นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการกำหนดให้ผู้โดยสารจากทุกประเทศ ที่ต้องเดินทาง เข้ามายังประเทศไทย ปลอดจากการติดเชื้อ covid-19
โดยได้ออกประกาศ กพท. เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทยนั้น จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2563 เวลา 00.00 น. ของประเทศไทย เป็นต้นไป มีใจความว่า ตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคนั้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันปรากฏว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยกระดับสถานการณ์แพร่ระบาดดังกล่าวเป็นโรคระบาดทั่วโลก (Pandemic) ดังนั้น เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกัน และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนภายในประเทศในวงกว้าง และเพื่อการกำกับดูแลการบินพลเรือนในภาวะจำเป็นให้ได้อย่างทันท่วงที กพท. จึงออกประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทย
โดยประกาศดังกล่าวนั้น ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศเกี่ยวกับการให้บริการจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และพื้นที่มีการระบาดต่อเนื่อง ที่ได้ประกาศเมื่อวานนี้ (18 มี.ค. 2563) โดยผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทยต้องได้รับการแยกกัก กักกัน ควบคุมไว้สังเกต หรืออยู่ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออย่างอื่นตามที่พนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศกำหนด
ทั้งนี้ ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ให้บริการผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทยดำเนินการคัดกรองดังต่อไปนี้ กล่าวคือ ในเวลาที่ผู้โดยสารแสดงตัวเพื่อออกบัตรขึ้นเครื่อง (Check in) จะตรวจสอบใบรับรองแพทย์ (Health Certificate) ที่ออกให้โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ซึ่งยืนยันว่า มีการตรวจผู้โดยสารแล้วไม่พบเชื้อไวรัส COVID-19 พร้อมทั้งตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่แสดงการคุ้มครองการรักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมถึงโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ
ในกรณีที่ผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทยเป็นผู้มีสัญชาติไทยนั้น ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินการคัดกรอง ดังต่อไปนี้ กล่าวคือ ตรวจสอบใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly) รวมถึงตรวจสอบหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทยสถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงการต่างประเทศ ออกให้ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าผู้โดยสารไม่สามารถแสดงเอกสารหลักฐานได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศปฏิเสธการขึ้นเครื่องและงดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass)
ขณะเดียวกัน เมื่อได้คัดกรองผู้โดยสาร และออกบัตรขึ้นเครื่องให้ผู้โดยสารแล้ว ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศจัดให้ผู้โดยสารกรอกข้อมูลแสดงที่พักที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทย ตามแบบ ต.8 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และยื่นต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินปลายทาง หรือกรอกข้อมูลใน Application “AOT Airport of Thailand”
นอกจากนี้ ผู้ดำเนินการเดินอากาศควรใช้มาตรการในการป้องกันโรคติดต่อบนอากาศยานด้วย อาทิ จัดที่นั่งผู้โดยสารให้มีระยะห่างจากกันมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ตั้งแต่เมื่อออกบัตรโดยสาร และจัดพื้นที่ในห้องโดยสารไว้สำหรับเฝ้าระวังผู้โดยสารที่มีอาการไข้ ไอ หรือ เจ็บป่วย หากมีความจำเป็น รวมถึงแจ้งให้ผู้โดยสารทราบถึงวิธีการป้องกันโรคติดต่อและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเที่ยวบิน หรือจัดเตรียมอุปกรณ์อื่นที่จำเป็นสำหรับการป้องกันตนเองจากการติดต่อ รวมถึงให้พิจารณาจำกัดการให้บริการในห้องโดยสาร เพื่อลดความจำเป็นในการเข้าใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานกับผู้โดยสาร รวมถึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยานทุกคนสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น