"ประยุทธ์" ลั่นต้องกัก “ผีน้อย” 14 วัน ไม่ยอมให้กักตัวเองที่บ้าน ลงนามคำสั่งจัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ป้องกันการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ “กองทัพบก” สั่งการมณฑลทหารบก 37 แห่งทั่วประเทศ เตรียมพื้นที่กักตัวผีน้อย “สธ.” เผย “ผีน้อย” กลับไทยมีผู้ป่วยเข้า รพ.19 ราย ผลตรวจแล็บออกมาไม่พบเชื้อ ส่วนรายอื่นๆติดตามต่อเนื่อง 14 วันตามระบบ ราชกิจจาฯประกาศกำหนดผู้ป่วยโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน
วานนี้ (4 มี.ค.) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมวาระเร่งด่วนเรื่องมาตรการรองรับแรงงานไทยเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ว่า เรามีมาตรการต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมทุกระดับ และตนให้ความสำคัญสิ่งที่ประชาชนห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้หรือผีน้อย ที่จะเดินทางกลับประเทศ จะมีการคัดกรองจากด่าน ตม.ของเกาหลีใต้ว่า คนเหล่านี้มาจากเมืองไหน มีความเสี่ยงอย่างไร แล้วจะกลับภูมิลำเนาที่ใด เมื่อเดินทางผ่านเข้ามาเราจะดำเนินการให้รัดกุม โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด 2 คือ เมืองแดกู และจังหวัดคยองซัง-เหนือ ที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดของเกาหลีใต้ ดังนั้น คนที่มาจากสองเมืองนี้เมื่อเข้ามาแล้วจะต้องถูกควบคุม ไม่มีการให้กลับไปควบคุมที่บ้านเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม การเข้ามาคงจะไม่เข้ามาทีเดียว 4-5 พันคน เป็นการทยอยเข้ามา โดยผ่านมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด
“การเตรียมรองรับในเรื่องผีน้อย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทยที่ไปทำงานในเกาหลีใต้ ทั้งถูกและผิดกฎหมาย ต้องดำเนินมาตรการไม่ให้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อระบบสาธารณสุขของไทย โดยที่ประชุมได้หารือถึงต้นทาง คือ กระทรวงคมนาคม การท่าอากาศยาน กระทรวงการต่างประเทศ ต้องตรวจสอบคัดกรองให้มีมาตรฐานมาตั้งแต่ประเทศต้นทาง เมื่อลงมาถึงสนามบินแล้ว ก็จะมีด่านตรวจและผ่านมาตรการการรับรองด่านตรวจโรค โดยผ่านกล้อง 3 ระดับ ต่อไปจะมีการคัดกรองจากเมืองที่มีปัญหาที่สุดเข้าช่องทางที่จะต้องตรวจสอบโดยละเอียด และเมื่อผ่านการคัดกรองในจุดเหล่านี้แล้ว จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดแยกผู้มีไข้-ไม่มีไข้ คนที่มีไข้ต้องเข้าสู่พื้นที่กักกันของรัฐ เรียกว่า “พื้นที่ควบคุมโรค” จะมีการควบคุมในพื้นที่ของรัฐ ขณะนี้ดำเนินการอยู่แล้ว มีผู้อยู่ในพื้นที่ควบคุมประมาณ 30 กว่าคน รัฐบาลต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน” นายกฯ กล่าว
นายกฯสั่งตั้งศูนย์ข้อมูลโควิด-19
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 72 /2563 เรื่องจัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019 (covid-19) วันที่ 4 มี.ค. สาระสำคัญสั่งการให้จัดตั้ง ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เรียกโดยย่อว่า “ศูนย์ข้อมูลโควิด-19” ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยให้มีผู้อำนวยการศูนย์ฯ 1 คนตามที่นายกฯมอบหมาย ขึ้นตรงต่อนายกฯ โดยให้มีภารกิจอำนวยการ ประสานงาน และกำกับดูแลข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าว และให้มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่อย่างถูกต้อง รับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน และประสานการช่วยเหลือ ติดตามการปฏิบัติงาน พร้อมชี้แจงประชาชนและภาคเอกชน เพื่อประสานความร่วมมือโดยเฉพาะขั้นตอนการเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อ การรับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อสนับสนุนภารกิจ โดยให้รายงานความคืบหน้าต่อนายกฯ ทุกวัน
ทบ.พร้อมเปิดพื้นที่ควบคุมโรค
ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่ากระทรวงกลาโหมโดยทุกเหล่าทัพ ได้เตรียมการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ในมาตรการรองรับแรงงานไทย ที่กำลังจะเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ โดยได้นำพื้นที่พักทหาร จัดเตรียมเป็นพื้นที่ควบคุมโรคในพื้นที่ต่างๆของภูมิภาค สนับสนุนในการควบคุมและติดตามเฝ้าระวัง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงจากเมืองที่มีการแพร่ระบาด ขณะเดียวกัน ได้เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลทหารและบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ สนับสนุนการดูแลผู้ติดเชื้อขั้นต้น พร้อมทั้ง จัดชุดแพทย์ทหาร สนับสนุนการคัดกรองในพื้นที่ด่านชายแดน โดยจะคงความเข้มการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการอื่นๆในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด
เล็งใช้ มทบ. 37 แห่งทั่วประเทศ
สอดคล้องกับ พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 ที่กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมใช้โรงพยาบาลทหารในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 รองรับแรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้ หลังส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดในภาคอีสานว่า ยังไม่ได้รับการประสานงานมาจากส่วนกลาง แต่เรามีความพร้อม เพราะมีโรงพยาบาลทหารทั้ง 10 มณฑลทหารบก (มทบ.) ในกำกับดูแลของกองทัพภาคที่ 2 แต่หากมีผู้ต้องควบคุมโรคจำนวนมาก อาจจะเปิดค่ายทหารรองรับ
มีรายงานข่าว กองทัพบกได้สั่งการไป มทบ. 37 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะ มทบ.ที่มีโรงพยาบาลค่ายอยู่ภายใน ให้เตรียมพร้อมจัดสถานที่ บุคลากร ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติ สถานที่ควบคุม ต้องไม่อยู่บริเวณโรงนอนของกำลังพล และให้สาธารณสุขจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยใช้โมเดล แบบอาคารพักรับรองสัตหีบ อ่าวดงตาล ฐานทัพเรือสัตหีบ ของกองทัพเรือ ที่เคยใช้เฝ้าระวังคนไทยกลับจากอู่ฮั่น ประเทศจีน และหากพบผู้ป่วยให้นำส่งไปยังโรงพยาบาลของละจังหวัด ทั้งนี้ต้องรอความชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ และรมว.กลาโหม ที่อยู่ระหว่างหารือกับ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
อีกด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการแถลงข่าวประจำวันว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ ยังรักษาใน รพ.11 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 43 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคสะสมทั้งหมด 3,680 ราย กลับบ้านได้แล้ว 2,435 ราย ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,545 ราย ส่วนผู้ป่วยอาการหนักยังใช้เครื่องช่วยหายใจเฝ้าระวังใกล้ชิด สำหรับกรณีแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้หรือผีน้อยที่เดินทางกลับมา พบว่า เดิมพบคนมีไข้นำส่ง รพ.2 ราย และเมื่อคืนวันที่ 3 มี.ค.มีอีก 17 คน รวมมีทั้งหมด 19 คนที่มีไข้ ถือเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค โดยผลการตรวจสารคัดหลั่งทางห้องปฏิบัติการพบว่า ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้ง 19 คน ส่วนคนที่เหลือที่เดินทางกลับมาก็ให้ดำเนินการกักกันตัวเองที่บ้าน (Home Quarantine) 14 วัน หากมีไข้ไม่สบายให้รีบมาพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทาง
ทั้งนี้มีมีรายงานจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) แจ้งว่า มีกลุ่มคนไทยที่ลักลอบไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ หรือ ผีน้อย ได้ทยอยเดินทางกลับประเทศไทย แล้วบางส่วน โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มผีน้อยได้เดินทางกลับเข้ามาทางท่าอากาศยานของประเทศไทย 3 แห่ง แล้ว จำนวน 158 ราย
ผู้ป่วยโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน
วันเดียวกัน เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ คือประกาศเรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ณ วันที่ 3 มี.ค.63
สาระสำคัญกำหนดให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาลตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559
ขณะที่อีกฉบับเป็นประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาและการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น มีสาระสำคัญกำหนดเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 หากคัดกรองแล้วพบอาการให้สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน จัดให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยและให้มีห้องตรวจโรคแยกกับผู้ป่วยทั่วไป พร้อมแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามหลักเกณฑ์ และถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ต้องจัดการให้มีระบบการส่งต่อ โดยมีระบบป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อระหว่างการส่งต่อผู้ป่วย เป็นต้น