xs
xsm
sm
md
lg

คนสะเอียบเผาพริกแช่งผู้นำท้องถิ่น-จี้สอบกรมชลฯ ดันฝายยักษ์กั้นน้ำยมแทนเขื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพร่ - ชาวสะเอียบเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งผู้นำท้องถิ่น จี้สอบกรมชลประทานดันฝายยักษ์กั้นน้ำยมแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น


ความคืบหน้ากรณีชาวสะเอียบ 4 หมู่บ้านรวมตัวกันที่วัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ รอพบคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างฝายชะลอน้ำยม ขนาด 300-400 ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ ต.เปาปูน อ.สอง แทนเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น

หลังคณะกรรมาธิการฯ นำโดย นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.พะเยา นายพรมงคล ชิดชอบ ผู้แทนกรมชลประทาน เดินทางไปดูการก่อสร้างเขื่อนน้ำปี้ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ในช่วงเช้าที่ผ่านมา (19 มี.ค.) ก็จะเดินทางผ่านชุมชน ต.สะเอียบ อ.สอง


เมื่อขบวนคณะกรรมาธิการฯ เดินทางผ่านชุมชนสะเอียบ ได้หยุดขบวนลงทักทายชาวบ้านที่รวมตัวชุมนุมเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งผู้นำท้องถิ่นที่สนับสนุนแนวทางกั้นน้ำยมของกรมชลประทานกันอยู่ นายสมมิ่ง เหมืองร้อง แกนนำต้านเขื่อน ต.สะเอียบ จึงได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือผ่านไปถึง พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระงับแผนก่อสร้างฝายเตาปูนของกรมชลประทาน และให้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่กรมชลประทานไม่ดำเนินการตามแผนกรรมการลุ่มน้ำยมและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในตำบลสะเอียบ หรือสะเอียบโมเดล


จากนั้นคณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปดูจุดก่อสร้างฝายเตาปูน และรับฟังบรรยายสรุปห้องประชุม อบต.เตาปูน โดยมีนายโชคดี อมรวิวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยนายณัฐพล ทองไหล นายกอบต.เตาปูน นายแต๋ง อินทา นายก อบต.สะเอียบ และหัวหน้าส่วนราชการใน จ.แพร่ รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านร่วมให้ข้อมูล

กรมชลประทานได้เสนอแนวทางกั้นแม่น้ำยมในพื้นที่ ต.เตาปูน อ.สอง 3 ทางเลือก คือ กั้นน้ำยมในระดับ 9 เมตร จุน้ำได้ 3 ล้าน ลบ.ม., กั้นน้ำระดับ 23 เมตร จะกักน้ำได้ 30 ล้าน ลบ.ม. และกั้นน้ำระดับ 20 เมตร จะกักน้ำได้ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรณีสุดท้ายจะทำให้น้ำท่วมที่ทำกิน-ป่าไม้ใน ต.สะเอียบ และ ต.เตาปูน แต่ไม่ท่วมที่อยู่อาศัย

เบื้องต้นกรรมาธิการฯ เห็นว่าแนวทางกั้นน้ำยมในระดับ 23 เมตรที่จะเก็บน้ำได้ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแนวทางที่เหมาะสม ก่อนที่คณะฯ จะเดินทางไป จ.น่านต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น