xs
xsm
sm
md
lg

กพท.ประกาศเพิ่มตรวจประวัติผู้โดยสารย้อนหลัง 14 วัน ไปยังประเทศเสี่ยงต้องกักตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กพท.ออกประกาศ 8 ข้อปฏิบัติกำหนดและควบคุมเครื่องบินที่ทำการบินเข้าออกไทย จากเกาหลี, จีน, มาเก๊า, ฮ่องกง, อิตาลี, อิหร่าน อย่างเคร่งครัด โดยผู้โดยสารต้องแสดงใบรับรองแพทย์ว่าไม่ใช่ผู้เสี่ยงเชื้อโควิด-19 สายการบินจึงออกตั๋วให้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 18 มีนาคม 2563 นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ลงนามประกาศสำนักการบินพลเรือน ฉบับที่ 2 เรื่องท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ท้องที่นอกราชอาณาจักร ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) สาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China) รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า (Macao) และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Hong Kong) สาธารณรัฐอิตาลี (Italian Republic) และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran) เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ประกาศแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COMD-19) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศในการปฏิบัติการบินระหว่างท้องที่ดังกล่าว และเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคของประเทศนั้น

ปัจจุบันปรากฏว่าพื้นที่แพร่กระจายของผู้ติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ครอบคลุมเขตพื้นที่ในประเทศต่างๆ มากขึ้น กพท.จึงออกประกาศแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากพื้นที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายและพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง ตามประกาศกรมควบคุมโรค ดังนี้

1. ในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ท้องที่นอกราชอาณาจักรใดเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือกรมควบคุมโรคได้กำหนดพื้นที่ใดเป็นพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง ผู้โดยสารที่มีประวัติการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวในระยะเวลา 14 วันที่ผ่านมาก่อนที่จะเดินทางมายังประเทศไทยต้องได้รับการกักตัว (quarantine) และอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออย่างอื่นตามที่รัฐบาลไทยกำหนด

2. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ให้บริการผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทยดำเนินการคัดกรองดังต่อไปนี้ ในเวลาที่ผู้โดยสารแสดงตัวเพื่อออกบัตรขึ้นเครื่อง (Check-in)

(1) ตรวจสอบประวัติการเดินทางของผู้โดยสารว่าในระยะเวลา 14 วันที่ผ่านมามีการเดินทางไปยังพื้นที่ที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายหรือพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่องหรือไม่

(2) ตรวจสอบใบรับรองแพทย์ (Health Certificate) ที่ออกให้โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ที่ยืนยันว่ามีการตรวจผู้โดยสารแล้วไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

(3) ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่แสดงการคุ้มครองการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ

3. ในกรณีที่ผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทยเป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินการคัดกรองดังต่อไปนี้ ในเวลาที่ผู้โดยสารแสดงตัวเพื่อออกบัตรโดยสาร (Check-in)

(1) ตรวจสอบใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (Fit to Fly Health Certificate)

(2) ตรวจสอบหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทยสถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้

4. หากพบว่าผู้โดยสารมีประวัติการเดินทางตาม 2. (1) และผู้โดยสารนั้นไม่สามารถแสดงหลักฐานทั้งหมดตาม 2. (2) และ (3)ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือพบว่าผู้โดยสารซึ่งมีสัญชาติไทยไม่สามารถแสดงหลักฐานทั้งหมดตาม 3. (1) และ (2) ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศปฏิเสธการขึ้นเครื่องและงดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass)

5. เมื่อได้คัดกรองผู้โดยสารตาม 2. หรือ 3 และออกบัตรขึ้นเครื่องให้ผู้โดยสารแล้ว ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศจัดให้ผู้โดยสารกรอกข้อมูลแสดงที่พักที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทย ตามแบบ ต.8 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และยื่นต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินปลายทาง หรือกรอกข้อมูลใน Application "AOT Airport of Thailand"

6. ผู้ดำเนินการเดินอากาศควรใช้มาตรการในการป้องกันโรคติดต่อบนอากาศยาน ดังต่อไปนี้

(1) จัดที่นั่งผู้โดยสารให้มีระยะห่างจากกันมากที่สุดเท่าที่ทำได้ตั้งแต่เมื่อออกบัตรโดยสาร และจัดพื้นที่ในห้องโดยสารไว้สำหรับเฝ้าระวังผู้โดยสารที่มีอาการไข้ ไอ หรือเจ็บป่วย หากมีความจำเป็น

(2) แจ้งให้ผู้โดยสารทราบถึงวิธีการป้องกันโรคติดต่อและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเที่ยวบินหรือจัดเตรียมอุปกรณ์อื่นที่จำเป็นสำหรับการป้องกันตนเองจากการติดต่อ

(3) พิจารณาจำกัดการให้บริการในห้องโดยสาร เพื่อลดความจำเป็นในการเข้าใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานกับผู้โดยสาร

(4) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานทุกคนสวมหน้ากากอนามัย

7. เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ผู้ดำเนินการเดินอากาศต้องดำเนินการฆ่าเชื้อหรือทำความสะอาดอากาศยานตามมาตรฐานที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศกำหนด

8. เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจออกคำสั่งตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ดังต่อไปนี้

(1) ห้ามผู้ใดเข้าไปในหรือออกจากอากาศยานที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และห้ามนำพาหนะอื่นใดเข้าเทียบอากาศยานนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

(2) ดำเนินการหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(ก) กำจัดความติดโรค เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ของโรค

(ข) จัดให้อากาศยานจอดอยู่ ณ สถานที่ที่กำหนดให้จนกว่าเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศจะอนุญาตให้ไปได้

(ค) ให้ผู้เดินทางซึ่งมากับพาหนะนั้นรับการตรวจในทางแพทย์ และอาจให้แยกกัก กักกันคุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ณ สถานที่และระยะเวลาที่กำหนด

9. ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรการตาม 2. หรือ 4. ผู้ดำเนินการเดินอากาศจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนส่งผู้เดินทางซึ่งมากับอากาศยานนั้น เพื่อแยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกต หรือรับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตลอดทั้งออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558

10. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตรายและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตรายตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยเคร่งครัด

11. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งแนวปฏิบัติดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีต้นทางและเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานให้ทราบและถือปฏิบัติ และให้เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานประกาศเพิ่มเติมบนอากาศยานให้ผู้โดยสารทราบโดยทั่วกัน

ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 21 มีนาคม 2563 เวลา 00.00 น. ของประเทศไทย เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น