 ทำให้ความต้องการเดินทางทางอากาศลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีอีกหลายสายการบินต้องประสบกับภาวะล้มละลายไม่ต่างจาก Flybe ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

ขณะเดียวกัน สแกนดิเนเวียแอร์ไลน์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม SAS เริ่มออกอาการ โดยประกาศปลดพนักงานเป็นการชั่วคราวจำนวนราว 10,000 ตำแหน่ง คิดเป็นจำนวน 90% ของทั้งบริษัท เพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบิน รวมถึงมาตรการจากภาครัฐที่จำกัดเที่ยวบินระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดนับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคมนี้เป็นต้นไป และยังไม่รู้ว่าธุรกิจจะคืนสู่สภาพปกติได้เมื่อไหร่

จับตาหลังผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมการบินของไทยและของโลกไปโดยสิ้นเชิงหรือไม่? เจ้าดอกจำปี THAI ยังจะไหวไหม?


กำลังโหลดความคิดเห็น