ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลพวงการแพร่ระบาด “โควิด-19” ในเกาหลีใต้ ทำให้แรงงานไทยทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยเฉพาะ “ผีน้อย” กลุ่มลักลอบทำงานผิดกฎหมาย อยู่เกินกว่าที่วีซ่ากำหนด เลิกหลบๆ ซ่อนๆ แห่แหนลงชื่อกลับเมืองไทยอย่างสมัครใจ ท่ามกลางความปริวิตกในสังคมไทย เกิดความกลัวว่า “ผีน้อย” จะเข้ามา “แพร่เชื้อ โควิด-19” ทำตัวเป็น Super Spreader เฉกเช่นกรณี “ป้ามหาภัย แห่งเมืองแทกู เกาหลีใต้” ต้นตอการแพร่เชื้อไวรัสสู่คนจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน กระแสในโซเชียลฯ วิพากษ์ร้อนแรง พร้อมใจติดแฮชแท็ก #ผีน้อย, #ผีน้อยกลับไทย, #ผีน้อยกลับไทย ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไม่เว้นแต่ละวัน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการคุมเข้มเด็ดขาด ลงความเห็นว่าคนกลุ่มนี้ไม่ควรให้อิสระ “กักตัวเองที่บ้าน” (Home Quarantine) 14 วัน เพราะไม่มีอะไรให้มั่นใจว่าบรรดาผีน้อยจะรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมส่วนรวมโดยไม่ออกไปยังพื้นที่สาธารณะ
แถมมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า เกิดปรากฎการณ์ “ผีน้อยต่อต้านสังคม” ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดควบคุมโรค ไม่กักตัวเองที่บ้าน โพสต์โซเชียลฯ เช็กอินตามร้านอาหารต่างๆ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ดังเช่น กรณี ผีน้อยที่พาครอบครัวไปกินหมูกระทะใน จ.เชียงราย เมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นเหตุให้เจ้าของร้านต้องปิดร้านทำความสะอาด ธุรกิจเสียหาย และไม่ใช่เพียงรายเดียวที่มีพฤติกรรมเช่นนี้
ขณะที่ “มาตรการรับมือ” กับการกลับมาของ “ผีน้อย” ก็ดูเหมือนว่า มีปัญหา ด้วย “ข้อมูล” ไปคนละทางสองทาง จน “รัฐมนตรีที่รับผิดชอบ” ออกอากาการงุนงงให้เห็น ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นต้น
โดยเฉพาะเมื่อ “บิ๊กป้อม” ออกมายอมรับเต็มปากเต็มคำว่า ไทยไม่มีกฎหมายที่จะเข้าไปควบคุมการเดินทางกลับประเทศของแรงงานผิดกฎหมายกลุ่มนี้ มีเพียงแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศระบุให้ ผีน้อย กักกันตัวเองที่บ้าน (Home Quarantine) 14 วัน หากมีไข้ไม่สบายให้รีบมาพบแพทย์ แจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากประเทศเกาหลีไม่ได้ถูกปิดเมืองอย่างเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จึงให้มารักษาตัวและเฝ้าสังเกตอาการอยู่ภายในบ้านของตัวเอง เพื่อรักษาอาการตามขั้นตอน
วิกฤติการณ์ “ผีน้อย” ในครั้งนี้ จะเป็นอัตราเร่งให้การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ในประเทศไทยเข้าสู่ “ระยะที่ 3” เร็วขึ้นหรือไม่ เพราะบรรดาผีน้อยไม่ได้เพิ่งเข้ามา หากแต่ทยอยกลับประเทศไทยมาเป็นระยะๆ ก่อนหน้านี้แล้ว
นี่ไม่นับรวมถึงคนที่เดินทางจาก “ประเทศกลุ่มเสี่ยง” ที่ไม่ได้มีการกักตัวเอาไว้เช่นกัน ก่อนที่ราชกิจจานุเบกษาจะประกาศให้ 4 ประเทศเป็น “เขตโรคติดต่ออันตราย” คือ เกาหลีใต้ จีนรวมฮ่องกง-มาเก๊า อิตาลี และอิหร่าน โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา
ผีน้อย-ผีใหญ่ ตบเท้าเดินทางกลับไทย
จากการตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับตัวเลขแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ พบว่า ใน ปี 2561 - 2562 มีจำนวนทั้งสิ้นราว 200,000 คน แบ่งเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย 66,000 คน แรงงานที่จัดหาโดยรัฐ 24,000 และแรงงานผิดกฎหมาย หรือ “ผีน้อย” ประมาณ 120,000 คน
และแน่นอนว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ “ผีน้อยจำนวนมากกว่า 5,000 ชีวิต ไหลทะลักกลับไทย” สืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019 (covid-19) หรือ “โควิด-19” ในเกาหลีใต้ติดอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน โดยมียอดผู้ติดเชื้อทะลุ 6,000 คน และเสียชีวิตไปมากกว่า 28 คน เป็นเหตุให้ “ผีน้อย” อยู่กันอย่างหวาดกลัวและอยู่ยากขึ้น เพราะขาดรายได้จากการปิดตัวของบรรดาโรงงาน ร้านอาหาร ตลอดจนภาคเกษตรสวนผักสวนผลไม้
ประจวบเหมาะกับทางการเกาหลีใต้นิรโทษกรรม ไฟเขียวให้ “ผีน้อย” แรงงานไทยที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายและอยู่เกินกว่าที่วีซ่ากำหนด เข้ารายงานตัวกลับเมืองไทยโดย “ไม่เสียค่าปรับ” และ “ไม่ติดแบล็กลิสต์” ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2562 - 30 มิ.ย. 2563 ซึ่งมียอดลงทะเบียนมากกว่า 5,000 คน และในจำนวนนี้ทยอยบินกลับเมืองไทย ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการระบาดของโควิด-19 ช่วงปลายปีที่แล้ว
โดยรายละเอียดเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล Office of Thai Labour in Seoul” ประกาศมาตรการ ตม.เกาหลี มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2562 ระบุว่า
“ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 ถึง 30 มิถุนายน 2563 เปิดให้รายงานตัวกลับโดยสมัครใจ โดยไม่เสียค่าปรับ และไม่ห้ามเดินทางเข้าประเทศ
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จะต้องจ่ายค่าปรับ เมื่อรายงานตัวเดินทางกลับ โดย 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2563 จะเสียค่าปรับ 30% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป จะเสียค่าปรับ 50%
ผู้ที่ถูกจับ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จ่ายค่าปรับตามระยะเวลาที่อยู่เกินวีซ่า
ผู้ที่ถูกจับ และอยู่เกินวีซ่า 3 ปีขึ้นไป จะเสียค่าปรับ 20 ล้านวอน
ผู้ที่จ่ายค่าปรับก่อนกลับประเทศ ไม่ห้ามเดินทางเข้าประเทศ (ตม.จะตรวจสอบก่อนอนุญาตให้เข้าประเทศ)
ผู้ที่เดินทางกลับ และไม่จ่ายค่าปรับ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2563 จะห้ามเข้า 1-10 ปี ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป จะห้ามเข้า 3-10 ปี
ตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2562 - 31 มีนาคม 2563 นายจ้างภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม หากสมัครใจแจ้งการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย จะไม่ต้องจ่ายค่าปรับ และอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมายได้ชั่วคราว”
นับจากนั้นมา “ผีน้อย” ก็ทยอยบินกลับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีภูมิลำเนากระจุกตัวอยู่ในแถบ “ภาคอีสาน” กล่าวคือ วันที่ 11-15 ธ.ค. 2562 จำนวน 247 ราย, วันที่ 16-22 ธ.ค. 2562 จำนวน 426 ราย, วันที่ 23-29 ธ.ค.2562 จำนวน 495 ราย, วันที่ 30 ธ.ค.2562-5 ม.ค. 2563 จำนวน 281 ราย, วันที่ 6-12 ม.ค.2563 จำนวน 423 ราย, วันที่ 13-19 ม.ค.2563 จำนวน 491 ราย, วันที่ 20-26 ม.ค.2563 จำนวน 312 ราย,
วันที่ 27 ม.ค.-2 ก.พ. 2563 จำนวน 300 ราย, วันที่ 3-9 ก.พ. 2563 จำนวน 367 ราย, วันที่ 10-16 ก.พ. จำนวน 359 ราย, วันที่ 17-23 ก.พ. จำนวน 366 ราย, วันที่ 24 ก.พ.- 1 มี.ค. จำนวน 660 ราย
ประเด็นของความปริวิตกจากการกลับไทยของบรรดา “ผีน้อย” ก็คือ มีตัวเลขชัดเจนว่า พวกเขากลับมาในช่วง เดือน ก.พ. จำนวนกว่า 2,000 คน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดหนักในเกาหลีใต้
แต่ปรากฏว่า ตรวจพบบรรดาผีน้อยมีไข้มีเพียง “หลักสิบคน” เท่านั้น และเบื้องต้นตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 หรือแปลไทยเป็นไทยก็คือ มีแรงงานผิดกฎหมายที่เดินทางมาจากประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง ผ่านเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยไม่แสดงอาการใดๆ และมิได้มีการกักกันโรคตามมาตรฐานสากล 14 วันแต่ประการใด
จากนั้นบรรดา “ผีน้อย” ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาในจังหวัดต่างๆ และจำนวนไม่น้อยไร้ความรับผิดชอบ ไม่ยอมเฝ้าระวัง “กักตัวเองที่บ้าน” (Home Quarantine) 14 วัน มิหนำซ้ำ ยังเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ โดยไม่ตระหนักว่าตนอาจเป็น Super Spreader หรือ ผู้ที่แพร่เชื้อสู่คนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ผีน้อยที่เดินทางมาจากเมือง “แทกู” และ “คย็องซัง” ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก
และแน่นอนว่า “ผีน้อย” ย่อมถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณี “ป้ามหาภัย จากเมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้” อายุ 62 ปี ที่มีพฤติกรรมปกปิดอาการติดเชื้อ โควิด-19 ไม่ยอมรับว่าเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แม้แสดงอาการเข่าข่ายติดเชื้อไวรัส แต่ยังใช้ชีวิตปกติ เดินทางไปทั่วประเทศ ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างปกติ กระทั่งพบเป็นผู้ป่วยรายที่ 31 และกลายเป็น Super Spreader หรือ ผู้ที่แพร่เชื้อสู่คนจำนวนมากไปแล้ว ทำให้เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวภายใน 24 ชั่วโมง มิหนำซ้ำ ยังมีคนที่ใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับหญิงสูงวัยรายนี้อีกกว่า1,160 คน ตกเป็นกลุ่มเสี่ยง
นั่นคือความเสี่ยงที่เกิดจากป้ามหาภัยเพียงรายเดียวเท่านั้น
“เรามีโอกาสเข้าสู่ระยะที่ 3 แน่ๆ แต่อยู่ที่การบริหารจัดการ อย่างกรณีผีน้อยจากเกาหลีใต้ที่ทยอยกลับเข้ามาเมืองไทย ถ้าเราบริหารจัดการกลุ่มคนเหล่านี้เหมือนที่เรานำคนไทยจากอู่ฮั่น 138 คนกลับมาและให้มีการตรวจคัดกรอง มีการควบคุมให้อยู่ที่กองทัพเรือสัตหีบได้ ระยะที่ 3” ก็จะไม่เกิด ถ้าจัดการไม่ดี คนกลุ่มนี้จะเป็นพาหะ มีการกระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว ทั้งภายในบ้าน ญาติพี่น้องกันเอง หรือจากการที่พวกเขาเดินทางไปยังที่ต่างๆ”ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ให้ทัศนะ
ความจริงที่น่าตกใจก็คือ ไม่ใช่แค่ “ผีน้อย” เท่านั้น หากแต่ในช่วงที่ผ่านมายังมีชาวต่างชาติ อื่นๆที่ได้เดินทางมาจากประเทศที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 507,380 คน มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 170,882 คน, จากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 140,600 คน, จากประเทศเกาหลีใต้ 58,496 คน, จากไต้หวัน 38,755 คน, จากฮ่องกง 37,513 คน, จากสิงคโปร์ 34,450 คน, จากอิตาลี 23,368 คน, จากอิหร่าน 2,363 คน, จากมาเก๊า 953 คน โดยคนทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทยนี้ไม่ได้มีการกักตัวเป็นเวลา 14 วันก่อนเข้ามาในประเทศ
นั่นหมายความว่าไม่มีการคัดกรองจนผ่านระยะเวลาที่เชื้อฟักตัวแสดงอาการเช่นกัน
นอกจากนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกรณีคนไทยจากอู่ฮั่นที่แม้จะผ่านการคัดกรองจากทั้งที่เมื่ออยู่ประเทศจีนและเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย แต่สุดท้ายก็ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19
ภาระหนักสาธารณสุขไทย
“เอาอยู่” หรือไม่ ไม่นานคงรู้กัน
นอกจากความปริวิตกของประชาชน ต่อกรณีแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ หรือ “ผีน้อย” ที่ต้องการเดินทางกลับไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรับผีน้อยกลับไทยนั้นเพิ่มภาระให้ระบบสาธารณสุขเป็นอย่างมาก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า ไม่ได้เตรียมไว้สำหรับกรณีของแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย ด้วยเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเข้ามา อย่างไรก็ดี เร่งหามาตรการจัดการป้องกันอย่างเข้มข้น
เบื้องต้นขั้นตอนการกลับเมืองไทยของกลุ่มผีน้อยในเกาหลีใต้ โดยกระบวนการต้องใช้เวลา ขออนุญาตทาง ตม.เกาหลีใต้ ประมาณ 10 วัน ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศเจรจากับทางรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อหากขอให้ยืดกระบวนการนี้เป็น 14 วัน และให้มีการกักกันตัวเอง 14 วัน ถึงให้ขึ้นเครื่องกลับมาได้ ซึ่งก่อนที่จะขึ้นเครื่องก็ต้องวัดไข้ก่อน หากมีไข้ก็ไม่ให้ขึ้นเครื่องบิน และจะต้องเข้ารับการรักษาก่อน ส่วนคนที่ไม่มีปัญหาเมื่อเดินทางกลับมาถึงก็จะถูกวัดไข้เช่นกัน หากมีไข้ก็เข้าโรงพยาบาลตามระบบ แต่หากไม่มีไข้ก็จะต้องถูกกักกันเพื่อเฝ้าระวังโรค 14 วัน ซึ่งจะกักในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ รวมทั้งหมดที่จะต้องถูกกักเป็น 28 วัน
สำหรับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทย ท่ามกลางความปริวิตกของประชาชนต่อกรณีแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ต้องการเดินทางกลับไทยนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการตั้งวอร์รูม “ศูนย์ข้อมูลโควิด-19” สั่งคัดกรองเข้มจากพื้นที่้้เสี่ยงทั่วโลก สนามบิน ท่าเรือ ชายแดน ด่านตรวจ โดยกล่าวในตอนหนึ่งความว่า
“ไม่ว่าจะเป็นใคร รัฐบาลก็ต้องดูแล เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน เหมือนที่เคยดูแล 138 คนจากอู่ฮั่นมาแล้ว ดังนั้นจะต้องหาหนทางปฏิบัติให้ดีที่สุด”
จากนั้นได้สั่งการยกระดับมาตรการรองรับแรงงานที่จะเดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะแรงงานผิดกฎหมายที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ หรือ “ผีน้อย” ที่กลับมาจากเมือง “แทกู” และ “คย็องซัง” ซึ่งมีการแพร่ระบาดสูง
รัฐบาลจะเตรียมสถานที่กักตัว 14 วัน โดยใช้พื้นที่ทหารหรือโรงพยาบาลตามภูมิลำเนา มีแพทย์เตรียมพร้อม จะไม่ให้กลุ่มนี้กักตัวที่บ้าน โดยมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมใช้โรงพยาบาลทหารในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 เพราะมีโรงพยาบาลทหารทั้ง 10 มณฑลทหารบก (มทบ.) แต่หากมีจำนวนมาก อาจจะเปิดค่ายทหารรองรับ
ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการไข้ในกรณีที่เดินทางกลับมา 2 เมืองในเกาหลีใต้ คือ แทกู กับ คย็องซัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดนั้น จะถูกกักตัวในพื้นที่จัดพิเศษ หรือพื้นที่ควบคุมโรคตามที่รัฐบาลกำหนด ส่วนกรณีเดินทางมาจากเมืองอื่น จะมีการประสานนำส่งกลับไปยังพื้นที่ภูมิลำเนา โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้บริหารจัดการภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
ในส่วนการกักกันเชื้อไวรัสโควิด-19 กลุ่มแรงงานผิดกฎหมายที่เดินทางมากจากประเทศเกาหลีใต้ จะใช้โมเดลเดียวกับคนไทยกลับจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ที่เคยใช้พื้นที่ทหาร อาคารพักรับรองสัตหีบ อ่าวดงตาล ฐานทัพเรือสัตหีบ ของกองทัพเรือ
ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ ไม่ได้มีแค่แรงงานที่ผิดกฎหมายอย่าง “ผีน้อย” เท่านั้น แรงงานที่ถูกกฎหมายในเกาหลีใต้ รวมถึงผู้คนในประเทศเสี่ยงที่เพิ่งประกาศไป 4 ประเทศคือ คือ เกาหลีใต้ จีนรวมฮ่องกง-มาเก๊า อิตาลี และอิหร่าน เมื่อเข้ามาประเทศไทย จะต้องถูก “กักตัว” เป็นเวลา 14 วันเช่นกัน
นี่นับเป็นปัญหาใหญ่ของระบบสาธารณสุขไทยในช่วงการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื้อโรคร้ายกระจายไปอย่างรวดเร็วจนยากยิ่งต่อการควบคุมได้
ทำไมคนไทย ยี้! ผีน้อยเกาหลี
ต้องยอมรับว่า กระแสสังคมค่อนข้างแอนตี้ “ผีน้อย” หรือแรงงานไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ เพราะส่งผลกระทบต่อภาพรวม ทำให้ ตม.เกาหลี กำหนดมาตรการตรวจคนไทยที่เข้าเมืองอย่างเข้มงวด มีคนไทยที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวถูก ตม.เกาหลี ปฏิเสธการเข้าเมือง และกักตัว เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทาง เฉลี่ยสูงสุด 150 คนต่อวัน รวมไปถึงอาจทำให้การเกาหลีใต้ ยกเลิกมาตรการฟรีวีซ่าท่องเที่ยว 90 วัน
ในเกาหลีใต้มีแรงงานไทยที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย อยู่เกินกว่าที่วีซ่ากำหนด หรือ ผีน้อย ประมาณ 120,000 คน ในจำนวนนี้มีผีน้อยที่ลงทะเบียนของกลับไทยตามเงื่อนไขของทางการเกาหลีใต้ ประมาณ 5,000 คน เพื่อหนีตายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับ เส้นทาง “ผีน้อย” จะแฝงตัวเข้าประเทศเกาหลีใต้ ในคราบนักท่องเที่ยวโดดทัวร์แล้วลักลอบทำงาน เนื่องจากค่าจ้างสูง จึงยอมเสี่ยง แต่ต้องไม่ลืมว่า การทำงานในเกาหลีใต้แม้มีรายได้สูงกว่าในเมืองไทย แต่รายจ่ายก็สูงเช่นกัน โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลต่างๆ บวกกับนายจ้างเกาหลีต้องการจ้างแรงงานไทย เพราะมีวินัยและอดทน ไปแล้วไม่อยากกลับ เพราะไม่มีอะไรจะเสีย หากถูกทางการเกาหลีใต้จับค่อยกลับไทย โดยที่ไม่ตระหนักว่า ตนมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
งานวิจัยเรื่อง “แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี” (A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea) โดย นายดนย์ ทาเจริญศักดิ์ เปิดเผยถึงรูปแบบของการไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายนั้น มีลักษณะเดียวคือ วีซ่าท่องเที่ยวและอยู่เกินเป็นโอเวอร์สเตย์ บางคนอยู่นาน 4 - 5 ปี และเมื่อก่อนงานที่ไปทำส่วนใหญ่ จะเป็นงานที่คนเกาหลีไม่อยากทำ งานโรงงาน งานภาคเกษตร แต่ปัจจุบันการจ้างงานเปลี่ยนไป คือ คนไทยสามารถทำงานที่ดีขึ้นได้ ถ้าอยู่นานๆ บางคนก็เป็นล่าม ร้านสะดวกซื้อก็นิยมจ้างแรงงานผิดกฎหมายมาทำงาน รวมไปถึงร้านอาหารของเกาหลีด้วย
“การโยกย้ายเพื่อทำงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ คนบางกลุ่มก็ตามหาโอกาส ในขณะที่เกาหลีก็มีความต้องการแรงงานในระดับที่สูง จริงๆ แล้วเกาหลีเองก็ปิดตาข้างหนึ่ง ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องมองเป็นภาพใหญ่ เพราะไม่ใช่เฉพาะประเทศเราประเทศเดียว แต่เป็น Globalization หน่วยงานต่างๆ ควรที่จะยอมรับและส่งเสริมมากกว่า เพราะเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และ คนเกาหลีก็ต้องการ ต้องมองอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ก่อน ไม่ใช่มองว่าเป็นแรงงานผี แล้วจะทำอะไรยังไงกับเขาก็ได้”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทย ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย อยู่เกินกว่าที่วีซ่ากำหนดในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนี้
1. มาตรการสร้างการรับรู้ โดยหารือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์ ให้แรงงานไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มาตรการบังคับใช้กฎหมาย ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและบทลงโทษกรณีที่ลักลอบไปทำงาน ขึ้นบัญชีดำบริษัทและสาย/นายหน้าที่หลอกลวงและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ป้องกันและตรวจเข้มเพื่อสกัดกั้นการลักลอบไปทำงานที่สนามบิน
2. มาตรการยับยั้ง จัดชุดเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างเข้มงวดที่ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ตลอดจนจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ หรือสายสืบออนไลน์ เฝ้าระวัง ตรวจสอบ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารตลอดจนแจ้งเตือนคนหางานมิให้หลงเชื่อคำโฆษณาหรือคำกล่าวอ้างของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่โพสต์ข้อความหรือรูปภาพชักชวนให้ลักลอบไปทำงานในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
และ 3. มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและบทลงโทษกรณีที่ลักลอบไปทำงาน ขึ้นบัญชีดำบริษัทและสาย/นายหน้าที่หลอกลวงและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ป้องกันและตรวจเข้มเพื่อสกัดกั้นการลักลอบไปทำงานที่สนามบิน มีผลการดำเนินการสกัดกั้นคนหางาน
ถึงตรงนี้ ต้องยอมรับว่า “ผีน้อย” หรือกลุ่มแรงงานผิดกฎหมายที่ทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ เป็น “กลุ่มเสี่ยง แพร่เชื้อ โควิด- 19” ยิ่งการที่พวกเขาไม่แยแสต่อสังคมส่วนร่วม ไม่กักกันตัวเองอยู่บ้าน ยังใช้ชีวิตปกติเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ หาพบติดเชื้อในภายหลัง จะนำพาความหายนะมาสู่ประเทศไทย รัฐจึงต้องเร่งสร้างกลไกเข้ามาจัดการขั้นเด็ดขาด
การที่ “ผีน้อย” ผ่านระบบคัดกรอง ไม่ได้การันตีว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเพราะอยู่ในวัยหนุ่มสาว ร่างกายแข็งแรง อาการจึงอาจไม่ปรากฏ แต่ต้องไม่ลืมว่าหากตรวจพบติดเชื้อไวรัสภายหลัง ซึ่งนั่นหมายความว่า อาจเป็นต้นเหตุแพร่เชื้อไปยังครอบครัว และคนใกล้ชิด เจ็บป่วยถึงขั้นล้มตายจำนวนมากก็ได้
ท้ายที่สุด แม้จะมีชนักติดหลังแต่กลุ่ม “ผีน้อย” ก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันทุกคน ฉะนั้น ขอเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม ด้วยการปฏิบัติตามขั้นตอนการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด