xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” เร่งคุม กทม.สกัดแพร่ COVID-19 ต่างจังหวัด ขออยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ เชื่อ 2-3 สัปดาห์ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อนุทิน” ลั่นต้องคุมโควิด-19 ใน กทม.ให้ได้ก่อน เหตุผู้ป่วยอยู่ใน กทม.ถึง 80% ต้องคุมพื้นที่ ทำให้ ผู้ว่าฯ กทม.ต้องออกคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยง สกัดผู้ป่วยเดินทางไปต่างจังหวัด ปรับพฤติกรรมใช้ชีวิต มีวินัย ลดออกนอกบ้าน รักษาระยะห่าง เชื่อ 2-3 สัปดาห์ดีขึ้นแน่ “หมอปิยะสกล” เชื่อกราฟผู้ป่วยยังสูงอีก 3-4 วัน ย้ำ อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ รับผิดชอบต่อสังคม วางโรงแรมรองรับคนป่วยอาการน้อย ช่วยเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักเพียงพอ

วันนี้ (21 มี.ค.) นายอนุทิน ชาญวีกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมหารือการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ปรึกษาคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ว่า โดยสรุปขณะนี้ได้มีการใช้มาตรการต่างๆ ที่เข้มข้นขึ้น ในการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 โดย สธ. จะเป็นองค์กรหลักประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของ กทม.ซึ่งพบผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่า 80% ของผู้ป่วยทั่วประเทศ การดูแลรักษาป้องกัน ให้การบริการผู้ป่วยจึงต้องเน้นพื้นที่ใน กทม.เป็นหลัก เพราะหากควบคุมสถานการณ์ใน กทม.ได้ สถานการณ์ทั่วประเทศก็จะดีขึ้น

“การจะควบคุมโรคได้ต้องปิดกรุงเทพฯ ให้มิดชิด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปิดเมือง คือ ปิดผู้ป่วยไม่ให้เดินทางไปยังต่างจังหวัด เพราะในต่างจังหวัดยังเป็นการรับเชื้อจากคน กทม.เอาไปแพร่ ดังนั้น จะใช้มาตรการคุมพื้นที่ จัดพฤติกรรมการใช้ชีวิต และทุกคนต้องรู้จักการรักษาระยะห่างให้มากที่สุด เราต้องปรับพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนไม่มีโอกาสได้รับเชื้อ เพราะเชื้อโควิด-19 อยู่ในตัวคน และทีมทุกคนในวันนี้ คือทีมไทยแลนด์ที่ดีที่สุดในประเทศ ขอกำลังใจ และความมั่นใจจากประชาชนให้เราได้ทำงานอย่างเต็มที่ ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้โดยเร็ว และขอให้อยู่แบบนี้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ด้วยวินัยที่เข้มข้น โรคนี้จะหายไปจากไทย โรคไม่สามารถทำอันตรายประชาชนคนไทยได้ และทุกบาททุกสตางค์ ที่เสียเราจะร่วมกันต่อสู้ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจแล้วเราจะไม่ทำให้ผิดหวัง” นายอนุทิน กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

นายอนุทิน กล่าวว่า การที่ ผู้ว่าฯ กทม.ออกมาตรการ เพราะจากการได้รับทราบตัวเลขผู้ป่วย และการควบคุม คือ จังหวัดอื่นๆ รอบกรุงเทพฯ ยังมีผู้ป่วยที่ควบคุมได้ แต่ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดมีอำนาจเต็มที่ในการสั่งการ โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขแต่ละจังหวัดเป็นผู้ร่วมควบคุมสถานการณ์ สธ.เตรียมพร้อมทั้งยาและเวชภัณฑ์ ไว้แล้ว และการที่รัฐบาลได้ใช้กฎหมายปิดแหล่งแพร่เชื้อและการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศที่เรามีข้อจำกัดมากขึ้น ก็เพื่อปิดกั้นการเคลื่อนที่ของเชื้อ


นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตเรามีโอกาส เพราะทีมงานในวันนี้เป็นทีมที่ทั้งในประเทศและนอกประเทศให้ความเชื่อมั่น ทั้งหมดต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว เริ่มตั้งแต่ ป้องกัน ควบคุม รักษา ดังนั้น ตนจึงมีความมั่นใจ หากคนรักษามั่นใจ ประชาชนก็จะมั่นใจ เราประชุมนาน เพราะหารือในทุกรูปแบบ ไม่ว่าใครจะพูดอะไร แต่วันนี้เราเดินมาถูกทางแล้ว และไม่ได้ทำตามหลังเหตุการณ์ แต่ทำล่วงหน้าตลอด สิ่งสำคัญ คือ อยากให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เป็นการรับผิดชอบต่อสังคม เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำด้วยความเต็มใจ อย่างไรก็ตาม เชื้อนี้ได้แพร่ไปพอสมควร คนติดก็ต้องรับผิดชอบอย่าปกปิด และเรามีการแบ่งกลุ่ม คือ คนที่ติดเชื้อ แต่ยังไม่มีอาการหนักควรอยู่ที่ใด เพราะไม่มีโรงพยาบาลไหนรับได้หมด ต้องไปอยู่ในที่เหมาะสม เช่น ขณะนี้โรงแรมบางกอกพาเลส ก็ได้ยก 350 ห้องให้ ก็สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปอยู่ได้ และในของส่วนไอ.ซี.ยู. และเครื่องช่วยหายใจก็มีพอเพียง

“ที่ผ่านมา นายกฯ ก็ได้ทำตามคำขอของบุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยสุด เราต้องจับมือกันเดินเราจะชนะแน่ และมาตรการที่ กทม.ทำถือเป็นตัวอย่างให้กับในต่างจังหวัด หากจังหวัดใดพบผู้ป่วยจำนวนมาก ก็จะประกาศเป็นกลุ่มๆ ไป ตัวเลขผู้ป่วยจะยังไม่ลงภายในเวลา 3-4 วัน เพราะเมื่อกราฟที่ขึ้นแล้ว ก็จะขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะอยู่ที่กระบวนการที่รัฐบาลกำลังทำ และการได้รับความร่วมมือจากประชาชน ในการทำให้ตัวเลขที่ขึ้นเหล่านี้เบนออกได้ หากทุกคนร่วมมือกันจริงจัง โดยเฉพาะการรักษาระยะห่างช่วยได้มาก ส่วนกระบวนการรักษาปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องมีวินัย ต้องร่วมมือกันรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศไทยถึงจะอยู่รอดได้ และเทรนด์นี้จะขึ้นอีกไม่กี่วัน หากร่วมกันเต็มที่ก็จะเห็นผลในเรื่องตัวเลขของลงได้ใน 7 วัน” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ทุกมหาวิทยาลัย และสภาวิชาชีพ ร่วมกันนำวิชาการประสานประสบการณ์กับ สธ. โดยจะนำมาผสมผสานกันเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ ไม่มีจุดโหว่ และทุกอย่างทำไม่ได้ หากสังคมไม่ร่วมกัน บรรพชนของเราเสียเลือดเสียเนื้อรักษาชาติมานาน เราอย่าเสียใจจากสิ่งที่เรารักความสะดวก รักความสนุก อยู่บ้าน หยุดเชื้อ นั่นแหละคือการช่วยชาติ การที่มีผู้ติดเชื้อเพียง 1-2 รายหลุดออกไป อาจทำให้บางครอบครัวสูญเสียชีวิตและสูญเสียครอบครัว ครั้งนี้ไม่ใช่แค่พูด แต่ต้องทำ นี่คือจุดเด่นที่เราจะสู้กับโควิด-19 ได้ อย่างไรก็ตาม โมเดลที่ใช้ในขณะนี้ คือ กทม. โรงเรียนแพทย์ และ สธ.ทำงานร่วมกัน ซึ่งต่างจังหวัดก็ใช้โมเดลนี้เช่นกัน เป็นการประสานงานวิชาการสาธารณสุขและท้องถิ่น

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ที่ปรึกษา รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า กลไกที่รัฐบาลมีการสั่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เวลาเกิดโรคมี 2 ส่วน คือ 1. การควบคุมป้องกันโรค พบเชื้อก็ให้อยู่ในพื้นที่ โดยมีการเตรียมพร้อม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ อสม.เป็นหลักในการคุมผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยงให้อยู่ในพื้นที่ รักษาระยะห่างระหว่างกัน และ 2. การรักษาพยาบาลได้มอบให้ผู้ตรวจราชการ หากจังหวัดไหนพบป่วยจำนวนมากก็จะส่งทรัพยากรของจังหวัดที่มีผู้ป่วยน้อยไปให้ เป็นต้น ตนไม่ห่วงการป่วยในต่างจังหวัด เพราะหากพบก็จัดการได้ง่าย วันนี้การร่วมกันหารือ จึงเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ อยากให้ความเชื่อมั่นว่าผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเหมือนรวดเร็วจริงๆ แล้วเรามีการวิเคราะห์ไว้หมดแล้ว






กำลังโหลดความคิดเห็น