xs
xsm
sm
md
lg

ย้ำคนเสี่ยง COVID-19 ต้องรับผิดชอบ ไม่ออกจากบ้าน หากไม่ทำไทยเข้าระยะ 3 แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เชี่ยวชาญย้ำ ปชช.ต้องมีวินัย ลดการออกนอกบ้าน มีความรับผิดชอบ อย่าเอาแต่ใจตัวเอง หากไม่ทำ ไทยเข้าระยะ 3 โรคโควิด-19 แน่ เผย ผลศึกษาในจีนก่อนปิดเมือง มีคนแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว 6 เท่า แต่พอห้ามคนออกจากบ้าน ลดเหลือ 0.5 เท่า เผย ไทยพยายามหน่วงโรคให้มาช้าที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมในทุกด้านรับมือ ย้ำ มาตรการอยู่บ้าน ลดออกข้างนอก มีระยะห่างทางสังคม ช่วยลดเสี่ยงแพร่เชื้อ โดยเฉพาะคนเสี่ยง คนสูงอายุ 

วันนี้ (19 มี.ค.) นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวว่า ตนยังยืนยันว่า ประเทศไทยทำได้ดีมากในการรับมือกับโควิด-19 ถ้าดูข้อมูล 2 เดือนแรกมีคนป่วยไม่ถึง 100 คน เสียชีวิต 1 คน มาระยะหลัง มีผู้ป่วยเพิ่มวันละ 30 คน ล่าสุด เพิ่มอีก 60 คน เหตุผลเพราะมีคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก ไม่มาพบแพทย์ ไม่รับผิดชอบต่อสังคม และไปแพร่เชื้อกัน ตรงนี้สำคัญมาก รัฐบาลจึงออกมาตรการไม่ให้มีการชุมนุมเกิน 50 คน เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งจริงๆ ต่างประเทศห้ามไม่เกิน 20 คน ตอนนี้เราต้องลดความเสี่ยงในการที่จะแพร่เชื้อติดเชื้อให้มากที่สุดเพื่อที่จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ทั้งนี้ ถ้าดูจากข้อมูลทางวิชาการ ม.โคลอมเบีย ที่ศึกษาในจีน พบว่าก่อนปิดเมืองมีคนที่สามารถแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวประมาณ 6 เท่า ถ้าเอามาคูณกับจำนวนผู้ป่วยยืนยันในไทย จะพบว่ามีผู้ที่ติดและอาจแพร่เชื้อไม่รู้ตัวอีกมาก 

นพ.อุดม กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวก็พบด้วยว่า เมื่อประเทศจีนมีมาตรการเข้มข้นไม่ให้คนออกจากบ้าน ทำให้คนที่ไม่รู้ตัวเหลือเพียง 0.5 เท่า เมื่อคูณตัวเลขคนติดเชื้อยืนยันจะพบว่าตัวเลขคนที่อาจจะแพร่เชื้อไม่รู้ตัวลดลงถึง 12 เท่า เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งสำคัญที่คนไทยต้องหยุด อดทนต่อความลำบากไปสักระยะ อย่าตามใจตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการทำร้ายประเทศชาติ และเศรษฐกิจอีกเป็นหมื่นๆ ล้าน เพียงเพราะตัวท่านไม่มีความรับผิดชอบ ประเทศไทยเข้าระยะ 3 แน่นอน 100% ถ้าประชาชนไม่ช่วย และจะเข้าเร็วๆ นี้ ดังนั้น วันนี้บุคลากรสาธารณสุขสู้เต็มที่ เหนื่อยก็ยอม จึงขอความร่วมมือประชาชนทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัดด้วย

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคระบาดจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามยื้อไม่ให้เจอผู้ป่วยมาก ก็เพื่อรอให้มียา และวัคซีนป้องกันรักษา รวมถึงเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลเพื่อรับมือ ซึ่งเรื่องยาวันนี้เห็นแสงไฟแล้วว่ามียารักษา และกดเชื้อไม่ให้แพร่จำนวน และลดความรุนแรงของโรคได้ นับเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราใจชื้นขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงของโรคนี้คือกว่า 80% มีอาการน้อยมาก ประมาณ 10% จำเป็นต้องรักษาในรพ. และมีเพียง 4% ที่อาการวิกฤต ต้องนอน ไอ.ซี.ยู. ซึ่งปัจจัยที่ทำให้อาการหนัก คนสูงอายุ ตั้งแต่ 50-60 ปี ขึ้นไป แต่ที่เสี่ยงเสียชีวิต คือ มากกว่า 60 ปีขึ้นไป ที่อิตาลีเสียชีวิตเยอะเพราะเป็นสังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้คือคนมีโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด ถุงลมโป่งพอง กลุ่มเหล่านี้ถ้าพบจะรีบให้ยาเลยเพื่อลดอัตราการสูญเสีย ส่วนเด็กก็สามารถป่วยได้ เพราะไม่มีภูมิเช่นกัน แต่อาการไม่ได้รุนแรง ซึ่งข้อมูลจากจีนและอิตาลีตรงกัน ผู้ป่วยหนักส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ส่วนเด็กมีการป่วยน้อย โดยเฉพาะต่ำกว่า 20 ปี แทบไม่มีเสียชีวิตเลย ทั้งนี้การต่อสู้กับโรคนี้อาจจะใช้เวลานานพอสมควร ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน มีระเบียบวินัย

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวว่า แม้เด็กจะป่วยโรคโควิด-19 แล้วอาการน้อย ช่วงนี้ที่ให้มีการปิดเรียน ก็ไม่ใช่ว่าจะออกไปเที่ยวได้ ก็ควรหยุดอยู่กับที่ มิเช่นนั้น หากติดเชื้อขึ้นมา แต่ตัวเองอาจไม่ได้ป่วยมากแต่อาจมาติดผู้สูงอายุในครอบครัวได้

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ที่ปรึกษา รมช.สธ. และอดีตปลัด สธ. กล่าวว่า การควบคุมการระบาดของโรคมี 3 ทิศทาง คือ 1. ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ระบาดไปเรื่อยๆ 2. หน่วงโรค เหมือนฝนตกน้ำป่าไหลลงเขา ก็สร้างฝาย ให้น้ำค่อยๆ ผ่าน ไม่ได้มาแบบรวดเดียว และ 3. ปิดประเทศ ซึ่งทิศทางที่ไทยทำ คือ การหน่วงโรค และขยับมาใกล้ๆ กับการปิดเมือง เพื่อให้เรามีเวลาในการเตรียมรับมือกับโรค ทั้งบุคลากร สถานพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ชุดป้องกันต่างๆ ซึ่งขณะนี้พร้อมแล้ว อย่างยาเรามีหวังแล้ว แต่วัคซีนคงต้องรออีกนาน สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องมีระยะห่างทางสังคม พยายามอยู่กับบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะหากป่วยแล้วส่วนใหญ่มีอาการรุนแรง คนมีความเสี่ยงต้องหยุดเคลื่อนที่ให้มากที่สุด อย่างไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เราชนะ เพราะมียารักษาคือ โอเซลทามิเวียร์


กำลังโหลดความคิดเห็น