xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

LOCK DOWN โควิด-19 บ้านเมืองสงบ จบที่ “ลุงตู่”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น “โลกทั้งโลก” ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ที่เข้าสู่สภาวะ pandemic เพราะมี “ผู้ติดเชื้อโควิด-19” ทะลุเกิน 200,000 คน ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น คำประกาศของ “องค์การอนามัยโลก(WHO)” ที่ว่า โควิด-19 ถือเป็น “ศัตรูร้ายของมวลมนุษยชาติ” จึงเป็นความจริงแท้แน่นอน

สำหรับประเทศไทยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” กำลังเดินทางเข้าสู่ “ระยะที่ 3” คือแพร่กระจายในวงกว้างอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะหลังจากเกิด 2 เคสใหญ่ที่ส่งผลทำให้ “ตัวเลขผู้ติดเชื้อ” เพิ่มขึ้นวันละกว่า 30 คน จนยอดสะสมรวมพุ่งทะลุ 200 คนไปเป็นที่เรียบร้อย

เคสแรกคือ กรณีที่การติดโควิด-19 จากกลุ่มเพื่อนที่ไปเที่ยวใน “สถานบันเทิง” ชนิดที่เรียกว่าติดกันทั้งผับ ตั้งแต่ดีเจ คนทำความสะอาด พ่อครัว คนเสิร์ฟ พิธีกร แคชเชียร์และคนเที่ยว

เคสที่สองคือ กรณีดาราชื่อดังอย่าง “แมทธิว ดีน” ออกมาเปิดเผยเรื่องการติดเชื้อ เพราะเมื่อสืบสวนพบว่า มีผู้สัมผัสโรคเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “สนามมวย” และผู้คนเหล่านี้เมื่อตรวจยืนยันแล้วก็ติดโควิด-19 เป็นจำนวนมาก โดยกระจายไปในหลายจังหวัดคือ กทม. เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ สุโขทัย นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และ นนทบุรี

ที่สำคัญอยู่ตรงที่มีข้อมูลอันน่าตกใจจาก นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่19 มีนาคม 2563 ว่า จากการคำนวณแบบจำลองการระบาดของโรค ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระยะที่คนติดเชื้อโควิด-19 1 คน แพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ 1.6 คน ดังนั้นในช่วงเดือนเมษายน 63 ถึง มีนาคม 2564 จะมีผู้ติดเชื้อในไทย 200,000 คน

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคร่งเครียด เพราะทำให้บริหารจัดการได้ยากขึ้น ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนที่กำลังปริวิตกและเรียกร้องให้ใช้มาตรการ “Lock Down” ปิดประเทศ “ยอมเจ็บ เพื่อจบ”

วันนี้ ถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ “ผู้นำประเทศ” ต้องกล้าตัดสินใจตามคำเรียกร้องของประชาชน เพราะต้องไม่ลืมว่า บ้านเมืองจะสงบหรือโรคจะสงบหรือไม่ย่อมต้อง “จบที่ลุงตู่” ตามม็อตโต้ที่เคยประกาศไว้ในช่วงที่พรรคพลังประชารัฐรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

 “โควิด” ขวิด “ลุงตู่” เดี้ยง
ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้แม้จะสะเปะสะปะถึงขั้นออกอาการ “ติดประมาท” ไปบ้าง แต่รัฐบาลลุงตู่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดีพอสมควร ด้วยสามารถควบคุมการติดเชื้อในอยู่ในวงจำกัด และมี “ผู้เสียชีวิต” เพียงแค่ 1 คนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ผลจากการแพร่ระบาดในวงกว้างที่ “ผับทองหล่อ” และ “สนามมวยลุมพินี” ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เพราะเห็นได้ชัดว่าทั้ง 2 กรณีคือ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์ (Super Spreader)”

ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะยานทะลุ 200 กว่าคน และมีกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังอีกหลายร้อยชีวิต โดยไม่มีทีท่าจะว่ารัฐบาลจะ “เอาอยู่” ชาวบ้านร้านตลาดก็ด่ากันขรมเมืองว่า หละหลวม ไม่เด็ดขาด ปล่อย “ไวรัสมรณะ” คุกคามคนไทยจนขวัญผวา

ทั้งมาตรการคัดกรองคน ทั้งการขาดแคลนเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ไหนจะปัญหาความไม่เป็นเอกภาพระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องมะรุมมะตุ้มใส่ “บิ๊กตู่” รายวัน จนเป็น “มวยเมาหมัด”

“บิ๊กตู่” รู้สึกตัวว่า หากปล่อยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำงานเองไม่ได้ เพราะสุดท้ายคนโดนด่าชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” คนเดียว จึงตัดสินใจลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ไวรัสโควิด -19 ที่มีตัวเองเป็นประธาน ขึ้นมาเพื่อลงมาดูเองเต็มตัว

จากกนั้นมีการปรับ “ยุทธศาสตร์” ครั้งใหญ่เกิดขึ้น พร้อมๆ กับ “ภาพสำคัญ” ขณะพล.อ.ประยุทธ์กำลังนั่งประชุมกับ “ปรมาจารย์” ทางการแพทย์ของไทย ที่ประกอบด้วย ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อดีต รมว.สาธารณสุข, ศ.นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อดีต รมช.ศึกษาธิการ, ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ นายกแพทยสมาคม และ ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ในระหว่างการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19

ในการประชุมครั้งนั้น “นายกฯลุงตู่” นั่งฟังอย่างตั้งใจและกล่าวในการหารือว่า “ให้ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นคนนำเรื่องมาตรการ รัฐบาลและหน่วยงานราชการขอเป็นฝ่ายสนับสนุน” และนั่นก็เป็นที่มาของมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในวันถัดมา



 สภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันนี้กับในอดีตต่างกันโดยสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะเป็นมาตรการจำกัดการเข้าออกประเทศของ “ชาวต่างชาติ” นั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นไปอย่างเข้มข้น และคงมีน้อยรายมากที่จะผ่านเกณฑ์ตามที่รัฐบาลไทยประกาศ มีมติเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ 13-15 เม.ย.63 ออกไป เพื่อป้องกันมิให้การแพร่เชื้อระบาดไปสู่ต่างจังหวัด มีมติให้ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้นได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ ฟิตเนส สปา และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ส่วนสนามมวย สนามม้า สนามกีฬาที่มีผู้ชมแออัด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ปิดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

พร้อมกันนี้ให้งดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น คอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาให้ความเห็นชอบและแจ้งให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทราบด้วย ฯลฯ

แม้จะไม่ “สุดซอย” มีคำชมไม่มากนัก แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ยังพอลดโทนอารมณ์คนมาได้บ้าง

เอาว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ “บิ๊กตู่” น่วมพอสมควร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ใบหน้าแทบไม่มีรอยยิ้ม หน้าหมองคล้ำ มองออกว่า อมทุกข์ไว้เต็มคำ

เรียกว่า น่าจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ “บิ๊กตู่” ขับรถถังออกมายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงบัดนี้ เพราะครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง หากแต่เป็นโรคภัยที่น่าสะพรึง และยากจะควบคุมอยู่

ที่สำคัญคือ ต้องยอมรับว่า การป้องกันไวรัสโควิด -19 ช่วงที่ผ่านมา ทำให้เสียงก่นด่า “บิ๊กตู่” มีจำนวนมากและกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องความสามารถในการบริหารประเทศ ที่ฝ่ายตรงข้ามพยายาม “ดิสเครดิต” มาโดยตลอด

มาตรการที่อ่อนยวบ ผสมกับการใช้งานที่ไม่ตรงกับความสามารถของคน ส่งผลไปยังคนกันเองที่เคยเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก คอยแหกปากเชียร์ไม่ว่าผิดหรือถูก จนถูกล้อว่า เป็น “สลิ่ม” ยังถอนหายใจ หมดแรงจะเชียร์

อาการ “บิ๊กตู่” นั้นแสดงออกค่อนข้างชัดว่า มีความเครียดรุมเร้าจากเรื่องนี้ จนแสดงออกผ่านประโยคที่ว่า “เสาร์ อาทิตย์ที่ผ่านมางอมเต็มที ใจผมก็แย่ไปทุกวัน”

พล.อ.ประยุทธ์นั้นไม่ใช่คนสลับซับซ้อน คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น ประโยคดังกล่าวเกิดขึ้นหลังถูกคนในสังคมไม่ว่า ฝั่งไหน ตะลุมบอนรุมจวกเรื่องมาตรการรับมือไวรัสโควิด -19

เสื้อหลวมโคลก แก้มตอบ ใบหน้าลำคอเหี่ยวย่น จนแปลกตาคือ สิ่งที่คนทั้งประเทศสัมผัสได้ในวันที่ออกรายโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ประกาศว่า “ประเทศไทยต้องชนะ”ที่ภาษากายของ “ท่านผู้นำ” ไม่ได้เข้มขลังดังสคริปต์ที่เตรียมไว้

กระทั่ง “ฝ่ายตรงข้าม-กองแช่ง” ยังตกใจ เพราะ “บิ๊กตู่” ซูบผอมไปอย่างเห็นได้ชัด นั่นบ่งบอกให้เห็นว่า มีอาการเครียดที่สะสมจากเรื่องนี้เป็นอย่างมาก แต่ก็พอจะเรียก “คะแนนสงสาร” กลับคืนมาได้บ้าง(เล็กน้อย)

จากอาการน่าจะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ซึ่งเป็นธรรมดา แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็น “ปุถุชน” เหมือนกัน ย่อมรู้สึกรู้สากับคำด่าทอ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่พระอิฐพระปูน หรือ “พระอริยะ”

อย่างที่รู้กัน “บิ๊กตู่” เองไม่ได้หลงใหลอำนาจอะไรอย่างที่คนคิดกัน แต่เพราะมีปัจจัยหลายอย่างทำให้ยังต้องมายืนอยู่ตรงนี้ หากไม่มีภาระบนบ่าที่หนักอึ้ง ป่านนี้อาจไม่อยู่แล้ว หรือต่อให้ลงจากหลังเสือได้ นาทีนี้ก็ไม่ควรทำ เพราะเป็นการหนีปัญหา อีกทั้งการ “เปลี่ยนม้ากลางศึก” ไม่เป็นผลดี ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม

เหมือนอยู่ในสภาวะคนแบกโลกไว้ทั้งใบ! และยังมีเรื่องใหญ่ที่ต้องกล้าตัดสินใจโดยเร็ววัน

 ปิด สู้ ฟัด “โควิด-19”
สำหรับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การระบาดใหญ่ในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ยากจะหลีกเลี่ยงดังที่หลายประเทศเผชิญ และหลายประเทศทั่วโลกหันมาใช้มาตรการ “ชัตดาวน์” ปิดพรมแดน และจำกัดการเคลื่อนย้ายของพลเมืองในประเทศ

โดย 2 ประเทศที่เด็ดขาดและเป็นที่กล่าวขานก็คือ “จีน” และ “ไต้หวัน”

กรณีจีนนั้น ณ วันที่ 19 มี.ค. นอกจากไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีน ยังเป็นครั้งแรกที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในมณฑลหูเป่ยซึ่งเป็นศูนย์กลางระบาดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศจีน มีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 34 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือกรณีติดเชื้อนำเข้า

ขณะเดียวกัน จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19ก็ได้ลดลงเรื่อยๆ มาที่ตัวเลขหลักเดียว โดยมีแค่ 8 รายเท่านั้น ดันยอดผู้เสียชีวิตสะสม เท่ากับ 3,245 ราย ส่วนกรณีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อมีเพียง 23 รายเท่านั้น

“ผมเชื่อว่าหลายประเทศจะใช้มาตรการบนพื้นฐานของกลไกแทรกแซงของจีน แต่ควบคุมที่ต้นน้ำ เป็นวิธีการโบราณแต่มีประสิทธิภาพ” นพ.จง หนันซันนักระบาดวิทยาชื่อดังของจีนกล่าว และว่าหากไม่มี “ยาแรง” หมายถึงมาตรการแทรกแซงเพื่อควบคุมการระบาดที่เด็ดขาด ก็จะเอาไม่อยู่

กล่าวสำหรับ “ไต้หวัน” นั้น รัฐบาลประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน เริ่มใช้มาตรการคัดกรองคนเดินทางจากเมืองอู่ฮั่นซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งแรกตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. ก่อนจะขยายให้ครอบคลุมผู้เดินทางทุกคนที่มีประวัติเดินทางไปอู่ฮั่น รวมถึงพื้นที่มณฑลหูเป่ยทั้งหมด นอกจากนี้ยังตัดสินใจใช้มาตรการควบคุมพรมแดน กักกันโรค และปิดโรงเรียนภายในระยะเวลาไม่นานนักหลังจากที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อเดือน ม.ค.

ขณะเดียวกันก็มีมาตรการอื่นๆ ที่เด็ดขาดร่วมด้วย เช่น สั่งห้ามผู้ผลิตส่งออกวัสดุเพื่อป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการนำระบบปันส่วนมาใช้และกำหนดราคาเพื่อป้องกันการขึ้นราคาและการกักตุน นอกจากนี้ยังตั้งสายการผลิตใหม่และส่งทหารไปยังโรงงาน เพื่อช่วยเหลือพนักงานให้เพิ่มการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น

จากข้อมูลในวันพฤหัสบดี (19) ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อไวรัสสะสมเพียงแค่ 100 คน ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศและดินแดนที่มีขนาดพอๆ กันอย่างสิงคโปร์ (313) และฮ่องกง (192)

หรือหากเทียบตามสถิติประชากร ไต้หวันก็ถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการติดเชื้อต่อประชากรรวมต่ำที่สุดในโลกนาทีนี้ เพราะมีสถิติผู้ติดเชื้อไวรัส 1 รายต่อประชากร 500,000 รายเท่านั้น

ล่าสุด รัฐบาลไทเปได้ห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. ส่วนพลเมืองที่กลับจากต่างประเทศก็จะต้องถูกกักกันโรค 14 วัน โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลวันละ 1,000 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ หรือประมาณ 1,000 บาทเศษ

นั่นคือ คำตอบว่า ทำไมประเทศไทยถึงจำเป็นต้อง “ปิดเมือง”

ถามว่า “ลุงตู่” รับรู้ถึงแรงกดดันตรงนี้ไหม?

ย่อมต้องรับรู้ ไม่เช่นนั้นคงไม่กล่าวว่า “คำว่าปิดประเทศ หรือปิดพื้นที่ หรือปิดจังหวัด แบบนั้นคือการปิดซีล นั่นคือคำว่าปิด สิ่งที่ทำในปัจจุบันผมไม่ได้เรียกว่าปิด ผมเรียกว่าเป็นมาตรการเข้มข้น เป็นมาตรการสกัดกั้นคนเข้าออก มีการตรวจตรา ท่าเรือต่างๆ เป็นมาตรการระดับที่ 3 อยู่แล้ว คำว่าปิดประเทศคือคนเข้า-ออกไม่ได้ รถยนต์ต่างๆ ก็เข้าไม่ได้ ก็จะเหมือนกับอู่ฮั่นที่เคยทำ เราคงยังไม่ต้องการขนาดนั้น ทั้งคนทั้งรถ เครื่องบินเข้า-ออกไม่ได้ แล้วจะอยู่กันไหวหรือ ถ้าสถานการณ์ยังไม่รุนแรงขนาดนั้น แต่ถ้าถึงขนาดนั้นจริง ผมก็ต้องปิดอย่างที่ว่า”

และรู้ว่า ถ้าปิดจริง ประชาชนจะใช้ชีวิตยากลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งดูจากมาตรการที่รัฐบาลทำในขณะนี้ ก็พอจะเห็นเค้าลางเตือนให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้สถานการณ์ว่า กำลังเดินทางไปถึงจุดนั้น ขึ้นอยู่กับว่า “ลุงตู่” จะตัดสินใจชักดาบเมื่อไหร่ก็เท่านั้น ด้วยดูทรงแล้วน่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นอยู่ตรงที่จะ “ช้ากินไป” หรือไม่เท่านั้น เพราะถ้าตัดสินใจ “ช้า” โอกาสที่สถานการณ์จะเลวร้ายเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศมีความเป็นไปได้สูงยิ่ง

ณ ปัจจุบัน หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ปริมาณการจราจรลดลงไปอย่างถนัดใจ
นอกจากนี้ ประเด็นของการปิดหมดหรือไม่อยู่ตรงที่ว่า ถ้าปิดไม่หมด ส่วนที่ปิดก็เดือดร้อน ส่วนที่เปิดก็แพร่กระจายต่อและก็จะใช่ว่าจะทำมาค้าขายได้เหมือนเช่นที่ผ่านมา ด้วยไม่รู้ว่าสถานการณ์จะจบสิ้นเมื่อไหร่ เรียกว่าพังทั้งเศรษฐกิจและโรคระบาดก็กระจายต่อไปแบบไม่มีจุดจบ ขณะที่แพทย์และพยาบาลก็จะต้องงานทำงานหนักขึ้น และเสี่ยงติดเชื้อในโรงพยาบาลมากขึ้น

แต่ถ้าประเทศไทยใช้ยาแรงและทำพร้อมกันทั้งหมด โดยต้องจัดงบประมาณเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยุติลงเร็วกว่านี้

ที่สำคัญคือ ณ เวลานี้พบการแพร่ระบาดไปทั่วทุกภูมิภาคของไทย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเท่านั้น รวมทั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ไม่ได้มารักษาในทันทีตั้งแต่วันแรกที่มีอาการป่วย ซึ่งส่งผลทำให้สถานการณ์ยากขึ้นไปทุกที

มิหนำซ้ำประชาชนก็ยังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงและไม่รับผิดชอบต่อสังคมเหมือนเดิม ซึ่งถ้าหากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โอกาสที่จะหยุดเชื้อก็เป็นไปได้ยาก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยแสดงความคิดเห็นเอาไว้ตรงประเด็นว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 น่ากลัวกว่าไข้หวัดใหญ่และติดง่ายกว่าถึง 3 เท่า ฉะนั้น มาตรการที่จัดการแค่กลางซอย ไม่ใช่สุดซอย คือลดการไปเที่ยว หรือปิด สนามมวย สถานบันเทิง โรงมหรสพต่างๆ เพียงบางส่วน แต่คนทั่วไปก็ใช้ชีวิตตามปกติ ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า โดยสารรถสาธารณะ ซึ่งถือความเสี่ยงทั้งนั้น ดังนั้น การล็อกดาวน์ หรือปิดประเทศตอนนี้ จึงมีความจำเป็น และต้องปิดประเทศอย่างน้อย 21 วัน

“ถามว่าทำไมต้อง 21 วัน ยกตัวอย่างถ้าเราได้รับเชื้อ ระยะฟักตัว 14 วัน ถ้ามีการแสดงอาการ ถ้าอายุมากก็มีความสุ่มเสี่ยง ถ้าอาการหนักเรียกรถพยาบาล ถ้าไม่มีอาการ หรือ อาการน้อย ก็พักรักษาตัวได้ ผู้ติดเชื้อ อาการน้อย สามารถเผยแพร่เชื้อได้ 20 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 21 วัน ถึงจะดำเนินชีวิตได้แต่ต้องรักษาระยะห่าง ถ้าเราไม่ทำ ต้องถามก่อนว่า ถ้าสมมุติว่า รพ.ต้องรองรับคนไข้โควิด-19 10 คน อันนี้รพ.พร้อมหรือไม่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เตียง เครื่องช่วยหายใจ ชุดสวมแพทย์ พร้อมหรือไม่ ถ้าเราไม่อยากให้ประเทศเราบรรลัย บุคลากรติดเชื้อ ดังนั้น เราจึงต้องประกาศวันนี้ ตอนนี้ จึงเสนอปิดประเทศ 21 วัน”ศ.นพ.ธีระวัฒน์อธิบายให้เหตุผล

สอดคล้องกับสิ่งที่ “เครือข่ายประชาชนเพื่อลดการระบาดของเชื้อ COVID-19” ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลดำเนินการปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดบ้าน และประกาศภาวะฉุกเฉิน เป็นเวลา 3 สัปดาห์

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญก็คือ ถ้าหากใช้มาตรการ “ปิดเมือง” การบังคับใช้กฎหมายต้องดำเนินไปอย่างเข้มข้น และต้องทำให้ได้เหมือนอย่างที่ “จีน” หรือ “ไต้หวัน” ทำ ซึ่งตรงนี้หลายฝ่ายมีความเชื่อมั่นว่า ระบบควบคุมโรคของไทยจะทำให้โรคสงบได้ในเวลาไม่กี่สัปดาห์

กระนั้นก็ดี สิ่งที่จะต้องพินิจพิจารณากันต่อไปก็คือ การปิดประเทศไทย 21 วันเพียงพอต่อการควบคุมสถานการณ์หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าโควิด19 เป็นโรคระบาดระดับโลก ถ้าตราบใดที่ยังคงระบาดในประเทศอื่นๆ เปิดประเทศกลับมาเมื่อไหร่ โอกาสที่เชื้อจะกลับเข้ามาในประเทศอีกก็มีเปอร์เซ็นต์สูงเหมือนเดิม

แพทย์ไทยพร้อมสู้ศึกเต็มอัตราศึก
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากตรวจสอบข้อมูลก็จะพบว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมตัวรับสถานการณ์วิกฤตถึงขั้น Lock down ปิดเมืองเอาไว้เช่นกัน โดยเฉพาะ “ภารกิจเร่งด่วน” ที่ “สถานพยาบาล” ต่างๆ ที่จะต้องมีคนไข้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่ง นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยให้พื้นที่ปริมณฑลจัดเตรียมโรงพยาบาลเพื่อเปิดวอร์ดดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ ในกลุ่มที่มีอาการน้อย อาการดีขึ้นจะกลับบ้าน

นอกจากนี้ ยังมีการประสานกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขอประสานให้โรงเรียนกีฬา สนามกีฬา โรงแรม ที่มีความสนใจรับผู้ป่วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ประชุมระหว่างกรมการแพทย์และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ เช่น อาการดี ไม่มีการแพร่เชื้อแล้ว แต่ต้องการพักฟื้นก็อาจจัดให้อยู่ในสถานที่เหล่านี้ ซึ่งกระทรวงท่องเที่ยวฯ ได้ติดตามประสานงานอย่างน้อย 4 พันแห่ง ซึ่งก็ต้องมีเวลาไปดูมาตรฐานและติดตามการให้บริการ

ส่วนกรณีที่พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 หาที่รักษาไม่ได้นั้น ก็ขอให้แจ้งประสานเข้ามาจะได้เข้าไปช่วยเหลือดูแล โดยมีนโยบายว่า โรงพยาบาลไหนที่รับการตรวจยืนยันก็ให้รับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้น โดยประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน และไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน แต่ถ้าหากมีการเรียกเก็บเงินสามารถโทร. 1669 และรายงานได้ว่าป่วยเป็นโรคนี้มีผลแล็บยืนยันชัดเจน หรือแจ้งไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเพื่อเอาผิด รพ.เอกชนแห่งนั้นๆ ได้

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้โรงพยาบาลทุกสังกัดดำเนินการเหมือนกันคือ ลดจำนวนผู้ป่วยไม่เร่งด่วนที่มารับบริการให้ไปรับยาที่ร้านขายยาหรือจัดบริการใกล้บ้าน เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในโรงพยาบาล การจัดคลินิกไข้หวัดพยายามแยกคนไข้เสี่ยงโควิด-19 ไปตรวจ ส่วนเรื่องความพร้อมของเตียง มีการหารือกันทั้งในส่วนของ สธ. มหาวิทยาลัย กทม. เหล่าทัพ ตำรวจ และเอกชน โดยขณะนี้โรงพยาบาลภาครัฐใน กทม.มีเตียงรองรับอยู่ประมาณ 200 กว่าเตียง แต่หากยังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็จะมีการเปิดวอร์ดดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในหลายโรงพยาบาลและมีการขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน หากรับตรวจก็ให้รับการรักษาด้วย

มาตรการอันเข้มข้นของไต้หวันได้รับเสียงชื่นชมมาก
นอกจากนี้ ถ้าหากมีผู้ป่วยมาก กระทรวงสาธารณสุขก็เตรียมแผนเป็นหอพักหรือโรงแรมเพื่อรองรับเอาไว้แล้วเช่นกัน

“หลักการยืนยันว่า ทุกคนต้องนอนโรงพยาบาล 2 วันหรือ 48 ชั่วโมง เพราะเรามีคนไข้โควิด-19 ที่เข้ามาอาการดีๆ แต่ 48 ชั่วโมงเป็นปอดบวม ดังนั้น ต้องนอนโรงพยาบาลก่อน หากคนไข้อาการดีขึ้นหรือไม่มีไข้แล้ว ก็จะส่งไปนอนที่หอพักหรือโรงแรมแต่หวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้”นพ.สมศักดิ์แจกแจง

สำหรับเรื่อง “ตรวจฟรี” ที่หลายคนเรียกร้องให้ “ฟรีทุกคน” นั้น ข้อเท็จจริงก็คือ โดยปกติ “คนที่จำเป็นต้องตรวจ กระทรวงสาธารณสุขตรวจให้ฟรีอยู่แล้ว” เพราะ “คนที่ไม่จำเป็น” คือ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ตรวจไปก็ “ไม่มีประโยชน์” ซึ่งขณะนี้ได้ขยายการคัดกรองให้ครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น จากเดิมคือคนที่มาจากประเทศเสี่ยง คนที่ทำงานสัมผัสกับคนต่างชาติ หากมีอาการไข้ ไอเจ็บคอ ทางเดินหายใจ สามารถเข้ามาตรวจได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ตอนนี้ก็ขยายเพิ่มเติมในกลุ่มประชาชนที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ อาการทางเดินหายใจ แม้แค่เล็กน้อย แต่มีประวัติไปสถานที่แออัด เช่น สนามมวย สนามกีฬา สถานบันเทิง ผับ ก็สามารถขอมารับการตรวจยืนยันได้ฟรี

“ที่ยังไม่ได้ให้ฟรี เพราะเราเก็บข้อมูลวิจัยแล้วว่า คนที่มาขอตรวจเฉยๆ โดยไม่มีอาการ ผลออกมาเป็นลบทั้งหมด และคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่รักษาในช่วงเดียวกันตอนนี้ 500 คนก็เป็นลบหมด ไม่มีโควิด-19 เลย แต่วันนี้บอกยืนยันว่า ถ้าป่วยเราตรวจฟรี ขอให้เป็นหวัด น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ มีประวัติไปพื้นที่แออัดก็ตรวจให้ฟรี”ปลัดสธ.แจงข้อเท็จจริง

นั่นคือสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย และวันนี้ คนไทยรับรู้ถึงคำว่า “ยอมเจ็บ เพื่อจบ” เป็นอย่างดี ก็เหลือแต่ “ลุงตู่” ว่าจะ กล้าตัดสินใจให้ทันต่อสถานการณ์หรือไม่

คนไทยไทยอยากเห็น “ลุงตู่คนเก่า” ลุงตู่คนที่ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วเหมือนเมื่อครั้งในอดีตเมื่อตอนรัฐประหารใหม่ๆ ซึ่งมีความเด็ดเดี่ยวจนคะแนนนิยมพุ่งพรวดๆ ไม่ใช่ “ลุงตู่" ซึ่ง “ความมั่นใจ” และใกล้ถึงหมดสภาพความเป็นผู้นำของชาติไปทุกทีเหมือนเช่นที่เห็นในขณะนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น