xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศ กพท. ‘Fit to Fly’ พาคนไทยคืนถิ่น ‘ผีน้อย-คนไทย’ ในพื้นที่เสี่ยงทะลักกลับแน่!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาหลังประกาศสำนักงานการบินพลเรือนฯ มีผลบังคับใช้ จะมีคนไทยที่ตกค้างอยู่หลายประเทศทั้งยุโรป และผีน้อยจากเกาหลี จะเดินทางกลับประเทศไทยมากขึ้น เพราะประกาศนี้คนไทยแค่มีใบรับรองทางการแพทย์ ‘Fit to Fly’ ส่วนเรื่องเจ็บป่วยสามารถใช้สิทธิสวัสดิการ บัตรทอง ประกันสังคมและอื่นๆ ได้ ชี้ประเทศญี่ปุ่น เลือกมาตรการคุมโควิค-19 เปิดให้ใช้แค่สนามบินนานาชาติ ‘คันไซ-นาริตะ’ เท่านั้น แจงหากไทยเลือกเปิดเพียงสนามบินสุวรรณภูมิแห่งเดียวแทนการปิดประเทศ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ควบคุมได้ง่าย!

สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน และในวันนี้ (19 มี.ค.) กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 60 ราย รวมเป็นผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 272 คน ทั้งนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทยอยประกาศมาตรการควบคุมและป้องกันเพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่ก็ยังมีแนวโน้มการแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อลดการแพร่ระบาดจากกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดอื่น รัฐบาลจึงได้มีการเตรียมความพร้อมและหามาตรการรองรับ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการใน 6 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านสาธารณสุข 2. ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน 3. ด้านข้อมูล การชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน 4. ด้านการต่างประเทศ 5. ด้านมาตรการป้องกัน และ 6. ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา


โดยเฉพาะด้านการป้องกัน ให้มีการปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น สถานที่ซึ่งมีคนมาร่วมเป็นกิจวัตร หรือเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอาจแพร่เชื้อได้ง่ายแม้จะมีการป้องกันแล้วก็ตาม เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบันให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

อีกทั้งได้มีการปิดชั่วคราว 14 วัน ทั้งผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น จัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรมและการกีฬาฯ และงดวันหยุดสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน 2563 โดยให้เลื่อนออกไปก่อน

ในส่วนของการเดินทางเข้า-ออกของคนไทยและต่างชาติมายังประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 และพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดให้ 4 ประเทศและ 2 เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอิตาลี และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน รวมทั้งเขตบริหารพิเศษมาเก๊า และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายและพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง ผู้โดยสารที่มีประวัติการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวในระยะเวลา 14 วันที่ผ่านมา ก่อนที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยต้องได้รับการกักตัว (Quarantine) และอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออย่างอื่นตามที่รัฐบาลไทยกำหนด

สำหรับสายการบินที่ให้บริการผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะต้องดำเนินการคัดกรองในเวลาที่ผู้โดยสารแสดงตัวเพื่อออกบัตรขึ้นเครื่อง (Check-in) ว่ามี

1. ใบรับรองทางการแพทย์ Health Certificate ที่ออกโดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ยืนยันว่าตรวจผู้โดยสารแล้วไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 คือผลวินิจฉัย COVID-Negative (Undetectable) 2. หลักฐานการทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองการรักษาในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 100,000 USD ที่คุ้มครองการรักษาพยาบาลในประเทศไทย

หากผู้โดยสารมีประวัติการเดินทางในพื้นที่เสี่ยง แต่ไม่สามารถแสดงหลักฐานใบรับรองทางการแพทย์และหลักฐานการทำประกันสุขภาพได้ครบถ้วน ให้สายการบินปฏิเสธการขึ้นเครื่องและงดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ได้


ในส่วนผู้โดยสารที่มีสัญชาติไทยนั้น ได้มีมาตรการคัดกรองในเวลาที่ผู้โดยสารแสดงตัวเพื่อออกบัตรโดยสาร (Check-in) ด้วยการตรวจสอบใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (Fit to Fly Health Certificate) พร้อมตรวจสอบหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้




แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลบอกว่า ที่ผ่านมามีการคุมเข้มมากและทำให้คนไทยมีปัญหาในการเดินทางกลับประเทศไทยมาก เพราะไม่สามารถหาใบรับรองทางการแพทย์ (Health Certificate) ที่ออกโดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทางยืนยันว่าตรวจผู้โดยสารแล้วไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 คือผลวินิจฉัย COVID- Negative (Undetectable) รวมไปถึงเรื่องของการประกันสุขภาพที่ต้องใช้เงินหลักฐานการทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองการรักษาไม่น้อยกว่า 100,000 USD

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวทำให้หน่วยงานรัฐได้มีการประชุมหารือกัน ซึ่งจากข้อมูลที่กระทรวงการต่างประเทศได้มีการรวบรวมว่ามีคนไทยจำนวนมากยังตกค้างอยู่ในประเทศต่างๆ และไม่สามารถกลับมาได้ เนื่องจากไม่สามารถขอใบรับรองทางการแพทย์ที่แสดงว่าไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 มาแสดง รวมถึงเรื่องของการประกันสุขภาพ

“ไม่ใช่มีเฉพาะคนไทยหรือผีน้อยในเกาหลี ที่ตกค้างประมาณ 1.4 แสนคน ยังมีคนไทยที่อยู่ในประเทศแถบยุโรป ทั้งสเปน สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และยังมีอีกหลายประเทศ บางคนเป็นนักท่องเที่ยว วีซ่าหมดอายุ รัฐบาลก็กลัวว่าพวกนี้จะมีความผิดก็ต้องหาทางช่วยคนไทยกลับบ้านให้ได้”

ตรงนี้จึงเป็นที่มาให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยออกประกาศให้ผู้ที่มีสัญชาติไทยสามารถใช้ใบรับรองทางการแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมคือ Fit to Fly Health Certificate ได้ ส่วนในเรื่องของการประกันสุขภาพนั้น รัฐบาลเห็นว่าหากเป็นคนไทยเจ็บป่วยเมื่อกลับมาถึงไทยแล้ว ก็มีหลักประกันสุขภาพไว้ดูแล เช่น บัตรทอง บัตรประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น

“เมื่อกลับเข้ามาแล้วเขาป่วยรัฐบาลก็ดูแลตามสิทธิของบัตร แต่คนไทยเหล่านี้ก็ต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐกำหนดเช่นกันคือการกักตัว 14 วัน ไม่ไปสถานที่ที่มีคนเยอะๆ”


แหล่งข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแผนที่จะส่งเครื่องบินไปรับคนไทยที่อยู่ในประเทศต่างๆ ที่มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 กลับบ้าน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนไทยในอู่ฮั่น หรือเด็กนักเรียนทุน AFS จำนวน 83 คน จากอิตาลีเท่านั้น แต่ด้วยประเมินแล้วจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่สูงมาก จึงทำให้โครงการส่งเครื่องบินไปรับคนไทยกลับบ้านต้องหยุดลง

“ที่รับนักเรียนไทยกลับจากอิตาลีได้นั้น เป็นเพราะมีการสอบถามการบินไทยแล้ว และเห็นว่าขากลับจากอิตาลีจะไม่มีผู้โดยสาร รัฐบาลจึงสั่งให้ใช้โอกาสนี้รับนักเรียนไทยกลับมา”

ขณะเดียวกัน เมื่อประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับนี้ออกมาซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 โดยนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บังคับใช้ 22 มีนาคมนี้ ซึ่งจะมีผลให้คนไทยอีกจำนวนมากเดินทางกลับเข้ามาโดยเฉพาะบรรดาผีน้อยที่ยังอยู่ที่เกาหลี ก็มีการแจ้งความจำนงไปที่สถานทูตแล้ว รวมทั้งจะมีคนไทยในยุโรปและในพื้นที่ระบาดต่อเนื่องเช่นกัน

“เราปฏิเสธไม่ให้เขากลับเข้ามาในประเทศไม่ได้ กลุ่มผีน้อยที่อยู่เกาหลี เขาก็อยู่ที่นั่นลำบากเพราะคนเกาหลีก็ไม่ค่อยพอใจ และรัฐบาลไทยเคยขอให้ทางเกาหลีกักตัว (Quarantine) ผีน้อย 14 วันก่อนส่งกลับ แต่เรื่องนี้ไม่ได้รับการตอบรับ เพราะเกาหลีก็ไม่มีพื้นที่ที่จะกักตัว ผีน้อยพยายามวิ่งหาใบรับรองแพทย์ แต่เป็นเรื่องยาก ขาดแคลนและราคาแพงมาก Fit to Fly จะเป็นการช่วยให้เขากลับมาได้”





อย่างไรก็ดี เมื่อคนไทยหรือคนต่างชาติ ได้ผ่านการคัดกรองจากสนามบินและมีการออกบัตรให้ผู้โดยสารแล้ว ผู้โดยสารจะต้องกรอกข้อมูลแสดงที่พักที่สามารถติดต่อได้ตามแบบ ต.8 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และยื่นต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินปลายทาง หรือกรอกข้อมูลใน Application “AOT Airport of Thailand”

ส่วนในการเดินทางนั้นสายการบินจะต้องจัดที่นั่งให้ผู้โดยสารมีระยะห่างจากกันมากที่สุด และจัดพื้นที่ห้องโดยสารสำหรับเฝ้าระวังผู้โดยสารที่มีอาการไข้ ไอ หรือเจ็บป่วย หากมีความจำเป็น และให้มีการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเที่ยวบิน

ทั้งหมดนี้จะมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่สายการบินต้นทาง ท่าอากาศยาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ศุลกากร เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลผู้โดยสาร และคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าไปจนถึงขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศเรียบร้อยแล้วก็จะมีการคัดแยกผู้โดยสาร ส่งผู้โดยสารกลับสู่ภูมิลำเนาต่อไป

“เมื่อกลับภูมิลำเนาแล้วก็ต้องกักตัว 14 วัน จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานท้องถิ่นไปดูแล ทุกฝ่ายต้องช่วยกันจึงจะผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้”

แต่ประเด็นสำคัญประเทศไทยมีสนามบินนานาชาติที่จะมีผู้โดยสารทั้งไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาได้หลายแห่ง ทั้งที่สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ สนามบินเชียงราย สนามบินหาดใหญ่ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น การเปิดให้เดินทางเข้า-ออกหลายแห่ง อาจจะมีปัญหาในเรื่องของการควบคุมดูแล มีความเสี่ยงทำให้เกิดการระบาดได้จากผู้เดินทางที่ติดเชื้อและเป็นพาหะ

“ถ้าประเทศไทยควบคุมการเข้าออกสนามบินให้เหลือเพียงสนามบินสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียวก็น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะไหนๆ ก็ไม่มีการปิดประเทศ เราก็ต้องควบคุมเหมือนที่ประเทศญี่ปุ่นดำเนินการควบคุมโควิด”

โดยประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่กว้างและยาวมาก และมีสนามบินนานาชาติ ท่าอากาศยานภูมิภาคจำนวนมาก แต่ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ญี่ปุ่นจึงมีมาตรการควบคุมการเข้าออกของผู้โดยสารทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติ มีทั้งยกเลิกวีซ่า ระงับวีซ่าชั่วคราว โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต่างๆ จะมีการควบคุมให้ลงได้เฉพาะ 2 สนามบินเท่านั้นคือ ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ และท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ

ดังนั้น หากประเทศไทยไม่มีการปิดประเทศ แต่จะใช้วิธีปิดสนามบินอื่นๆ เพื่อควบคุมการเข้าออก และเปิดใช้เพียงสนามบินเดียวคือ สนามบินสุวรรณภูมิ หรือสนามบินอู่ตะเภา เหมือนอย่างที่ประเทศญี่ปุ่นดำเนินการ น่าจะทำให้การบริหารจัดการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ผลดีกว่าเปิดทุกสนามบิน ซึ่งจะทำให้การระบาดขยายออกไปเป็นวงกว้างยังจังหวัดต่างๆ ได้ง่าย!



กำลังโหลดความคิดเห็น