พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมใช้โรงพยาบาลทหารในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 เพื่อเป็นสถานที่เฝ้าระวังแรงงานไทย หรือผีน้อย ที่เดินทางกลับมาจากเกาหลีใต้ เนื่องจากส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคอีสาน ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานงานมาจากส่วนกลาง แต่กองทัพภาคที่ 2 มีความพร้อมเพราะมีโรงพยาบาลทหารทั้ง 10 มณฑลทหารบก (มทบ.) แต่หากมีจำนวนมาก อาจจะเปิดค่ายทหารรองรับ
สำหรับ มทบ.ทั้ง 10 แห่งประกอบด้วย มทบ. 21 รับผิดชอบ จ.นครพนม และ จ.ชัยภูมิ มทบ.22 รับผิดชอบ จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ มทบ.23 รับผิดชอบ จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ มทบ.24 รับผิดชอบ จ.อุดรธานี จ.นครราชสีมา มทบ.25 รับผิดชอบ จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ มทบ.26 รับผิดชอบ จ.มหาสารคาม จ.บุรีรัมย์ มทบ.27 รับผิดชอบ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร มทบ.28 รับผิดชอบ จ.เลย จ.หนองบัวลำภู มทบ.29 รับผิดชอบ จ.บึงกาฬ จ.สกลนคร และมทบ.210 รับผิดชอบ จ.นครพนม จ.มหาสารคาม
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการมณฑลทหารบก 37 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะมณฑลทหารบกที่มีโรงพยาบาลค่าย ให้เตรียมพร้อมจัดสถานที่ บุคลากร ซึ่งเบื้องต้นกำหนดแนวทางการปฏิบัติว่าสถานที่ควบคุมต้องไม่อยู่บริเวณโรงนอนของกำลังพล และให้สาธารณสุขจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยใช้โมเดลแบบอาคารพักรับรองสัตหีบ อ่าวดงตาล ฐานทัพเรือสัตหีบของกองทัพเรือ ที่เคยใช้เป็นสถานที่เฝ้าระวังคนไทยกลับจากอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน หากพบผู้ที่มีอาการป่วยให้นำส่งไปยังโรงพยาบาลจังหวัด
ขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทยและ 3 เหล่าทัพได้รายงานความพร้อมการรับมือโควิด-19 ต่อ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม โดยรายงานความพร้อมในแต่ละพื้นที่ที่ตั้งของหน่วยทหารทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว หากรัฐบาลมีความต้องการใช้พื้นที่ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมจะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พิจารณาความเหมาะสม โดยให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อรับมือผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้และผู้ติดเชื้ออื่นๆ