ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เริ่มจะเข้ารูปเข้ารอย สำหรับแผนรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 หลังล่าสุดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศปิดผับ - บาร์ - สนามกีฬาแบบปิด ฯลฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 14 วัน
แต่ยังคงระดับการแพร่ระบาดเอาไว้ในระยะที่ 2 ไม่เต้นตามโลกโซเชียลมีเดีย ที่ต้องให้รัฐบาลประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 โดยด่วน
และไม่ปิดประเทศตามที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ทำ หลังยอดตัวเลขผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ห้วงสัปดาห์ก่อนถึงสัปดาห์นี้ พุ่งขึ้นเลย 200 คนไปแล้ว
โดยชี้แจงว่า สาเหตุที่ยังต้องคงระยะที่ 2 เอาไว้ เพราะยังหา “ต้นตอ”ของการแพร่เชื้อเจอ ไม่ได้มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง ที่จะต้องหาต้นตอและแหล่งแพร่เชื้อไม่ได้
มาตรการนี้มีทั้งเสียงด่าและเสียงเชียร์ ถือเป็นเรื่องปกติของอารมณ์ประชาชนที่ไม่มั่นใจในมาตรการรัฐ จากการบริหารสถานการณ์ก่อนหน้านี้
ยิ่งมีประเทศต่างๆ ที่เข้มงวด เข้มข้น ถึงขนาด “ปิดประเทศ”ยิ่งอยากให้รัฐบาลปฏิบัติการบ้างเพื่อชัตดาวน์ไวรัสโควิด -19 แต่พอรัฐบาลไม่ทำตาม ยิ่งโมโห
เอาเป็นว่า ไม่ใช่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดื้อแพ่ง และไม่ฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน แต่มันต้องมีเหตุผลที่ยังคง ระยะที่ 2 และยังไม่ปิดประเทศแน่นอน
ไม่มีใครอยากโดนด่าฟรีๆ ทุกวัน โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่”ที่เป็นนักท่องโซเชียลมีเดีย ย่อมได้ยินเสียงที่ประชาชนเรียกร้องทุกๆ วันที่เข้าหู
และไม่ใช่เรื่องเสียฟอร์ม หรือขายหน้า หากแต่ทุกอย่างล้วนกำลังดำเนินการไปตามลำดับ หากสังเกตกันการขับเคลื่อนของรัฐบาลในเรื่องนี้ให้ดี
กลับกัน “บิ๊กตู่”แทบจะเชื่อผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดด้วยซ้ำ อย่าง 6 มาตรการรับมือโควิด -19 ที่ออกมา ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากบรมครูทางการแพทย์ ที่มีการหารือนอกรอบกับนายกฯ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนจะคลอดมาตรการเข้ม
ไม่ว่าจะเป็น ศ.นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาธร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อดีตรมว.สาธารณสุข ศ.นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อดีตรมช.ศึกษาธิการ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ นายกแพทยสมาคม และศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา
ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ที่คนในประเทศกำลังติดตามรับฟังทั้งนั้น
ขณะเดียวกัน แม้ไม่ได้ปิดประเทศอย่างที่คนในสังคมเรียกร้อง แต่หากสังเกตดีๆ ทุกวันนี้ประเทศไทยเกือบจะเข้าสู่จุด “ล็อกดาวน์”แล้วด้วยซ้ำ
แม้ไม่ได้ห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศ แต่มาตรการเข้มข้นที่รัฐบาลกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการขอใบรับรองแพทย์ การขอวีซ่าผ่านสถานทูต การคัดกรองโรค การกักตัว 14 วัน ทุกอย่างยุ่งยากมาก จนวันนี้สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองเกือบจะใช้คำว่า "ร้าง" ได้ ดังนั้น ไม่ปิดก็เหมือนปิด
ขณะที่มาตรการปิดผับ - บาร์ - สนามกีฬา และสถานบริการที่มีคนแออัดยัดเยียด ในกทม. และปริมณฑล 14 วัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คนเมืองกรุงนิยมไปรวมตัวกัน ไม่ต่างอะไรกับการบีบให้คนต้องอยู่ที่บ้าน
ต่อให้ไม่ปิด กทม. ทุกวันนี้ยามค่ำคืนก็เงียบเหงา ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน ต่างคนต่างแยกย้ายกลับบ้าน หรือไปในสถานที่ที่คนน้อยๆ
เมืองแห่งแสงสีตอนนี้กลายเป็นเมืองที่ค่ำคืนร้างผู้คน
นอกจากนี้ มีบางฝ่ายให้ข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลไม่ทำตามเสียงเชียร์ให้ประกาศเข้าสู่การแพร่ระบาดระยะที่ 3 นั้น เพราะต้องการให้คนไทยค่อยๆ ปรับตัว ไม่ต้องการทำแบบฉุกเฉิน เร่งด่วน
อีกทั้งทุกวันนี้แม้ไม่ได้ประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 ก็เหมือนเข้าสู่ระยะที่ 3 เพราะประชาชนเป็นวิตกอย่างมาก และหาทางป้องกันตัวเองแบบเข้มข้น
จุดสำคัญคือ คนไทยมีนิสัย “ขี้ตกใจ” หรือ “อุปาทานหมู่”จะเห็นว่า แค่เพียงเฟกนิวส์เกี่ยวกับไวรัสโควิด -19 ออกมานิดเดียว ต่างพากันแห่กักตุนอาหารกันวุ่นวาย ทั้งที่สถานการณ์ยังไม่ถึงจุดวิกฤตขนาดนั้น ดังนั้น หากประกาศแบบ “สายฟ้าแลบ”อาจเกิดโกลาหลได้
การค่อยๆ ให้คนไทยปรับตัว คุ้นเคย เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้คนมีความพร้อม มีความเตรียมตัว เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้
นอกจากนี้ การตัดสินใจไม่เข้าสู่การแพร่ระบาดระยะที่ 3 นอกจากยังไม่เข้าเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้แล้ว ยังทำให้รัฐบาลมีเวลาเตรียมความพร้อมเมื่อทุกอย่างถึงจุดที่สามารถประกาศได้
จะเห็นว่า ตอนนี้มีการจัดเตรียมสถานที่ ทั้งโรงพยาบาล เตียง ไว้ในจุดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรองรับ รวมถึงการขอความร่วมมือโรงแรมเก่า ที่พร้อมจะให้รัฐเช่าเพื่อเป็นที่รักษาพยาบาลในช่วงการแพร่ระบาด ตลอดจนการเตรียมเวชภัณฑ์ต่างๆ ไว้เอายังโรงพยาบาลที่จะใช้เป็นที่รองรับผู้ป่วย
มีการเตรียมตัวตลอดเวลา ซึ่งทันทีที่มีการเข้าสู่ระยะที่ 3 ไม่ว่าสถานที่ บุคลากร และยา จะพร้อมทันที ดังนั้น ระหว่างนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการเตรียมความพร้อม
และเมื่อมีการประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว คนไทยจะไม่แตกตื่นเท่าที่ควร เพราะมีการปรับตัว อารมณ์ กับสถานการณ์ดังกล่าวเอาไว้แล้ว
“บิ๊กตู่”ย่อมรู้ดีว่า การบริหารที่ผิดพลาดนำมาซึ่งอะไรกับในช่วงที่ผ่านมา หากไม่ขยับเขยื้อน เตรียมตัวที่ดี อาจจะยิ่งวุ่นวายมากกว่านี้จากความไม่พอใจของประชาชน
.เหมือนเป็นโอกาส “แก้ตัว”อีกครั้ง สำหรับการรับมือต่อจากนี้ แม้ที่ผ่านมาจะ “น่วม”พอสมควร เพราะสามารถแปรวิกฤตเป็นโอกาสได้ จากการแสดงฝีมือในช่วงต่อจากนี้
ต้องแสดงให้เห็นว่า มาตรการที่รัฐทำท่ามกลางการถูกด่าทอนั้น แม้ไม่ถูกใจคน แต่ถูกทางสำหรับการรับมือเมื่อศึกผ่านพ้น